ฉบับที่ 250 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆ ก็ยังมา (2)

        ยืนตากแดดก็ฆ่าเชื้อโควิด 19         จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูล โดยแนะนำให้ประชาชนออกมาตากแดดตอนเช้า เพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโควิด 19  เพราะเชื้อโควิด 19 ชอบความเย็นมากกว่าความร้อน ดังนั้นเมื่อเจอความร้อนจากแสงแดดเชื้อโควิด 19 จะตาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ การยืนตากแดดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้จริง         ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด19         มีการแชร์ข้อมูลเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอ้างว่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด-19 แม้ในแง่วิชาการ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในประเด็นที่อ้างว่า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด 19 ได้นั้น ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าไม่เป็นความจริง วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโควิด 19 ได้ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกันบ้างในแง่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจจะพบการติดเชื้อร่วมกับโควิด 19         เราจะรับมือกับกับข้อมูลเท็จในยุคที่ผู้บริโภคกำลังสำลักข้อมูลอย่างไรดี?        ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ และมันก็จะวนเวียนอยู่ในอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกเป็นระยะๆ ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องตั้งสติให้ดี         1. ตรวจสอบต้นตอที่มาของข่าว         เมื่อได้รับข้อมูล อย่าเพิ่งรีบเชื่อ และต้องไม่รีบส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพราะการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จจะเป็นการทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ผู้บริโภคควรตรวจสอบรายละเอียดในข้อมูลก่อนว่ามีการระบุต้นตอแหล่งที่มาชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจนก็ไม่ควรแชร์  แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้มักจะมีการอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราก็ไม่ควรรีบเชื่อ เพราะอาจเป็นการอุปโลกน์แหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อหลอกเรา         2. ลองค้นข้อมูลด้วยตัวเองดูก่อน         เนื่องจากข้อมูลที่แชร์ๆ ต่อๆ กันมา บางทีก็เป็นข้อมูลเก่าที่เคยแชร์มาหลอกชาวบ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ควรจะลองเข้าไปค้นหาข้อมูลดูด้วย เช่น อาจค้นจาก google ดูก็ได้ บางทีเราจะพบว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ และในอดีตก็มีหน่วยงานต่างๆ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว         3. สอบถามผู้รู้ เช่น คน หน่วยงาน         หากไม่มั่นใจในข้อมูล ผู้บริโภคสามารถติดต่อสอบถามยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ช่วยหาข้อเท็จจริงมาบอกเราได้ ทั้งนี้ควรเลือกหน่วยงานที่เรามั่นใจและน่าเชื่อถือในแง่วิชาการด้วย                 4. จัดการต้นตอข่าวลือให้อยู่หมัด         หากข่าวลือดังกล่าวนำไปสู่การโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >