ฉบับที่ 128 ถอนทะเบียนยา...ความปลอดภัยที่ยังมีช่องโหว่

  เพราะร่างกายของคนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดูแลรักษา ยิ่งในเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยตัวช่วยสำคัญที่จะมาทำหน้าที่รักษาบรรเทาโรคภัยต่างๆ คงหนีไม่พ้น "ยา" 1 ในปัจจัย 4 ที่แม้หลายๆ คนจะแอบภาวนาว่าถ้าเป็นไปได้ในชีวิตนี้ก็ไม่อยากพึ่งพาหรือฝากความหวังไว้กับการกินยา เพราะว่าไม่อยากป่วย แต่ในยามที่โรคภัยไข้เจ็บถามหา ยาก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีเพราะคงไม่มีใครอยากจะต้องทนอยู่กับอาการเจ็บป่วยเป็นเวลานานๆ   เมื่อยารักษาโรค อาจกลายเป็นยาพิษ  แม้หน้าที่ของยา คือการบรรเทารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งนี่ก็คือหน้าที่ที่ถือเป็นคุณประโยชน์ของยา แต่ว่าบางครั้งการใช้ยาก็อาจกลายเป็นโทษได้เหมือนกัน ทั้งจากการใช้ยาไม่ถูกกับโรค การแพ้ยา การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป การใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพหรือยาปลอม ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเรื่องของการใช้ยาเป็นเรื่องที่พูดได้เลยว่าเกี่ยวโยงกับความเป็นความตาย ยาดีก็ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยต่างๆ แต่ถ้ายาไม่ดีหรือใช้ยาผิดวิธี ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต   การจัดการยาก่อนถึงมือผู้บริโภค การควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัยของยา เป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะคอยดูตรวจสอบและให้ข้อมูลกับประชาชน ในเรื่องของยาที่อาจเป็นอันตราย ซึ่ง อย.เองก็มีหน้าที่ทั้งการพิจารณาตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตในการผลิต จำหน่าย หรือนำเข้า ยาชนิดต่างๆ ก่อนที่จะนำมาวางขายหรือใช้ในโรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคหรือผู้ป่วยที่ต้องใช้ตัวยานั้นๆ ในการรักษาโรค ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ อย.มีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้กับยาชนิดต่างๆ การเพิกถอนทะเบียนยาที่เห็นว่าเมื่อนำมาใช้แล้วอาจเป็นอันตรายก็เป็นหน้าที่ของ อย. ซึ่ง อย. จะพิจารณาทบทวนเพื่อทำการเพิกถอนทะเบียนยานั้นๆ พร้อมไปกับการสร้างระบบมาตรฐานยาคุณภาพให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งเมื่อ อย. ได้มีการสั่งเพิกยาถอนยาตัวใดก็ตาม อย.ก็จะประกาศรายชื่อยาเหล่านั้นเผยแพร่สู่สาธารณะ หน้าที่ของผู้บริโภคจึงต้องคอยติดตามข่าวสาร เป็นการสร้างข้อมูลเรื่องยาให้กับตัวเอง   การเพิกถอนทะเบียนยา การเพิกถอนทะเบียนยา ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้ออกคำสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือเป็นยาไม่มีคุณภาพไม่มีสรรพคุณตรงตามที่อ้าง หรือเมื่อใช้แล้วส่งผลร้ายกับร่างกายมากกว่าให้ผลในทางรักษาโรค หรือมีตัวยาใหม่ที่ให้ผลดีกว่า คณะกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา ก็จะนำตัวยาที่เห็นว่ามีปัญหาเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม จากนั้นเมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้มีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนยาตัวดังกล่าว ก็จะมีการออกเป็นคำสั่งกระทรวงให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนลงนามรับรอง ก่อนจะนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นอันครบถ้วนกระบวนความว่าตัวยานั้นๆ ได้กลายเป็นยาที่ถูกถอนทะเบียนออกจากระบบยาในประเทศ ห้ามขาย ห้ามผลิต ห้ามใช้ ใครฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย  แม้ขั้นตอนการถอนทะเบียนยาดูเหมือนจะมีไม่มาก แต่เมื่อมาดูถึงระยะเวลากว่าจะถึงในขั้นตอนสุดท้ายคือการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถดำเนินเอาผิดทางกฎหมายได้นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ลองมาดูตัวอย่างระยะเวลาการดำเนินการในการถอนทะเบียนยาที่ผ่านมาว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่  ตัวอย่างข้อมูลแสดงระยะเวลาการถอนทะเบียนยา   ชื่อยาที่ถอนทะเบียน สาเหตุ คำสั่งเลขที่ วันที่ประชุมคณะกรรมการยา วันที่ประกาศเป็นคำสั่งกระทรวง วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระยะเวลาตั้งแต่ประชุมถึงวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยาสูตรผสมของยามีแธนดีโนน (Methandienone) กับ ยาไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) สูตรยาไม่เหมาะสม เมื่อนำไปใช้ในเด็กอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 736/2552 14 พฤษภาคม 2551 5 มิถุนายน 2552 31 สิงหาคม 2552 475 วัน ยาคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง สงบประสาทเป็นยานอนหลับและเสพติดได้ 547/2552 20 พฤศจิกายน 2551 23 เมษายน 2552 19 มิถุนายน 2552 212 วัน ยาผสมสูตรเมโธคาร์บามอล (Methocarbamol) และอินโดเมธาซิน (Indomethacin) ชนิดรับประทาน ไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้ยา 848/2552 11 กุมภาพันธ์ 2552 2 กรกฎาคม 2552 24 สิงหาคม 2552 195 วัน ยาคาสคารา ซากราดา (Cascara sagrada) เสี่ยงอันตรายจากสารที่เป็นส่วนประกอบ 859/2552 11 กุมภาพันธ์ 2552 2 กรกฎาคม 2552 19 มิถุนายน 2552 129 วัน *ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนรัฐมนตรีลงนาม ยาคลอร์ซ็อกซาโซน (Chlorzoxazone) ไม่มีประสิทธิผลในการคลายกล้ามเนื้อตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเป็นพิษต่อตับ 1115/2552 8 เมษายน 2552 20 สิงหาคม 2552 26 มีนาคม 2553 353 วัน ยาฟีโนเวอรีน (Fenoverine) ตัวยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ เซลล์กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็ง (rhabdomyolysis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 1421/2552 12 มิถุนายน 2552 30 กันยายน 2552 21 กรกฎาคม 2553 405 วัน ยาฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) และแซนโตนิน (Santonin) | อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ยา โดยฟีนอล์ฟธาลีน เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกขจัดออกอย่างช้า ๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปฏิกิริยาที่ผิวหนัง และระดับโปแตสเซียมต่ำ เป็นต้น แซนโตนิน มีฤทธิ์เพิ่มพิษต่อระบบประสาท (neurotoxic) และมีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแม้ใช้ในขนาดต่ำ 985/2553 12 มิถุนายน 2552 20 พฤษภาคม 2553 23 มิถุนายน 2553 377 วัน ฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว และร่างกายของคนจะขจัดยาออกอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา 1923/2553 12 มิถุนายน 2552 19 ตุลาคม 2553 30 พฤศจิกายน 2553 537 วัน ยาโรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone) อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด 447/2554 22 ธันวาคม 2553 4 เมษายน 2554 18 พฤษภาคม 2554 148 วัน อีนาลาพริล มาลีเอท (Enalapril maleate) ยา Paril 5 เลขทะเบียน 1C 173/51 และยา Paril 20 เลขทะเบียน 1C 174/51 มีปริมาณตัวยาสำคัญ คือ อีนาลาพริล มาลีเอท (Enalapril maleate) ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เกินกว่าร้อยละยี่สิบ เข้าข่ายเป็นยาปลอม 462/2554 22 ธันวาคม 2553 4 เมษายน 2554 8 มิถุนายน 2554 169 วัน ยาน้ำตราบีเวลล์ ตรวจพบตัวยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาควบคุมพิเศษผสมอยู่ ยาดังกล่าวจึงไม่ใช่ยาแผนโบราณตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้และเป็นยาที่ไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ เข้าข่ายเป็นยาปลอม 506/2554 23 กันยายน 2553 12 เมษายน 2554 8 มิถุนายน 2554 259 วัน     ซึ่งหลังจากมีการลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบว่าควรเพิกถอนตัวยาดังกล่าว จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ผลิตหรือนำเข้ายาที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายตัวดังกล่าว ต้องหยุดการผลิตและเก็บสินค้าที่ได้ส่งไปวางขายตามร้านหรือสถานพยาบาลต่างๆ ให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะเมื่อถึงในขั้นตอนนี้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหากพบว่ายังมีการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งอยู่ แต่หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วผู้ผลิตยาที่ถูกคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนก็ยังสามารถยื่นคำโต้แย้งไปยังศาลปกครองได้อีกภายใน 