ฉบับที่ 260 จะรักษาทั้งที อย่าให้ยา”ตีกัน”

        คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องไปหาแพทย์ เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษานั้น  ก็บอกแค่อาการป่วยและข้อมูลแพ้ยาอะไรก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงข้อมูลเท่านี้ยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องสำคัญมากอีกอย่างเช่นข้อมูลพฤติกรรมและการกินยาหรืออาหารอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย ก็เพื่อว่า “ป้องกันยาตีกัน” นั่นเอง         ไม่ใช่แค่บอกว่าแพ้ยาอะไร ผู้ป่วยควรจะต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าในช่วงนี้ตนใช้ยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมอะไรร่วมอยู่ด้วย เพราะยาบางตัวเมื่อนำไปใช้ร่วมกับยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมตัวอื่นๆ มักจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา บางครั้งอาจเกิดอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปหรือบางครั้งก็ไปทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ลดต่ำลง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นในภายหลัง  ปฏิกิริยาแบบนี้ ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “ยาตีกัน”         ตัวอย่าง คนไข้ เอ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้รับยาฆ่าเชื้อคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) จากแพทย์มารับประทาน  อีก 2 วันต่อมา คนไข้มีอาการปวดไมเกรน จึงกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คนไข้ไม่ได้แจ้งว่า ตนเองกำลังใช้ยาคลาริโทรมัยซินอยู่  โรงพยาบาลจึงจ่ายยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)  เพื่อรักษาไมเกรนมาให้  เมื่อคนไข้กลับบ้านจึงรับประทานยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน  ปรากฎว่ายาทั้ง 2 ตัว  “ตีกัน”  ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัว  เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง  กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิต          กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ในโลกนี้ยังมียาจำนวนมากที่สามารถเกิด “ยาตีกัน” กับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณและอาหารเสริมได้  การบอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รักษา “ทราบชื่อ” ยาหรือ อาหารเสริมที่คนไข้ใช้อยู่  นอกจากป้องกันยาตีกันได้แล้วยังป้องกันการได้รับยาเกินขนาด  ยาซ้ำซ้อนกับยาเดิมที่มีอยู่อีกด้วย และยังช่วยให้ประเมินได้ว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่หรือไม่  ยาหรืออาหารเสริมหลายตัวนอกจากจะรักษาโรคได้ ก็ยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน   หากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้ที่รักษาก็จะเปลี่ยนยา ลดขนาดหรือปรับวิธีรับประทานยา  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเติม         ท่องจำย้ำเตือนให้ขึ้นใจเลยครับ เวลาไปโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากในช่วงนั้นผู้ป่วยมีการใช้ ยา ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมอยู่ด้วย ขอให้นำติดตัวไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แนะนำ หากมีฉลากหรือเอกสารต่างๆ ก็ขอให้นำติดไปด้วยจะยิ่งดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆ ก็ยังมา (2)

        ยืนตากแดดก็ฆ่าเชื้อโควิด 19         จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูล โดยแนะนำให้ประชาชนออกมาตากแดดตอนเช้า เพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโควิด 19  เพราะเชื้อโควิด 19 ชอบความเย็นมากกว่าความร้อน ดังนั้นเมื่อเจอความร้อนจากแสงแดดเชื้อโควิด 19 จะตาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ การยืนตากแดดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้จริง         ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด19         มีการแชร์ข้อมูลเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอ้างว่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด-19 แม้ในแง่วิชาการ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในประเด็นที่อ้างว่า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด 19 ได้นั้น ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าไม่เป็นความจริง วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโควิด 19 ได้ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกันบ้างในแง่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจจะพบการติดเชื้อร่วมกับโควิด 19         เราจะรับมือกับกับข้อมูลเท็จในยุคที่ผู้บริโภคกำลังสำลักข้อมูลอย่างไรดี?        ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ และมันก็จะวนเวียนอยู่ในอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกเป็นระยะๆ ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องตั้งสติให้ดี         1. ตรวจสอบต้นตอที่มาของข่าว         เมื่อได้รับข้อมูล อย่าเพิ่งรีบเชื่อ และต้องไม่รีบส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพราะการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จจะเป็นการทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ผู้บริโภคควรตรวจสอบรายละเอียดในข้อมูลก่อนว่ามีการระบุต้นตอแหล่งที่มาชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจนก็ไม่ควรแชร์  แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้มักจะมีการอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราก็ไม่ควรรีบเชื่อ เพราะอาจเป็นการอุปโลกน์แหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อหลอกเรา         2. ลองค้นข้อมูลด้วยตัวเองดูก่อน         เนื่องจากข้อมูลที่แชร์ๆ ต่อๆ กันมา บางทีก็เป็นข้อมูลเก่าที่เคยแชร์มาหลอกชาวบ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ควรจะลองเข้าไปค้นหาข้อมูลดูด้วย เช่น อาจค้นจาก google ดูก็ได้ บางทีเราจะพบว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ และในอดีตก็มีหน่วยงานต่างๆ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว         3. สอบถามผู้รู้ เช่น คน หน่วยงาน         หากไม่มั่นใจในข้อมูล ผู้บริโภคสามารถติดต่อสอบถามยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ช่วยหาข้อเท็จจริงมาบอกเราได้ ทั้งนี้ควรเลือกหน่วยงานที่เรามั่นใจและน่าเชื่อถือในแง่วิชาการด้วย                 4. จัดการต้นตอข่าวลือให้อยู่หมัด         หากข่าวลือดังกล่าวนำไปสู่การโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ควรใช้ Far UVC ฆ่าเชื้อในสถานบริการหรือไม่

