ฉบับที่ 158 กุหลาบร้ายของนายตะวัน : กระบวนท่ากลับหลังหันของสังคมเมือง

เป็นเวลานับศตวรรษมาแล้ว ที่เรามักจะมีความคิดความเชื่อว่า “สังคมเมือง” กับ “สังคมชนบท” เป็นสองสังคมที่มีความแตกต่าง และเกิดขึ้นบนรากที่มาต่างกัน ความเป็น “เมือง” มักจะวางอยู่บนอารยธรรมที่ทันสมัย เป็นโลกที่ก้าวหน้ามีแสงสีศิวิไลซ์ ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกับความเป็น “ชนบท” ที่ร้อยรัดอยู่บนสังคมประเพณีดั้งเดิม เป็นโลกที่ล้าหลังไม่ทันสมัยและอยู่กับท้องไร่ท้องนา แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ จริงๆ แล้ว “เมือง” กับ “ชนบท” เป็นคู่ตรงข้ามที่อยู่กันคนละขั้วคนละปลายกันแน่หรือ? ดูเหมือนว่าตัวละครที่ชีวิตจับพลัดจับผลูต้องมาตั้งคำถาม และก็ค้นเจอคำตอบถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทในที่นี้ก็คือ สาวเปรี้ยวสวยเริ่ดเชิดโสดอย่าง “โรสริน” หรือ “โรส” ทายาทคนเดียวของ “ปู่ณรงค์” เจ้าของโรงแรมชื่อดังอย่าง “ควีนโรส” ชีวิตของโรสเติบโตมาในสังคมเมือง โดยถูกเลี้ยงมาแบบตามใจจนกลายเป็นคนนิสัยเอาแต่ใจ เที่ยวเหวี่ยงวีนใครต่อใครไม่เลือกหน้า และเมื่อโรสเรียนจบปริญญาโทกลับมาจากอังกฤษ คุณปู่ณรงค์ก็ต้องการดัดนิสัยของโรสด้วยการให้เธอฝึกงานตั้งแต่เป็นพนักงานระดับล่าง ก่อนที่โรสจะมีสิทธิขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารกิจการโรงแรมต่อไป   เมื่อมีตัวละครสาวเมืองกรุงแถมหัวนอกอย่างโรส ก็ต้องมีพระเอกคู่ปรับที่เป็นหนุ่มชนบทบ้านไร่อย่าง “ตะวัน” เจ้าของไร่ดอกไม้ที่ชื่อ “บ้านไร่ตะวัน” การพบเจอกันครั้งแรกระหว่างโรสกับตะวันนั้นเรียกได้ว่าเข้าสูตรพ่อแง่แม่งอน โดยที่ตะวันต้องรับงานจัดแต่งดอกไม้ในงานเลี้ยงต้อนรับการกลับมาของโรส ซึ่งโรสเองก็ไม่พอใจเขาที่เลือกกล้วยไม้แบบบ้านๆ มาตกแต่งงาน เพราะสำหรับสาวนักเรียนนอกอย่างเธอ ดอกไม้ที่คู่ควรต้องเป็นกุหลาบนอกราคาแพงเท่านั้น แม้ว่าจุดเริ่มต้นของปมปัญหาในเรื่อง อาจจะมาจากความแตกต่างระหว่าง “กุหลาบร้าย” ในสังคมเมืองอย่างโรส กับเจ้าของ “กล้วยไม้พื้นเมือง” จากสังคมชนบทอย่างตะวัน แต่ทว่า อาจจะเป็นเพราะโลกใบนี้มันช่างกลม ปู่ณรงค์ของโรสกลับกลายเป็นเพื่อนรักที่สนิทสนมยิ่งกับ “ปู่ชาญ” ของนายตะวัน เพราะโลกมันกลม ในอดีตปู่ชาญเคยให้ปู่ณรงค์ยืมเงินจำนวน 20 ล้าน เพื่อมาสร้างโรงแรมจนเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต เมื่อปู่ณรงค์มาพบกับปู่ชาญอีกครั้ง ทั้งคู่จึงวางแผนจับให้หลานของตนร่วมหอลงโรงแต่งงานกันเสียเลย โดยที่ปู่ณรงค์เองก็เชื่อว่า จะมีก็แต่นายตะวันคนเดียวที่จะปราบ “กุหลาบร้าย” อย่างโรสให้กลายเป็นนางฟ้าแสนดีคนเดิมได้ แล้วหลังจากนั้น เนื้อเรื่องก็เข้าตามทางของละครที่ว่า คุณหนูไฮโซแสนสวยก็ต้องถูกระเห็จออกไปอยู่บ้านไร่ปลายนาหนึ่งปี และที่แน่ๆ ก็คือ ต้องแง่ต้องงอนกับกับพระเอกไปจนจบเรื่อง โดยโรสก็ต้องพ่ายแพ้ต่อคุณงามความดีของหนุ่มบ้านไร่อย่างนายตะวันไปในที่สุด จะว่าไปแล้ว สูตรละครแนวโรแมนติกคอมเมดี้แบบนี้ ถือเป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของละครจอแก้วที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่า