ฉบับที่ 128 กระแสต่างแดน

  เยอรมนีไม่ชอบ ปุ่ม Like อย่างที่รู้ๆ กัน เยอรมันชนเขาถือมากในเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงยังจำกันได้ว่าเยอรมนีคือประเทศที่บังคับให้กูเกิ้ล สตรีทวิวทำเบลอหน้าของผู้คนที่ปรากฏในเว็บของตน จนหลายคนที่ใช้บริการเว็บแผนที่ดังกล่าวแอบเรียกประเทศนี้ว่า “เบลอมันนี”  และวันนี้งานก็มาเข้าเครือข่ายออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ค เจ้าของปุ่ม Like ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ  รัฐเชลสวิก-โฮลสไตน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี ประกาศว่าการทำงานของปุ่ม Like นั้นผิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ และต่อไปนี้บริษัทใดก็ตามที่ยังคงใช้ปุ่ม Like เป็นเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ของตนเองหลังสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถูกปรับ 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท)  กฎหมายของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้ที่จะถูกเก็บข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมอย่างชัดแจ้งและโดยสมัครใจหลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยผู้ประกอบการ แต่สำหรับกฎหมายเยอรมนีนั้นระบุให้ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการเก็บและแจ้งด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ใครบ้าง  เฟสบุ๊คออกมาบอกว่าปุ่ม Like ที่ว่านี้มีมาปีกว่าแล้ว แถมใครๆ ก็ชื่นชอบ และข้อมูลที่เก็บก็แค่เป็นการนับจำนวนจากหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP address) ที่มีการกดปุ่ม Like เท่านั้น  ในขณะที่หลายผ่ายออกมายืนยันว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลมากกว่านั้น แถมยังเก็บข้อมูลทุกคนที่เข้าใช้เว็บดังกล่าว ไม่ว่าจะกดปุ่ม Like หรือไม่ และจะถูกติดตามเก็บข้อมูลไปอีก 2 ปีด้วย   เมื่อความอ้วนเป็นวาระแห่งโลกปัญหาที่ทุกประเทศมีเหมือนๆ กันขณะนี้ คือการมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ไปได้อีก  นักวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคอ้วนอยู่ร้อยละ 25 จะมีคนอ้วนถึงร้อยละ 40 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านปอนด์ด้วย ส่วนในอเมริกาจะมีถึงร้อยละ 50 ของประชากรเป็นโรคอ้วนในปีดังกล่าว (ขณะนี้ประชากร 1 ใน 3 ของอเมริกาก็เป็นโรคอ้วนแล้ว)  เลยมีการตั้งคำถามว่าเราน่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความอ้วนกันดีหรือไม่  นักวิจัยฟันธงว่า ที่ปัญหาโรคอ้วนลุกลามใหญ่โตได้ขนาดนี้ก็เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศเฉื่อยชาเกินไปและไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชากรอ้วนขึ้น คือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การสร้างสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของมันคือภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐนั่นเอง  ว่าแล้วก็มีข้อเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่มีการประชุมสูงสุดด้านสุขภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้กดดันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ลงมือ “ลดความอ้วน” ในระดับนโยบาย เช่น เก็บภาษีจากอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย จำกัดจำนวนโฆษณาอาหารทางสื่อต่างๆ บังคับใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร หรือจัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น  ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เพื่อการลดความอ้วน น่าจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วนได้ไม่น้อย ที่สำคัญประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย   ข้าวจีเอ็มโออีกสองปีข้างหน้าฟิลิปปินส์จะมีข้าวพันธุ์โกลเด้นไรซ์ ภาคสอง(Golden Rice 2) ออกสู่ตลาด ว่ากันว่าถ้ารับประทาน “ข้าวสีทอง” ฉบับปรับปรุงนี้วันละ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) ร่างกายเราจะสามารถสร้างวิตามิน A ได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์  เพราะ “ข้าวสีทอง” ที่ว่านั้นมันเกิดมาเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินเอในเด็กโดยเฉพาะ จึงถูกดัดแปรพันธุกรรมให้มีเบตาแคโรทีนมากเป็นพิเศษ แต่ขอบอกว่าตัวแรกที่ทำออกมา (Golden Rice 1) โดยบริษัท ซินเจนต้านั้นไม่น่าประทับใจเท่าไร นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสหภาพผู้บริโภคของอเมริกา (Consumer Union) ได้ทำการวิเคราะห์สารที่มีอยู่ในข้าวที่ว่านั้นและพบว่ามันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้าเด็กกินข้าวที่ว่าวันละ ... 10 กิโลกรัม เครือข่ายต่อต้านการเกษตรแบบใช้สารเคมีในฟิลิปปินส์จึงออกมาแสดงความวิตกเรื่องที่จะมีข้าวชนิดใหม่ออกสู่ตลาดโดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความมั่นใจว่าข้าวชนิดใหม่นั้นดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ คุ้มค่าแค่ไหนที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการจำกัดสิทธิของเกษตรกร ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีเด็ก 250,000 – 500,000 คนในประเทศโลกที่สาม ต้องสูญเสียการมองเห็นเพราะขาดวิตามินเอ และนอกจากนี้มีร้อยละ 40 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงทำให้มีคนคิดหาทางออกด้วยข้าวชนิดใหม่ แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กินแค่ข้าวอย่างเดียว และข้าวที่ไม่ขัดสีก็มีวิตามินอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพา “ข้าวสีทอง” นี่เลย