ฉบับที่ 193 ระวังการจ้างคนดูแลผู้ป่วย

แม้การจ้างคนดูแลผู้ป่วย จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้หลายครอบครัวได้ แต่บางครั้งอาจเป็นการสร้างปัญหาที่ยากจะแก้ไข ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสุชาติร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เขาได้จ้างคนดูแลผู้ป่วยมาเฝ้าไข้คุณแม่ ซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จากศูนย์บริการจัดส่งพนักงานประจำบ้าน-โรงพยาบาล โดยได้ตรวจสอบแล้วว่าคนที่จ้างมา ผ่านการรับรองและได้รับประกาศนียบัตรการสำเร็จหลักสูตรพนักงานผู้ช่วยบริบาลสุขภาพหลักสูตร 420 ชั่วโมง จากโรงเรียนการจัดการสุขภาพจุฬาเวชเรียบร้อย อย่างไรก็ตามหลังดูแลคุณแม่ได้ไม่กี่วัน พนักงานคนดังกล่าวก็แจ้งมายังคุณสุชาติว่า คุณแม่ของเขาไม่สบายและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท โดยขอร้องให้เขาโอนเงินเข้าบัญชีของเธอ เพื่อสำรองจ่ายไปก่อน ด้านคุณสุชาติคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร จึงหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้ แต่กลับพบว่าเธอได้หายตัวไปและติดต่อไม่ได้อีกเลยเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงไปแจ้งความ และติดต่อศูนย์บริการดังกล่าวเพื่อให้รับผิดชอบ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า ตามสัญญาที่เขาทำไว้ก่อนตกลงจ้างคนดูแลผู้ป่วยได้ระบุไว้ดังนี้ “หากเกิดปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงาน หรือเกิดการเสียหายแก่ทรัพย์สินผู้ว่าจ้าง โดยเหตุเกิดอาจเกี่ยวกับพนักงานของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะต้องรีบแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับพนักงานได้ทันที โดยผู้รับจ้างไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบแต่ประการใดทั้งสิ้น เว้นแต่การให้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเท่านั้น” ทำให้คุณสุชาติต้องส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬาเวชโดยตรง เพื่อร้องเรียนถึงพฤติกรรมของพนักงานดังกล่าว โดยขอให้พิจารณาถึงบทลงโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากพนักงานอาจใช้ประกาศนียบัตรที่ได้รับการรับรองทำงานต่อไปและหลอกลวงผู้อื่นได้อีก อย่างไรก็ตามจากปัญหานี้ได้แสดงให้เห็นถึง ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในขณะที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ยังไม่มีการควบคุมเรื่องข้อสัญญาสำหรับธุรกิจประเภทดังกล่าว ทำให้ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ทุพพลภาพและผู้ป่วยตามสถานที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2559 โดยกำหนดว่า ข้อ 3 สัญญาการให้บริการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนทุพพลภาพและผู้ป่วยตามสถานที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังนี้1.รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ เลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคล ให้ระบุเลขทะเบียนนิติบุคคล2.รายละเอียดของพนักงาน อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ อายุ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน ความประพฤติและประวัติการกระทำความผิด (ถ้ามี)กรณีพนักงานเป็นคนไทยให้ระบุเลขประจำตัวประชาชน แต่กรณีเป็นพนักงานต่างด้าวให้ระบุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว3.รายละเอียดเกี่ยวกับประเภท และขอบเขตของงานที่ให้บริการ เช่น วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงาน วันหยุดพนักงาน การทำงานล่วงเวลา เป็นต้น4.รายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ และเงินอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค เช่น ค่าบริการพิเศษในวันหยุดของพนักงาน ค่าบริการล่วงหน้าและค่าทำงนล่วงเวลา รวมทั้งเงื่อนไขและวิธีชำระเงิน5.ผู้บริโภคมีสิทธิให้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงพนักงาน กรณีที่พนักงานไม่มาปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่ ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังตามที่พึงคาดหมายได้ จากการให้บริการตามสัญญา หรือพนักงานมีสภาพร่างกาย จิตใจ หรือความประพฤติไม่เหมาะสมหรือกระทำการอันเป็นความผิดอาญาทั้งนี้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ หากพบว่าไม่มีรายละเอียดของพนักงานตาม (2) หรือพนักงานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการให้บริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือพนักงานมีพฤติกรรมตาม (5)รวมทั้งไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะเรียกเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระในกรณีผิดสัญญา และ (8) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นค่าบริการล่วงหน้าทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา และถ้าผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นชำระเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระในกรณีผิดสัญญานอกจากนี้ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องไม่ใช่ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมายทำนองเดียวกัน ดังนี้(1) ข้อสัญญาที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงาน(2) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิริบเงินค่าบริการและเงินอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคไว้ล่วงหน้า(3) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชำระค่าปรับ ค่าเสียหายหรือเงินอื่นๆ เพิ่มเติมในกรณีที่มีการเลิกสัญญา เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้แล้วตามกฎหมาย(4) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงอัตราค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือเงื่อนไขตามที่กำหนดในสัญญา ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา(5) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภค โดยผู้บริโภคมิได้ผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญข้อใดข้อหนึ่งในสัญญา(6) ข้อสัญญาที่กำหนดให้การต่อระยะเวลาของสัญญามีผลบังคับทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลา

อ่านเพิ่มเติม >