ฉบับที่ 216 สงครามนักปั้น : เมื่อภาพลักษณ์สำคัญกว่าของจริง

        การรับรู้ความเป็นจริงของมนุษย์เรามีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ความจริงที่เป็น “แก่นแท้” หรือเป็นของจริงที่แท้จริง กับความเป็นจริงที่ไม่สำคัญว่า “ของจริง” จะเป็นเช่นไร แต่ทว่ามนุษย์เราสามารถเสกสรรปั้นแต่งจนกลายเป็น “ภาพลักษณ์” ที่เผลอๆ แล้วดูดีและโดดเด่นยิ่งกว่า “แก่นแท้” หรือ “ของจริง” เสียอีก        ในยุคที่ชีวิตผู้คนกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมแห่งภาพลักษณ์” ที่ “แก่นแท้” เริ่มหมดคุณค่าลงดังกล่าว หากใครก็ตามที่มีศักยภาพในการ “ปั้นความเป็นจริง” ให้กับโลกรอบตัวได้ คนๆ นั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในสังคมอันอุดมภาพลักษณ์ที่ถูกเนรมิตขึ้นมาได้เช่นกัน        ก็เฉกเช่นชื่อละครโทรทัศน์ที่ว่า “สงครามนักปั้น” ซึ่งขานรับกับกระแสสังคมที่มนุษย์ให้คุณค่ากับ “ภาพลักษณ์” มากกว่า “แก่นแท้” กระแสสังคมแบบนี้เองส่งผลให้เกิดแวดวงวิชาชีพ “นักปั้นภาพลักษณ์” อันเป็นพื้นที่ซึ่งสรรพชีวิตต้องลงสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจและกำชัยชนะเหนือคู่แข่งในสมรภูมิดังกล่าว        ละคร “สงครามนักปั้น” เลือกผูกเรื่องราวเบื้องหลังของวงการธุรกิจโมเดลลิ่ง ที่เป็นประหนึ่งโรงงานผลิตนักร้องนักแสดงเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ และที่แน่ๆ ธุรกิจโมเดลลิ่งเป็นกรณีรูปธรรมของแวดวงแห่งการปั้นภาพลักษณ์ เพราะศิลปินดาราก็คือบุคคลสาธารณะที่อาศัยภาพลักษณ์เป็นวัตถุดิบเพื่อขายพ่วงมากับศักยภาพการแสดงของตน        ด้วยความเข้าใจตรรกะของการปั้นฝันหรือสรรค์สร้างความเป็นจริงให้กับบุคคลสาธารณะเฉกเช่นนี้ สาวใหญ่อย่าง “แอล” เจ้าของกิจการ “แอลโมเดลลิ่ง” จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ๊ดันที่จัดการปรุงแต่งภาพลักษณ์ให้บรรดาดาราในสังกัดของเธอโดดเด่นสุกสกาวที่จะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง        ธุรกิจโมเดลลิ่งของแอลดูแลศิลปินดาราในสังกัดหลายคน โดยเฉพาะ “แทนคุณ” พระเอกหนุ่มคู่ขวัญกับ “มุก” นางเอกสาว ที่เบื้องหลังนั้นทั้งคู่ต่างก็คบหาเป็นคนรักกันจริงๆ แต่ทว่า ด้วยอุตสาหกรรมดารามีข้อบังคับที่ว่า ผู้ที่จะดำรงอยู่ในแวดวงนี้ได้อย่างยั่งยืนต้องให้ค่ากับความเป็น “คู่จิ้น” มิใช่จะกลายเป็น “คู่จริง” ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนนิยมจากเหล่าแฟนคลับ ดังนั้น ภารกิจของแอลจึงต้องคอยช่วยปกปิดและบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวของแทนคุณและมุก อันเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษาภาพลักษณ์ศิลปินชั้นต้นในสังกัด        ในเวลาเดียวกัน นอกจากยุคสังคมแห่งภาพลักษณ์จะให้คุณค่ากับการเสกสรรปั้นแต่งความเป็นจริงมากกว่าการค้นหาความจริงที่แท้จริงแล้ว ในยุคนี้อีกเช่นกันที่ศิลปินดาราไม่ใช่แค่ดวงดาวโคจรลอยล่องอยู่ในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่เหล่าดาราทั้งหลายก็ยังมีสถานะเป็นสินค้า แถมยังเป็นสินค้าที่มีปริมาณเกร่อล้นตลาดอีกต่างหาก        เพราะฉะนั้น เมื่อสินค้าดารามีอยู่ท่วมท้นตลาดธุรกิจบันเทิง ภาพลักษณ์ที่แอลบรรจงปั้นให้ศิลปินในสังกัด ก็คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขายบุคลากรนักแสดงที่เป็นสินค้าในตลาดให้กับบรรดาเอเยนซี่ เจ้าของสินค้า และสาธารณชนผู้มีกำลังซื้อหรือเสพดารานั่นเอง        แต่ขณะเดียวกัน เพราะตลาดธุรกิจบันเทิงมีสินค้าดาราที่ล้นเกินอุปสงค์ของผู้ซื้อ แอลจึงมิอาจผูกขาดให้เธอเป็นเจ้าของธุรกิจโมเดลลิ่งได้เพียงเจ้าเดียว และคู่แข่งคนสำคัญของเธอก็คือ “เพียว” เจ้าของกิจการ “พีแอดวานซ์โมเดลลิ่ง” ที่พยายามเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกธุรกิจการขายภาพลักษณ์ศิลปินในทุกวิถีทาง        ภูมิหลังของเพียวนั้นเคยเป็นอดีตลูกน้องในสังกัดแอลโมเดลลิ่งมาก่อน แต่สัจธรรมของโลกธุรกิจก็มักจะอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า “เมื่อดังแล้วก็ต้องแยกวง” แถมยังเป็นการ “แยกวง” ที่มีความขัดแย้งและทิฐิแต่ครั้งปางหลังที่เพียวคับแค้นใจจนอยากจะเอาชนะและโค่นล้มแอลให้หลุดกระเด็นไปจากวงการโมเดลลิ่งให้จงได้        ด้วยเหตุนี้ ในหลายๆ ฉากของละคร เราจึงเห็นภาพการปะทะคารมหรือการวางหมากวางเกมที่จะประหัตประหารคู่แข่งของโมเดลลิ่งฝ่ายตรงข้าม โดยบ่อยครั้งตัวละครก็ไม่ได้คำนึงว่า การสัประยุทธ์กันเพื่อครองความเป็นเจ้าในแวดวงการปั้นภาพลักษณ์ดังกล่าว จะยืนอยู่บนหลักจารีตธรรมภิบาลใดๆ ไม่        แม้ละครจะให้คำอธิบายด้วยว่า เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างแอลกับเพียวมาจากปมปัญหาเข้าใจผิดบางอย่าง แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า สงครามระหว่างนักปั้นภาพลักษณ์สองคนก็มีเบื้องลึกอันเนื่องมาแต่ความพยายามที่ “ฉันนั้นต้องการมีเสี้ยวนาทีที่ยิ่งใหญ่” ในวงการโมเดลลิ่งนั่นเอง        ยิ่งเมื่อสงครามขัดแย้งปะทุถึงขั้น “ตายไม่เผาผี” ด้วยแล้ว เพียวได้พยายามช่วงชิง “เรน” ดาราในสังกัดของแอลให้ฉีกสัญญา และมาเข้าสังกัดโมเดลลิ่งของเธอ พร้อมๆ กับที่ผลักดัน “ปีย์แสง” ลูกชายของแอล ให้ขึ้นเป็นพระเอกเบอร์หนึ่งแทนแทนคุณที่กราฟชีวิตอยู่ในช่วงขาลง สนามรบแห่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนว่า การแข่งขันฟาดฟันกันในธุรกิจปั้นภาพลักษณ์ช่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่ยิ่งหย่อนการต่อสู้ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เลย        นอกจากนี้ ละครก็ยังชวนให้เราขบคิดตลอดเรื่องอีกด้วยว่า เมื่อแวดวงโมเดลลิ่งจะบูชาภาพลักษณ์ยิ่งกว่าของจริงนี่เอง เบื้องหลังของตัวละครศิลปินดาราทั้งหลายก็อาจมีความจริงที่ต่างออกไปจากภาพที่เสกสรรปั้นแต่งหน้าฉากขึ้นมาราวฟ้ากับหุบเหว        แทนคุณพระเอกยอดนิยมมีอีกด้านที่ติดสุราเรื้อรังจนเป็นโรคแอลกอฮอลิซึม นางเอกสาวอย่างมุกก็มีสถานะเป็นตุ๊กตาหน้ารถของหนุ่มไฮโซอย่าง “ทรงโปรด” ซึ่งควงเธอเพียงเพื่อจะเอาชนะคู่หมั้นของเขาเท่านั้น นางเอกปั้นอย่างเรนก็บ้าหนุ่มๆ และ “คันหูไม่รู้เป็นอะไร” อยู่ตลอดเวลา ยังไม่นับรวมตัวละครอื่นๆ อีกมากมายในท้องเรื่องที่หน้าม่านกับหลังม่านการแสดงผิดแผกแตกต่างกันคนละขั้วโลก        และที่สำคัญ แม้แต่กับสองสาวนักปั้นภาพลักษณ์นั้น พวกเธอเองก็มีหลังฉากที่ต้องหลบเร้นไม่ต่างจากศิลปินดาราในสังกัดเองเลย นักปั้นมือใหม่อย่างเพียวก็ช่างเป็นผู้หญิงที่เจ้าคิดเจ้าแค้นจนปล่อยให้อคติทำลายฝีมือในงานอาชีพของเธอ หรือนักปั้นรุ่นเก๋าอย่างแอลก็ต้องปกปิดและไม่กล้ายอมรับความจริงว่าเธอเป็นมารดาแท้ๆ ของปีย์แสง จนแม่ลูกต้องมายืนอยู่ในสงครามนักปั้นคนละฝั่งฟากกัน        บนโลกที่ “คนเราเคารพคบกันที่ภาพลักษณ์” ซึ่งพ่วงมามาด้วยชื่อเสียงและเงินทอง บางครั้งหากเราได้ลองมานั่งพินิจพิศดูสงครามของตัวละครในโรงงานปั้นฝันกันดีๆ เราก็อาจจะได้คำตอบเหมือนกันว่า ระหว่างภาพมายาที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมากับแก่นแท้ที่คนเรายุคนี้มักมองข้าม ตัวเลือกข้อใดที่จะเป็นของจริงกว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม >