ฉบับที่ 273 ซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่คิดได้ว่าไม่สะดวกใจยกเลิกได้นะ

        ใครไม่เคยโดนบอกขายประกันทางโทรศัพท์บ้าง น่าจะน้อยคนนะยิ่งใกล้สิ้นปีนี้จะมากันเรื่อยๆ หวังปิดยอดการขาย ผู้บริโภคหากมีอาการเผอเรอคิดไม่ทันแล้วรับปากทำประกันทางโทรศัพท์ไป มันมีวิธีบอกเลิกอยู่นะ         คุณดวงพร ได้ตกปากซื้อประกันภัยรถยนต์กับนายหน้าไปในข้อตกลงที่ระบุเบี้ยประกัน 5 แสนบาท สามารถซ่อมศูนย์ได้ทั่วประเทศ ตอนที่ตัดสินใจทำประกันก็คิดว่ามันมีประโยชน์นะ ทว่าผ่านมาหลายวันเริ่มพบความจริงว่าเราอาจจะมีปัญหาถ้าทำประกันนี้เลยอยากยกเลิก แต่พอโทรศัพ์ไปที่บริษัทประกันภัยที่เป็นคู่สัญญา พบว่าไม่ง่าย คำตอบที่ได้รับคือ “คุณลูกค้าต้องรอให้ได้รับเล่มกรมธรรม์ก่อน” ก็ไม่อยากรออยากยกเลิก ทำไมต้องรอ ยิ่งพบว่า บัตรเครดิตของตนเองถูกเรียกเก็บเงินประกันงวดแรกไปแล้วด้วย คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย ทำให้ต้องโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ช่วยทีค่ะ ทำอะไรได้บ้างไหม”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากซักถามเหตุต่างๆ ที่คุณดวงพรประสบ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ สงสัยว่าเหตุใดบริษัทประกันถึงเข้าถึงการตัดบัตรเครดิตได้แบบทันที คุณดวงพรแจ้งว่า นายหน้าที่มาขายประกันตนนั้นไม่ได้บอกว่ามาจากบริษัทประกันภัยแต่อ้างว่ามาจากบริษัทรถที่คุณดวงพรเป็นเจ้าของ เลยไม่สงสัยแล้วบอกเลขหน้าบัตรเครดิตและวันหมดอายุไปให้กับนายหน้าคนนั้น รู้ตัวอีกทีก็มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันงวดแรกแล้ว “พยายามติดต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครรับสายเลยหลังจากที่ได้รับคำตอบครั้งแรกที่ให้รอเล่มกรมธรรม์”         เมื่อได้ฟังที่มาที่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตามกฎหมายนั้น ผู้บริโภคที่อาจเผลอตกลงทำสัญญาซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่ต้องการบอกเลิกภายหลัง ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกหรือยกเลิกสัญญาได้ “หากยังไม่ได้รับกรมธรรม์หรือไม่พึงพอใจสามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา แต่หากได้รับกรมธรรม์มาแล้ว ก็ยังสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมแนบกรมธรรม์ประกันชีวิตส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนกลับไปยังบริษัทผู้เอาประกันภัย หรือแม้แต่ในกรณีแบบคุณดวงพรที่ถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแม้แต่ชำระเป็นเงินสด ก็ให้แนบสำเนาบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิต ซึ่งบริษัทประกันต้องคืนเงินทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หากบริษัทเพิกเฉย สามารถร้องเรียนได้ที่ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ. หรือ สายด่วน 1186         ต่อมาทราบจากคุณดวงพรหลังจากได้ทำตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า บริษัทฯ ได้คืนเงินให้ครบถ้วนแล้วขอยุติเรื่องร้องเรียน         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะต้องเผชิญกับการขายประกันทางโทรศัพท์ หากไม่สนใจสามารถปฏิเสธได้ทันทีโดยวางสายได้เลย บริษัทประกันภัยดังกล่าวจะไม่สามารถมาติดต่อขายประกันได้อีกภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ถูกปฏิเสธ ถ้ายังถูกรบกวนสามารถแจ้งร้องเรียนพฤติกรรมของนายหน้าได้ที่ สายด่วน 1186 และอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ หากถูกตื้อทำประกันทางโทรศัพท์ จงจำไว้ว่า อย่าปัดความรำคาญด้วยคำว่า "ตกลง" หรือ คำว่า “สนใจ” เพราะเสียงของผู้บริโภคที่ถูกบันทึกไว้จะถูกเอาไปเป็นหลักฐานการยืนยัน โดยถือว่า “สัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว” ดังนั้นหากไม่อยากเกิดปัญหาขอให้ยืนยันคำเดียวง่ายๆ ว่า “ไม่สนใจ” วางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 258 โทรมาชวนให้ทำประกันฟรี แต่เรียกเก็บค่าเบี้ยตอนหลัง

