ฉบับที่ 246 ผู้รับเหมาใช้วัสดุผิดแบบจึงขอยกเลิกสัญญา

        "สัญญาก่อสร้าง หรือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง" คือ เอกสารสัญญาที่ระบุความตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) ในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับงานที่ดำเนินการก่อสร้างตามที่กำหนดตามข้อตกลง และผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดที่ตกลงก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างจนแล้วเสร็จ        เมื่อสัญญาไม่เป็นสัญญา ผู้รับเหมาทำผิดข้อตกลง เจ้าของบ้านก็บอกยกเลิกสัญญาได้         ย้อนไปเมื่อ 10 ตุลาคม 2563 คุณใบโพธิ์ได้ตกลงทําสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านพักอาศัยชั้นเดียวกับ บริษัทรับเหมาสร้างบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น แต่สร้างไปสร้างมา คุณใบโพธิ์สังเกตว่าการก่อสร้างดูเหมือนไม่ค่อยได้มาตรฐาน จึงลองตรวจสอบดู แล้วก็พบว่าบริษัทผู้รับเหมาลดขนาดวัสดุที่ใช้ซึ่งไม่ตรงตามสเปกที่ระบุไว้ในเอกสารแนบสัญญา คุณใบโพธิ์จึงบอกให้ช่างหยุดก่อนและถามหาความรับผิดชอบ         ต่อมาแม้ทางบริษัทชี้แจงว่าจะแก้ไขให้เป็นไปตามแบบ แต่คุณใบโพธิ์ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขที่จะปล่อยให้เลยตามเลยแบบนี้ และมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งเขาเองก็ไม่ไว้วางใจให้ช่างของบริษัทนี้มาสร้างบ้านให้อีกต่อไปแล้วด้วย คุณใบโพธิ์ต้องการจะขอยกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัท ตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญา จึงได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญามาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านทางอีเมล และปรึกษาว่าควรจะทำยังไงต่อไป    แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อกลับไปยังคุณใบโพธิ์ เพื่อขอให้ส่งสำเนาสัญญาว่าจ้าง ใบเสร็จเงินค่างวดงานแต่ละงวดที่จ่ายไปแล้ว สลิปโอนเงิน รูปภาพก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นได้แนะนำให้คุณใบโพธิ์ทำหนังสือไปยังบริษัทให้ดำเนินการตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทกลับเงียบเฉย ในกรณีนี้คุณใบโพธิ์สามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเรื่องการผิดสัญญาได้ โดยว่าจ้างให้ช่างหรือบริษัทรับเหมารายอื่นมาประเมินความเสียหายว่า การก่อสร้างบ้านหลังนี้ไม่เป็นไปตามแบบอย่างไร ใช้วัสดุลดขนาดอย่างไร แล้วเหลืองานที่ไม่เสร็จอีกเท่าไหร่ คำนวณเป็นจำนวนเงินออกมา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเรียกค่าเสียหายในคดีต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่เสียประโยชน์ในฝ่ายของคุณใบโพธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 คนใกล้ชิดรับเหมาซ่อมบ้าน รับเงินแล้วงานอืด

โศรส เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยคราวน้ำท่วมใหญ่ฤทธิ์ของน้ำที่เข้ามาท่วม เอ่อและขัง ทำให้บ้านได้รับความเสียหายทั้งในบ้านและนอกบ้านอย่างที่ทราบกันดี ช่วงหลังน้ำท่วม ผู้รับเหมาซ่อมบ้านงานเข้าเป็นกอบเป็นกำและมีข่าวทิ้งงานก็เยอะ  ซ้ำหาตัวยากแสนยากโศรสพยายามมองหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ จนมีรุ่นน้องที่ทำงานแนะนำให้รู้จักกับน้องชายและทีมงานที่ทำงานรับเหมาทำบ้านซ่อมบ้านสร้างบ้านอยู่โศรสและสามีตกลงทำสัญญาว่าจ้างให้ซ่อมบ้านทั้งในบ้านและนอกบ้าน