ฉบับที่ 276 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ตำรวจไซเบอร์ แนะวิธีสังเกตเพจหลอกจองที่พัก ขายของออนไลน์        ตำรวจไซเบอร์ระบุ  ปัจจุบันมีผู้เสียหายจำนวนมากจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในออนไลน์ ทั้งการใช้วิธีการสร้างเพจปลอมเป็นโรงแรมที่พักหรือการขายของออนไลน์หลอกลวงประชาชน จากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 – 28 มิ.ย. 66 พบว่า มีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการมากถึง 108,383 ครั้ง         ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) จึงแนะนำวิธีการสังเกตเพจปลอมต่างๆ ดังนี้             1. เพจต้องได้รับยืนยันเครื่องหมายรับรองตัวตน (Verified badge)             2.ตรวจสอบรายละเอียดเพจได้ วันที่สร้างเพจ เคยเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่? หากเพจสร้างขึ้นมาไม่นานแต่มีการเปลี่ยนชื่อเพจเสี่ยงต่อการเป็นเพจปลอม             3. ยอดผู้กดถูกใจโพสต์ เนื่องจากเพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อย มิจฉาชีพมักสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ มองผ่านๆ จะคล้ายจำนวนผู้ติดตามจริง            4. ชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ มิจฉาชีพมักทำเลียนแบบหากไม่สังเกตอาจทำให้ถูกหลอกลวง              5. โพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ จำนวนคนกดถูกใจ คอมเมนต์ จะมีการโต้ตอบน้อย และคอมเมนต์เชิงตำหนิ เช่น สั่งสินค้าไปไม่ได้รับของเลย             6. สังเกตที่ URL ของ มักเป็นคำแปลกๆ ไม่มีความหมาย พบข้อมูลคนไทยโดนประกาศขายดาร์กเว็บ 20 กว่าล้านบัญชี        จากกรณี Resecurity บริษัทความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รายงานว่าเมื่อเดือนมกราคม ปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีข้อมูลของคนไทยรั่วไหลและถูกนำมาประกาศขายในบนเว็บไซต์ข้อมูลผิดกฎหมายกว่า 27 ล้านบัญชี โดยกลุ่มข้อมูลที่มาจากกรมกิจการผู้สูงอายุ รั่วไหลมากถึง 19.7 ล้านบัญชีนั้น         นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวว่า สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ตรวจพบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ แล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุให้รับทราบถึงกรณีข้อมูลของหน่วยงานรั่วไหลเกือบ 20 ล้านบัญชี แต่ยังหาสาเหตุของการรั่วไหลไม่ได้ ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้เตรียมเข้าตรวจสอบเกี่ยวกับลักษณะการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวแล้ว  สั่งค่ายมือถือ “ระงับซิมไม่ยืนยันตัวตน” กรณีมีเกิน 100 เบอร์         จากกรณีที่ กสทช. ได้ออกมาตรการบังคับใช้ เมื่อ 16 มกราคม 2567 สำหรับผู้ที่ใช้บริการซิมมือถือต้องทำการยืนยันตัวตนตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้กับผู้ที่ถือซิม 6-100 เบอร์ ต้องยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และ 101 หมายขึ้นไป ภายใน 30 วันนั้น         15 กุมภาพันธ์ 2567  กสทช. ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงบริษัทผู้ให้บริการ ถึงมาตรการยืนยันตัวตนของซิมการ์ด  และข้อมูลการใช้บริการของผู้ถือครองซิม หลังพ้นกำหนดระยะเวลายืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครอง 101 เบอร์ ขึ้นไป ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กสทช. จึงได้มีคำสั่งเร่งรัดให้ค่ายมือถือ ดำเนินการตามเงื่อนไขระงับการใช้บริการรวมถึงการโทรออก ส่งข้อความ SMS และการใช้งานอินเทอร์เน็ต และจะอนุญาตเพียงเบอร์โทรฉุกเฉินเท่านั้น            “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” ไม่มีฉลากระวังอันตราย        หลังจากที่บนโลกออนไลน์มีการรีวิวขนม “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” อย่างมากมาย ทำให้เป็นขนมยอดฮิตในกลุ่มเด็กและคนทั่วไป จนมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และวางขายตามหน้าโรงเรียนเกลื่อน         ภก. เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบขนมเลียนแบบเยลลี่องุ่นที่มีจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี โดยมีการนำมารีวิวผ่านโซเชียลออนไลน์ ซึ่งลักษณะบรรจุในถุงคล้ายถุงมือยางหรือลูกโป่งลูกกลมๆ และมีวิธีการกินคือใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มให้ถุงแตกออกมาแล้วจึงนำมารับประทานได้ มีหลายรสชาติ แต่ไม่มีเลขอย. และฉลาก จึงขอเตือนว่า ไม่ควรซื้อมารับประทานเพราะอาจลักลอบนำเข้าหรือผลิตเพื่อขายในสถานที่ต่างๆ และไม่มีฉลาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวอาหาร อาจเสี่ยงได้รับสารอันตรายที่เป็นผลต่อสุขภาพได้ เช่น สี วัตถุกันเสีย วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด การบรรจุอาหารในถุงมือยางหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุอาหาร ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากผลิต นำเข้าเพื่อขายสถานที่ต่างๆ ไม่มีฉลาก มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  มพบ.