ฉบับที่ 182 ชนาธิป ไพรพงษ์ ผู้บริโภคต้องมี ”ภูมิคุ้มกัน”

ถ้าใครเคยฟังรายการภูมิคุ้มกัน รายการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทางสถานีวิทยุไทยพีบีเอส คงจะคุ้นกับเสียงหวานๆ ของคุณน้ำ ชนาธิป ไพรพงษ์ กันดี วันนี้ฉลาดซื้อจะทำให้รู้จักเธอมากขึ้นจากงานที่เธอทำ เล่าถึงงานที่ทำและประสบการณ์เรื่องการถูกละเมิดสิทธิ   เรียนจบมนุษยศาสตร์  สื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ว่าตอนเรียนก็ทำงานไปด้วย คือทำที่สถานีวิทยุและจัดรายการวิทยุ เริ่มจัดตั้งแต่รายการเพลง รายการเกี่ยวกับบ้าน รายการเศรษฐกิจ พอเข้ามาทำงานที่ไทยพีบีเอส  ต้องมารับผิดชอบเป็นโปรดิวเซอร์ให้หลายรายการ รวมทั้งในส่วนของรายการที่ออกอากาศทางวิทยุไทยพีบีเอส อย่าง รายการภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่ปี 2553 ในการผลิตรายการ เราก็ต้องติดตามข่าว  ทำข่าวเองด้วย  หาข้อมูล ติดต่อแขกสัมภาษณ์ ตัดต่อรายการ จัดรายการเอง ทำให้เราได้รู้ข้อมูลอะไรที่มากขึ้น คือทั้งที่แต่ก่อน เราก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งนะ แต่ว่าก็ไม่ได้ใส่ใจว่าถ้าเราซื้อของมาแล้วมันหมดอายุจะทำอย่างไร  ของไม่มีคุณภาพ เราก็แค่ไปซื้อมาใหม่ มารู้ทีหลังว่า  เราสามารถเรียกร้องให้ผู้ผลิตรับผิดชอบได้ คือเราไม่ได้รู้สิทธิของผู้บริโภคอะไรขนาดนั้น แล้วยิ่งพอมาจัดรายการภูมิคุ้มกัน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทั้งผู้เสียหายกรณีต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้วเราทุกคนควรใส่ใจการบริโภค รู้สิทธิของเรา ไม่ควรปล่อยผ่าน แต่ไม่ใช่ว่าไปเครียดอะไรกับการเลือกบริโภคนะคะ มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยเกิดปัญหากับตัวเอง คือเราไปต่างประเทศ แล้วเปิดใช้บริการโรมมิ่ง แล้วซื้อแพจเกจอินเตอร์เน็ทใน 7 วัน ราคา 1,400 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ กำหนดเวลา 00.00 น.วันที่ 18 ม.ค  ถึงเวลา 23.59 น. วันที่ 24 ม.ค แล้วระบบจะตัดอัตโนมัติ ตอนเปิดใช้บริการคือโทรจากสนามบินก่อนขึ้นเครื่อง แต่เราก็ได้รับการยืนยันโดยทางค่ายมือถือส่ง sms มาว่าเราใช้บริการโรมมิ่งแพจเกจนี้ๆ นะ คือตอนนั้น การไปซื้อซิมมือถือใช้ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศยังไม่ค่อยมี หรือเราไม่รู้ตรงนี้ก็ไม่รู้  แต่ได้ยินโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการเปิดโรมมิ่งดาต้าของค่ายมือถือต่างๆ ในไทยมา ก็เลยเลือกใช้แต่มันเกิดปัญหาคือ พอไปใช้ที่ต่างประเทศคือ ตอนนั้นเราไปญี่ปุ่น แล้วเครือข่ายที่ญี่ปุ่นสัญญาณไม่ครอบคลุม คือบางพื้นที่ที่เราไปเที่ยวก็ไม่มีสัญญาณ อันนี้ยังไม่ค่อยเท่าไรปัญหาที่ทำให้เรารู้ว่าผู้บริโภคควรเรียกร้องสิทธิคือเมื่อกลับมาเมืองไทย  แล้วบิลเรียกเก็บค่าโทรศัพท์มาถึงเราปรากฏว่า มีค่าโรมมิ่งที่เกินจากเวลาที่ตกลงกันในแพจเกจคือกำหนดถึงแค่ 23.59 น. ของวันที่ 24 ม.ค ใช่ไหมคะ แต่ในบิลบอกว่ามีค่าโรมมิ่ง ของ 00.00.26 น.ของวันที่ 25 ม.ค เกินมาเป็นเงินถ้าจำไม่ผิดประมาณ 680 บาท เราก็เลยงงว่า ก็ในเงื่อนไขทางค่ายมือถือบอกจะตัดสัญญาณอัตโนมัติตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น แล้วคุณปล่อยสัญญาณโรมมิ่งหลุดมา แล้วมาเก็บค่าบริการจากเรามันไม่ยุติธรรม เพราะเราไม่ได้เป็นคนรู้ว่าจะตัดสัญญาณตอนไหน “คือถ้าคุณตัดตามเวลามันก็ไม่เกิดปัญหา เราก็คิดว่าเราจะไม่ยอมจ่าย เพราะความผิดไม่ได้อยู่ที่เราก็เลยโทรไปคอลเซ็นเตอร์ค่ายมือถือชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ฟังว่าเงื่อนไขเป็นยังไง ค่ายมือถือก็บอกขอตรวจสอบรายละเอียดก่อนแล้วจะแจ้งเรากลับ เราก็โอเค น้ำก็เลยขอให้เขาส่งรายการและเวลาการใช้โรมมิ่งทั้งหมดมาให้ พอเห็นเวลาว่าโรมมิ่งที่เกิน คือไม่อยู่ในเงื่อนไขเวลาที่ตกลงกันก็เลยท้วงเขาไป พอค่ายบอกว่ากำลังตรวจสอบ เราก็บอกว่า งั้นเรายังจะไม่จ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้นะรอผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ก็ไม่เห็นติดต่อเรากลับสักที เราเลยติดต่อไปที่คอลเซ็นเตอร์ใหม่เจ้าหน้าที่ก็บอกกำลังตรวจสอบอยู่ ผ่านไปอีกเกือบ 2 สัปดาห์ เราก็รอว่าเขาจะติดต่อมาไหม  คือไม่ จนเราต้องติดต่อคอลเซ็นเตอร์ไปเอง สุดท้ายคือ เขาแจ้งว่าจะทำการยกเลิกรายการเก็บเงินค่าโรมมิ่งที่เกินเวลามา ก็คือเราไม่ต้องจ่าย 680 บาท คือเรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเรายอมจ่ายเราก็เสียเงิน 680 บาท  ก็ไม่น้อยนะ กินข้าวได้หลายจานอยู่ แต่ต้องยอมเสียเวลาจัดการไปประมาณเดือนหนึ่ง”     ยังมีอีกเรื่อง คือเรื่องคอนโดที่อาศัยอยู่ปัจจุบัน มีลูกบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าคอนโด มีอะไรหลายอย่างที่ไม่เหมือนเดิม คือจากที่ลิฟท์เคยมีเครื่องสแกนบัตรเข้าออก ขึ้นลิฟท์แบบล็อคชั้น เพี่อความปลอดภัยไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในตึกนั้นขึ้นไปได้เพื่อความเป็นส่วนตัว แล้วก็ยังมีประตูเข้าออกตึกที่บัตรเข้าออกจะใช้ได้เฉพาะตึกนั้นๆ แต่ระยะหลังนี่ไม่ใช่ คือบัตรสามารถใช้ได้ทุกตึก แล้วนิติบุคคลยังไม่แสดงงบคอนโดประจำปีอีกด้วย หรือแสดงงบก็เป็นกระดาษแผ่นเดียว