แม้จะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยความไว้วางใจเห็นเป็นน้องของคนรู้จักที่ทำงานจึงไม่ได้ต่อรองอะไรเธอเล่าว่าตอนแรกๆ ทีมรับเหมาก็มาทำงานทุกวันจนครบตามสัญญาที่ต้องจ่ายเงินมัดจำ 2 งวด  เป็นจำนวนทั้งหมด 96,000 บาท หรือราว 80% ของยอดทั้งหมด แต่งานที่ทำยังไม่ถึง 50% ของที่ตกลงไว้ในสัญญา โดยแต่ละครั้งที่มาทำจะมากันแค่ 2 คน คือน้องชายของน้องที่ทำงานที่เป็นคนแนะนำกับคนงานอีก 1 คนเมื่อตรวจเช็คงานที่ทำ มีหลายครั้งที่ไม่ตรงตามที่ตกลง เช่น ของเงินเพิ่ม 10,000 บาท เพื่อจะจ้างรถใหญ่มางัดพื้นขุดหลุม แต่ก็ไม่ได้มา อ้างว่ายามหมู่บ้านไม่ให้เข้า พอไปเช็คสอบถามยาม ยามบอกว่าไม่เคยเห็นมีรถใหญ่ขอเข้ามาเลยนอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เสาเข็มความยาวไม่ถึง 6 เมตร ช่างรับเหมาอ้างว่า หาซื้อแถวนี้ไม่ได้ร้านไม่มาส่ง  โศรสเธอก็เที่ยวไปตามถามร้านอุปกรณ์ก่อสร้างแถวบ้านพบว่ามีหลายร้านที่ขายและมาส่งด้วย จากนั้นก็เริ่มไม่มาทำงาน โดยมีเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาล หรือรถเสียต้องเอาไปซ่อม หลายครั้งที่มีการโทรตามก็ติดต่อไม่ได้ ไม่ยอมรับโทรศัพท์ หรือบางครั้งโทรติดต่อได้ก็รับปากว่าจะมาแต่ก็ไม่ได้มาตามนัด“แฟนที่อุตส่าห์ลางานเพื่อมาเฝ้าดู ต้องเสียวันลาและเวลาไปฟรีๆ ดิฉันและแฟนโกรธมาก”ท้ายสุดต้องไปคุยกับรุ่นน้องที่บริษัทถึงปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น กลัวจะมีการเบี้ยวงาน โกงเงินดิฉันไป รุ่นน้องที่บริษัทจึงช่วยประสานงานให้น้องเขากลับมาทำงานหลังจากหายไม่มาทำงานไปเดือนเศษ แต่พอมาทำได้แค่อาทิตย์เดียว น้องที่รับเหมาเริ่มตุกติก บอกว่าจจะทำให้แต่ส่วนนอกบ้านคือรั้วกับปูกระเบื้องนอกบ้าน แต่งานในบ้านเป็นส่วนของแถมไม่รวมให้“ดิฉันได้ฟังแล้วคิดว่า สงสัยจะถูกโกงแล้ว จึงไม่ยอม และบอกให้ช่างรับเหมาทำตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก แต่ทางผู้รับเหมาบอกว่า ไม่ได้กันเงินมาจ่ายค่าจ้างคนงาน ที่มีแค่หนึ่งคน ถ้าจะให้ทำข้างในบ้านต้องขอเวลารอเงินค่างวดที่จะได้จากอีกงานหนึ่งก่อน”“ดิฉันควรจะทำอย่างไรดีที่จะให้ผู้รับเหมา รับผิดชอบทำงานให้ครบตามที่สัญญาไว้” แนวทางแก้ไขปัญหางานที่ยังเหลือ คือการปูพื้นกระเบื้องในบ้าน ใส่บัว ลอกวอลเปเปอร์และทาสีชั้นล่างทั้งในบ้านและนอกบ้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ผู้ร้องเรียนรีบทำหนังสือเรียกร้องให้ผู้รับเหมารีบมาดำเนินการงานส่วนที่คั่งค้างโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการตามคำเรียกร้อง ผู้ร้องเรียนสามารถบอกเลิกสัญญาและจัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาทำงานต่อได้ และหากมีภาระค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายเกิดขึ้นเพิ่มเติม ให้ย้อนกลับไปเรียกร้องเอากับผู้รับเหมารายแรกทันทีที่ผ่านมา โศรสได้แต่ใช้การทวงถามทางโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้หากต้องมีการฟ้องร้องกันเพราะไม่มีหลักฐานการติดตามเรื่องที่เป็นลายลักษณ์อักษรเลย แม้จะเป็นคนรู้จักมักจี่แค่ไหนก็ควรทำ เธอจึงทำจดหมายขึ้นมาเพื่อเรียกให้ผู้รับเหมามาดำเนินการซ่อมบ้านให้ครบตามสัญญา ซึ่งเหลือไม่มากแล้วไม่นาน หลังได้รับจดหมาย ผู้รับเหมาได้ทยอยเข้าซ่อมแซมงานที่คั่งค้างอยู่จนลุล่วง แม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่เมื่อได้กลับเข้าอยู่อาศัยในบ้านแล้ว ผู้ร้องเรียนก็คลายใจ ไม่ติดใจเอาเรื่องเอาความอีกแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 คอนโดโครงการไม่ขึ้น ยังต้องผ่อนต่อหรือไม่

คุณอรรถวิทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำสัญญาจองห้องชุดกับโครงการบางกอกคานส์ คอนโดมิเนียม ของบริษัท คอนคอร์ด พร็อพเพอร์ตีส์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด ห้องชุดที่จะซื้อจากโครงการนี้ ราคาตกที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ผู้ที่จะเข้าจองต้องชำระเงินจองในวันทำสัญญา 5,000 บาท คุณอรรถวิทย์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ต้องการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมชำระเงินก้อนแรก 7 หมื่นบาทเศษ และต้องผ่อนเงินดาวน์ไปอีก 30 งวดๆละ 7,600 บาท คุณอรรถวิทย์ผ่อนไปได้ 15 งวด ก็ไม่เห็นว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกันสักที เห็นท่าไม่ดีคุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือแจ้งระงับการผ่อนชำระงวดที่ 16 ในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าบริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือยืนยันปฏิเสธการชำระค่างวดเงินดาวน์ที่เหลือทั้งหมดในเดือนกันยายน 2552 จนถึงปลายปี 2553 โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเหลือติดตามเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดแนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ติดต่อสอบถามไปที่พนักงานขายของโครงการบางกอกคานส์ ทราบความว่า การที่โครงการไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมีปัญหา และการขอก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาต โครงการฯ จึงติดขัดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และการคืนเงินให้กับผู้บริโภคนั้น บริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่ แต่อยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินจากสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง กรณีที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรือบ้านจัดสรรไปแล้วและต้องรับภาระจ่ายค่างวดเงินดาวน์ หากผู้บริโภคพบวี่แววว่าการจ่ายค่างวดต่อไปในขณะที่โครงการฯ ไม่มีวี่แววว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิบอกกล่าวระงับการจ่ายเงินค่างวดได้ทันที โดยให้ทำเป็นจดหมายบอกกล่าวเหมือนอย่างที่คุณอรรถวิทย์ได้แจ้งให้กับบริษัทโครงการคอนโดรับทราบ ไม่ใช่ไปหยุดจ่ายค่างวดเอาเฉยๆ อย่างนั้นจะกลายเป็นผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกฟ้องได้ เมื่อทำจดหมายระงับการจ่ายค่างวดไปแล้ว และยังพบต่อมาว่าโครงการไม่เดินหน้าต่อไปได้อีก การเรียกจะเงินที่ได้จ่ายไปคืนนั้น ก็ให้ทำจดหมายขึ้นอีกหนึ่งฉบับ คราวนี้เป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโดยตรง เท่านี้ฝั่งผู้บริโภคก็จะมีหลักฐานปกป้องตัวเองได้อย่างครบถ้วน การทำจดหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้คุณอรรถวิทย์ได้รับเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดจากบริษัทฯ ในเวลาต่อมาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความฟ้องเป็นคดี ใครที่เจอกปัญหาลักษณะเดียววันนี้ นำวิธีนี้ไปใช้โดยด่วน หากปล่อยไว้จะกลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยอมให้เขาก่อสร้างล่าช้าเสียเอง จะทำให้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายเอาได้

อ่านเพิ่มเติม >