ได้เวลาขาย “รถคันแรก”ช่วงนี้ตลาดรถมือสองที่พม่าคึกคักมากๆ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ใครๆ ก็พากันมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายโละรถเก่าออกจากท้องถนน โดยให้เหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำให้จราจรติดขัด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ปัจจุบันในพม่ามีรถที่อายุเกิน 40 ปีอยู่ ประมาณ 10,000 คัน และรถที่อายุระหว่าง 30 – 40 ปี อีกประมาณ 8,000 คัน (ที่นี่เขามีรถไม่มากเพราะคนที่จะเป็นเจ้าของรถได้ก็มีแต่ทหารหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น)  เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 40 ปี พร้อมกับทะเบียนรถไปมอบให้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแลกกับใบอนุญาตซื้อรถใหม่ (กว่าเดิม) ที่นำเข้าจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยเขากำหนดว่ารถเหล่านี้จะต้องเป็นรถที่ผลิตหลังปี พ.ศ. 2538 และราคาไม่เกิน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 108,000 บาท)  โครงการดังกล่าวทำให้ราคารถเก่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมีคนไม่น้อยอยากจะมาซื้อเพื่อเอาไปแลกกับใบอนุญาต ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ข่าวบอกว่าใบอนุญาตสำหรับรถเอนกประสงค์ (เช่น โตโยต้า แลนด์ครูสเซอร์) ก็คันละ 150 ล้านจ๊าด ถ้าเป็นรถบัสก็ 30 ล้านจ๊าด รถบรรทุกก็ถูกลงมาเหลือ 20 ล้านจ๊าด และเมื่อได้รถใหม่มาแล้วก็สามารถเอามาขายทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง แผนขั้นต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรมพม่าคือการขายรถมินิซาลูน ที่ร่วมกันผลิตกับบริษัทรถแห่งหนึ่งในจีน ที่ราคา 5.5 ล้านจ๊าด (สองแสนกว่าบาท) ด้วย 100 ปีผ่านไป ยังไม่สายใช้สิทธิ ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน 350 ครอบครัวรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลอินเดีย โทษฐานที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา หลังจากยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อ 100 ปีก่อน  ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ อย่างรัฐสภา ศาลสูง บ้านประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประตูชัยอินเดียที่เราเห็นรูปกันอยู่บ่อยๆ  ในขณะที่ลูกหลานของคนกลุ่มดังกล่าวต้องอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในหมู่บ้านที่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรจากกรุงเดลลี  ความจริงแล้วคนที่เข้ามาไล่ที่ในสมัยนั้น คือบรรดาขุนนางอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ที่ฟ้องรัฐบาลอินเดียเพราะถือว่ามารับช่วงต่อตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 ทั้งนี้เขาบอกว่าถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะเดินหน้าฟ้องรัฐบาลอังกฤษเป็นรายต่อไป  ความจริงแล้วอังกฤษได้จ่ายค่าชดเชยให้กับบางครอบครัวด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ว่าคนสมัยนั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองและไม่ได้รับข่าวสาร จึงไม่ได้ไปถอนออกมา  ชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีของ “ชาวเดลลี” และเรียกร้องค่าชดเชยตามที่พวกเขาสมควรได้ (แต่ทั้งนี้เขาขอให้จ่ายเป็นอัตราปัจจุบันนะ)  กฎหมายเวนคืนที่ดินของอินเดียนั้นมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894  และยังถูกนำมาใช้อยู่ เมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนพื้นที่มาทำโครงการสาธารณะ เช่น ถนนหรือโรงไฟฟ้า ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกวันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งปีนี้รัฐบาลก็กำลังถูกกดดันให้เพิ่มค่าชดเชยให้กับชาวบ้านด้วย  อังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของจากกัลกัตตามาที่เดลลี เพื่อหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ประกาศตั้งเดลลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของอินเดียในปี ค.ศ. 1911  ลดระดับความโปร่งใสสหรัฐฯ มีหน่วยงาน HRSA (Health Resources and Services Administration) ที่เก็บข้อมูลความผิดพลาดของแพทย์ในการรักษาพยาบาล เอาไว้ในธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ หรือ National Practitioners Data Bank คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทางอินเตอร์เน็ท ในส่วนที่เรียกว่า Public Use File ซึ่งข้อมูลที่นำมาลงนั้นจะถูกตัดข้อมูลบางอย่างออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแพทย์ ส่วนข้อมูลเต็มๆ นั้น กฎหมายถือเป็นความลับและจะเปิดเผยต่อโรงพยาบาล หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Kansas City Star นำเอาข้อมูลที่ตัวเองสืบค้น มารวมกับข้อมูลของแพทย์ทางประสาทวิทยาคนหนึ่งที่เขาได้จากฐานข้อมูลข้างต้น แล้วก็เขียนบทความเปิดโปงเรื่องราวการถูกฟ้องร้องจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของหมอคนดังกล่าวโดยเปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ทำให้ HRSA ประกาศลดระดับการเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยคนทั่วไป ส่งผลให้สมาคมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภค Consumer Union ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า นี่หรือคือนโยบายเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่นายบารัค โอบามา พูดถึง และการช่วยรักษาความลับให้กับแพทย์ มันสำคัญกว่าการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างนั้นหรือ

อ่านเพิ่มเติม >