เสนอการบินพลเรือนเร่งจัดการปัญหาเที่ยวบินเทผู้โดยสาร         หลังจากสายการบิน  Air Japan ได้มีการยกเลิกเที่ยวบิน NQ2 เส้นทางสุวรรณภูมิ - นาริตะ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เวลา 00.15 น.  ซึ่งเป็นการยกเลิกแบบกะทันหัน (ก่อนหน้ามีการดีเลย์กว่า 3 ชั่วโมง) หลังจากนั้นทางสายการบินได้รับผิดชอบผู้โดยสารเพียงแค่คืนค่าตั๋วเดินทาง แต่ไม่ได้ชดเชยเยียวยาความเสียหายในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าโรงแรมที่พักของผู้โดยสารที่ได้ทำการจองไว้อีกด้วย         23 กุมภาพันธ์ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ได้กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าวที่ให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยไปดำเนินการยื่นเรื่องเองกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นั้น ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของผู้โดยสาร เพราะสำนักงานการบินพลเรือน อยู่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งควรออกมาตรการกำหนดให้สายการบินจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นการผลักภาระให้ต้องไปเรียกร้องที่ สคบ. และการยกเลิกเที่ยวบินแล้วคืนเฉพาะค่าโดยสารถือเป็นการเอาเปรียบผู้โดยสารที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งสายการบินควรต้องชดเชยค่าใช้จ่ายที่เสียหายจริงทั้งหมด เช่น ค่าตั๋วใหม่ ค่าโรงแรม ค่ารถที่ได้ทำการจองไปแล้ว รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ         อีกประเด็น คือ ทางสายการบินมีเครื่องบินให้บริการเพียง 1 ลำ ถือเป็นเรื่องที่สำนักงานการบินพลเรือนต้องตรวจสอบรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ทั้งนี้ ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยเรียกร้องไปยังสำนักงานการบินพลเรือนให้ออกประกาศคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินในเส้นทางบินต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากยังไม่มีประกาศฉบับดังกล่าว แต่กลับไม่เป็นผล จนกระทั่งมาเกิดเหตุซ้ำซากแบบเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ฝากไว้ให้คิดการซื้อซิมมือถือจากร้านสะดวกซื้อ

        เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณเอนกได้แจ้งข้อความมาที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่ consumerthai.org ว่า ตนเองได้สั่งซื้อซิมทรูมูฟเอชจาก  7- 11 Dilivery สาขามวกเหล็ก-เขาใหญ่ ซึ่งซิมมือถือนั้น จะยังไม่สามารถใช้งานได้ หากไม่มีการลงทะเบียน         แต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คุณเอนกนำซิมที่ได้รับ ไปที่ร้านเซเว่นสาขาดังกล่าวเพื่อลงทะเบียน ปรากฏว่า พนักงานแจ้งว่า ซิมนี้ได้มีการลงทะเบียนแล้ว ขณะนั้นผู้ร้องไม่ได้นึกสงสัย เพราะคิดไป (เอง) ว่า คงเนื่องจากทางร้านค้าหรือ 7- 11 Dilivery อาจจะมีข้อมูลของผู้ร้องอยู่แล้วผ่านระบบ All Member จึงอำนวยความสะดวกโดยทำการลงทะเบียนให้เรียบร้อย พอคิดไปเช่นนั้นก็เลยทำให้เผลอประมาทไม่ได้ถามไถ่ให้เรียบร้อยว่าชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนนั้นเป็นชื่อของตนเองหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นชื่อตัวเองแล้วและทางพนักงานเซเว่นก็ไม่ได้ช่วยบอกอะไรนอกจากบอกว่า ซิมลงทะเบียนแล้ว ผู้ร้องจึงใช้ซิมดังกล่าวมาโดยตลอดกว่า 5 เดือน         จนเข้าตุลาคม 2564 ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่จึงโหลดแอพพลิเคชัน TRUE 4 U มาโดยแอพดังกล่าวเป็นแอพเฉพะสำหรับผูกกับเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะสามารถสะสมแต้มเพื่อแลกและลุ้นรางวัลต่างๆได้ คราวนี้เมื่อผู้ร้องเช็ครายละเอียดเจ้าของบัญชีปรากฏว่า อ้าว ! ไม่ใช่ชื่อเรานะที่เป็นผู้ลงทะเบียนซิมนี้ โดยชื่อผู้ลงทะเบียนกลายเป็นชื่อใครก็ไม่รู้ ที่คุณเอนกไม่รู้จัก เป็นเรื่องแล้วงานนี้        คุณเอนกจึงรีบไปที่เซเว่นสาขาที่ซื้อซิม  แต่ทางพนักงานบ่ายเบี่ยงไม่ตอบปัญหา ไม่แก้ปัญหา แจ้งให้ผู้ร้องไปติดต่อที่ศูนย์ทรูช้อปเอง ผู้ร้องจึงไปศูนย์ทรูสาขาเซนทรัล ปิ่นเกล้า เพื่อขอข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดให้พนักงานทราบ แต่ทางพนักงานไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ร้องได้เนื่องจากชื่อที่ใช้ลงทะเบียนไม่ได้เป็นชื่อผู้ร้อง โชคดีที่ผู้ร้องยังเก็บซองซิมไว้  จึงนำซองไปติดต่อเซเว่นอีกรอบเพื่อยืนยันว่าได้มีการซื้อซิมหมายเลขดังกล่าวจริง         คราวนี้พนักงานได้โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งว่าจะทำการติดต่อไปที่ศูนย์ทรูเพื่อระงับหมายเลขดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันซิมดังกล่าวก็ยังไม่ถูกระงับ ผู้ร้องจึงตัดสินใจจะไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการให้ทางร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางผู้ร้องแจ้งว่าขณะนี้กำลังเจรจากับทางร้านสะดวกซื้ออยู่ ที่ส่งเรื่องเข้ามาเพื่อให้ทางมูลนิธิฯ ได้นำเรื่องของตนมาเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น ให้รอบคอบอย่าเผลอคิดไปเองอย่างที่เกิดขึ้นกับตน  

อ่านเพิ่มเติม >