เบื้องหลังความคิดของละครสูตรดังกล่าวก็คือ การทดลองใช้โลกจินตนาการปรับประสานความไม่ลงรอยบางอย่างที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมจริงๆ เฉกเช่นเดียวกับละคร “กุหลาบร้ายของนายตะวัน” ที่แม้จุดเริ่มต้นของเรื่องจะมาจากความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท โดยที่มีสาวสังคมเมืองอย่างโรสมองข้ามคุณค่าและศักดิ์ศรีของชนบทบ้านไร่อย่างวิถีชีวิตของพระเอกหนุ่มกับตัวละครทั้งหลายในบ้านไร่ตะวัน แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ในความแตกต่างดังกล่าวกลับปรากฏให้เห็นว่า ยังมีสายสัมพันธ์อีกเส้นหนึ่งระหว่างปู่ชาญกับปู่ณรงค์ที่บ่งบอกเป็นนัยๆ ว่า ชนบทกับเมืองต่างก็เป็นเกลอเก่าที่ถักทอความสัมพันธ์แบบคู่ไขว้กันอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต หากเราลองย้อนกลับไปมองพัฒนาการการเกิดขึ้นของสังคมเมืองในโลกจริง ก็คงไม่แตกต่างไปจากการก่อตั้งโรงแรมควีนโรสของปู่ณรงค์เท่าใดนัก เพราะในช่วงราวศตวรรษที่ 19 ที่ระบบอุตสาหกรรมกำลังก้าวหน้า และเมืองขนาดใหญ่ทั้งหลายเริ่มผุดขึ้นมานั้น แท้จริงแล้ว ชุมชนเมืองเหล่านี้ก็คือ “บาง” หรือ “ย่าน” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชนบทมาก่อน (แบบเดียวกับ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งก็เคยเป็นเมืองเล็กๆ อย่าง “บางกอก” มานั่นเอง) เพียงแต่ว่ามี “บาง” หรือ “ย่าน” บางแห่งเท่านั้น ที่มีศักยภาพมากพอในการสั่งสมทุนจนเติบโตกลายเป็นเมืองกรุงเมืองใหญ่ได้อย่างในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปู่ณรงค์จะสามารถสร้างโรงแรมใหญ่โตอลังการได้ด้วยมือคนเดียว แต่คุณปู่ก็ต้องอาศัยทุนหรือปัจจัยการผลิตที่เป็นเงิน 20 ล้านของคุณปู่ชาญแห่งบ้านไร่ ที่จะให้ยืมไปผลิดอกออกผลเป็นกิจการขนาดใหญ่ในสังคมเมืองหลวง แต่คงเป็นเพราะเมื่อเมืองเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ การสั่งสมทุนของคนในเมืองก็ทำให้พวกเขาต้องถีบทะยานตัวและจำแนกวิถีชีวิตให้แตกต่างไปจากชนบท หรือแม้แต่กลายเป็น “กุหลาบร้ายกลายพันธุ์” ที่เกิดขึ้นในอนุชนรุ่นหลังอย่างโรส ซึ่งลืมแม้แต่รากและศักดิ์ศรีของชนบทดั้งเดิมไปเสีย อย่างไรก็ดี แม้เมืองกับชนบทจะกลายเป็นสองโลกที่แตกต่างกันสุดขั้วไปแล้ว ละครก็ให้ความหวังเอาไว้ด้วยว่า คงต้องรอให้มีโอกาสที่คนเมืองจะได้มาสัมผัสกับชีวิตสมถะแบบชนบท แบบเดียวกับโรสที่คุณปู่ส่งมาฝึกงานเพาะชำต้นกล้าและต่อตาแต่งกิ่งกล้วยไม้ในบ้านไร่ สังคมเมืองก็จะค่อยๆ เริ่มกลับหลังหันไปทำความเข้าใจรากที่เป็นมาในวิถีชีวิตของตนเองกันอีกสักครั้ง และสำหรับเราๆ ที่อยู่ในสังคมเมืองกันมาอย่างยาวนานเช่นนี้ คงไม่ต้องถึงกับรอให้คุณปู่ๆ จับส่งกลับไปทำงานในบ้านไร่กันกระมัง เนื่องเพราะสังคมโดยรวมจะก้าวดีขึ้นไปได้ หากอย่างน้อยเราเองก็ตระหนักเบื้องต้นว่า ปัญหาที่เกิดกับชาวไร่ชาวนาทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็คงเนื่องมาจากสายตาที่บรรดา “กุหลาบร้าย” ในสังคมเมืองกรุงของเรามองข้ามว่ามันเป็นปัญหานั่นเอง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point