ฉบับที่ 226 ฤกษ์สังหาร : ความรู้ ความเป็นกลาง และการขับเคลื่อนดวงเมือง

        ย้อนกลับไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นและชวนสะเทือนขวัญ จนนำมาซึ่งบาดแผลอันยากเกินเยียวยามาจวบถึงทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านๆ ชีวิต โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีและพรรคนาซีที่เรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น         เงื่อนไขหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้อิทธิพลของนาซีและฮิตเลอร์แผ่ไพศาลจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมดังกล่าว ก็คือ การเล่นบทบาทอันผิดเพี้ยนของนักวิชาการที่ก้มยอมสวามิภักดิ์หรือขายจิตวิญญาณความรู้ให้กับผู้นำนาซี จนมองข้ามแม้แต่ชีวิตและเลือดเนื้อในความเป็นมนุษย์ของชาวยิวผู้ต่างชาติพันธุ์         ด้วยบาดแผลที่สลักลึกไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นักคิดทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นเพเป็นคนยิว ซึ่งรู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีแห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต จึงเป็นหัวหอกที่ผลักดันและทบทวนบทบาท “ความเป็นกลาง” ของนักวิชาการ หรือบรรดากุนซือผู้ทำหน้าที่ผลิตความรู้แห่งศาสตร์ต่างๆ ในสังคม         ภายหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง นักคิดกลุ่มนี้ที่หนีรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า หากความรู้คืออำนาจ นักวิชาการคือผู้ที่ผลิตความรู้นั้น และนักวิชาการขาดซึ่ง “ความเป็นกลาง” แต่ทว่าแปดเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์เสียแล้ว อำนาจแห่งความรู้ก็จะกลายมาเป็น “มนต์ดำ” ที่ประหัตประหารมนุษยชาติด้วยกันในที่สุด         เกินกว่ากึ่งศตวรรษผ่านไป คำถามต่อจุดยืนความเป็นกลางของนักวิชาการก็ได้ถูกหยิบยกมาทบทวนหวนคิดกันอีกครั้งหนึ่ง โดยผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ฤกษ์สังหาร” ซึ่งถูกวางเส้นเรื่องให้เป็นแนวละครสืบสวนสอบสวน ที่เปิดฉากขึ้นด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่ง โดยศพของเธอเสมือนหนึ่งถูกทำพิธีกรรมบางอย่าง และฝังเอาไว้อยู่ในดิน         ด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมอันดูแปลกประหลาด ได้ดึงดูดความสนใจของพระเอกหนุ่มอย่าง “มหากะทิง” หมอดูชื่อดังผู้มีความรู้โหราศาสตร์ และต้องการใช้องค์ความรู้ของเขาเพื่อเข้าร่วมสืบหาและคลี่คลายปมคดีการสังหารเหยื่อสาวเคราะห์ร้ายดังกล่าว         จากนั้น ความจริงก็ค่อยๆ เผยออกมาว่า การฆาตกรรมหญิงสาวเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีกรรมฤกษ์สังหารตามตำราแก้เคล็ดดวงเมือง ด้วยเพราะมีใครบางคนต้องการจะเปลี่ยนแปลงดวงเมือง และใช้พิธีกรรมนี้ในการเปลี่ยนวงโคจรของดวงดาวให้มาเสริมบารมีของเขา เพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจและความยิ่งใหญ่         ตามตำราดังกล่าวเชื่อว่า ในปีใดที่มีอาเพศใหญ่เกิดขึ้น 4 ครั้งในบ้านเมือง และในแต่ละครั้งของอาเพศ หากมีการใช้ชีวิตของหญิงสาวตามฤกษ์มาสังเวยทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ให้สัมฤทธิ์ได้แล้ว ผู้ประกอบพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมืองก็จะก้าวขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินด้วยมิจฉาวิชชาที่ว่านี้         เมื่อโจทย์ของมหากะทิงคือการคลี่คลายปมว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกรรมตามฤกษ์สังหาร และการขัดขวางพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมือง เราจึงได้เห็นภาพการเดินจับมือฟั่นเกลียวกันไประหว่างการใช้องค์ความรู้แบบโหราศาสตร์และการคำนวณฤกษ์ดวงดาวแบบดั้งเดิม กับองค์ความรู้นิติวิทยาศาสตร์และอาชญวิทยาสมัยใหม่ ที่จะว่าไปแล้ว ทั้งศาสตร์ความรู้เก่าและใหม่ที่ไขว้ประสานกันเยี่ยงนี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้อยู่แล้วในสังคมไทย         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นบทบาทของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “นักวิชาการ” หรือปัญญาชน ผู้เป็นประหนึ่ง “think tank” หรือ “คลังสมอง” ซึ่งใช้ศาสตร์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนทิศทางความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ         หากมหากะทิงและมิตรสหายของเขาอีกหลายคน รวมทั้ง “ศรีล” สารวัตรตำรวจมือสะอาด กับ “ชิงดวง” คุณหมอนักนิติวิทยาศาสตร์สาว เป็นตัวละครที่เลือกยืนอยู่ฝั่งคุณธรรมความดี ละครก็ได้สร้างให้เห็นขั้วความแตกต่างอีกฝั่งของ “อุทธิ” หมอดูโหราจารย์ที่เลือกใช้ความรู้ด้านมืดเสริมดวงของฝ่ายอธรรม         เนื่องจากโหราศาสตร์เป็นศาสตร์ความรู้ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ยอมรับไม่ต่างจากแขนงความรู้ของศาสตร์อื่นๆ แล้ว ทั้งมหากะทิงและอุทธิก็คือปัญญานักวิชาการผู้เป็น “คลังสมอง” ของศาสตร์วิชาดังกล่าว ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้องค์ความรู้เพื่อไปขับเคลื่อนดวงเมืองและความเป็นไปในเศรษฐกิจสังคมไทย         แต่เพราะจิตใจของอุทธิอาบเจือปนเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์ส่วนตนที่ต้องการเอาชนะมหากะทิง แบบที่อุทธิเคยกล่าวว่า “กูต้องชนะ กูทำมาขนาดนี้แล้ว ยังไงกูก็ต้องชนะ กูใช้เวลาทั้งชีวิต ยอมไม่มีเพื่อน ยอมเรียนดูดวง ยอมไปดูดวงคนเป็นพันๆ หมื่นๆ ที่อยากเจอหมอดูที่เก่ง กูทำพิธีนี้เพราะต้องการชนะมึง กูต้องเป็นอันดับหนึ่ง กูต้องอยู่เหนือมึง...” ดังนั้นอุทธิจึงเป็นนักวิชาการที่สละจุดยืนอัน “เป็นกลาง” แต่เลือกสมาทานความรู้โหราศาสตร์ของเขาเข้าสู่ด้านมืดแห่งอวิชชา         ด้วยกิเลสที่ต้องการเอาชนะคุกรุ่นอยู่ในใจ อุทธิจึงใช้ความรู้แบบ “มนต์ดำ” เพื่อประกอบพิธีฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมือง ที่จะเสริมส่งให้นักการเมืองใจซื่อมือคดอย่าง “รวี” ก้าวขึ้นสู่ผู้นำประเทศ พร้อมๆ กับบรรดาโครงข่ายอำนาจของท่านรวี ที่มีตั้งแต่คนในเครื่องแบบแต่เล่นบทบาทเป็นตำรวจกังฉินอย่าง “ผู้การดำริห์” ไปจนถึงนายทุนใหญ่ที่จิตใจเต็มไปด้วยโลภจริตอย่าง “เจ้าสัวพิพัฒน์”         และที่สำคัญ เพื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจเช่นนี้ อุทธิและพรรคพวกจึงมีความพยายามเปลี่ยนแปลงดวงเมืองให้ได้ โดยที่ไม่ตระหนักเห็นถึงคุณค่าในชีวิตมนุษย์อย่างบรรดาผู้หญิงที่ถูกคัดเลือกมาทำบัดพลีเซ่นสังเวยฤกษ์สังหาร ซึ่งไม่ต่างอันใดกับที่ครั้งหนึ่งฮิตเลอร์ก็สามารถขึ้นสู่อำนาจโดยสังหารชาวยิวนับล้านๆ คน          ด้วยพล็อตของละครแนวสืบสวนสอบสวนแบบนี้ ผู้ชมก็อาจจะเดาได้ไม่ยากว่า เราจะได้เห็นภาพการสัประยุทธ์แก้กลเกมระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม โดยที่ต่างฝ่ายต่างใช้วิชาความรู้มาปะทะต่อกรกันและกัน และในท้ายที่สุด ความรู้แบบอวิชชาก็ต้องปราชัย และฝ่ายมหากะทิงก็สามารถยุติการแก้เคล็ดดวงเมือง โดยช่วยเหลือนางเอก “รันหณ์” ให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อคนสุดท้ายของพิธีฤกษ์สังหารเอาไว้ได้         และในเวลาเดียวกัน เพราะความรู้เองก็มีกฎในการใช้งาน เมื่อพิธีฤกษ์สังหารไม่อาจทำจนสัมฤทธิ์ได้ คนเล่นของก็เลยต้องถูกคุณไสยย้อนมาเล่นใส่เสียเอง ภาพของอุทธิและพรรคพวกของท่านรวีที่ถูกลงโทษเซ่นสรวงสังเวยในฉากจบ จึงชวนดูสยดสยองไม่ต่างจากภาพหญิงสาวที่ถูกทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 เท่าใดนัก         จากบทเรียนจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และจากพิธีกรรมฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมืองในละครโทรทัศน์เช่นนี้ คงถึงเวลาอีกครั้งแล้วที่เราน่าจะต้องหันกลับมาทบทวนเรียกร้อง “ความเป็นกลาง” ในหมู่ปัญญาชนนักวิชาการ เพราะคลังสมองของชาติเหล่านี้ก็คือผู้มีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนชะตากรรมสังคม หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงวงโคจรของดวงเมือง จนอาจนำสู่โศกนาฏกรรมได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 พุทธฉือจี้ ต้นแบบขบวนการทำความดี

“ฉือจี้” คำนี้เริ่มกลายเป็นคำคุ้นชินของบุคลากรทั้งในแวดวงการศึกษา ศาสนา สุขภาพ หรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชนในประเทศไทยมากขึ้นทุกที ในฐานะองค์กรการกุศลที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติในนามเต็มว่า  “มูลนิธิพุทธฉือจี้” (Tzu Chi Foundation) องค์การกุศลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไต้หวัน เมื่อเอ่ยนามไต้หวัน หลายๆ คนคงนึกออกแค่ภาพหมู่เกาะเล็กๆ ที่มีประชากรเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ โดยมีลักษณะการปกครองที่เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่  แต่ถึงแม้จะเล็ก ระดับความเจริญทางเศรษฐกิจและเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาที่นี่ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก   ถ้ามีโอกาสไปไต้หวันคุณจะเห็นภาพนักบวช(ทั้งสตรีและบุรุษ) เดินปะปนไปกับผู้คนทั่วไปอย่างกลมกลืน รวมทั้งวัดจำนวนมากมายที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่วัดพุทธ เต๋าหรือขงจื้อ แต่ยังมีโบสถ์ของคริสต์และมัสยิดของอิสลามรวมอยู่ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญของไต้หวันให้เสรีภาพกับประชาชนในการนับถือศาสนาโดยไม่มีองค์กรกลางด้านศาสนามากำกับดูแล ทำให้ความเชื่อและแนวปฏิบัติหลากหลายเติบโตได้อย่างเต็มที่ในดินแดนนี้ ที่จะต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ การให้โอกาสผู้หญิงบวชเป็น “พระภิกษุณี” ได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ประมาณกันว่าพระในพระพุทธศาสนา(นิกายมหายาน) เป็นพระภิกษุ(ชาย) ราวร้อยละ 30 และภิกษุณี(หญิง) ร้อยละ 70 ซึ่งศาสนาพุทธนิกายมหายานเป็นที่ยอมรับมากที่สุด โดยมีประชากรราว 8 ล้านคนในไต้หวันเป็นศาสนิก เหตุที่ต้องเอ่ยถึงลักษณะพิเศษที่ประเทศนี้มีภิกษุณีจำนวนมาก ด้วยว่าเราจะเอ่ยถึงมูลนิธิพุทธฉือจี้ไม่ได้เลย หากไม่เอ่ยนามภิกษุณีท่านหนึ่ง ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ที่เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณและเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้   เริ่มจากเงินออมวันละ 50 เซนต์ มูลนิธิพุทธฉือจี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ร่วมกับลูกศิษย์ และผู้ร่วมอุดมการณ์ราว 30 คน ซึ่งได้แก่แม่บ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบวัดจิงเส้อ ที่เมืองฮวาเหลียน เมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน ถือว่าเป็นดินแดนที่มีความทุรกันดารมากแห่งหนึ่ง งานเริ่มแรกของมูลนิธิพุทธฉือจี้คือการสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ ด้วยหลักธรรมแห่งพุทธมหายานนั้น มุ่งเน้นที่การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือบรรดาสรรพสัตว์ต่างๆ ให้หลุดพ้นจากห้วงกรรมเสียก่อน หรือพูดให้ง่ายก็คือ ต้องช่วยเหลือคนอื่นก่อน โดยเฉพาะคนยากไร้ คนที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พึ่งพิง กิจกรรมแรกของท่านธรรมาจารย์คือ ขอให้ลูกศิษย์ประหยัดค่ากับข้าวคนละ 50 เซนต์(เทียบแบบง่ายๆ ก็คือ 50 สตางค์) ต่อวัน โดยเก็บออมไว้ในกระบอกไม้ไผ่เพื่อนำมาช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้คน  โดยเมื่อแรกก่อตั้งนั้นอาจช่วยเหลือผู้คนได้ไม่มาก แต่ปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่า มูลนิธิพุทธฉือจี้สามารถช่วยเหลือผู้คนไม่เพียงในไต้หวันเท่านั้นแต่เป็นผู้คนทั่วโลกได้มากมายหลายล้านคน ในขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมอุดมการณ์ฉือจี้ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ภารกิจ 8 ประการของมูลนิธิพุทธฉือจี้ (1) งานการกุศล สงเคราะห์ผู้ยากไร้ (2) บรรเทาอุบัติภัย ทั้งระดับท้องถิ่นและสากล (3) บำบัดความเจ็บป่วยด้วยการแพทย์เปี่ยมจริยธรรม (4) การศึกษาที่ทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิต (5) การสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม (6) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (7) ศูนย์ข้อมูลไขกระดูก (8) อาสาสมัครชุมชน ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รูปธรรมของการขับเคลื่อนภารกิจทั้ง 8 ประการของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้แก่ โรงพยาบาลฉือจี้ ที่มีมากถึง 7 แห่งในไต้หวัน ให้บริการการแพทย์ที่ทันสมัยและเปี่ยมด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ สถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม ประถมและอนุบาล ที่พร้อมปลูกฝังคุณธรรมและความเป็นผู้มีจิตเมตตา สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย สถานีโทรทัศน์น้ำดีที่ได้รับการโหวตจากผู้ชมชาวไต้หวันให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ทรงอิทธิพลต่อผู้ชมมากที่สุด สถานีแยกขยะ(รีไซเคิลขยะ) ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ เพื่อจัดการกับขยะที่ดูเหมือนไร้ค่าให้กลายเป็นทองคำ งานบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ทั้งในประเทศและระดับสากล ด้วยคำขวัญไปถึงก่อนและกลับทีหลัง(เข้าไปเป็นกลุ่มแรกๆ และกลับออกมาเป็นกลุ่มสุดท้าย)  ธนาคารไขกระดูก เพื่อช่วยเหลือคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือด งานสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากและงานอาสาสมัครชุมชน  เพื่อขัดเกลาให้ชาวฉือจี้ได้ทำงานจิตอาสาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในจิตใจให้งอกงาม ลดอัตตาและความเห็นแก่ตัวลง ปี 2553) มูลนิธิพุทธฉือจี้ได้รับสถานะ ที่ปรึกษาพิเศษ (special consultative status) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสงคมแห่งสหประชาชาติ Economic and Social Council (ECOSOC) ขณะที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนก็ได้รับรางวัลนานาชาติ เช่น เหรียญไอเซน ฮาวร์ (Eisenhower Medallion) และได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ   เหตุแห่งความสำเร็จของมูลนิธิพุทธฉือจี้ 1.ความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใด ชาวฉือจี้จะมีระบบในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน และมีวินัยอันเยี่ยมยอด 2.เป้าหมายร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ชาวฉือจี้มุ่งมั่นในการทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น โดยละวางตัวตน ทำให้ไม่เกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค 3.ศรัทธาอันแรงกล้าต่อผู้นำองค์กร ท่านธรรมาจารย์มีวัตรปฏิบัติที่สงบ งาม เป็นแบบอย่างอันดีให้แก่ชาวฉือจี้  สิ่งที่ท่านสอนเป็นสิ่งที่ท่านทำอย่างสม่ำเสมอมิเคยขาด ทำงานหนัก อยู่ง่าย กินง่าย เบียดเบียนผู้อื่นและโลกน้อยที่สุด 4.กิจกรรมทันสมัยไม่หนีห่างจากโลก กิจกรรมที่ชาวฉือจี้ปฏิบัติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ทุกคนสามารถทำได้ เข้าถึงได้ ไม่มีใครที่เข้าร่วมขบวนการฉือจี้แล้วไม่มีอะไรทำ หรือรู้สึกสูญเปล่า 5.สมาชิกมีคุณภาพและเครือข่ายเข้มแข็ง ฉือจี้เน้นการปฏิบัติธรรมเป็นกลุ่ม บรรลุเป็นทีม ดังนั้นจะมีแนวทางหรือหลักสูตรที่ช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการทำงานให้กับสมาชิกและอาสาสมัคร 6.มีเงินทุนเป็นของตนเอง ทุกๆ เม็ดเงินที่มีผู้บริจาคเข้ามา หรือรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งการรีไซเคิลขยะ ขายของมือสอง ของที่ระลึก เงินทั้งหมดบริหารจัดการโดยมูลนิธิฯ ด้วยความโปร่งใสมากจนเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป ทำให้แต่ละปีมีผู้บริจาคเงินเป็นจำนวนมาก เงินมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมายไม่รู้จบสิ้น ประมาณการกันว่า เงินบริจาคที่มูลนิธิฯ ได้รับน่าจะมีมูลค่ารวมเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเหรียญ 7.วัดไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาค ในส่วนของวัดท่านธรรมาจารย์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินบริจาคเลย ท่านธรรมาจารย์และลูกศิษย์ ถือคติ วันไหนไม่ทำงาน วันนั้นไม่กิน มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวัด อาหารการกินมาจากแปลงผักในบริเวณวัดนี้เอง ผักเหล่านี้ภิกษุณีและอาสาสมัครฉือจี้จะช่วยกันปลูก เก็บ และนำมาประกอบอาหารเลี้ยงกันเองในวัด รวมทั้งเลี้ยงผู้มาเยือนซึ่งมีมาตลอดเวลา รวมทั้งการผลิตสินค้าอย่างเทียนไข รองเท้าสานจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ให้แก่ทางวัด การทำงานทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ดังนั้นจึงยิ่งสร้างศรัทธาให้แก่ผู้คน 8.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง โดยมีรูปธรรมความสำเร็จที่ชัดเจน เช่น งานโรงพยาบาล งานวิทยาลัยแพทย์ งานบรรเทาทุกข์ ทำให้คนจำนวนมากสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย หรือแม้แต่การศึกษาดูงาน อาจกล่าวได้ว่า ถ้าไปไต้หวันใครๆ ก็อยากไปดูงานฉือจี้ 9.การสร้างคนรุ่นใหม่ ด้วยการปลูกฝังคุณธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษาสถาบันการศึกษาของฉือจี้เอง รวมทั้งการถ่ายทอดเรื่องราวคุณธรรมต่างๆ ผ่านสถานีโทรทัศน์ที่ไม่เพียงสื่อสารกับคนในไต้หวันแต่ยังรวมถึงชาวจีนทั่วโลกด้วย 10.การสร้างพลังใจให้กับคนทำงาน มีการเก็บภาพข่าว ภาพกิจกรรม ความรู้ ประสบการณ์จากอดีตมาเสริมสร้างพลังใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้เรื่องเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ถูกมองข้าม การสื่อสารองค์กร ทำให้เกิดการเรียนรู้ในความสำเร็จและชื่นชมในความดีความงามของสมาชิกและอาสาสมัครตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงปัจจุบัน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวฉือจี้ได้เป็นอย่างดี   การเข้าเป็นอาสาสมัครฉือจี้ การเข้าเป็นอาสาสมัครฉือจี้นั้นเป็นการมาโดยสมัครใจ  ไม่มีใครบังคับและทำการทุกอย่างด้วยความสมัครใจตามอรรถภาพที่แต่ละคนมีอยู่ และเปิดกว้างให้กับคนทุกชาติ  ศาสนา  เพราะการช่วยเหลือของมูลนิธิพุทธฉือจี้ เป็นการ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่เลือกชาติ  ศาสนาหรือชนชั้น  เพศ  วัย  โดยถือว่าทุกคนในโลกใบนี้เป็นคนในครอบครัวเดียวกันเมื่อตกทุกข์ได้ยากก็ต้องช่วยเหลือกัน อาสาสมัครของฉือจี้มีหลายประเภท 1.อาสาสมัครชุดน้ำเงินขาว ผ่านการอบรมอย่างน้อย 2 ปี เพื่อพัฒนาขึ้นไปเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลและอาสาสมัครพ่อแม่อุปถัมภ์ 2.อาสาสมัครการศึกษา ผ่านการอบรมแนวคิดการเป็นครูแบบฉือจี้อย่างน้อย 2 ปี เพื่อพัฒนาขึ้นไปเป็นอาสาสมัครสมาคมครู 3.อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการอบรมอย่างน้อย 1 ปี ประจำอยู่ตามหน่วยสาธิตการเก็บแยกขยะทั่วเกาะไต้หวัน 4.อาสาสมัครแพทย์ฉือจี้ระหว่างประเทศ และยังมีอาสาสมัครในอาชีพอื่นๆ อีก เช่น ตำรวจ เป็นต้น   ทำความดีแบบฉือจี้ไม่มีเบื่อ หลายๆ คนอาจเคยได้ลองสัมผัสงานจิตอาสา โดยเฉพาะปลายปีที่แล้วที่บ้านเราพบเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง ในท่ามกลางความงดงามของความมีน้ำจิตน้ำใจที่คนหันมาช่วยเหลือกัน แต่ก็มีภาพและเสียงสะท้อน ที่บอกถึงความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานจิตอาสา หลายคนบ่นท้อแท้ หลายคนไม่ชอบใจที่ไปความตั้งใจดีแต่กลับพบความไม่มีระบบระเบียบในการดูแลเรื่องข้าวของบริจาค หรือถูกต่อว่าต่อขานโดยคนที่ตนเองเข้าไปช่วยเหลือ ฯลฯ อาจเพราะพวกเรายังใหม่ ส่วนใหญ่ก็มีแต่ใจที่อยากจะช่วย การมีแต่ใจแต่ขาดการจัดการ ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้บั่นทอนกำลังใจลงไปเสียมาก จนหลายคนไม่อยากทำ หรือเบื่อหน่ายที่จะทำความดี รู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ดีกว่า หรือบางคนก็มีศักยภาพที่สูงมากกว่าที่จะมานั่งแพ็กของ แพ็กกระสอบทราย แต่ที่ฉือจี้ อย่างที่ได้กล่าวไป ที่นี่ทำงานแบบมืออาชีพ งานอาสาสมัครหรือจิตอาสาของฉือจี้ ทำแล้วไม่มีเบื่อ ส่วนหนึ่งก็เพราะ 1.ทำด้วยความเข้าใจ พากเพียรไม่ลดละ 2.ผ่อนคลาย สมดุลทั้งกายและใจ 3.ให้เกียรติผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือและละวางตัวตน 4.ได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยง ไม่ปล่อยให้ทำงานลำพัง 5.ไม่หักโหม มีขั้นตอน มีพักผ่อน มีช่วงลงแรงแข็งขัน การทำงานอาสาสมัครของฉือจี้ จะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว นานๆ เข้าก็เลื่อนขั้นสูงขึ้น ได้ทำงานที่ได้ฝึกฝนตนเองมากขึ้น มีการดูแลจากพี่เลี้ยงไม่มีการทำเกินกำลัง จึงมีเวลาบ่มเพาะความเข้มแข็งทีละน้อย โดยไม่ต้องรู้สึกฝืนตัวตน จริงๆ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ อาจเป็นเป็นข้อแรกเลยก็คือ ทุกคนมีความศรัทธาในตัวท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน จึงพร้อมละวางตัวตนได้อย่างง่ายดายและมีท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัว ท่านธรรมาจารย์สอนให้ชื่นชมผู้อื่น ไม่เน้นวิจารณ์หรือตำหนิติเตียน เพราะทั้งสองนี้เป็นที่มาของความขัดแย้ง ความไม่สบายใจและความแตกแยก ที่ฉือจี้สอนว่า หากเห็นผู้อื่นมีข้อบกพร่อง ก็จะยกให้กับกฎแห่งกรรมเป็นผู้ลงโทษ แล้วจะคิดไปในเชิงบวก “รู้จักพอเพียง เคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรนผู้อื่น” เห็นความสำคัญของการให้เกียรติกันและให้อภัย ทำให้ความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในใจลดน้อยลง ในการให้ความช่วยเหลือ แม้เปี่ยมด้วยเมตตา แต่ก็ต้องใช้ปัญญากำกับเสมอ การดำเนินงานจึงจะถูกต้อง เช่น ครั้งหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในไต้หวัน นอกจากอาสาสมัครจะได้ออกไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแล้ว ฉือจี้ยังสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้แก่ชุมชนใหม่ถึง 51 แห่ง โดยกำหนดเป้าหมายสร้างอย่างแข็งแรงและทนแรงแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์เพื่อไม่ให้โรงเรียนพังลงมาทับเด็กจากเหตุแผ่นดินไหวอีก ทั้งที่ตอนที่พังลงมานั้นมีความแรงไม่ถึง 7 ริกเตอร์ แสดงให้เห็นถึงการมองถึงอนาคตเพื่อผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่สำคัญทุกขั้นตอนมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างดี การให้ความช่วยเหลือของฉือจี้จะเริ่มด้วยการประเมินสถานการณ์ก่อน ประเมินความต้องการ ดูเรื่องการขนส่ง การเข้าถึง การคำนึงถึงผู้ประสบภัยว่าต้องการสิ่งใดบ้าง เพื่อให้ของที่ไปถึงมือผู้รับไม่สูญเปล่าและตรงกับความต้องการ และมีการติดตามผล(ฉือจี้ไม่มีการนำข้าวสารไปให้ในพื้นที่ ที่ไม่สามารถหุงหาอาหารได้ ฉือจี้มีข้าวกึ่งสำเร็จรูปที่แค่แช่น้ำก็กินได้ นอกจากนั้นยังมีข้าวของจำเป็นอีกหลายอย่างที่ชาวฉือจี้พัฒนาขึ้นภายหลังการเรียนรู้จากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกครั้ง) สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tzuchithailand.org   ข้อมูล วิชัย โชควิวัฒน์. ไปไหว้พระโพธิสัตว์ที่ไต้หวัน.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ.กรุงเทพ,2553. พระเดิมแท้ ชาวหินฟ้า.พุทธฉือจี้ พุทธที่ไม่เคยเห็นมาก่อน.กองทุนสื่อพุทธฉือจี้,2551.   ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนผู้เป็นประมุขของชาวฉือจี้นั้น เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ที่ตำบลชิงสุ่ย เมืองไทจุง ซึ่งอยู่ตอนกลางของไต้หวัน พ่อแม่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของอา จึงนับถืออาเป็นเหมือนพ่อแม่ที่แท้จริง เมื่ออายุได้ 15 ปี แม่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร ท่านอาจารย์ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้มารดาหายป่วย โดยขอลดอายุของตนเองลง 12 ปี และจะกินมังสวิรัติเพื่อเป็นการสร้างกุศล แต่เมื่ออายุได้ 20 ปี บิดาของท่านก็ล้มป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ท่านอาจารย์มีความสะเทือนใจมาก ในที่สุดก็ตัดสินใจปลงผมตนเองถือบวช เร่ร่อนไปทางแถบตะวันออกของไต้หวันซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร ผู้คนยากจนมาก ท่านไม่ออกรับบิณฑบาตจากชาวบ้านเพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการเก็บถั่วลิสงและมันเทศที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านมาเป็นอาหาร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2504 ท่านได้เดินทางมาพำนักที่เมืองฮวาเหลียน และได้พบกับพระอาจารย์ยิ่นซุ่นซึ่งรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ โดยได้สั่งสอนหลักสั้นๆ ว่า “เมื่อบวชแล้ว จงทำทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนาและมวลมนุษย์” หลังจากนั้นท่านธรรมาจารย์และผู้ร่วมอุดมการณ์ ได้มาสร้างกระท่อมเล็กๆ หลังวัดผู่หมิงที่ฮวาเหลียนเป็นที่พำนัก โดยมีศิษย์ไม่กี่คนติดตามมาด้วย ท่านอาจารย์และสานุศิษย์ทุกคนต้องทำงานอย่างหนัก ต่อสู้กับภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ อยู่แบบอดมื้อกินมื้อ ตามกฎที่ท่านตั้งไว้ว่า “วันใดไม่ทำงาน วันนั้นจะไม่กิน” กล่าวคือ นอกจากจะปลูกผักไว้กินเองแล้ว ยังทำสินค้าออกจำหน่ายเพื่อหาเงินมาประทังชีวิตด้วย เช่น นำด้ายจากโรงงานที่เขาทิ้งแล้วมาถักเป็นเสื้อกันหนาว ถักรองเท้าเด็กขาย เย็บถุงสำหรับใส่อาหารสัตว์ เป็นต้น ปี พ.ศ. 2509 ท่านธรรมาจารย์ประสบเหตุอันทำให้กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เมื่อไปเยี่ยมอุบาสกผู้หนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนที่ฟงหลิน ท่านไปพบกองเลือดกองใหญ่นองอยู่บนพื้น สอบถามได้ความว่าเป็นกองเลือดของผู้หญิงชนบทแท้งลูก ญาติพามาโรงพยาบาลใช้เวลาเดินทาง 7-8 ชั่วโมง แต่ต้องพากลับไปรักษาที่อื่นเพราะไม่มีเงิน 8,000  เหรียญสำหรับจ่ายค่ามัดจำก่อนที่แพทย์จะลงมือผ่าตัดช่วยชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านอาจารย์ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องทำงานเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ขาดที่พึ่งพิง และในที่สุดก็เกิดความคิดที่จะรวบรวมชาวพุทธเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันสร้างกุศลกรรมโดยการช่วยเหลือผู้ยากไร้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยความเมตตากรุณาและไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งหากทำได้ ทุกคนก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทันที ไม่ต้องรอสวดมนต์อ้อนวอนภาวนาต่อเจ้าแม่กวนอิมเพื่อให้ได้เป็นพระโพธิสัตว์ ความทุกข์ยากในสังคมและในโลกก็จะบรรเทาเบาบางลงไปได้ นพ. อำพล จินดาวัฒนะ http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=660