90 วัน ซึ่งช่วงระยะเวลาหลังจากคณะกรรมการยาพิจารณาเห็นชอบให้มีการถอนทะเบียนยาที่เห็นว่าอาจจะเป็นอันตราย ไปจนถึงการรอให้รัฐมนตรีฯ ลงนามรับรอง เพื่อแจ้งให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายานั้นๆ ดำเนินการตามคำสั่งของกระทรวงนั้น เป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยาตัวที่เป็นปัญหา เพราะยาดังกล่าวยังคงมีอยู่ในท้องตลาด หากผู้ใช้ยาไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ขาดความรู้เรื่องข้อมูลยา ก็อาจหลงใช้ยาดังกล่าวจนเกิดอันตราย แม้แต่แพทย์ เภสัชกร ที่ไม่ทราบข้อมูลหรือนิ่งนอนใจรอการประกาศอย่างเป็นทางการหรือรอการดำเนินการจากผู้ผลิตยา ก็อาจสั่งจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วย   การเพิกถอนทะเบียนตำรับยานั้น เป็นไปในลักษณะที่ตรวจสอบทบทวนตำรับยาทั้งยาใหม่ที่รอการขึ้นทะเบียน และยาเก่าที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งการทบทวนทะเบียนยานั้นต้องทำในลักษณะต่อเนื่อง โดยต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะ ประเมินดูสถานการณ์การใช้ยาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งหมดก็เพื่อการใช้ยามีความปลอดภัยมากที่สุด   ------------------------------------------------------------------------------------------ การถอนทะเบียนยาโดยภาคประชาชน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ชมรมเภสัชชนบท ร่วมกับกลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มเภสัชกรภาคกลาง มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพิกถอนทะเบียนตำรับยา 4 รายการ คือ 1.ยาแอสไพรินชนิดผง 75-375 มก. 2.ยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ยาขับปัสสาวะที่มี Methylene blue เป็นส่วนประกอบ 3.ยาแก้ท้องเสียที่มี Furazolidone และ/หรือมียาปฏิชีวานะเป็นส่วนประกอบ และ 4.ยา Amoxycillin powder 125 มก.ชนิดซอง เพราะเห็นว่าเป็นยาที่มีความไม่เหมาะสม อาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้ แต่ยังพบเห็นยาดังกล่าวมีจำหน่ายทั้งในร้านยาและร้านขายของชำเป็นจำนวนมาก ------------------------------------------------------------------------------------------   สามารถตรวจสอบรายชื่อตำรับยาที่ถูกเพิกทอนทะเบียนทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของ อย. http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/law010.asp ------------------------------------------------------------------------------------------ ขณะนี้มียาที่รอการทบทวนอยู่ทั้งหมดถึง 50 รายการ จากการประชุมของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ซึ่งทาง อย. ตั้งใจให้มีการทบทวนยาทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในปี 2556 (หนึ่งในนั้นมียาที่มีส่วนผสมของ Methylene blue ที่ภาคประชาชนเสนอให้มีการทบทวนรวมอยู่ด้วย) ------------------------------------------------------------------------------------------   การรู้และเข้าถึงข้อมูลยา...ปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค  เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าตกใจ ที่คนไทยเรายังเข้าถึงข้อมูลของยาต่างๆ ในระดับที่น้อยถึงน้อยมาก นั่นเป็นเพราะคนไทยเราค่อนข้างให้ความเชื่อถือในตัวสถานพยาบาล ตัวบุคลากร ซึ่งก็คือแพทย์ และเภสัชกร ว่าสามารถรักษาและดูแลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยได้เป็นอย่างดี ทำให้หลายคนมองข้ามที่จะศึกษาข้อมูลยาต่างๆ ที่ใช้อยู่หรือได้เวลาไปพบแพทย์ ซึ่งหากใช้แล้วอาการดีขึ้นหรือรักษาโรคให้หายได้ก็คงไม่มีปัญหา แต่หากเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือกินยาแล้วกลับเจ็บป่วยมากกว่าเดิม ได้โรคเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งก็สายไปแล้วที่จะแก้ไข การรู้จักหรือเข้าถึงข้อมูลของยาที่ใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คำถามที่ตามมาคือแล้วผู้บริโภคธรรมดาๆ จะเข้าถึงข้อมูลยาได้ด้วยวิธีไหน ข้อมูลยาพื้นฐานที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็คือ ข้อมูลบนฉลากยาและเอกสารกำกับยา ซึ่งต้องมีมาพร้อมกับยาที่เราซื้อมาใช้ หากไม่มีข้อมูลบนฉลากหรือเอกสารกำกับยาแนบมาให้ ก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าซื้อมาใช้ ถ้าเป็นยาที่เราได้รับจากแพทย์ที่เราไปรับการรักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ ที่มักจะจัดยามาเป็นชุด บรรจุอยู่ในซองยา ไม่ได้มีฉลากหรือเอกสารใดๆ แนบมา ผู้ที่รับยาก็ต้องสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลของยา วิธีการใช้ยา ให้เข้าใจครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง  แม้อาจจะมีอุปสรรคเรื่องภาษา ด้วยว่ายาที่เราใช้กันอยู่เป็นยาฝรั่ง นำเข้าหรือมีการผลิตคิดค้นในต่างประเทศ ชื่อสามัญทางยาชื่อจึงเป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ แถมยังเป็นคำศัพท์เฉพาะทาง อ่านยาก จดจำยาก แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราที่อาจต้องใช้ความพยายามสักหน่อยในการทำความเข้าใจ ก็เพื่อความความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวเราเอง  การเข้าถึงข้อมูลยาจึงมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย เป็นข้อมูลสำคัญในการรักษาโรค โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเรารู้ชื่อสามัญทางยา ไม่ยึดติดอยู่กับชื่อทางการค้าหรือชื่อยี่ห้อ ก็อาจช่วยให้เราได้ใช้ยาในราคาที่ถูกลง  นอกจากปัญหาที่คนขาดความสนใจ และขาดช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลยาแล้ว อีกหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลยาที่น่ากังวลไม่แพ้กันก็คือ การรับข้อมูลยาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้ง ทีวี เคเบิ้ลท้องถิ่น วิทยุชุมชน และตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อมุงหวังทางธุรกิจ คือเป็นการอวดอ้างสรรพคุณในทางรักษาโรคเกินจริง ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างมาก แม้ส่วนมากจะเป็นในลักษณะของอาหารเสริมแต่อ้างผลในการรักษาโรค สร้างความสับสันให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แถมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จะอ้างเรื่องการรับรองจาก อย. ทำให้ผู้บริโภควางใจหาซื้อมารับประทาน จนเกิดผลร้ายกับร่างกายอย่างที่เคยปรากฏเป็นข่าวหรือที่เคยมีการบันทึกเอาไว้ เช่น กรณีของคุณยายวัยหกสิบกว่าคนหนึ่งที่ทานผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวและกวาวเครือแดงอัดแคปซูลที่สั่งซื้อมาหลังจากได้ยินประกาศโฆษณาทางวิทยุว่ากินแล้ว บำรุงสมอง บำรุงประสาท เสริมสมรรถภาพทางเพศ โดยกินนติดต่อกันมาเป็นเวลาเดือนกว่าๆ ก็ปรากฏว่ามีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดของคุณยายติดต่อกันถึง 14 วัน เมื่อมาหาหมอ พบว่าเกิดความผิดปกติที่ผนังมดลูก ต้องรักษาด้วยการขูดผนังมดลูก สาเหตุน่าจะมาจากการได้รับสาร Phytoestrogen ที่อยู่ในกวาวเครือมากเกินไป โดยตัวคุณยายแกก็บอกว่าเห็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ผ่าน อย. แล้ว ไม่น่าจะมีอันตราย  ซึ่งนี้ก็เป็นเพราะผู้บริโภคขาดความรู้ในเรื่องข้อมูลยา ไม่รู้ถึงสารที่อยู่ในตัวยา ไม่รู้สรรพคุณที่แท้จริง ไม่รู้ว่าตัวยาดังกล่าวมีความจำเป็นต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน แถมยังถูกป้อนข้อมูลที่ผิดๆ ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบพัฒนาระบบและวิธีการที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงและตระหนักในการรับรู้ข้อมูลยาให้มากขึ้น รวมถึงการเฝ้าระวังการโฆษณาที่มีผลต่อการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือมุ่งหวังแต่ผลทางการค้าเพียงอย่างเดียว ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องสร้างทัศนคติเรื่องการใหม่ในการใช้ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ใช้ยาอย่างระมัดระวัง ให้คิดเสมอว่าการใช้ยาก็อาจให้โทษได้เช่นกัน และโทษของการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือผิดวิธีนั่นร้ายแรงมาก ซึ่งคนที่รับผลนั่นก็คือสุขภาพร่างกายของเราเอง  ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย  1.รู้จักยาที่จะใช้ ไม่ว่ายานั้นจะได้มาจากการจ่ายยาของแพทย์ หรือผู้ป่วยหาซื้อเองจากร้านขายยา สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ใช้ยาต้องศึกษายาที่จะใช้ให้ดีว่ามีความปลอดภัย เหมาะสม ถูกต้องตรงตามอาการป่วยที่เราต้องการรักษา  ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับยาที่ควรรู้ ก็คือ  -ชื่อสามัญทางยา การรู้จักชื่อสามัญทางยามีประโยชน์ เพราะเราจะสามารถทราบได้ว่ายาที่เราใช้ คือยาอะไร ตัวเรามีประวัติการแพ้ยาตัวนี้หรือไม่ หรือหากกำลังใช้ยาตัวนี้อยู่แล้วจะได้แจ้งกับแพทย์ที่จ่ายยาป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งปกติยาที่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายจะต้องมีการแจ้งชื่อสามัญทางยาไว้ในเอกสารกำกับยา หรือถ้าเป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรก็ต้องมีการเขียนแจ้งไว้ที่หน้าซองที่ใช้บรรจุยา  -เมื่อรู้จักชื่อสามัญทางยาแล้ว ก็ต้องรู้จักชื่อทางการค้าด้วย เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญหากพบว่าใช้ยาตัวดังกล่าวแล้วเกิดอันตราย -ลักษณะทางกายภาพของยา ทั้ง สี กลิ่น รูปร่าง เพราะหากวันหนึ่ง ยาตัวดังกล่าวเกิดมีลักษณะทางกายภาพผิดแปลก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้หยุดใช้ยาตัวดังกล่าว เพราะการที่ยาเปลี่ยนแปลงลักษณะอาจเป็นสัญญาณบอกว่าชนิดนี้อาจเป็นอันตรายได้  -ข้อกำหนดในการใช้ยา ขนาดและวิธีใช้ ว่าต้องรับประทานในปริมาณเท่าไหร่ ทานเมื่อไหร่ อย่างไร และยาที่ทานอยู่สามารถทานได้นานแค่ไหน ไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลาเท่าไหร่  -ต้องรู้ว่าในสถานการณ์ใดที่ควรหยุดใช้ยา เช่น ใช้ยาแล้วแสดงอาการไม่พึงประสงค์ หรือเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งควรแจ้งลักษณะอาการด้วย เช่น ใจสั่น ปวดท้อง ฯลฯ  -คำเตือนและข้อห้ามในการใช้ยา  -ผลข้างเคียงของการใช้  -วิธีการเก็บรักษายา 2.อ่านฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  ทำความเข้าใจยาที่จะใช้อย่างถูกต้องครบถ้วน หากอ่านฉลากหรือเอกสารกำกับยาแล้วยงมีส่วนที่สงสัยให้ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือสอบถามไปที่ อย.  3.ต้องให้ข้อมูลกับแพทย์ เภสัชกร หรือคนที่มีหน้าที่จ่ายยาให้กับเราให้มากที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประวัติการแพ้ยา ข้อกำจัดในการใช้ยา เช่น รับประทานยาแคปซูลไม่ได้ หรือปกติต้องทำงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูงต้องหลีกเลี่ยงยาที่รับประทานแล้วทำให้เกิดอาการง่วงนอน รวมทั้งหากในตอนนั้นมีการใช้ยาตัวอื่นหรือรับประทานอาหารเสริมอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วยก็ต้องแจ้งให้กับผู้ที่จ่ายยาทราบ ที่สำคัญคือคือตัวเราเองมีข้อสงสัยในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ยาต้องสอบถามให้เข้าใจก่อนใช้ยา  4.สอบถามถึงสาเหตุที่จะทำให้ปฏิกิริยาจากการใช้ยา  ต้องสอบถามกับแพทย์ เภสัชกร หรือคนที่มีหน้าที่จ่ายยาให้กับเรา ว่ายาที่เรารับประทานนั้นจะมีปฏิกิริยากับอาหาร อาหารเสริม หรือยาตัวอื่นๆ ที่เรารับประทานอยู่หรือไม่ อย่างไร แล้วหากทำปฏิกิริยากันจะแสดงอาการอย่างไร มีผลเสียหรือไม่ ต้องหยุดรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่หรือไม่  5.ต้องคอยสังเกตดูผลจากการใช้ยาและอาการข้างเคียง  หากเกิดอาการใดๆ ที่รู้สึกผิดปกติระหว่างใช้ยา ต้องปรึกษาแพทย์ทันที และควรมีข้อมูลการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา  ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ข้อมูลประกอบบทความ : ยาวิพากษ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 กันยายน 2553, แผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยาวิพากษ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 9 เมษายน 2554, แผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสิทธิผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา, ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ การใช้ยาอย่างปลอดภัย, กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน), มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และคณะศูนย์ข้อมูลยาปลอมและยาลักลอบนำเข้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาhttp://wwwapp1.fda.moph.go.th/counterfeit/public/index.aspxสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาhttp://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/law010.asp  

อ่านเพิ่มเติม >