ฉบับที่ 111 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 255323 เมษายน 2553 จับจริง! เครื่องดื่มอวดอ้างสรรพคุณลดอ้วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวการตรวจจับผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มของเครื่องดื่มที่อวดอ้างสรรพคุณว่าดื่มแล้วสามารถลดน้ำหนักได้ ซึ่ง อย.ตรวจสอบแล้วพบมีความผิดหลายส่วนทั้งปลอมแปลงเลขสารบบอาหารของ อย. แสดงฉลากไม่ถูกต้อง แสดงสรรพคุณของส่วนประกอบที่ อย.ไม่อนุญาต ซึ่งมีผลทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ของกลางที่ตรวจยึดได้ประกอบด้วย ชามะนาวปรุงสำเร็จผสมคอลลาเจน ยี่ห้อ สลิมคัพ, โกโก้มอลต์ สูตรถั่วขาวและกระบองเพชร ยี่ห้อ ไวท์ เลเบิล, โกโก้ปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อ สลิมคัพ, กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อคิงส์คอฟฟี่พลัส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เข้าข่ายความผิดรวมทั้งหมด 21 รายการ มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท ซึ่งสินค้าของกลางทั้งหมดถูกตรวจยึดได้ที่ บริษัท บิ๊กเบนซ์ เฮลท์ โปรดักซ์ จำกัด เลขที่ 203/18 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. ----------------------------------------------------------------------------------------------------- 29 เมษายน 2553 สมอ.ปรับมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่สมอ. ประกาศยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เข็มขัดนิรภัยตาม มอก.721-2539 โดยได้ปรับปรุงมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่ตาม มอก.721-2551 เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ โดยใช้แนวทางตาม ECE Regulation ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ที่ยอมรับกันทั่วโลก มาตรฐานใหม่นี้ได้เพิ่มวิธีการทดสอบในการประกอบชิ้นส่วนเข็มขัดนิรภัยทั้งหมด ได้แก่ หัวเข็มขัด อุปกรณ์ปรับความยาว อุปกรณ์ยึด และอุปกรณ์ปรับความสูง มาทำการทดสอบโดยวิธีการจำลองการชนขณะเกิดอุบัติเหตุ มาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่นี้ จะมีผลให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ต้องปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่เท่านั้น โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.2554 เป็นต้นไป -------------------------------------------------------------------------------------- 30 เมษายน 2553 ผู้บริโภคไทยใส่ใจสิทธิมากขึ้นสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. เปิดเผยผลสำรวจเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น จากตัวเลขของผู้ร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5,041 ราย ในปี 2551 เป็น 6,266 ราย ในปี 2552 ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเป็นเรื่องของสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ร้อยละ 72.5 รองลงมาคือปัญหาจากบริการด้านรักษาพยาบาล ร้อยละ 58.5 ปัญหาจากบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และจานดาวเทียม ร้อยละ 39.4 และปัญหาจากการใช้สินค้าประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าและมือถือ ร้อยละ 36.2 ซึ่งปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ได้รับการดูแลเพียงร้อยละ 50.9 โดยได้รับการแก้ไขแล้วร้อยละ 38.4 ที่เหลือร้อยละ 12.5 อยู่ในระหว่างดำเนินการ ขณะที่ผู้บริโภคร้อยละ 77.6 มีความคิดเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในปัจจุบันมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคดี แต่อีกร้อยละ 22.4 มองว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งเสนอแนะว่าควรมีบทลงโทษที่เด็ดขาดกับผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้บริโภคถึงร้อยละ 89.2 ที่ประสบปัญหาแล้วไม่ร้องเรียน เพราะคิดว่าเสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งต้องช่วยรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้รักษาสิทธิของตนเอง ------------------------------------------------------------------------------------------------------ ทำงานหน้าคอมฯ นาน ระวังป่วยโรค “ซีวีเอส”กระทรวงสาธารณสุขเตือนผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสายตาและระบบกล้ามเนื้อ หรือที่เรียกกันว่าโรค “ซีวีเอส” โรคซีวีเอส (CVS:Computer Vision Syndrome)เป็นอาการป่วยที่กระทบต่อการทำงานของ ตา เนื่องจากใช้มองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งจะเกี่ยวกับท่านั่งขณะใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีที่มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆ เช่น โรคข้อ ระบบกล้ามเนื้อ มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้ค่อนข้างสูง หากใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ถูกวิธี นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง พบว่ามีเด็กสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น และมีอาการคอเคล็ด ปวดไหล่ ปวดข้อ ในบางคนจะเป็นระยะยาว สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางตา เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกิน 25 นาที และตั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับระดับไม่เหมาะสมกับสายตา หรือวางเม้าท์ที่ไม่ได้ระดับกับแขน ความสว่างของไฟ การนั่งเป็นเวลานาน ในการป้องกันปัญหาทางสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ ควรกะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้าง หรือใช้วิธีมองวิวนอกหน้าต่าง มุมห้อง หรือไปเดินเล่น หลังจากมีอาการเมื่อยล้า ปวดหัว ซึ่งเกิดจากการเครียด ปวดที่ไหล่ ข้อมือ หลัง ขา ซึ่งเป็นอาการทางระบบกล้ามเนื้อและข้อ ต้องไปพบแพทย์ การรักษาจะต้องใช้เวลานานต่อเนื่อง บางรายอาจต้องใช้ยากิน ยาหยอดตา เช่น น้ำตาเทียม บางรายต้องใช้กายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย----------------------------------------------------------------------------------------- สมัชชาผู้บริโภค เดินเครื่องนโยบาย 6 ประเด็นสิทธิผู้บริโภค ปูทางสู่องค์การอิสระฯการประชุมสมัชชาผู้บริโภค “บทบาทผู้บริโภคต่อวิกฤต การเมืองในปัจจุบัน” เรื่อง “เงินทองของเรา สิทธิของใคร (Your Money Your Rights) 10 บาท...เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย. 53 ณ โรงแรมริชมอนด์ ถือเป็นการประชุมที่เหล่าองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคหลากหลายหน่วยงาน ร่วมกันผลักดันข้อเสนอในประเด็นสิทธิผู้บริโภคที่หลากหลายที่สุด เป็นเหมือนการจำลอง “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ในการให้ความเห็นและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่อประเด็นต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6 ประเด็น เพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจและร่วมกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนองค์การอิสระผู้บริโภค พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระผู้บริโภคตามมาตรา 61 เพื่อสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคได้ทำหน้าที่และบทบาทในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จากการประชุมทั้ง 6 ประเด็นนั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจดังนี้ กรณี 3 จี มีการเรียกร้องให้ทบทวนการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการประมูล คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต้องกระจายเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วทั้งประเทศ กำหนดราคาและคุณภาพของผู้ประมูลให้ถูกต้องเหมาะสม ส่วนกรณีความเห็นการจัดการเรื่อง แร่ใยหิน (Asbestos) เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกการผลิตการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี กรณีนโยบาย ความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ให้ตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุเพิ่มเติมจากที่รัฐเคยอุดหนุน โดยแหล่งเงินมาจากค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับผู้กระทำผิดของบริษัทขนส่ง รวมถึงภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมทั้งเสนอให้ลดอายุใบอนุญาตผู้ประกอบการเหลือ 3-5 ปีจากเดิม 7 ปี สร้างระบบอาสาสมัครเฝ้าระวังการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และขึ้นบัญชีผู้ให้บริการที่กระทำผิดซ้ำซากโดยไม่มีการแก้ไข ด้านนโยบาย ความปลอดภัยด้านอาหาร ต้องมีองค์การอิสระหรือตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมในกลไกการควบคุมมาตรการต่างๆ ส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคผ่านการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่ผลิตอาหารปลอดภัยให้มีบทบาทในตลาดอาหารของประเทศมากยิ่งขึ้น กรณีข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... สร้างกลไกสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมที่เป็นอิสระโดยให้ กสทช.จัดสรรงบประมาณ ให้กองทุนสื่อเพิ่มบทบาทเรื่องการให้ความรู้ที่ชัดเจนเรื่องการใช้สื่ออย่างปลอดภัย และสุดท้าย กรณีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ เสนอให้ตั้งศูนย์ประสานงานซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากรัฐและเอกชนในการเป็นแหล่งรวบรวมปัญหาเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในประเด็นต่างๆ ทั้งโฆษณาแฝง sms การจัดเรตติ้ง

อ่านเพิ่มเติม >