ฉบับที่ 198 สินค้าใกล้หมดอายุ วางจำหน่ายได้หรือไม่

ที่ผ่านมาเราเคยเสนอเรื่องสินค้าหมดอายุควรวางจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าหรือไม่ เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา ซึ่งแม้จะยังมีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายหลายรายยินดีที่จะปรับปรุงการบริการและชดเชยเยียวยาผู้เสียหายตามสมควร กระนั้นประเด็นดังกล่าวนี้ก็ได้กลับมาสร้างปัญหาให้อีกครั้ง เมื่อมีผู้ร้องเรียนถึงสินค้าที่ “ใกล้” หมดอายุ ซึ่งเขาเห็นว่าการจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นกัน แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณสมชายซื้อยาสีฟันจากร้านค้าส่งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา และหลังจากนำกลับไปใช้งานที่บ้านก็สังเกตว่า ยาสีฟันดังกล่าวระบุวันหมดอายุเป็นหนึ่งเดือนข้างหน้า ทำให้คุณสมชาย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานยาสีฟันดังกล่าวเพียงคนเดียวรู้สึกว่า ตนเองไม่น่าจะใช้งานทันภายในหนึ่งเดือนแน่ๆ  ดังนั้นการที่ร้านค้านำยาสีฟันที่ใกล้หมดอายุแล้ว มาวางจำหน่ายรวมกับสินค้าอื่นๆ ที่ยังไม่ใกล้วันหมดอายุ อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า ยาสีฟันจัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 มาตรา 32 (6) กำหนดว่าห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้งานตามที่แสดงไว้บนฉลาก ทำให้จากกรณีนี้ทางร้านค้ายังสามารถวางขายได้จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะหมดอายุ ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อ แต่ในกรณีนี้ที่สินค้าใกล้หมดอายุแล้ว ทางร้านก็ควรมีหลักจริยธรรมในการค้าขายและดูแลคุ้มครองผู้บริโภคของตนเองด้วย โดยหากพบว่า สินค้าใดที่กำลังจะหมดอายุ ควรมีการขายแยกหรือจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่วางปะปนไปกับสินค้าที่ยังคงสภาพดี และได้ทำเรื่องแจ้งแก่ผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงการจัดวางสินค้าในร้านค้าของตนเพื่อมิให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 อาหารหมดอายุ แต่ทำไมยังวางจำหน่าย

ในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคเล่มก่อนๆ เราเคยเสนอประเด็นเรื่อง “ของหมดอายุควรมีอยู่ในห้างหรือไม่” เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเกิดคำถามจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ว่า เมื่อไรที่ปัญหานี้จะได้รับการดูแลอย่างจริงจังจากผู้จัดจำหน่ายสินค้านั้นๆกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ซื้ออาหารจากห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี โดยเขาได้ซื้อฟักทองนึ่ง และปลานิลทอด 4 ตัว เมื่อนำกลับมารับประทานที่บ้าน(ไม่เกิน 20 นาที นับจากเวลาที่ชำระเงินเรียบร้อย) ก็พบว่าฟักทองดังกล่าวมีกลิ่นบูดและมียางเหนียวๆ ติดมือ และปลานิลทอดก็มีกลิ่นเน่าโชยออกมาทุกตัว เขาจึงตัดสินใจเก็บใส่ตู้เย็นไว้ และโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่ห้างดังกล่าวในวันรุ่งขึ้นเมื่อได้รับการแจ้งร้องเรียนพนักงานของทางห้างได้แจ้งว่า ให้นำใบเสร็จมารับเงินคืน แต่ผู้ร้องเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งทางห้างควรให้ความสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องการคืนเงิน เขาจึงขอพูดสายกับผู้บริหารระดับสูง เพราะต้องการให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบมากกว่านี้อย่างไรก็ตามพนักงานกลับโอนสายให้ผู้จัดการระดับแผนกเป็นผู้รับเรื่องแทน ผู้ร้องจึงตอบกลับไปว่า จะไม่เป็นฝ่ายไปรับเงินคืนที่ห้าง แต่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของห้างเป็นผู้มารับสินค้ากลับไปและมารับเรื่องร้องเรียนด้วยตนเองแทน แต่ก็กลับพบว่าคนที่มารับสินค้าเป็นเพียงหัวหน้าแผนกซีฟู้ด ซึ่งได้ขอโทษและคืนเงินให้ ทำให้ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เขาจึงนำคลิปที่ถ่ายอาหารดังกล่าวไว้ลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook ส่วนตัว) และเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายแจ้งรายละเอียด และความประสงค์ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และนัดให้มีการเจรจาที่มูลนิธิฯ ซึ่งภายหลังการเจรจาตัวแทนของบริษัทฯ ยืนยันที่นำข้อเสนอต่างๆ ของผู้ร้องกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีมาตรฐานในการดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไปทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนในประเด็น อาหารหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้1. เก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ (ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับผู้ขาย) ซึ่งควรดำเนินการทันทีที่พบว่าได้บริโภคอาหารหมออายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ2. ถ่ายรูป ฉลาก (ที่ระบุ ว/ด/ปี ที่ผลิต – หมดอายุ) รูปสินค้า และใบเสร็จรับเงิน 3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่4. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งควรคิดล่วงหน้าว่าต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น เปลี่ยนสินค้าใหม่ คืนเงิน จ่ายค่าเสียเวลา หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติดังกล่าว 5. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง ถึงประธานกรรมการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสามารถให้ทางศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนได้

อ่านเพิ่มเติม >