        องค์ประกอบของแสงอาทิตย์นั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น แสงที่มองเห็นได้ (visible light) และ แสงที่มองเห็นไม่ได้ (invisible light) โดยแสงที่มองเห็นได้นั้นอยู่ในแถบความยาวคลื่นช่วงระหว่าง 400 – 700 นาโนเมตร ส่วนแสงที่มองไม่เห็นนั้นมีสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความยาวคลื่นเกิน 700 นาโนเมตรขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า อินฟราเรด (infrared) มีพลังงานต่ำกว่าพลังงานของแสงสีต่างๆ และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 400 นาโนเมตรลงมา ซึ่งเรียกว่า อัลตราไวโอเล็ท (ultraviolet หรือ UV) นั้น มีพลังงานสูงกว่าพลังงานของแสงที่มองเห็นได้        แสงอัลตราไวโอเล็ทนั้นมักแบ่งง่าย ๆ (www.who.int/uv/uv_and_health/en/) เป็น 3 ระดับคือ UVA (ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร), UVB (ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร) และ UVC (ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร) โดย UVA นั้นไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรนักเพียงแค่ทำให้คนที่ผิวคล้ำโดยกำเนิดแล้วคล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม แสง UVB เป็นแสงที่เมื่อส่องผิวราว 15-20 นาที ในช่วงเช้าและบ่ายแก่ ๆ จะช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่ถ้ามากไปก็จะไม่ค่อยดี ระดับความร้อนอันตรายต่อผิวหนังชั้นล่างที่เป็นเซลล์มีชีวิตในลักษณะที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และมีโอกาสขยายต่อเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVC นั้นยังไม่ต้องพูดถึงเพราะแม้เป็นแสงที่มีพลังงานสูงมากจนฆ่าเซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี แต่แสง UVC นี้ถูกดูดซับไว้ด้วยก๊าซโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก        ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 นั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวิถีชีวิตแบบเดิมของมนุษย์ มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กันแบบ นิวนอร์มอล อย่างไรก็ดีมีข่าวเรื่องหนึ่งที่ทั้งน่าตื่นเต้นและชวนให้กังวล นั่นคือ มีแนวความคิดในการใช้แสงที่มีความยาวคลื่นในช่วง far UVC (207-222 นาโนเมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงความยาวคลื่นที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคทั่วไปคือ ราว 245 นาโนเมตร) ช่วยในการฆ่าไวรัสที่ก่อโรคดังกล่าว โดยที่คนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นและได้รับแสง far UVC ไม่ได้รับอันตราย         แนวความคิดนี้มันช่าง  โหด มัน ฮา เพราะ แสง far UVC นั้นเป็นแสงที่มีพลังงานทำลายล้างได้สูงกว่าแสง UVC ที่ 245 นาโนเมตรเสียอีก ซึ่งโดยพื้นฐานความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว แนวความคิดในการใช้แสงกลุ่ม UV เพื่อฆ่าไวรัสที่ก่อให้เกิด Covid-19 นั้น ควรทำได้เฉพาะการฆ่าไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัตถุเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในการใช้แสงกลุ่ม UV ในสถานที่ที่มีคนอยู่ได้ เลยเป็นประเด็นที่ควรหาความรู้มาศึกษากัน    Far-UVC light กับการฆ่าเชื้อโรค        ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากบทความวิจัยเรื่อง Far-UVC light: A new tool to control the spread of airborne-mediated microbial diseases (doi:10.1038/s41598-018-21058-w) ซึ่งเผยแพร่ใน www.nature.com/scientificreports เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในบทความแสดงให้เห็นว่า แสง far UVC ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำคือ 2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตรของแสง far UVC ที่ความยาวคลื่น 222 nm สามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่อยู่ในฝอยน้ำ (aerosol) ได้มากกว่าร้อยละ 95 และกล่าวว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ประหยัดสุดและได้ผลดีในการฆ่าไวรัสเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่กระจายในอาคาร (ผลงานนี้ตีพิมพ์ก่อนมีการระบาดของ Covid-19)         งานวิจัยที่กล่าวถึงข้างบนเป็นผลงานของทีมนักวิจัยที่ Center for Radiological Research ของ Columbia University Irving Medical Center (CUIMC) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา ในแวดวงที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของแสง UV เข้าใจว่า หน่วยงานนี้น่าจะมีความร่วมมือกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยทางญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะได้มีข้อมูลเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตถึงการทดสอบหลอด Care222® series ของบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นที่ปล่อยแสงความยาวคลื่น 222 นาโนเมตร (far UVC) ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ฆ่าเชื้อในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาลต่างๆ ว่า ได้ผลดี โดยมีเอกสารรับรองประสิทธิภาพของการใช้แสง far UVC ในการทำลายไวรัส ชื่อ Performance test for virus inactivation efficacy by UV irradiation จากสถาบัน Kitasato Research Center for Environmental Science (KRCES) สังกัด Kitasato University         ตัวอย่างงานวิจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้แสง far UVC ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ของกลุ่มนักวิจัยของ Columbia University นั้นเช่น บทความเรื่อง Germicidal Efficacy and Mammalian Skin Safety of 222-nm UV Light ตีพิมพ์ใน Radiation Research ปี 2017 ได้แสดงให้เห็นว่า far UVC (222 นาโนเมตร) ขนาด 0.036 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร สามารถฆ่า methicillin-resistant Staphylococcus aureus ได้ และในบทความเรื่อง 207-nm UV Light—A Promising Tool for Safe Low-Cost Reduction of Surgical Site Infections. II: In-Vivo Safety Studies ตีพิมพ์ใน PLoS ONE ปี 2016 กล่าวถึงการฉายแสง far UVC (207 นาโนเมตร) ขนาด 157 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร นาน 7 ชั่วโมง ให้กับหนูถีบจักรสายพันธุ์ที่ไม่มีขน (hairless SKH1-Elite strain 477 mice) แล้วปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังการได้รับแสง นักวิจัยได้ทำการศึกษาผิวหนังของหนูและพบว่า แสงที่ความยาวคลื่น 207 นาโนเมตรนั้นไม่ก่ออันตรายต่อผิวหนังหนู         ล่าสุดในปี 2020 ทีมนักวิจัยจาก Columbia University ได้เผยแพร่ข้อมูลในบทความชื่อ Far-UVC light (222 nm) efficiently and safely inactivates airborne human coronaviruses (doi: 10.1038/s41598-020-67211-2.) ใน www.nature.com/scientificreports ซึ่งเป็นการรายงานผลการทดลองใช้แสงที่ความยาวคลื่น 222 นาโนเมตรด้วยขนาดของแสงที่ 1.7 และ1.2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร ฆ่าเชื้อ coronavirus สายพันธุ์ alpha HCoV-229E และ beta HCoV-OC43 ที่อยู่ในสภาพเป็นละอองฝอย (aerosol) ตามลำดับได้สำเร็จถึงร้อยละ 99.9 จึงเสนอว่าการใช้แสง Far UVC ในลักษณะดังกล่าวน่าจะฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ได้ (โคโรนาไวรัสมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้ในการทดลอง) ด้วยขนาดความเข้มข้นของแสงที่จำกัดไว้ที่ประมาณ 3 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 90, 95, 99.5 และ 99.9 ด้วยระยะเวลาการฉายแสง 8 นาที,11 นาที, 16 นาที และ 25 นาที ตามลำดับ โดยไม่ทำอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น         สมมุติฐานที่อธิบายว่า far UVC ฆ่าไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังและน่าจะรวมถึงชั้นเนื้อเยื่อของตานั้นเพราะแสงในระดับ far UVC ไม่สามารถทะลุผ่านเซลล์ชั้นบนๆ ของผิวหนังซึ่งตายแล้วรวมถึงชั้นเนื้อเยื้อ (tear layer) ของลูกตาได้ ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของ David J. Brenner ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของ Columbia University Irving Medical Center ในบทความเรื่อง Far-UVC Light Could Safely Limit Spread of Flu, Other Airborne Viruses ของเว็บ www.photonics.com         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า มีผู้เสนอให้ใช้แสง far UVC บนเครื่องบินโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ในกรณีฉุกเฉินที่ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่บนเครื่องก่อนนำเครื่องลงที่สนามบินปลายทาง อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังรู้สึกระแวงว่า จริงหรือที่ว่าแสง far UVC นั้นไม่เป็นอันตรายต่อตามนุษย์ ทั้งนี้เพราะ แสง far UVC นั้นมีพลังงานสูงมาก  จึงอาจทำให้เกิดความร้อนแก่บริเวณที่แสงสัมผัสหรือทำให้น้ำตาที่อยู่ในลูกตามีอุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าผู้บริหารการใช้แสงไม่ชำนาญในการควบคุมปริมาณความเข้มแสงและช่วงเวลาการสัมผัสที่ถูกต้อง         ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่หาได้นั้นกล่าวว่า ปัจจุบัน US.FDA ยังไม่รับรองการใช้แสง far UVC ในสถานบริการที่มีผู้บริโภคอยู่ เพียงแต่ยอมให้หลอดกำเนิดแสงชนิดนี้ถูกใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องที่ต้องปลอดเชื้อเช่น ห้องผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีใครพยายามซื้อหลอดที่ให้แสง far UVC (ซึ่งอาจมีขายใน platform online ในไม่ช้านี้) เพื่อฆ่าไวรัสในสถานบริการในขณะที่มีผู้บริโภคอยู่ด้วย เช่น ผับ บาร์ อาบอบนวด สนามมวยหรือโรงภาพยนต์ เนื่องจากกระบวนการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล (personal distancing) นั้นทำได้ลำบาก สถานที่ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเป้าหมายของสินค้านี้ แม้ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยก่อนก็ตาม “อย่าหาทำ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2563

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือออกโทรฟรีในเครือข่าย 100 นาที รับมือโควิด-19        หลังออกโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และเพิ่มสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ไปไม่นาน วันที่ 20 เมษายน 2563 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ร่วมกับ 5 ค่ายมือถือ AIS, DTAC, TOT, TRUE, และ CAT ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ ให้กับประชาชนผู้ใช้มือถือด้วยการเปิดให้โทรฟรี 100 นาทีในเครือข่าย คาดว่าจะมีผู้ใช้งานได้รับสิทธิ์ตามโครงการประมาณ 50 ล้านเบอร์ แต่ก็ยังต้องกดรับสิทธิ์ได้อยู่ดี (ช่วงเวลาเปิดให้กดรับสิทธิ์ 1-15 พ.ค. 63)        กสทช. ระบุ สถิติการใช้โทรศัพท์ พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ วีดีโอคอล เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ฯลฯ มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการโทรหากันผ่านระบบเสียงแบบปกติอยู่ถึงราว 70%   องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบ อสม.ไทย เข้มแข็งสุดในยุคระบาดโควิด-19         รายงานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) เผยว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,040,000 คน ซึ่งทำการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัส ในระดับชุมชน รวมถึงการทำรายงานถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อสม. เหล่านี้ถูกยกให้เป็นด่านหน้าสำคัญในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อระดับชุมชน        ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็กล่าวชื่นชม อสม. ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะการมีอสม. อยู่ในทุกจังหวัด ที่คอยทำงานอย่างหนัก ทั้งการหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคลและให้ความรู้กับประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพราะมีอสม. เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขนายกรัฐมนตรีสั่งให้บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุ        สถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้มีการบันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุของไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต ร้องเรียน “ช็อปออนไลน์” ช่วงโควิดพุ่ง 5 พันราย            ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  จากการให้บริการคำแนะนำและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อ-ขายออนไลน์ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563  ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำแนะนำเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 4,786 ครั้ง ส่วนใหญ่เรื่องของการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายในออนไลน์ ก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกว่า 40% รองมาคือการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้รับสินค้าหรือถูกหลอกลวงทางออนไลน์ 18% โดยประเภทของสินค้าที่พบปัญหาการซื้อขายออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น และ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาที่ศูนย์ฯ จำนวน 4,772 ครั้ง        นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม – 12 เมษายน 2563 พบสถิติการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าเพิ่มขึ้น จำนวน 234 ครั้ง จึงได้ประสานร้านค้า ผู้ขาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าให้ได้รับการชดเชยเรียบร้อยแล้ว 10% ส่วนกรณีที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ   สมาคมโรคติดเชื้อเตือนไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน         12 เมย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ นั้น        ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้         1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด         2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด         การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการในร้านค้าป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ https://www.idthai.org/Contents/Views/… โควิดส่งผลขยะพลาสติก-เศษอาหารพุ่งขึ้ิน ชี้ไร้คัดแยก เหตุกลัวไวรัส         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้งจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะอย่างมาก         จากข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA    นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 2)

เมื่อน้ำผ่านการกรองในขั้นต้นแล้ว ก็จะไปผ่านระบบฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกอีกเช่นกัน เช่น เครื่องกรองเซรามิค เครื่องกรองไมโครพอร์ (ซึ่งเครื่องกรองสองแบบนี้ต้องหมั่นล้างหรือเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดระยะเวลาเพราะมันจะอุดตันได้ง่าย และต้องล้างอย่างถูกวิธี ถ้ารุนแรงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเสียหาย และถ้าล้างไม่สะอาดก็อาจทำให้ติดเชื้อเข้าในระบบได้ บางรายจึงใช้วิธีเปลี่ยนใหม่เลย) หรือบางระบบก็จะให้น้ำผ่านทางเครื่องฆ่าเชื้อที่ใช้แสงอุลตราไวโอเลตเลย หรือเรียกสั้นๆว่า หลอด UV ซึ่งมีหลักการคือใช้ความเข้มของแสงอุลตราไวโอเลต (UV)ในการฆ่าเชื้อ  เมื่อน้ำผ่านตรงนี้แล้วก็จะเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค เราก็สามารถไปยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย จุดที่ต้องระวังคือ พวกบริษัทขายเครื่องมือที่ไม่เข้าใจระบบจริงๆ อาจติดเครื่องกรองสลับย้อนไปมา แทนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการผลิตมากขึ้น เช่น มีการติดเครื่องกรองผงถ่านหลังจากน้ำผ่านหลอด UV แล้ว(ทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการสะสมเชื้อโรคขึ้นอีก) หรือบางรายก็แนะนำให้ติดเครื่องกรองต่างๆ มากเกิน เช่น ติดเครื่องกรองไมโครพอร์และหลอด UV ในหลายๆ จุด หรือบางทีก็แนะนำให้ติดเครื่องฆ่าเชื้อชนิดโอโซนอีกด้วย  โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นใจ อันที่จริงถ้าเราผลิตโดยความระมัดระวังและหมั่นดูแลบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องติดมากมายหลายจุดจนเกินจำเป็นด้วยซ้ำ อย่าลืมว่ายิ่งติดมากหลายจุดก็ยิ่งต้องเพิ่มภาระในการดูแลมากขึ้นไปอีกด้วย แม้น้ำดื่มจะเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้น้ำดื่มเราสะอาดได้มาตรฐานตลอดเวลาคือ การดูแลรักษา เกณฑ์จีเอ็มพี(GMP) จึงกำหนดให้เราต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ  มีการบันทึกข้อมูลที่เราทำเป็นรายงานให้ชัดเจน  เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าได้ทำจริง และเมื่อมีปัญหาก็ตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าในช่วงนั้นใครทำอะไรจนน้ำมีปัญหา นอกจากนี้ยังกำหนดให้เราต้องมีชุดทดสอบเบื้องต้นไว้ทดสอบน้ำที่เราผลิตอีกด้วย ชุดทดสอบเบื้องต้นที่แนะนำคือ ชุดทดสอบความเป็นกรดด่าง (pH)  ชุดทดสอบความกระด้าง และชุดทดสอบเชื้อโรค  การที่กำหนดให้มีชุดทดสอบก็เพื่อให้เราทดสอบว่าคุณภาพเครื่องกรองของเรา  ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่หรือไม่ และจะประหยัดกว่าไปส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า  ผู้ผลิตน้ำบางรายมักจะให้บริษัทที่ขายเครื่องกรองเข้ามาทดสอบให้ แต่อยากแนะนำให้ผู้ผลิตฝึกการใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ให้เป็นเองจะดีกว่า เพราะมันใช้ไม่ยาก และจะได้ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเวลาเขามาทดสอบหรือไม่ต้องรอให้เขามาทดสอบ และหากพบว่าคุณภาพเครื่องกรองยังดีอยู่ จะได้ไม่ถูกใครมาหลอกให้ต้องเปลี่ยนไส้กรองให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น หลอด UV ต้องดูแลอย่างละเอียดสม่ำเสมอ  เพราะหลอด UV ก็เหมือนหลอดไฟ เมื่อใช้ไปนานๆ ความเข้มของแสงจะลดลง ดังนั้นเราต้องสอบถามว่าอายุใช้งานนานกี่ชั่วโมง เมื่อครบตามกำหนดก็ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่ (แต่ไม่ว่าจะมีเครื่องกรองที่ดีอย่างไร ถ้าคนบรรจุน้ำไม่รักษาความสะอาดระหว่างบรรจุน้ำ ก็อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้) ส่วนผู้บริโภคน้ำดื่ม ถ้าเห็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มไม่สะอาด ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เราจะได้มั่นใจว่าเราเราเสียเงินคุ้มค่าและไม่ได้ดื่มน้ำสูตรผสมเชื้อโรคให้เสี่ยงอันตราย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 “ส่องฉลาก” ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค กลายมาเป็นตัวช่วยเรื่องการกำจัดสิ่งสกปรกที่น่าจะมีติดอยู่แทบทุกบ้าน มาในหลายๆ รูปแบบการใช้งาน ไมว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความเสื้อผ้า ซึ่งเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีแค่ ผงซักฟอก เพียงอย่างเดียว ยังมีแยกประเภทเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าชนิดน้ำ ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบอเนกประสงค์ที่ใช้แช่เสื้อผ้าเพื่อขจัดคราบสกปรกก่อนนำไปซักปกติ ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายกับน้ำยาซักผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีน้ำยาปรับผ้านุ่มที่หลายๆ บ้านนิยมใช้ ฉลาดจึงจะพามาส่องฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้สามารถใช้งานกันได้อย่างถูกวิธีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคต้องใช้อย่างระมัดระวังผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีการใช้สารเคมีที่อาจมีฤทธิ์ต่อสุขภาพและเป็นอันอันตรายต่อผู้ใช้ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ภายในบ้านเรือนส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ซึ่งหมายถึงกลุ่มสารเคมีที่มีอันตรายน้อย สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือตามบ้านเรื่องทั่วไปได้ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตัวผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการแจ้งข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะควบคุมเรื่องสารเคมีที่ใช้และการจัดทำฉลากเพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคในการใช้งานได้อย่างปลอดภัยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด เช่น การจัดทำฉลาก การปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตและการเก็บรักษา เป็นต้น การแสดงฉลากจะต้องแสดงเลขที่รับแจ้งไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุอันตรายขนิดที่ 1 มีอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (ยกเว้นผงซักฟอก ที่อยู่ในการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.))  เป็นต้นข้อความที่ไม่อนุญาตให้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค-“สูตรพิเศษ” ยกเว้นว่ามีเอกสารที่สามารถสนับสนุนหรือชี้แจงได้ว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร-“ไม่เป็นอันตราย”, “ไม่เป็นพิษ”, “ปลอดภัย”, “ไม่มีสารตกค้าง”, “ไร้สารตกค้างที่เป็นอันตราย”, “ไร้สารตกค้าง”, “ไม่มีผลต่อเด็กสัตว์เลี้ยงและอาหาร”, “สูตรไม่ระคายเคือง”, “ปราศจากการระคายเคือง” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย-“นุ่มละมุนใช้ได้ทุกวัน” เนื่องจากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรใช้ตามความจำเป็น และต้องระมัดระวังในการใช้ -“ใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ” เนื่องจากเป็นการชักจูงใจเกินความจำเป็น-“น้ำหอมปรับอากาศ”, “สดชื่น” หรือ “กลิ่นสดชื่น” เนื่องจากคำว่า “สดชื่น” มีความหมายในเชิงเกี่ยวกับสุขภาพอาจสื่อให้เกิดความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นนี้มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และสารเคมี-“ปกป้องสุขภาพของคุณและสิ่งแวดล้อม”, “ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”, “ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม”, “ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ”, “จึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อม”, “ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม-“ได้ผล 100%”, “ประสิทธิภาพสูง”, “ด้วยสูตรพลังประสิทธิภาพ”, “ประสิทธิภาพเยี่ยม”, “ระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”, “ได้ผลเด็ดขาด”, “ออกฤทธิ์แรง” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-“ไม่ทำลายเนื้อผ้าหรือทำให้ผ้าเป็นสีเหลือง”, “อ่อนโยนต่อทุกเนื้อผ้า”, “อ่อนโยนต่อเส้นใยผ้า”, “ถนอมผ้า”, “ปลอดภัยต่อผ้าสี”, “คงไว้ซึ่งความนุ่มนวลของเนื้อผ้า”, “พลังสลายคราบสกปรก” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-แม้แต่ชื่อทางการค้าก็ต้องไม่สื่อไปในทำนองโอ้อวดสรรพคุณ หรือทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ หรือสื่อให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคขาดความระมัดระวังในการใช้ที่มา : คู่มือการจัดทำฉลากวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยกลุ่มควบคุมอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อมูลสำคัญที่ “ต้องมี” บนฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด1.ชื่อทางการค้า ต้องเป็นภาษาไทย ขนาดเห็นได้ชัด หากมีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศต้องตรงกันหรือมีความหมายอย่างเดียวกันกับชื่อการค้าภาษาไทย2.ชื่อและอันตราส่วนของสารสำคัญ ต้องแสดงเป็นหน่วยร้อยละของน้ำหนักต่อน้ำหนัก (% w/w) หรือร้อยละของน้ำหนักต่อปริมาตร (% w/v)3.ประโยชน์4.วิธีใช้5.คำเตือนหรือข้อควรระวัง ต้องใช้อักษรทึบหรือขีดเส้นใต้6.วิธีเก็บรักษา7.ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพิษ (ถ้ามี) ไมว่าจะเป็น อาการเกิดพิษ วิธีแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำสำหรับแพทย์8.การทำลายภาชนะบรรจุ (ถ้ามี)9.เครื่องหมายและข้อความแสดงระดับความเป็นพิษ และ/หรืออันตรายตามที่กำหนด (ถ้ามี) 10.เลขที่รับแจ้ง 11.ขนาดบรรจุ (ปริมาณสุทธิ) 12.วัน เดือน ปี ที่ผลิต 13.วันหมดอายุการใช้ (ถ้ามี)14.เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต (Lot Number/ Batch Number)15.ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ของผู้ผลิตในประเทศ หรือนำเข้า พร้อมชื่อและประเทศของผู้ผลิตผลการสำรวจฉลากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ว่า สำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นหรือทำความสะอาดเสื้อผ้า จะมีการให้ข้อมูลในเรื่องการฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายตัวอย่าง ที่อ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า 100% เพราะดูเป็นการโอ้อวดเกินจริง แต่ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค อนุญาตให้แสดงค่าความสามารถหรือตัวเลขที่แสดงความสามารถในการฆ่าเชื้อ เมื่อมีข้อมูลผลการทดสอบประสิทธิภาพเชิงปริมาณ แต่ต้องระบุชื่อเชื้อที่ใช้ทดสอบและแสดงข้อความว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่ก็จะมีการอ้างถึงแหล่งที่มาของการทดสอบ แต่ก็มีบางตัวอย่างที่ใช้คำโฆษณาเรื่องการฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% แต่ไม่ได้อ้างอิงที่มาของคำโฆษณาดังกล่าว เช่น แวนิช ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบ เอ๊กซ์ตร้า ไอยีน และ เดทตอล ลอนดรี แซนิไทเซอร์ผลิตภัณฑ์ที่แสดงโฆษณาบนฉลากว่า “สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หมายความว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus และ Salmonella enterica (choleraesuis)ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะมีสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่ำ แต่ก็ถือเป็นสารที่อันตรายหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี เช่น เข้าตา หรือเผลอกลืนกินเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นต้องเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก ส่วนผู้ที่ใช้แล้วเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ทันทีและควรไปพบแพทย์ ปริมาณที่ใช้ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าและพื้นที่ภายในอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ เป็นสารในกลุ่ม disinfectant ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง เหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นผิวของสิ่งของต่างๆ โดยสารเคมีหลักๆ ที่ใช้ก็คือสารที่มีผลในการฆ่าและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค กับสารที่ทำหน้าที่ลดแรงตึงผิว (surfactant) ซึ่งก็มีคุณสมบัติในการขจัดสิ่งสกปรกและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะ Ethoxylated alcohol, Sodium Lauryl Sulfate,  Alkyldimethyl benzyl ammonium chloride และ Didecyl dimenthyl ammonium chlorideผลทดสอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 102 มาทำแอลกอฮอลเจลฆ่าเชื้อไวรัสไว้ใช้เอง

สวยอย่างฉลาดรศ. ดร. พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ช่วงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กำลังระบาดการตัดวงจรการแพร่เชื้อโรคที่สำคัญมากอยู่ที่ "มือ" ซึ่งเราสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อหวัดทุกชนิดได้โดยการล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ นอกจากนั้นยังพบว่ายังต้องล้างก๊อกน้ำบ่อยๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากต้องใช้มือสัมผัสก๊อกน้ำ (ถ้าไม่ล้างก๊อก... เชื้อจะติดต่อกันผ่านก๊อกน้ำได้อีกทางหนึ่ง) การล้างมือ ควรทำบ่อยแค่ไหน นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แนะนำไว้ดังนี้(1). อย่างน้อย 6 ครั้ง/วันขึ้นไป ก่อนกินอาหาร, ก่อนดื่มน้ำ, หลังออกจากห้องน้ำ (2). หลังออกจากระบบขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ฯลฯ (3). หลังเลิกงาน (4). ก่อนเข้าบ้าน (5). หลังสัมผัสกับมือคนอื่น  นอกจากล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อไวรัสที่อาจปนเปื้อนมือจะถูกกำจัดออกได้หมดจด ควรที่จะใช้แอลกอฮอล์เจลเช็ดตามอีกด้วย เหตุผลทางการแพทย์คือ แอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปสามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์และไวรัสได้ผล ดังนั้นการพกพาแอลกอฮอล์เจลติดไว้ในกระเป๋าเมื่อออกนอกบ้าน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ 2009 การใช้แอลกอฮอล์เจล สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ แอลกอฮอลจะดึงดูดเอาความชุ่มชื้นจากฝ่ามือเราไปหมด ยิ่งใช้บ่อยเท่าไหร่ มือก็จะแห้งมากเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรเลือกซื้อแอลกอฮอล์เจลที่ประกอบไปด้วยสารให้ความชุ่มชื้นผิวด้วย เพราะถ้าหากฝ่ามือแห้งกร้านเนื่องจากทาแอลกอฮอล์วันละหลายๆ รอบทุกๆ วัน ผิวหนังจะแห้งแตก ทำให้เชื้อโรคเข้าร่างกายได้ทันที ดังนั้นต้องหมั่นล้างมือแต่อย่าให้ฝ่ามือแห้งและแตกเป็นอันขาดการทำแอลกอฮอล์เจลใช้เอง สูตรง่ายๆที่ทุกคนสามารถทำเองเพื่อใช้เองได้ ดังนี้สูตรที่ 1 แอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกออฮอล์) 70 ซีซี กลีเซอร์ลีน  10-15 ซีซี น้ำสะอาด 10-20 ซีซี น้ำหอมเล็กน้อย สารที่ให้ความชุ่มชื้นผิวหนังคือกลีเซอร์ลีน ผู้ที่อยากให้มือชุ่มชื้นมาก ก็สามารถเพิ่มปริมาณเป็น 20% แต่หากใส่มากอาจรู้สึกเหนียวมือได้ แต่ถ้าชอบก็ไม่มีผลเสียต่อสูตรอย่างไร การหาซื้อวัตถุดิบ สามารถหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายวัตถุดิบทางเครื่องสำอาง เช่น ที่เยาวราช หรือร้ายขายยาทั่วไป สูตรที่ให้นี้ทำได้ง่ายๆ เพียงตวงแอลกอฮอล์ กลีเซอร์ลีน และน้ำสะอาดผสมให้เข้ากันในภาชนะตวง คนให้เข้ากัน หากต้องการปรุงแต่งด้วยน้ำหอม ก็สามารถเติมได้เลยเมื่อผสมส่วนผสมเสร็จแล้ว ผู้ที่มีขวดน้ำหอมเปล่าอยู่ สามารถนำส่วนผสมแอลกอฮอล์มาเติมใส่ขวด สำหรับพกพาและฉีดพ่นใส่มือเพื่อทำความสะอาด สูตรนี้จะเป็นแอลกอฮอล์เหลว ไม่ข้น   สูตรที่ 2 ในสูตรนี้จะมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับสูตรแรก เพียงแต่เพิ่มผงแป้งชื่อคาร์โบเมอร์ เพื่อช่วยทำให้ส่วนประกอบในสูตรตำรับข้นเหนียวเป็นเจลเท่านั้น วิธีการผสม ต้องชั่งผงคาร์โบเมอร์ลงในภาชนะ เติมกลีเซอร์ลีน และคนให้ผงแป้งแตกกระจายอย่างละเอียด ไม่ให้จับเป็นก้อน ค่อยๆ เติมน้ำสะอาดลงทีละน้อยพร้อมกับคนให้ส่วนผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน เติมน้ำสะอาดจนหมดในขั้นตอนนี้ จากนั้นจึงเทแอลกอฮอล์ที่ตวงไว้แล้วลงไปทีละน้อยพร้อมกับคนให้เข้ากันจนหมด ในขั้นตอนสุดท้าย เราจะปรับส่วนผสมด้วยด่างเพียงเล็กน้อยประมาณ 1-2 กรัม การเติมด่างทีอีเอ ควรเติมทีละน้อยเป็นหยดก็จะดีที่สุด เติมไปคนไปจนถึงจุดหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนว่า ส่วนผสมจะเปลี่ยนสภาพจากขุ่นเป็นใสแจ๋ว จึงหยุดเติมด่าง เราสามารถเติมน้ำหอมได้เล็กน้อยตามใจชอบ แต่หากเติมน้ำหอมมากเกินไป จะทำให้เจลขุ่นได้ทั้งสูตรที่ 1 และ สูตรที่ 2 สามารถทำเก็บไว้ใช้ได้นาน แต่ต้องเก็บในขวดหรือภาชนะปิด เพราะแอลกอฮอล์ระเหยได้ง่าย นอกจากนี้ควรจะเก็บให้พ้นมือเด็ก และติดฉลากสีแดงได้ก็ดีเพื่อเป็นการบอกไว้ สำหรับใช้ภายนอกร่างกายเท่านั้น ข้อควรระวัง สำหรับผู้ที่สนใจทำ อยากแนะนะสูตรที่ 1 ส่วนสูตรที่ 2 ต้องใช้ด่างทีอีเอ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะมีฤทธิ์เป็นด่างสูง ถูกผิวหนังจะระคายเคืองและไหม้ได้ จึงไม่แนะนำให้ทำสูตรนี้สำหรับแม่บ้านทั่วไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 กระแสต่างแดน

ราคาคงเดิมการสำรวจราคาสินค้าในชีวิตประจำวันของนิตยสาร Which? ของอังกฤษพบว่า แม้จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงของราคาเท่าไร ... แต่ขนาดและปริมาณนี่สิ! กระดาษทิชชู Andrex ที่เคยมี 240 แผ่นต่อม้วนก็ลดลงเหลือ 221 แผ่น แผ่นทำความสะอาดห้องน้ำของ Dettol ที่เคยมีแพคละ 36 แผ่นก็เหลือแค่ 32 แต่ทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้ยังราคา 2 ปอนด์ (ประมาณ 100 บาท) เหมือนเดิม ด้านอาหารก็ไม่น้อยหน้า น้ำส้มและราสพ์เบอร์รี่ Tropicana ลดปริมาณฮวบจาก 1 ลิตร เหลือเพียง 850 มิลลิลิตร บิสกิตเคลือบช็อกโกแล็ตของ McVitie’s จากที่เคยให้ 332 กรัมก็ลดเหลือเพียง 300 กรัมถ้วน แถมยังแพงขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณให้ผู้บริโภคอังกฤษเตรียมใจ ว่าจากนี้ไปสินค้าสำเร็จรูปในซูเปอร์มาร์เก็ตจะค่อยๆ หดเล็กลง เพราะการเพิ่มราคามันสะเทือนใจน้อยกว่าการแอบลดไซส์เนียนๆ แต่บางเจ้าก็ยอมรับตรงๆ เหมือนกัน เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาค่ายยูนิลิเวอร์ออกมาประกาศว่าจะค่อยๆ ลดขนาดไอศกรีมลง ราคาเกินจริงระบบการเดินรถประจำทาง Rejsekot ของเมืองโคเปนเฮเกนกำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดหลังจากมีข่าวว่าระบบของเขาคิดเงินผู้โดยสารเกินจริงมากว่า 3 ปีแล้ว! สืบไปสืบมาพบว่าเป็นความผิดพลาดของพนักงานขับรถที่ลืมลงทะเบียนตั้งค่าเส้นทางใหม่ทุกครั้งหลังจากส่งผู้โดยสารที่สถานีปลายทาง เลยส่งผลต่อระบบคำนวณราคาสำหรับผู้โดยสารที่ขึ้นรถเที่ยวต่อไป แต่ละปีมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 6,000 คน มาดูว่า Movia หรือ “ขนส่งมวลชนโคเปนเฮเกน” จะแก้ปัญหาขี้หลงขี้ลืมของพขร. อย่างไร ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องผู้โดยสารเมาแล้วสร้างความวุ่นวายบนรถ พนักงานขับรถจึงต้องไปฝึกศิลปะป้องกันตัวเพื่อมา “สยบ” คนเหล่านี้ เมืองโคเปนเฮเกนมีค่าใช้จ่ายในเดินทางด้วยรถสาธารณะสูงที่สุดในโลก ราคาเฉลี่ยของตั๋วรถรถเมล์ รถไฟ และรถราง 1 เที่ยว อยู่ที่ 31 โครน หรือประมาณ 165 บาท (โชคดีที่ชาวเมืองมีทางออกด้วยการเปลี่ยนไปใช้จักรยาน) ตามมาติดๆ ได้แก่ สต็อกโฮล์ม (150 บาท) ลอนดอน (143 บาท) และออสโล (133 บาท) โดยนิวยอร์กมีราคาตั๋วรถสาธารณะเฉลี่ยถูกที่สุดในกลุ่ม (95 บาท) ... อ้างอิงจากข้อมูลสำรวจของ Statista ที่ทำในเมืองหลวง 12 แห่งทั่วโลก  จินตนาการสูงเป็นเรื่องแล้ว เมื่อผู้รับเหมางานตรวจสอบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งถูกจับได้ว่ารายงานความปลอดภัยที่พวกเขาส่งให้กับทางการเป็นระยะนั้น เกิดจากจินตนาการของพวกเขาเอง EnBW ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่เมืองฟิลิปสเบิร์ก พบว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่จ้างมาตรวจสอบมาตรวัดการแผ่รังสีนั้นไม่เคยลงพื้นที่เลย แต่มีรายงานส่งตลอด ในเมืองเฮสส์ ที่ห่างออกไป 60 กิโลเมตร ก็เจอปัญหาเจ้าหน้าที่นั่งเทียนเขียนรายงานเหมือนกัน ถ้า เจ้าของโรงไฟฟ้าและกระทรวงสิ่งแวดล้อมยังไม่พบความผิดปกติ เขาก็คงจะทำเช่นนี้ต่อไป การค้นพบดังกล่าวทำให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมประกาศชะลอแผนการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งอีกครั้ง เพราะต้องอาศัยผลการตรวจสอบ ... ซึ่งรู้กันแล้วว่าไม่มีอยู่จริง ด้านบริษัทที่รับทำรายงานก็เตรียมตัวโดนฟ้องได้เลย หลังเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลเยอรมันประกาศจะปิดเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2022 ตามนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energiewende) ที่เคยประกาศไว้ ปัจจุบันร้อยละ 18 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมาจากนิวเคลียร์ ในขณะที่ร้อยละ 27 มาจากพลังงานหมุนเวียน คนเยอรมันส่วนใหญ่ยังหวาดระแวงพลังงานนิวเคลียร์ รัฐบาลจึงต้องลงทุนเพิ่มอีกมากเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาตอบสนองความต้องการ  เราต้องการคำขอโทษองค์กรผู้บริโภคออกมาเชิญชวนชาวเกาหลีให้เลิกซื้อ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Oxy Reckitt Benckiser ถ้าใครมีอยู่แล้วในบ้านก็ให้เอาออกมาเททิ้งด่วน! บริษัทนี้คือผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับเครื่องทำความชื้นยี่ห้อ OXY SSACK SSACK ที่มีจำหน่ายเฉพาะในเกาหลีเมื่อหลายปีก่อน และผลิตภัณฑ์ประเภทนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุให้เด็กเล็กและสตรีมีครรภ์เสียชีวิตด้วยอาการปอดล้มเหลว ในช่วงปี 2011 มีผู้ได้รับปัญหาสุขภาพประมาณ 500 คน เสียชีวิตแล้วเกือบ 150 คน แม้จะมีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อในตลาด (ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกเก็บหมดแล้ว) แต่ผู้บริโภคเชื่อว่า OXY ซึ่งครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดต้องรับผิดชอบต่อการตายของแม่และเด็กถึง 103 คน ในปี 2014 บริษัทบริจาคเงินเข้ากองทุนประมาณ 5,000 ล้านวอน (150 ล้านบาท) ให้ญาติผู้เสียหาย แต่พวกเขาไม่ต้องการ และยืนยันว่าต้องการคำขอโทษอย่างเป็นทางการเท่านั้น ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีให้ได้ยิน จึงเป็นที่มาของการออกมาบอยคอตดังกล่าว บริษัทยังมีเรื่องต้องเคลียร์อีกมาก ข้อกล่าวหา ณ จุดนี้ได้แก่ ... บริษัทรู้เรื่องอันตรายของสารเคมีที่ใช้ในน้ำยาฆ่าเชื่อโรคแต่ปกปิดไว้ บริษัทจ่ายเงินให้มหาวิทยาลัยทำวิจัย(ปลอมๆ) ออกมาสนับสนุนการขาย บริษัทแม่ที่อังกฤษสั่งให้สาขาที่เกาหลีทำลายหลักฐานทั้งหมด ... เรื่องเดียวที่ศาลตัดสินแล้วคือบริษัทมีความผิดฐานติดฉลากหลอกลวงผู้บริโภคว่า “รับประกันความปลอดภัย ไม่มีสารพิษ”   เรื่องไม่หมูเวียดนามก็เป็นอีกประเทศที่ผู้คนยังมีความเสี่ยงต่ออาหารไม่ปลอดภัย สำนักข่าวเวียดนามเน็ทบริดจ์ เขาสรุปสาเหตุไว้พอเป็นน้ำจิ้มดังนี้ อย่างแรกคือ ความโลภของผู้ประกอบการ การตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ในเมืองบินทันที่ฆ่าหมูคืนละ 1,000 ตัว พบสารเร่งเนื้อแดง ซัลบูทามอล ที่ห้ามใช้ไปแล้วในหมู 124 ตัว ในระยะการตรวจ 10 วันเขาพบหมูที่มีสารต้องห้ามถึง 1,000 ตัว ... หมูที่เลี้ยงด้วยสารต้องห้ามจะขายได้ราคาดีกว่าหมูธรรมดาถึงตัวละ 1 ล้านดอง (1,500 บาท) เลยทีเดียว สอง สารเคมีราคาถูกที่นำเข้าจากจีนโดยไม่มีการควบคุม เช่นสารเร่งเนื้อแดงที่ว่า หรือสารโอรามีนสำหรับย้อมสีหน่อไม้ให้เหลืองน่ากิน (แต่กินแล้วอาจเป็นมะเร็ง) ก็ราคาแค่กิโลกรัมละไม่ถึง 40 บาท ถ้ามีเงิน 8 บาทก็ซื้อมาย้อมหน่อไม้ได้ถึง 50 กิโลกรัม ทางการบอกว่าชายแดนเวียนนามยาวมาก ยากต่อการดูแลให้ทั่วถึง และสุดท้าย เวียดนามยังมีห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจหาสารพิษในอาหารไม่เพียงพอ และยังไม่ได้รับการรับรองจากทางการ ทำให้นำผลไปอ้างอิงเพื่อจัดการกับผู้ประกอบการไม่ได้ ในขณะที่ชาวบ้านร้านตลาดก็ยังไม่รู้เท่าทันกลโกงของพ่อค้าหัวใสที่มี “สิ่งดีๆ” มานำเสนอกันตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 แอร์ฆ่าเชื้อโรค จำเป็นแค่ไหน

ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามจากสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับ “แอร์ฆ่าเชื้อ” หลายครั้ง เนื่องจากเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อได้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคโดยอ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น SARS หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น แอร์ฆ่าเชื้อมีจริงหรือไม่? ทำงานได้จริงหรือไม่? ทำไมมีโฆษณาแอร์ที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วย? เลยถือโอกาสมาบอกเล่าให้ชาว ”ฉลาดซื้อ” ทราบ เชื้อโรคกับฟิลเตอร์“เชื้อ” หรือ “เชื้อโรค” ที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่คงจะหมายถึงจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ให้เกิดโรคได้ ที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส รา ยีสต์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทั่วไป ทุกที่ทุกเวลาและทุกชนิดที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ คือไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อที่ก่อโรคจริงๆ ก็สามารถพบได้ด้วยแต่จะมีอยู่น้อยมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกจะพบได้น้อยมากๆ ถ้าถามว่า แอร์ที่ฆ่าเชื้อได้มีจริงหรือ ผมคงต้องตอบว่ามี แต่พวกที่สามารถฆ่าเชื้อหรือกรองเชื้ออย่างละเอียดนั้นจะไม่ได้มีใช้ทั่วไป แต่จะมีใช้เฉพาะแห่งเท่านั้น เช่นในห้องที่ต้องการการปลอดเชื้อปลอดฝุ่นอย่างมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องวิจัย ห้องทำแผงวงจรต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องเหล่านี้จะมีราคาแพงมาก บางครั้งเครื่องที่ฆ่าเชื้อหรือดักฝุ่น อาจไม่อยู่รวมกับเครื่องปรับอากาศ แต่จะแยกต่างหากเป็นระบบการกำจัดเชื้อจากอากาศ กลไกในการกำจัดจุลินทรีย์ที่มีในเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่นิยมใช้คือ การกรองด้วยฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์ที่ใช้นี้จะไม่ใช่ฟิลเตอร์ที่กรองฝุ่นที่ติดมากับเครื่องปรับอากาศ ลักษณะจะเป็นคล้ายฟองน้ำบางๆ มีรูพรุน หากส่องแสงจะเห็นแสงลอดออกมาได้หรืออาจเป็นฟิลเตอร์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายมุ้งลวดพลาสติก ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (เฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 1 ไมครอนหรือ 1/1000 มิลลิเมตร) และจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) มีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ (แบบที่เป็นใยสีขาว) แต่จะมีจำนวนชั้นเรียงทบกันหนากว่า สามารถกรองอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย รา ซึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ อย่างไรก็ตามฟิลเตอร์ชนิดนี้จะไม่สามารถกรองไวรัสได้(ฟิลเตอร์ที่จะกรองไวรัสได้ต้องมีขนาด 0.1 ไมครอน) HEPA filter นั้นจะมีราคาแพง ในประเทศอเมริกา HEPA filter หนึ่งตารางฟุตหรือ 30 ซม x 30 ซม. หนาประมาณ 2 นิ้ว ราคาประมาณ 3,000 บาท และเช่นเดียวกับฟิลเตอร์ต่างๆ HEPA filter ก็มีอายุการใช้งานด้วย แม้เครื่องปรับอากาศมีระบบกรอง HEPA filter นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนด้วย(ไม่สามารถล้างได้) และถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการดักจับจุลินทรีย์ได้อีกต่อไปอีกวิธีการหนึ่งที่มีการโฆษณาว่าใช้ระบบไอออนเพื่อฆ่าเชื้อรวมทั้งกำจัดกลิ่น หลักการทำงานของระบบไอออนนี้ก็คือจะสลายน้ำเพื่อให้ได้อนุมูลออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2-) และอนุมูลไฮดรอกซิล (OH-) ซึ่ง อนุมูลทั้งสองชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือพอลิแซ็กคาไรด์ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์หรือผิวของแบคทีเรียหรือไวรัสทำให้เกิดการทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงานคำยืนยันใดๆ จากนักวิชาการอิสระ(ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต) ที่ยืนยันคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศแบบนี้ นอกจากนี้ในทางเดินหายใจของมนุษย์เราก็มีโปรตีนเช่นเดียวกัน จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนด้วยหรือไม่ (Bolashikov & Melikov, Building and Environment 44(2009), 1378-1385) แอร์ไม่ได้มีไว้ฟอกอากาศผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งคือ ในทุกที่บนโลกจะมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว ในดิน ในน้ำ ในอากาศ มากน้อยต่างกันไป พบได้ทั้งในบ้าน ในห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเลี้ยงเด็กเล็ก จุลินทรีย์ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่ก่อโรค ดังนั้น แม้ว่าจะมีแอร์หรือเครื่องฟอกอากาศจะสามารถทำงานได้จริงตามที่กล่าวอ้างก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเมื่อเปิดประตูห้องออกไป เราก็จะเจอกับจุลินทรีย์สารพัดชนิด และที่สำคัญ เมื่อเราเปิดประตูห้อง จุลินทรีย์จากภายนอกก็จะปะปนเข้ามาในห้องได้ใหม่ และถ้าเป็นห้องที่เปิดเข้าออกบ่อยครั้ง แอร์ฆ่าเชื้อยิ่งไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีวันฆ่าจุลินทรีย์ได้หมดนั่นเอง และต่อให้ในห้องมีแอร์ฆ่าเชื้อโรคได้ หากคนที่นั่งข้างๆ หรือคนในห้องเป็นหวัด 2009 เราก็คงมีโอกาสติดได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อแอร์ สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือประโยชน์ที่สำคัญของแอร์นั่นเอง คือเป็นเครื่องทำความเย็นให้แก่ห้อง การเลือกซื้อ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องของความสามารถในการทำความเย็น อัตราการใช้ไฟ (ควรเป็นเบอร์ 5) หรือความเงียบในการทำงานมากกว่า ส่วนเรื่องของการฆ่าเชื้อ น่าจะเป็นเรื่องรอง ซึ่งเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของผู้ผลิต และจะทำให้เครื่องมีราคาแพงมากขึ้นโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าผู้บริโภคยังยืนยันที่จะต้องการการฆ่าเชื้อในอากาศ เครื่องฟอกอากาศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point