ฉบับที่ 263 เมื่ออัยการทำ MOU กับศัลยแพทย์ ประชาชนจะพึ่งใคร

        เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สำนักงานอัยการสูงสุด กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ โดยมี อัยการสูงสุด นายกแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนาม         คำถามที่ชาวบ้านหรือผู้รับบริการสาธารณสุขสงสัยคือ เหตุใดองค์กรแพทย์จึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ  ข่าวแจกสื่อมวลชนระบุว่า การทำ MOU นี้เกิดจากปัญหาที่ศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาของศัลยแพทย์ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้อง  กล่าวคือ สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอม ข้อพิพาท การช่วยเหลือทางคดี         ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการเตรียมทำ MOU ฉบับนี้ โดยระบุถึงความจำเป็นว่า ศัลยแพทย์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ  หากปล่อยให้ศัลยแพทย์ได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ตลอดจนโทษจากองค์กรควบคุมวิชาชีพ อันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล  ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต           ผู้เขียนเห็นว่า การทำ MOU ดังกล่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดกับแพทยสภา โดยเฉพาะราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล ความจำเป็นและขาดความเหมาะสม  เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่ของอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ หากมีผู้ป่วยไปเสริมความงามจมูก หน้าอก แล้วเกิดภาวะติดเชื้อหรือทำให้ใบหน้าผิดเพี้ยนหรือพบความผิดปกติ หรือการผ่าตัดรักษาอาการอย่างหนึ่งแต่กลับส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย  กรณีเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อน (complication) หรือไม่  หรือกรณีศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย (standard of care) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น การป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยในขณะเข้ารับการผ่าตัดหรือการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ในคดีทางการแพทย์ในต่างประเทศหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย มีหลายคดีที่ศาลตัดสินให้แพทย์มีความผิดหรือต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะศาลเห็นว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการดูแลรักษา   คำถามสำคัญคือ หากแพทย์ที่ถูกร้องร้องเรียนหรือถูกฟ้องมาขอคำปรึกษากับอัยการตาม MOU จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่                     การทำ MOU นี้ของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาหรือร้องเรียน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง เนื่องจากอาจทำให้อัยการขาดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังอาจขัดต่อกฎหมายขององค์กรอัยการหลายฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓  จนอาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณของพนักงานอัยการก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า “..... จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน ....”  อีกทั้งยังอาจขัดต่อ ”ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562” โดยเฉพาะข้อ 19 ที่กำหนดว่า พนักงานอัยการจะต้องให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยเสมอภาคกัน  การที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำปรึกษาเป็นพิเศษแก่กลุ่มองค์กรแพทย์เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องที่อาจขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการข้างต้น        เนื้อหาตาม MOU ระบุให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด แพทยสภา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ โดยการประชุมหารือร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้อัยการที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ขาดความรู้ ความเข้าใจทางการแพทย์ ก็ย่อมอาจรับฟังและเชื่อในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่แพทย์บางท่านอธิบาย  แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ในแต่ละเคสจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การพิจารณาว่าศัลยแพทย์ท่านใดกระทำผิดตามที่ถูกผู้ป่วยหรือผู้รับบริการร้องเรียนหรือไม่ หากอัยการรับฟังข้อมูลจากศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนแล้วเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด ก็อาจส่งผลต่อการพิจารณาสั่งคดีของอัยการได้คือ อัยการอาจสั่งคดีไม่ฟ้องแพทย์รายนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือ หากพนักงานอัยการในนามองค์กรอัยการได้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ท่านนั้นไป หรือให้คำแนะนำแก่แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ไปแล้ว อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี         อนึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยที่ฟ้องแพทย์ส่วนใหญ่จะแพ้คดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะร้องขอให้แพทย์ท่านใดมาเป็นพยานเบิกความให้ฝ่ายผู้ป่วยในศาลได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ฟ้องแพทย์ก็มีน้อยมาก เพราะไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงต้องเสียเวลาขึ้นศาล หรือคิดว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรม อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบัตรทองหลายรายที่ได้รับการเยียวยาความเสียหาตามกฎหมายแล้วคือ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มักจะไม่ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลอีก              ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดควรทบทวนการทำ MOU ดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อองค์กรและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเกิดความคลางแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการว่า จะมีความเที่ยงธรรมหรือไม่ เพียงใด  การที่อัยการมีความสัมพันธ์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายแพทย์ที่เป็นคู่ความในคดีอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดประชุมหรือจัดสัมมนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง          การร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากศัลยแพทย์อาจมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยมในเรื่องการเสริมความงาม  หากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการดังกล่าว   ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องได้รับคำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายจากอัยการอย่างใกล้ชิด แล้วประชาชนจะไปหันพึ่งใคร          การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ ระหว่าง สำนักงานอัยการสูงสุด กับ แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการ องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นการทำ MOU ฉบับนี้ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับแพทยสภาที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งสมาชิกขององค์กรอาจเป็นคู่ความในคดีทางการแพทย์ จึงอาจกระทบต่อความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรมในการดำเนินคดีของอัยการ  --------------------------------* กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >