ฉบับที่ 150 หนังสือไม่เคยหลอกลวงคนอ่าน

“จรัญ หอมเทียนทอง” ในวัย 59 ปี หลงใหลในโลกหนังสือมาตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 จวบจนปัจจุบันก่อตั้งสำนักพิมพ์แสงดาว เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักอ่านในเมืองไทย ที่ต้องการลิ้มรสทางปัญญาที่หลากหลายทั้ง ความรู้ตลอดไปจนเรื่องสารพันบันเทิง  ในวันนี้กับอีกบทบาท ในตำแหน่งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สิ่งที่ นายกฯ คนใหม่ ลั่นวาจาหลังได้รับการคัดเลือก คือ การสร้างธุรกิจหนังสือให้เติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้สำนักพิมพ์อยู่ได้อย่างมั่นคงและเสมอภาค รวมทั้งความพยายามที่จะผลักดันหนังสือไทยให้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศมากกว่าเดิม นิตยสารฉลาดซื้อ และสำนักพิมพ์ของเราที่อยู่ในสถานะ โรงพิมพ์ทางเลือก ไปถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก (มาก)ถึงกับตาลุกวาว กับนโยบาย ลองมาดูกันสิว่า “แสงดาว” แห่งศรัทธากับเส้นทางหนังสือทางเลือกจะเดินทางต่อไปอย่างไร ทิศทางของหนังสือทางเลือกในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร จะพูดแบบใช้สำนวนเลยไหม ทิศทางเป็นทิศทางที่มีทางเลือกไม่มาก มีทางเลือกไม่มากหมายความว่าทุกคนเองจะต้องเป็นมืออาชีพมากขึ้น คำว่ามืออาชีพคืออะไร คือคุณต้องอ่านลูกค้าคุณให้ออก คุณจะผลิตหนังสือมาเป็นขยะไม่ได้แล้ว ต่อไปนี้การผลิตหนังสือหนึ่งเล่มจะต้องเป็นการผลิตหนังสือที่ผ่านการคิดมาพอสมควร มาแบบว่าไปตายเอาดาบหน้านั้นจะได้ตายสมใจ เพราะว่าช่องทางในการจัดจำหน่ายมันไม่มี มันน้อย เหตุผลที่มันน้อยคือหนังสือมันเยอะพอหนังสือมันเยอะนั้นวันหนึ่ง เมื่อการตลาดมาใช้กับวงการหนังสือมันทำให้วงการหนังสือมันเปลี่ยนไป คือพูดตรงๆ ปัจจุบันนี้หนังสือทุกเล่มเมื่อเอาการตลาดมาใช้ หนังสือมันเป็นสินค้าวัฒนธรรม เมื่อสินค้าวัฒนธรรมถูกตลาดมาครอบงำ วัฒนธรรมมันก็จะเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมที่ถูกจัดสรร เหมือนเรากลับไปดูละครทีวีที่เราดูทุกวันนี้เป็นวรรณกรรมไทยที่ถูกจัดสรรมาเพื่อทำเป็นละครทีวี เมื่อมันเป็นละครถูกจัดสรรมาเพื่อจัดทำเป็นละครทีวีคุณค่าทางศิลปะมันหายไป แต่มันจะมีคุณค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อเราจับประเด็นนี้มาใช้กับวรรณกรรมต่อไปนี้วรรณกรรมดีๆ มันก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะวรรณกรรมดีๆ นั้นมันไม่สามารถตอบโจทย์ที่ต่อยอดได้ คือ ตอบโจทย์ที่เป็นละครทีวี สภาพตลาดจึงเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นคำตอบเดียวกับที่เราตอบหนังสืออิสระว่าคนทำหนังสืออิสระขนาดเล็กจึงจำเป็นต้องหาตลาดตัวเอง ถามว่าตลาดของตัวเองหาอย่างไรก็คือคุณต้องใช้โซเชียลมีเดียใช้แฟนคลับของตัวเอง เพื่อสร้างจุดขายของตัวเองบางทีคุณจะเห็นสบู่ Local ยากนะขณะที่สบู่ลักส์ขายได้ สบู่ดอกบัวคู่ก็ขายได้แต่เขาขายตลาดของเขา เขาสร้างจากจุดเล็กๆ ของเขาขึ้นมา ปัจจุบันนี้สบู่ดอกบัวคู่นี้พอขายจนได้มาสักพักเริ่มไม่ใช้ดอกบัวคู่แล้ว ดอกบัวคู่ใช้การตลาดนำใช้เป็น Twin Lotusให้คนรู้สึกว่าไม่ใช้ดอกบัวคู่ ผมเห็นสินค้านี้ Twin Lotus มันก็คือดอกบัวคู่ ในวงการหนังสือก็เช่นเดียวกันแต่วงการหนังสือนั้นจะมีข้อด้อยตรงที่คนทำหนังสือนั้นไม่มีช่องทางจำหน่ายหนังสือของตัวเองต้องไปอาศัยช่องทางจำหน่ายของคนอื่นเขา อุปสรรคคือช่องทางการจำหน่ายจึงเป็นปัญหาหนึ่งซึ่งมันทำให้เป็นความจำเป็นของสมาคมผู้จัดพิมพ์จะต้องหาช่องทางขายให้สมาชิกเรา เราจึงให้โอกาสสมาชิกที่เป็นรายเล็กรายกลางเราจึงจัดหาที่ทางให้เอื้อประโยชน์กับรายเล็กรายกลาง ถามว่าคุณรังเกียจรายใหญ่เหรอ ไม่ใช่ครับแต่รายใหญ่เขามีโอกาสในการขายของเขาอยู่แล้ว โอกาสเมื่อมันเกิดเพิ่มขึ้นโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ ความเพิ่มขึ้นมันควรจะเป็นของรายเล็กมากกว่าเราไม่ควรจะเอาโอกาสนั้นไปให้รายใหญ่อีก พูดง่ายๆ คือคนรวยเขามีโอกาสของเขาอยู่แล้วเราไปเพิ่มโอกาสให้เขาทำไม การเพิ่มโอกาสให้เขาเขาไม่รู้สึกดีใจกับเราหรอกเพราะเขารู้สึกว่าเขามีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราให้โอกาสกับคนเล็กนั้นเขาจะดีใจมากกว่าเหมือนกับคุณเอาเงิน 500 บาทไปให้เศรษฐีเขาก็ไม่สนใจแต่ถ้าคุณเอาเงิน 100 บาทไปให้คนจนคุณจะเหมือนเป็นเทพเจ้าเลยนะ ฉันใดก็ฉันนั้นครับ  การตลาดของคนทำหนังสือรายเล็กจะไปในทิศทางอย่างไร ? ทิศทางหนังสือรายเล็กนั้นถ้าคิดว่าเขาจะเข้าตลาดใหญ่ๆ ได้จะต้องเป็นหนังสือของคนตัวเล็กที่มี Talk of the Town ถ้าหนังสือคุณไม่ใช่ Talk of the Town นะโอกาสที่จะได้ไปลืมตาอ้าปากนั้นยาก แต่ถามว่าร้านหนังสือรายใหญ่ที่ไม่เอาของเขามาวางนั้นผิดไหม ไม่ผิด เพราะร้านหนังสือขนาดใหญ่นั้นค่าเช่าที่เขาแพง เขาจึงจำเป็นจะต้องวางสินค้าที่จะต้องสร้างรายได้ให้เขาสูงสุด เมื่อหนังสือของรายเล็กนั้นไม่ใช่หนังสือที่อยู่ในกระแส ไม่ใช่หนังสือ Talk of the Town การไหลเวียนหนังสือในร้านเขาต่อการเช่าพื้นที่ 1 ตรม.นั้น เขาย่อมเอาหนังสือที่ได้เงินเร็วมากกว่าหนังสือที่ขายได้ช้า ฉะนั้นงานวรรณกรรมดีๆ ของดีมักจะขายช้า ในโลกนี้ของดีที่ขายดีก็มีบ้าง แต่ของดีนี้ขายยากมาก  ถ้าอย่างนั้นเราจะสร้างวัฒนธรรมในการอ่านอย่างไร ? วัฒนธรรมของการอ่านไม่ต้องสร้างครับ  เราต้องสร้างฐานของการอ่านมากขึ้นเพื่อเมื่อคนอ่านหนังสือมากขึ้นคนจะสามารถคัดกรองได้ว่าในอนาคตนั้นเขาจะอ่านหนังสือแบบไหน วันนี้คนเข้าร้านหนังสือใหญ่ อ่านหนังสือตามกระแสที่เป็น Talk of the Town ไม่ผิดครับแต่เมื่อเขาอ่านบ่อยๆ แล้วเขาจะรู้ว่าหนังสือเหล่านั้นอาจจำให้ความเพลิดเพลินเขาแต่ให้อรรถประโยชน์น้อยกว่าหนังสือคลาสสิกมาก วันหนึ่งเขาจะรู้เองครับตามอายุของเขา ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะทำก็คือทำอย่างไรถึงจะเพิ่มคนอ่านหนังสือให้มากขึ้น เพราะถ้าเราเพิ่มคนอ่านให้มากขึ้นแล้วคนอ่านเขาจะคัดกรองหนังสือของเขาเอง  การที่มีการอ่านหนังสือบนTablet มันมีส่วนช่วยหรือทำให้ตลาดหนังสือเดิมเล็กลงไหม ผมว่าการอ่านหนังสือบน E-Book ไม่ทำให้คนอ่านหนังสือลดลงแต่ว่าการอ่านหนังสือบน E-Book นั้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางของคนอ่านหนังสือ แต่ถ้าถามว่าทำให้หนังสือเล็กลงหรือไม่ ไม่ครับเพราะให้อรรถประโยชน์ในการอ่านไม่สะดวกครับ E-Bookนั้นจะอ่านได้เฉพาะที่เป็น Magazine หนังสือพิมพ์ เพราะถ้าเป็นหนังสือนิยายหนึ่งเล่มนั้นคุณไม่สามารถอ่านจบได้ภายในวันเดียว อย่าลืมว่า E-Book มีเงื่อนไขในการอ่านเรื่องของแสงที่สะท้อนออกมาจากเครื่องอันนี้เรื่องที่หนึ่ง สองคือคุณต้องอ่านในที่ที่มีสัญญาณไปถึง สามมันมีค่าไฟที่คุณต้องใช้ สี่การอ่านหนังสือนั้นคลาสสิกกว่า E-Book ครับอันนี้เป็นทัศนะผมนะครับ E-Bookเป็นเพียงแค่แฟชั่นชั่วครั้งชั่วคราว แต่ที่พูดไม่ได้หมายความว่าไปดูถูกตลาด E-Book นะครับแต่ว่า E-Bookนั้นเป็นอีกช่องทางเลือก ผมก็ดีใจที่อย่างน้อยทำให้มีคนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง วันนี้เวลาเราเจอเด็กอ่านหนังสือจากโทรศัพท์ IPhone อ่านหนังสือจาก Facebook เราไม่เสียใจครับ เราดีใจเพราะว่าคนอ่านหนังสือมากขึ้นให้เขาใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือดีกว่าใช้เวลาว่างในการคุย ซึ่งการอ่านจะอ่านใน Facebook มันก็เรื่องของเขา แต่ขอให้คนรักการอ่านก่อน เป้าหมายของสมาคมฯ คือทำอย่างไรให้คนรักการอ่านก่อนนี่คือเป้าหมายของเรา   การที่เราจะก้าวเข้าสู่ AEC ตลาดหนังสือไทยมันจะไปอย่างไร ? มีคนพูดกันมากว่าเมื่อเราก้าวเข้าสู่ AEC แล้วหนังสือมันจะเป็นอย่างไร ผมเรียนว่าหนังสือคือวัฒนธรรม วัฒนธรรมเราคือหนังสือไทยเรามีความพร้อมที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษไหมครับ อย่าลืมว่ามีภาษากลางเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน เราเองมีความพร้อมที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษไหมแล้วหนังสือในแถบอาเซียน สิ่งเดียวที่จะทำให้สื่อสารและซื้อขายกันคล่องตัวที่สุดในอาเซียน คือหนังสือการ์ตูนครับ เพราะหนังสือการ์ตูนไม่จำเป็นต้องบอกความมาก ชัดเจน ฉะนั้นตลาดที่ไปอาเซียนคือหนังสือการ์ตูนและต้องทำบทพากษ์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคนทำได้ระดับหนึ่ง AEC กับหนังสือนั้นคือต้องเข้าใจว่า AEC นั้นคือเขตปลอดภาษีสำหรับสินค้าในแทบอาเซียนธรรมดาถ้าไม่ใช่ AEC หนังสือก็เป็นสินค้าปลอดภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นตัวนี้มันมีมาก่อน AEC ครับ เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะ AEC นะครับโลกนี้คุณส่งหนังสือเรียนไปที่ไหนก็แล้วแต่หนังสือเรียนเป็นสินค้าที่ยกเว้นภาษีอากรครับ AEC นี้ว่าด้วยมาตรฐานการค้าและภาษีอากรของประเทศในกลุ่มอาเซียนแต่ว่าหนังสือนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว AEC ไม่มีผลกับหนังสือครับ เพราะว่าถึงแม้ไม่มี AEC หนังสือก็ไม่เสียภาษีอยู่แล้วครับ มีคนชอบพูดว่าเข้าสู่ AEC แล้วหนังสือจะเป็นอย่างไร คือ AEC นั้นว่าด้วยเรื่องสินค้า หนังสือก็คือสินค้าชนิดหนึ่งแต่หนังสือเป็นสินค้าที่ไม่ว่าคุณจะส่งไปที่ไหนในโลกนี้นะครับ ทางยุโรป ประเทศจีน หรืออเมริกา หนังสือส่งไปทุกที่ทั่วโลกยกเว้นภาษีหมดครับ คือเห็นความสำคัญของโลกนี้ไหมครับโลกใบนี้การส่งสินค้าทางอากาศถ้าสินค้าคุณเป็นหนังสือนะครับคุณจะได้ลดค่าขนส่งลงไป 50% คือพิกัดศุลกากรโลกเขาเน้นหนังสือเลยนะ หนังสือเป็นสินคาชนิดเดียวในโลกที่ยกเว้นอากรครับ  แล้วเรื่องราคามีผลกับการอ่านหนังสือไหม ราคาหนังสือลดลงยากครับถ้าตราบใดประเทศเรายังมีสินค้าขายฝาก อยู่ถ้าร้านหนังสือประเทศเราซื้อสินค้าขาดไม่ฝากขายเหมือนซื้อซีอิ้วขาวตราเด็กสมบูรณ์หรือซื้อน้ำปลา หนังสืออาจจะราคาถูกลงแต่ปัจจุบันหนังสือเป็นสินค้าที่ฝากขาย เมื่อคุณทำหนังสือมา 100 เล่ม คุณลงทุนไป 100 บาทคุณเอาหนังสือ 100 เล่มนี้ไปวางไว้ที่ร้านนายอินทร์ ร้านซีเอ็ดคุณไม่รู้ว่าผ่านไป 3 เดือนหนังสือคุณจะขายได้กี่เล่ม 100 บาทที่คุณลงทุนไปอีก 3 เดือนขายได้ 2 เล่มคุณก็เจ๊งแล้วเพราะคุณไม่เคยรู้ชะตาของหนังสือคุณว่าชะตากรรมมันจะไปทางไหน เพราะว่าร้านหนังสือวางหนังสือไว้เฉยๆ เขาไม่ได้ทำการตลาดให้คุณ ผมจึงบอกว่าหนังสือในอนาคตนั้นถ้าหนังสือไม่มีความเด่นดังด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่หนังสือ Talk of the Townแล้วนั้นก็ปิดตัวได้ง่าย ยกเว้นแต่หนังสือนั้นจะเป็นหนังสือที่ซึ่งมีคนตามอ่านอยู่ตลอดเวลา เช่น สามก๊กมีคนอ่านตลอด คุณพิมพ์ไปอย่างไรก็ขายได้ คุณพิมพ์หนังสือธรรมดาที่ไม่มีจุดขาย ไม่มีความดีเด่นของวรรณกรรม คุณทำมาก็ขายไม่ออก   เราควรควบคุมราคาหนังสือไหมเพื่อให้ยุติธรรมกับคนอ่าน อย่างกำหนดเพดานต้นทุน ไม่มีเพดานครับ ใครจะกำหนดต้นทุนอย่างไรก็ได้เพราะว่าสินค้าต้องเป็นสินค้าฝากขายเขาต้องการให้จุดคุ้มทุนต่ำที่สุด จุดคุ้มทุน 50% คูณกำไรหนังสือ 50% แต่ 50% ที่เป็นกำไรนั้นคือสต๊อกนะครับ คุณก็ไม่รู้ว่าคุณจะแปลสต๊อกให้กลายเป็นเงินได้อย่างไรอันนี้คือปัญหาของมันครับ   สุดท้ายหนังสือจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร คือคุ้มครองผู้บริโภคนั้นจะมาคุ้มครองหนังสือไหม ผมว่าหนังสือมันไม่เคยหลอกลวงคนอ่าน ตัวหนังสือไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับใครนะครับ ยกเว้นแต่ว่าเขาซื้อหนังสือโป๊เองอันนั้นช่วยไม่ได้เพราะว่าหนังสือโป๊ขายรูปนะครับ ฉะนั้นหนังสือเป็นสินค้าที่ สคบ.เขาก็ไม่ออกระเบียบมานะคือจะเห็นว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เคยมีใครมาร้องเรียนเรื่องหนังสือนะ   งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "หนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก 40 ปี 14 ตุลา 16" โดยจะมีความพิเศษกว่าทุกครั้ง คือการจัดสรรพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ออกร้านจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้น และการจัดนิทรรศการหนังสือต้องห้าม เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point