ไม่ชี้แจงรายละเอียด ทั้งที่ลูกบ้านจ่ายค่าส่วนกลางปีละหมื่นกว่าบาท จนนำไปสู่การที่ลูกบ้านรวมกลุ่ม เพื่อขอเปิดประชุมเอง มีวาระคือถอดถอนกรรมการชุดเดิม แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ เลือกบริษัทนิติบุคคลใหม่ แต่ว่าไม่สำเร็จ เพราะกรรมการชุดเดิมไปแย้งที่สำนักงานที่ดินเขตว่าการประชุมไม่ชอบ เพราะลูกบ้านไม่ส่งหนังสือเชิญประชุมล่วงหน้า 15 วัน ตามข้อบังคับคอนโด “มันก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งของผู้พักคอนโดนะคะ ว่าต้องรู้กฏหมายด้วย แล้วต้องมีที่ปรึกษาเป็นทนาย  ถ้าจะติดต่อทำธุรกรรมเรื่องที่ดิน  ให้ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานที่ดินเขตเลย เรื่องนี้ทำให้ต้องตระหนักมากๆ ถึงสิทธิผู้บริโภคว่า  อย่าปล่อยให้การบริหารงานของนิติบุคคลมาเอาเปรียบเรา  เสียเงินค่าส่วนกลางไปแล้ว  ควรได้รับบริการในที่พักอาศัยที่ดี จนถึงตอนนี้เรื่องคอนโดก็ยังไม่จบ เพราะกรรมการชุดเดิมหมดวาระไปแล้ว แต่ยังรักษาการอยู่  แล้วก็กำหนดประชุมสามัญประจำปีเพื่อเลือกกรรมการใหม่ แต่ก็เลื่อนการประชุมอีก ตอนแรกบอก 24 เม.ย เลื่อนเป็น 30 เม.ย ทำป้ายประกาศก็ลงวันที่ผิด และยังไม่ส่งหนังสือเชิญประชุมลูกบ้าน เหมือนจะยื้อเพื่อรักษาการต่อ  แล้วค่อยหาคนของตัวเองมาลงสมัครเป็นกรรมการเพื่อจะได้มีอำนาจในการคัดสรรบริษัทนิติบุคคลเอง เหมือนมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งถ้าเราไม่ติดตาม ก็เหมือนเราซื้อคอนโดห้องหนึ่ง  อยู่อาศัยไปโดยไม่รู้ว่า ค่าส่วนกลางที่เราเสียทุกปี เขาเอาไปใช้อะไรบ้าง เอาไปดูแลสระว่ายน้ำ เหมือนที่โฆษณาไว้ไหม รักษาตึก ประตู ตรวจลิฟท์ประจำปีหรือเปล่าทุกอย่างก็เพื่อความปลอดภัยของลูกบ้านก็คือเรานั่นเอง” มีความคิดอย่างไรกับเรื่องสิทธิผู้บริโภคจากประสบการณ์ตรงที่เกิดกับตัวเองเราต้องตระหนักสิทธิผู้บริโภคให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็จ้องจับผิดผู้ประกอบการนะคะ เพียงแต่ว่า ไม่ว่าเราจะเลือกซื้อเลือกใช้อะไร เราก็ต้องใส่ใจหารายละเอียดก่อน แม้แต่เรื่องฉลากสินค้า เช่น ล่าสุดไปหาซื้อกะปิ ก็ดูสีว่าสีจัดไหม ถ้าสีจัดไปเราก็ไม่ซื้อเพราะเกรงว่าจะใส่สี แต่ว่าพอดูฉลาก ฉลากก็ตัวหนังสือเล็กมาก ตาก็ไม่ค่อยดี บางทีเราก็รู้ว่า เลือกเท่าที่เลือกได้แล้วกัน คิดว่าการคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเรายังขาดอะไรบ้างขาดหลายอย่างเลยค่ะ ผู้บริโภคยังไม่ค่อยตื่นตัว ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับผู้บริโภคน้อยมาก เห็นได้จากการแก้ปัญหาที่ล่าช้าและเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ มีช่องโหว่อยู่มาก คือเหมือนคนไทยยอมมากเกินไป เมื่อเกิดปัญหาก็คิดว่าช่างมันเถอะ ทั้งที่คนได้รับผลกระทบคือตัวเรา อย่างการรักษาพยาบาลตามสิทธิต่างๆ เช่นสิทธิประกันสังคม บางคนยังไม่รู้ว่าประกันสังคมครอบคลุมการรักษาโรคใดบ้าง ทำฟันได้ปีละกี่ร้อยบาท เพราะไม่เคยไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลเลยซึ่งก็ดีนะ มันหมายถึงคุณมีสุขภาพดีแต่พอไปรักษาทีก็ งง ไปเหมือนกันว่าประกันสังคมเขาให้สิทธิอย่างไร หรือแม้แต่เมื่อลาออกจากงาน ประกันสังคมจะให้อะไรบ้าง ดิฉันเคยเป็นผู้ประกันตนเหมือนกันตอนทำงานกับบริษัทเอกชน ทีนี้ พอลาออก  ไม่ได้ไปใช้สิทธิตัวเองที่ว่าให้ไปแจ้งที่ประกันสังคมภายใน 6 เดือนว่าคุณลาออกจากงาน อยู่ระหว่างการหางานใหม่  ซึ่งประกันสังคมจะให้เงินเป็นรายเดือนระหว่างที่ยังหางานทำไม่ได้ คืออันนี้ดิฉันก็ลืมไม่ไปแจ้งสิทธิ  ก็เลยเสียสิทธิไปเลย ทั้งที่ตัวเองจ่ายเงินประกันสังคมตั้ง 8 ปี หลายๆ คนน่าจะไม่รู้สิทธิตรงนี้ “เรื่องการบริโภคเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราต้องบริโภคอาหาร ใช้บริการต่างๆ คือไม่ว่าเรื่องเล็กๆ น้อย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ มันเกี่ยวพันกับเราทั้งสิ้น บางทีการหาข้อมูลความรู้ หรือการติดตามข่าวสารไว้  ก็จะเป็นสิ่งที่เมื่อเราเกิดปัญหาจะสามารถแก้ได้ค่ะ เช่น ตอนนี้ในเวปไซต์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มักจะมีข้อมูลเหล่านี้อยู่  ให้เราเพิ่มความสนใจอีกนิด ส่วนผู้ประกอบการก็ขอให้นึกถึงใจเขาใจเรา  เพราะว่าถึงคุณจะผลิตสินค้าหรือให้บริการอย่างหนึ่ง  แต่คุณก็ต้องไปซื้อสินค้าหรือรับบริการอย่างอื่นอยู่ดี ถ้าคุณผลิตสินค้าดี  ให้บริการดี ก็จะช่วยลดปัญหาได้ จะเห็นว่าผู้ประกอบการถ้ามีคุณภาพจะประกอบการได้นาน ทำกำไรได้โดยไม่ต้องเอาเปรียบผู้บริโภคค่ะ” **รายการภูมิคุ้มกัน ฟังและดาวน์โหลดรายการได้ที่  www.thaipbsonline.net  และ แอพพลิเคชั่น Thaipbsแฟนเพจ www.facebook.com/ThaipbsRadioFan/  และสถานีวิทยุชุมชนที่เชื่อมโยงสัญญาณ  ได้แก่  สถานีวิทยุชุมชน คนหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี FM 107.5 Mhz, สถานีวิทยุชุมชนปฐมสาคร FM 106.25 Mhz, สถานีวิทยุชุมชนคนเมืองลี้ จ.ลำพูน  103.75 MHz, สถานีวิทยุชุมชนวัดโพธิ์บัลลังก์ จ.ราชบุรี  FM 103.75 MHz.  สถานีวิทยุเทศบาลทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน  FM 106.25  MHz,  สถานีวิทยุชุมชนคนเขาวง  จ.กาฬสินธุ์  FM 89.5  MHz

อ่านเพิ่มเติม >