        การทำประกันภัยในรูปแบบต่างๆ ถ้าผู้บริโภคไม่พอใจเงื่อนไขในกรมธรรม์ก็สามารถขอยกเลิกได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เพื่อไม่ให้ต้องเสียเงิน เวลา และสุขภาพจิตโดยใช่เหตุ ผู้บริโภคควรศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดของกรมธรรม์นั้นๆ ให้รอบคอบก่อนตอบตกลง หรือถ้ามีตัวแทนประกันโทรศัพท์มาชักชวนให้ทำประกันอุบัติเหตุโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย อยากให้เอะใจสักนิด จะได้ไม่โดนหลอกเหมือนคุณพร         เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง คุณพรได้รับโทรศัพท์จากคุณอ้อม ที่แนะนำตัวว่าเป็นตัวแทนขายประกันที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จากบริษัทตัวแทนซึ่งเป็นนายหน้าของบริษัทประกันภัยชื่อดัง เธอโทร.มาแนะนำกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล แบบพิเศษพลัส โดยแจ้งว่าเป็นโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตของธนาคารที่คุณพรเป็นลูกค้าอยู่ คุณพรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด พร้อมชี้แจงว่าเป็นประกันอุบัติเหตุที่ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล มีค่ารักษาพยาบาลอุบัติเหตุจ่ายตามจริงครั้งละไม่เกิน 40,000 บาท หากเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้รับเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท พอฟังจบ คุณพรก็ตอบตกลงไป         คุณพรมารู้ตัวว่าโดนหลอกซะแล้ว เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุฉบับนี้พร้อมกับใบเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันปีละ 9,834 บาท จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หากตนจะขอยกเลิกกรมธรรม์นี้โดยไม่ให้เสียเปรียบผู้ประกอบการนั้นจะทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณพรต้องทำเรื่องขอยกเลิกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์มา โดยจะต้องทำเป็นหนังสือหรือจดหมายแบบลงทะเบียนตอบรับ พร้อมทั้งแนบสัญญากรมธรรม์นี้ ส่งไปถึงบริษัทประกันภัยที่เป็นคู่กรณี จากนั้นให้ทำสำเนาจดหมายขอยกเลิกสัญญานี้ส่งถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคปภ.ด้วย เมื่อทางบริษัทประกันภัยได้รับหนังสือแล้วจะต้องยกเลิกสัญญากรมธรรม์ให้คุณพรภายใน 30 วัน หากครบกำหนดแล้วบริษัทฯ ยังไม่ยอมยกเลิกสัญญาให้ คุณพรสามารถทำเรื่องร้องเรียนไปยัง คปภ.หรือสายด่วน 1186 ได้ทันที เพื่อให้ทาง คปภ.ดำเนินเรื่องให้ต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 หลงกลลวงให้ซื้อประกันทางโทรศัพท์

        หากมีใครโทรศัพท์มาชวนคุยเรื่องทำประกัน ถ้าคุณไม่ได้มีแผนจะทำประกันแล้วล่ะก็...ขอแนะนำให้บอกปัดไปเลย ไม่ต้องฟัง เพราะไม่อย่างนั้นอาจโดนคารมนายหน้าขายประกันใช้เทคนิคทำทีเป็นโทรมาสอบถามข้อมูลแล้วให้พูดตาม หรือพูดหว่านล้อมให้คุณตอบ “ตกลง”  โดยกว่าจะรู้ตัวอีกที เงินก็ถูกหักจากบัตรเครดิตไปซื้อประกันนั้นซะแล้ว         คุณทิพวรรณก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกมัดมือชกให้ซื้อประกันทางโทรศัพท์แบบเนียนๆ เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนขายประกันได้โทรศัพท์มาเสนอสิทธิพิเศษบัตร X ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเธอหลายอย่าง ซึ่งเธอเองก็ตอบยืนยันเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของตนไปเท่านั้น ไม่ได้ตอบตกลงทำประกันตามที่ตัวแทนเสนอมาแต่อย่างใด         จู่ๆ วันหนึ่ง คุณทิพวรรณพบว่า อ้าว...เงินในบัญชีถูกหักไป 397 บาท เพื่อชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าว เธอจึงเพิ่งมารู้ว่าที่พูดคุยทางโทรศัพท์กับตัวแทนประกันวันนั้น กลายเป็นว่าเธอตอบตกลงซื้อประกันไปโดยไม่รู้ตัวเลย เธอรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว  และน่าจะเข้าข่ายการกระทำที่หลอกลวงผู้บริโภค เธอต้องการจะยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นและทวงเงินค่าเบี้ยประกันคืนมาด้วย จึงได้ส่งอีเมลเล่าเรื่องราวกลลวงขายประกันทางโทรศัพท์นี้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้คุณทิพวรรณทำจดหมายยกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน ส่งเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับไปยังบริษัทประกันภัยคู่กรณี และทำจดหมายปฎิเสธการชำระหนี้ไปยังธนาคารเพื่อแจ้งเรื่องการยกเลิก พร้อมสำเนาจดหมายยกเลิกไปด้วย และเมื่อบริษัทประกันยกเลิกกรรมธรรม์แล้ว ก็จะต้องคืนเงินให้แก่คุณทิพวรรณคืน         อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีการป้องกันเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม คือเมื่อมีสายโทรศัพท์เข้ามาชักชวนให้ซื้อประกัน หากคุณไม่ได้สนใจจริงๆ ก็ไม่ต้องฟัง ให้บอกไปว่าอาจบอกไปเลยว่าไม่มีเงินทำ เป็นหนี้เยอะมาก หรือตกงานอยู่ แล้วขอวางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 เบาะกันกระแทก (2)

        มาว่ากันต่อเกี่ยวกับประกันภัยอุบัติเหตุ (Personal Accident Insurance) หรือที่มักเรียกกันว่าพีเอ เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องเคยเจอสถานการณ์ที่บริษัทประกันโทรหา (เอาเบอร์โทรของเรามาจากไหน?) เพื่อเสนอขายประกันให้ บางคนตัดบทปฏิเสธ บางคนเคลิ้มตอบตกลง         การซื้อประกันอุบัติเหตุ (และประกันชนิดอื่นๆ) ไม่ควรใจร้อน มันมีหลายเรื่องที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเรา ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แยกประกันอุบัติเหตุออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดยแบบแรกจะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง-การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และการรักษาพยาบาล         ส่วนแบบที่ 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจากแบบแรกคือรวมเรื่องการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน         แต่ถ้าจะเลือกประกันอุบัติเหตุที่เหมาะกับตัวคุณก็มีหลายเรื่องที่ต้องมานั่งพิจารณากัน         อย่างแรกเลยคืออายุ คนอายุน้อยกับคนอายุมาก แน่นอนว่าคนกลุ่มหลังย่อมจ่ายเบี้ยประกันต่ำกว่า แต่อายุก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ยังต้องดูอีกคุณประกอบอาชีพอะไร เพราะแต่ละอาชีพมีระดับความเสี่ยงต่างกัน อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เบี้ยประกันสูงกว่า         คปภ. แบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยไว้ 4 ชั้น ประกอบด้วย อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ และอาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน         ถ้าคุณรู้ว่าอาชีพที่ทำอยู่มีความเสี่ยงระดับไหน มันจะช่วยให้คุณพอจะประเมินได้ว่าทุนประกันภัย-หมายถึงเงินที่จะได้เวลาประสบอุบัติเหตุนั่นแหละ-แค่ไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการให้ครอบคลุมความคุ้มครอง ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ในกรณีเสียชีวิตอย่างไร เช่น ถ้าคุณเป็นเครื่องยนต์หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว คุณอาจต้องการทุนประกันที่มากกว่า เพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกไม่ให้คนข้างหลังซวนเซ หรือถ้าคุณยังไม่มีครอบครัว มีพี่น้อง และมีพ่อแม่ที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ทุนประกันที่คุณต้องการก็อาจไม่จำเป็นต้องมากเท่ากับกรณีแรก เพราะยิ่งทุนประกันสูง เบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม การคำนึงถึงจุดนี้จะช่วยให้การจ่ายเบี้ยประกันไม่กลายเป็นภาระเกินจำเป็น         เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้มาต่อกันคราวหน้า

อ่านเพิ่มเติม >