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 บุญ ไม่ใช่การซื้อ

คงไม่ใช่การพูดเกินเลยไปนัก หากจะมองว่าสังคมไทยวันนี้มีรูปแบบ “การทำบุญ” ไม่ต่างจากรูปแบบการบริโภคอื่นๆ คือ ต้องการอะไรสำเร็จรูป สะดวก รวดเร็วและอาศัย “เงิน” เป็นเครื่องมือไปสู่ความสุขหรือสู่การมีบุญ บุญในพุทธศาสนามาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญะ” แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ บุญเป็นเครื่องกำจัดสิ่งเศร้าหมอง ที่เรียกกันว่า กิเลส ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของการทำบุญคือ การทำให้เราลด ละ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีจิตใจคับแคบ ความตระหนี่ ความลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความทุกข์ในจิตใจ หากสละได้ก็ทำให้ใจเป็นอิสระ ลดความเป็นตัวตนลง ถือเป็นโอกาสสร้างคุณความดีอื่นๆ ต่อไป   ดังนั้นการทำบุญคือ การสละอย่างฉลาด ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาซื้อ การทำบุญในพุทธศาสนาสามารถทำได้มากมายหลายวิธี ซึ่งขอสรุปให้เป็นแนวทาง 10 วิธี ดังนี้ 1.การให้ทาน บริจาคเงิน สิ่งของ (ทานมัย)2.การถือศีลหรือลดความประพฤติไม่ดี และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น (ศีลมัย)3.การเรียนรู้ ฝึกจิตให้สงบไม่เศร้าหมอง ทำให้เกิดปัญญา (ภาวนามัย)4.การสละแรงกายช่วยเหลือสังคมและผู้อื่น เป็นงานเพื่อส่วนรวม (ไวยาวัจจมัย) 5.การอ่อนน้อมถ่อมตน แม้มีอาวุโสกว่าก็มีเมตตา รู้จักให้เกียรติ (อปจายนมัย)6.การยอมรับและมีความยินดีในการทำความดีของผู้อื่น (ปัตตานุโมทนามัย) 7.การเผื่อแผ่โอกาสให้ผู้อื่นได้ร่วมทำบุญหรือความดีกับเรา พร้อมเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้รับส่วนบุญนั้นด้วย (ปัตติทานมัย) 8.การรับฟังธรรมะและข้อคิดดีงาม (ธรรมสวนมัย) 9.การให้ธรรมะและและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น (ธรรมเทศนามัย)10. การนึกคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม (ทิฎฐุชุกรรม) หากดูจาก 10 ข้อ ที่กล่าวมา คนส่วนใหญ่จะคิดถึงเพียงข้อแรกคือ การให้ทาน และมักเข้าใจว่าต้องทำกับพระเท่านั้น กลายเป็นว่าเวลาต้องการทำบุญ เลยต้องไปซื้อ ถังบรรจุสิ่งของ ที่เรียกกันทั่วไปว่า ชุดสังฆทาน ไปมอบแด่พระภิกษุสงฆ์ ถามว่าได้บุญไหม ก็ได้อยู่ แต่ถ้าจะให้ดี ควรเลือกถวายของที่พระท่านจะได้นำไปใช้จริงๆ ไม่ใช่ของที่ใช้ประโยชน์ได้น้อยจนพระท่านต้องทิ้งให้กองอยู่ล้นวัด อย่างนี้จะได้บุญมากกว่า การให้ทานแก่ผู้อื่นนอกจากพระสงฆ์ก็เป็นบุญเช่นกัน มีคนมากมายที่เราควรให้ความเอื้อเฟื้อ เช่น เด็กยากจน เด็กกำพร้า ผู้พิการ ฯลฯ หรือแม้แต่การสงเคราะห์สัตว์ เช่น สุนัข แมวเร่ร่อน ก็เป็นบุญเช่นกัน เอาเขามาเลี้ยงในบ้านเพื่อช่วยรักษาชีวิตของเขา หรือบริจาคเงินให้แก่หน่วยสงเคราะห์สัตว์ ทานอีกอย่างที่สำคัญคือ ธรรมทาน เช่น การให้หนังสือธรรมะ หรือหนังสือที่ช่วยให้ผู้อื่นมีแนวทางที่ถูกต้องในการดูแลจิตใจ สุขภาพ ร่างกาย ก็ถือว่าได้บุญเช่นกัน ไม่มีเงิน ก็ทำบุญได้ทำบุญไม่ได้แปลว่าให้ทานเสมอไป ไม่มีเงินเลยก็สามารถทำบุญได้เหมือนกัน การงดสิ่งเสพติด งดอบายมุข ก็ถือว่าได้บุญแล้ว รักษาศีล ไม่ประพฤติตนเป็นคนเกเร อันธพาล ไม่เป็นหนี้เป็นสินหรือไม่ใช่จ่ายให้เกินตัว ทำให้ชีวิตให้โปร่งเบาโดยลดกิเลสต่างๆ ลง เหล่านี้ไม่ต้องใช้เงิน ก็นับเป็นการทำบุญที่อานิสงค์ ไม่แพ้การให้ทานแต่ประการใด สังฆทาน ที่แท้นั้นคืออะไร“การทำบุญคือ การสละอย่างฉลาด ไม่ใช่การซื้ออย่างตะบี้ตะบัน”จะทำบุญกันทั้งที ก็ให้มันมีสติหน่อยพี่น้อง หากจะเลือกการทำทาน ที่เรียกว่า “สังฆทาน” ขอท่านได้โปรดพิจารณา ชุดสังฆทาน ชุดไทยธรรม ที่ฉลาดซื้อไปตะลุยซื้อมา ระหว่างวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จำนวน 15 ชุด แล้วลองทบทวนกันให้ดีอีกนิดว่า การถวายสังฆทานครั้งต่อไป ท่านยังจะเลือกซื้อสังฆทานสำเร็จรูปอีกหรือไม่ พฤติกรรมการเลือกซื้อ “ชุดสังฆทาน”บริษัท นาโน เซิร์ช จำกัด ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 200 ราย ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เกี่ยวกับพฤติกรรมการทำบุญและเลือกซื้อชุด “สังฆทาน” โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย ร้อยละ 44 หญิง ร้อยละ 56 ช่วงอายุระหว่าง 22 – 45 ปี   จากการสำรวจพบว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าประเภทชุดสังฆทาน ส่วนใหญ่เลือกซื้อในรูปแบบที่มีการจัดสำเร็จรูปพร้อมยกไปใช้งานถึง ร้อยละ 61.1 และ ร้อยละ 21.1 เลือกจะไปใช้บริการที่วัดที่มีการบริการเกี่ยวกับชุดสังฆทานเมื่อต้องการถวายอยู่แล้ว และอีกร้อยละ 18.1 ซื้อของที่ต้องการและนำมาจัดชุดเอง ส่วนการเลือกซื้อชุด “สังฆทาน”ของผู้บริโภค นั้นพบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ตรวจสอบสินค้าก่อน ดูแค่ลักษณะภายนอกว่ามีสินค้าอะไรบ้าง ร้อยละ 40 ส่วนผู้บริโภคทีดูว่าสินค้าภายในชุดสังฆทานนั้นครบถ้วนอย่างที่ต้องการหรือไม่ มีเพียงร้อยละ 33.5 การจัดชุด”สังฆทาน” จะมีการตั้งราคาขายไว้อยู่แล้ว มีทั้งในรูปแบบขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ ขนาดใหญ่ มูลค่าจะสูงขึ้นตามขนาดของสินค้าหรือของที่อยู่ภายใน ซึ่งราคาที่ผู้บริโภคเลือกซื้อได้นั้น อยู่ที่ประมาณ 200-400 บาทต่อชุด ร้อยละ 50 และ ไม่เกิน 200 บาทต่อชุด ร้อยละ 21 และราคา 401-600 บาท ร้อยละ 21 ในสัดส่วนที่เท่ากัน ที่มา http://www.businessthai.co.th{/xtypo_rounded2} สุดท้ายก็ไปกองล้นวัด จากการสำรวจของฉลาดซื้อ สิ่งของส่วนใหญ่ในสังฆทานสำเร็จรูป ประกอบด้วยของ 5 กลุ่มหลัก คือ 1.ภาชนะบรรจุ แน่นอนส่วนใหญ่เป็นถังพลาสติกสีเหลือง กล่อง ตะกร้าพลาสติก กล่องกระดาษ แต่แนวสุดในการสำรวจครั้งนี้คือ ย่ามพระ 2.ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหาร ได้แก่ ใบชา เครื่องดื่มขิง เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำดื่ม น้ำรสผลไม้ เครื่องดื่มมอลต์ รสช็อกโกแลต นมพร้อมดื่ม นมถั่วเหลือง นมข้นหวาน บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง ข้าวสารแบ่งบรรจุ ขนมอบ กาแฟ ครีมเทียม 3.ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องใช้ สบู่ กล่องสบู่ ขัน แก้ว ถาด ตะกร้า ไม้ขีดไฟ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ไม้จิ้มฟัน ผ้าขนหนู มีดโกน เข็มด้าย ธูป เทียน ทิชชู่ กรรไกรตัดเล็บ แหนบ ผงซักฟอก ก้านสำลี สมุดโน้ต ปากกา ยาจุดกันยุง น้ำยาล้างจาน ฟองน้ำ ฝอยเหล็กล้างจาน ร่ม ผ้าขนหนูขนาดเล็กสำหรับเช็ดหน้าหรือเช็ดมือ 4.ผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค ยาหอม ยาอม ยาหม่อง ยาลดกรดในกระเพาะ ยาธาตุน้ำแดง ยาแก้ปวดลดไข้ 5.เครื่องใช้สำหรับพระ ผ้าอาบน้ำ ผ้าอังสะ ผ้ากราบ ข้าวของเครื่องใช้ดังปรากฏในรายงานการสำรวจครั้งนี้ แทบไม่ต่างจากการสำรวจของฉลาดซื้อเมื่อปี 2546 (ฉบับที่ 55 มิถุนายน-กรกฎาคม 2546) โดยฉลาดซื้อได้เคยเสนอทางเลือกให้ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้พิจารณาจัดหาหรือเตรียมข้าวของเอง เมื่อมีความตั้งใจที่จะถวายของแด่พระภิกษุสงฆ์ แทนการซื้อสังฆทาน ถังเหลือง ที่ข้าวของส่วนใหญ่พระท่านไม่ค่อยได้ใช้ หรือของบางอย่างจำเป็นจริง แต่ที่ใส่หรือบรรจุในชุดสังฆทานมักเป็นของไม่มีคุณภาพ เช่น ธูปเทียนที่ใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้ แปรงสีฟันคุณภาพต่ำ ไฟฉายที่ใช้งานไม่ได้ ทิชชู่ที่เนื้อหยาบคุณภาพต่ำ น้ำรสผลไม้ที่อุดมด้วยน้ำตาลแต่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร เป็นต้น รวมไปถึงถังเหลือง กล่องสบู่ ขันน้ำ ที่พากันไปกองทับถมอยู่ล้นวัด รายการสำรวจสังฆทาน ระหว่างวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน 2552 Doawload ตารางการสำรวจสังฆทาน ระหว่างวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน 2552 พระท่านคิดอย่างไรฉลาดซื้อได้นำรายการสินค้าจากการสำรวจไปสอบถามความคิดเห็นจากพระภิกษุสงฆ์ พบว่า ข้าวของส่วนใหญ่ที่ใส่มาในสังฆทานเป็น ของที่ไม่ค่อยจำเป็น มีประโยชน์น้อย 10. อันดับรายการสินค้าที่ไม่จำเป็น ที่พบในชุดสังฆทานจากการสำรวจ 1.ใบชา เหตุผล เดี๋ยวนี้พระท่านไม่ค่อยฉันแล้ว ควรเปลี่ยนเป็นน้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ที่อยู่ในสังฆทานส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีคุณภาพ เป็นน้ำหวานแต่งกลิ่น รส หรือผงสมุนไพรห่อเล็กๆ ที่ดูด้อยคุณภาพ 2. ขิงผงสำเร็จรูป เหตุผล เป็นเครื่องดื่มที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก แต่คนก็ชอบถวาย เพราะนึกว่าพระท่านจะชอบ 3. ยาจุดกันยุง เหตุผล สำหรับพระเมือง อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเนื่องจาก ทางวัดน่าจะมีการจัดการที่ดีในการดูแลไม่ให้ยุงมารบกวนการทำกิจต่างๆ ส่วนพระป่า อาจมีความจำเป็นอยู่บ้าง 4. นมข้นหวาน เหตุผล พระท่านไม่รู้จะได้ใช้ตอนไหน เพราะถือว่าเป็นอาหาร หลังเพลก็ฉันไม่ได้แล้ว 5. กาแฟผงสำเร็จรูป เหตุผล พระท่านไม่รู้จะได้ฉันตอนไหนอีกเช่นกัน 6. ถัง กล่องสบู่ ขวดน้ำ ขัน พลาสติกเหตุผล ใครๆ ก็หิ้วกันไป เลยเหลือกองอยู่ล้นวัด 7.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เหตุผล เป็นของไม่มีประโยชน์ พระท่านฉันเพียง 2 มื้อเท่านั้น อีกอย่างเก็บไว้นานก็ไม่ดี เพราะจะหืนหรือเสียเร็ว และมักหมดสภาพตั้งแต่อยู่ในชุดสังฆทานแล้ว 8.น้ำดื่มบรรจุขวดเหตุผล น้ำดื่มบรรจุขวดที่อยู่ในถังสังฆทานมักมีสภาพไม่น่าดื่ม และส่วนใหญ่แต่ละวัดก็จะมีระบบเรื่องน้ำสำหรับดื่มภายในวัดที่พร้อมกว่า 9.ขนมคุ้กกี้ ขนมอบต่างๆ เหตุผล ไม่ใช่ของที่ดีต่อสุขภาพ 10.ธูปเทียน ไม้ขีดไฟเหตุผล มีจำนวนเกินพอในวัดแล้ว และที่มากับสังฆทานมักหักหรืออยู่ในสภาพไม่เหมาะกับการใช้งาน พระไพศาล วิสาโลเจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน จังหวัดชัยภูมิสังฆทานนั้น ถ้าจะให้ได้บุญจริงๆ ต้องทำโดยไม่ต้องระบุ หรือมีเจตนาว่าจะให้กับพระรูปไหน ของที่จะให้พระก็ควรจะเป็นของพี่พระนำเอามาใช้ได้จริง หลายคนเลือกซื้อถังสังฆทานที่วางขายอยู่ตามร้านขายสังฆภัณฑ์ ซึ่งแต่ละถังก็มีราคาที่แตกต่างกัน ถูก – แพง ต่างกันไป แล้วแต่ว่าเขานำอะไรใส่ลงไปบ้าง แต่ที่เหมือนๆกันก็คือพระแทบจะนำมาใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้ ขันน้ำบางทีก็แตกมา อาหารกระป๋องก็หมดอายุ เคยเห็นจีวรในถังสังฆทานไหมว่าผืนแค่ไหน ผืนนิดเดียวจะเอามาทำอะไรได้ คนทั่วไปมักมองว่า “พระ” คือ “บุรุษไปรษณีย์” ที่จะนำสิ่งของต่างๆ ไปให้กับญาติที่จากโลกนี้ไปแล้ว หลายคนเลือกของที่ญาติๆ พวกเขาชอบมาถวาย ก็ถือว่าทำได้ แต่ควรจะนึกถึงประโยชน์ที่ทางวัด หรือพระจะนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า อย่างเช่นพวกสมุด ดินสอ ปากกา หลอดไฟฟ้า ที่สำคัญอีกอย่างก็คือของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ เจตนาต้องบริสุทธิ์ ผู้รับต้องบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน จึงจะได้ผลทานที่แท้จริง ชุดสังฆทานต้องมีฉลากแจ้งข้อมูลผู้บริโภคขณะที่คนส่วนใหญ่ยังชอบซื้อชุดสังฆทาน ชุดไทยธรรมสำเร็จรูป หลายหน่วยงานของรัฐจึงได้เข้ามาดูแลและกวดขันการบรรจุสังฆทานหรือชุดไทยธรรมสำเร็จรูปมากขึ้น โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยต้องระบุข้อความ รายการสินค้าที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงชื่อ สถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรม ไว้ด้วย นอกจากนั้นยังต้องระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อนของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด วันเดือนปีที่บรรจุ และราคารวมชุดจัดบรรจุที่ระบุหน่วยเป็นบาทและกรณีที่ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมใด ที่นำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ผู้ผลิตต้อง ระบุคำเตือนในฉลาก เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ซึ่งข้อความที่ติดตั้งหรือแสดงฉลากต้องเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน หากผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากนั้นไม่ถูกต้อง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้ที่พบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องสามารถแจ้งได้โดยตรงที่ สคบ.ในส่วนของ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ก็สามารถเอาผิดแก่ผู้ผลิตได้ หากนำของไม่มีคุณภาพตรงตามฉลากหรือหมดอายุมาจำหน่าย เพราะชุดสังฆทาน ชุดไทยธรรม ถือเป็นสินค้าบรรจุหีบห่อ กฎหมายว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อไม่ตรงกับที่ระบุไว้ ถือเป็นความผิดกฎหมายหีบห่อ มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการในกรณีสินค้าราคาต่ำแต่บวกราคาสูง มีความผิดปรับ 10,000 บาท และหากสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ถือว่าผิดกฎหมายอาญาเข้าข่ายฉ้อโกง มีโทษปรับ 6,000 บาท จำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนรวมถึงพระภิกษุพบเห็นสามารถร้องเรียนสายด่วน 1569 ได้เช่นกัน 10 สิ่งของถวายสังฆทานที่อาจนึกไม่ถึง 1.ยาสระผม แต่คงไม่ต้องถึงขั้นถวายครีมนวดผมด้วย เพราะท่านใช้เพียงแค่โกนศีรษะให้ง่ายขึ้น และช่วยดูแลผิวบริเวณศีรษะที่ไม่มีเส้นผมปกคลุมบ้างเท่านั้น 2.มีดโกน ใบมีดโกน ซึ่งเป็นของจำเป็น พระท่านได้ใช้งานบ่อย แต่ไม่ค่อยมีคนถวาย 3.อุปกรณ์เครื่องครัว จาน กระทะ หม้อ ช้อน แก้วน้ำ ที่คุณภาพค่อนข้างดี แม้ท่านมิได้นำไปประกอบอาหารเอง แต่ชาวบ้านที่มาจัดงานบุญ งานศพในวัดก็ได้ใช้ประโยชน์เสมอ อาจลองสอบถามดูว่าทางวัดต้องการมากน้อยแค่ไหน จะได้จัดเป็นชุดใหญ่ถวายให้เป็นของพระสงฆ์ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ต่อในงานบุญงานประเพณีต่างๆ 4.อุปกรณ์งานช่าง ทั้งค้อน ตะปู ไขควง สว่าน ของเหล่านี้พระในหลายวัดโดยเฉพาะในต่างจังหวัดหรือนอกเขตเมือง ถือว่าเป็นสิ่งของจำเป็น พระท่านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาศาสนสถานภายในวัดได้ 5.อุปกรณ์งานทำความสะอาด ไม่ว่าจะเป็น ไม้กวาด ไม้ถูพื้น ไม้กวาดแข็ง ที่โกยขยะ ก็เป็นอุปกรณ์จำเป็นอีกเช่นกันในการดูแลความสะอาดเรียบร้อยภายในวัด 6.ข้าวสาร อาหารแห้ง ประเภทที่บรรจุในชุดสังฆทาน ส่วนใหญ่จะเป็นของไม่มีคุณภาพพระท่านไม่ได้ประโยชน์เท่าไร แต่หากเลือกของมีคุณภาพดีจัดถวายเป็นชุดใหญ่ พระท่านก็สามารถรวบรวมไปบริจาคหรือดูแลคนด้อยโอกาสที่ทางวัดให้การอุปการะอยู่ได้ 7.เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ แม้แต่กระดาษเป็นรีมๆ พระท่านก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการงานบุญต่างๆ ของวัดได้ 8.หนังสือธรรมะ หนังสือแนวทางดูแลสุขภาพกาย ใจ รวมไปถึงหนังสือที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ในทางสร้างสรรค์ เช่น หนังสือเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน ที่คิดว่าพระท่านรู้แล้วจะนำไปบอกต่อญาติโยมได้ ก็ถือเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ 9.ผ้าสบง จีวร ผ้าอาบน้ำ เลือกที่มีคุณภาพดี แม้มีราคาค่อนข้างแพงสักหน่อยแต่พระท่านก็ได้ใช้ประโยชน์นานหลายปี ดีกว่าผ้าผืนบางๆ ที่บรรจุในถังสังฆทานราคาถูก อนึ่งการเลือกสี ขนาด เนื้อผ้า แต่ละวัดก็จะมีระเบียบในการครองผ้าสีต่างกัน หากเราอยากถวายพระวัดไหน ก็ย่องไปดูเสียก่อนว่าพระท่านใช้สีอะไรก็จะได้จัดหาได้ถูกต้อง 10.ยาสมุนไพร ยารักษาโรค เลือกที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานการผลิต พร้อมกับคู่มือการใช้ยาที่เหมาะสมเพื่อให้พระท่านได้ใช้ประโยชน์จากยาได้สูงสุด ไม่ก่อให้เกิดโทษภัยจากการใช้ยาผิดวิธี แถม… อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมาก นอกจากการถวายสิ่งของ ก็คือ การบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อช่วยเหลือพระภิกษุที่อาพาธ ได้บุญแรงเช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point