ฉบับที่ 124 จากนักดนตรีสู่นักสู้รุ่นเยาว์

  “นักศึกษาร้อง ‘เอแบค’ เปลี่ยนหลักสูตรไม่บอก” “‘เอแบค’แจงหลักสูตรดนตรีได้มาตรฐาน” “นศ.คณะดนตรี ม.เอแบค ร้อง สกอ.เยียวยา 21 ล้าน” พาดหัวข่าวโต้ตอบดุเดือดระหว่างนักศึกษาและมหาลัยชื่อดังในช่วงปลายปี 2553 และต้นปี 2554 หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้นักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้อง   เราขอพาท่านผู้อ่านมาพบกับ ณัฏฐา  ธวัชวิบูลย์ผล นักศึกษาผู้เป็นต้นเรื่องนี้ค่ะ--------------------------------------------------------------------------------------------------- สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือ ABAC ได้มีการเปลี่ยนแปลงหสักสูตรคณะดนตรี จากเดิม 4 สาขาวิชา นั่นคือ 1. Music Performance 2.Professional Music 3.Contemporary Music Performance 4. Contemporary Music Writing and Production เป็น 2 สาขาวิชาคือ 1.Music Business 2.Music Performance ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดยไม่แจ้งนักศึกษาให้ทราบล่วงหน้าเลย  และจะเป็นอย่างไรถ้าในขณะนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่ยังมีนักศึกษาหลักสูตรเดิมเรียนอยู่ด้วย และไม่สามารถเทียบโอนบางรายวิชาได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------  ความฝันฝันค่ะ ฝันไว้ตั้งแต่ ม.4 แล้วว่าจะเลือกเรียนดนตรีคลาสสิก กะไว้ว่าจะเข้า มหิดลแต่ว่าเข้าไม่ได้ จนจบ ม.6 ก็เอาละ จริงๆ ใจเราก็ไม่ได้รักคลาสสิกมาก แต่เราอยากเล่นดนตรีมากกว่า แล้วเห็นพี่สาวเข้าเรียนแจ๊ส พอมาเจอดนตรีแจ๊ส หลักสูตรดนตรีของมหาวิทยาลัยเอแบค ก็สนใจ ดูแล้วจบมามีงานทำแน่นอน  ก็ฝันนะคะเพราะถ้าจบมาเราก็ทำได้หลายอย่างทั้งเพอร์ฟอร์มเมอร์ นักแต่งเพลง คือเราฝันที่จะมีชีวิตที่เดินบนเส้นทางของดนตรี   ฝันมลายทั้งที่เพิ่งวางโครงสร้าง จนปี 2551 ความฝันของ “ณัฐฏา” ก็พังคลืนลงไม่เป็นท่า เมื่อมหาลัยเอแบค ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรดนตรีที่เธอเรียนอยู่ ตอนปี 2 เทอม 1 นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงระหว่างปรับเปลี่ยนหลักสูตรยังจะต้อง เรียนเพิ่มในบางรายวิชา ตัวอย่างเช่น จากหลักสูตรเดิม Contemporary Music Performance ปี 2548 นักศึกษาเรียน 142 หน่วยกิต แต่หลักสูตรใหม่  Music Performance ปี 2551จะต้องเรียนเพิ่มเป็น 158 หน่วยกิต  บางรายวิชาที่เทียบโอนไม่ได้  ทำให้ผู้ปกครองจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีก 16 หน่วยกิต หน่วยกิตละ 1,600 บาทโดยประมาณ (อัตราไม่เท่ากันทุกรายวิชา) เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 25,600 บาท ถ้าเป็นวิชาในคณะหน่วยกิตละ 2,000 หรือ 2,500 บาท เฉลี่ยค่าเทอมแล้ว เทอมละ 75,000 บาท  “อยู่ดี ๆ ก็ปรับเปลี่ยนหลักสูตร แล้วตัดวิชาที่สำคัญในการเรียนคณะนี้ออกไป ซึ่งถ้าไม่ได้เรียนแล้วฝีมือตกต่ำแน่นอน อย่างวิชารวมวง (Ensemble) ซึ่งวิชานี้เป็นการเตรียมความพร้อมกับนักศึกษา Music Performance ไปสู่การลงวิชาการแสดงคอนเสิร์ตก่อนจบการศึกษา แต่เขาก็ตัดวิชาสำคัญตรงนี้ออกไป  อีกตัวอย่างก็คือ สาขา Song Writing กลุ่มวิชาเอกบังคับ ในหลักสูตรปี พ.ศ. 2551 มีวิชาเกี่ยวกับการเขียนเพลงเพียง 2 วิชา เมื่อเทียบกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอื่นมีวิชาการเขียนเพลงถึง 6 – 8 วิชาด้วยกัน รวมทั้งนำวิชาอื่นไม่เกี่ยวข้องมาใส่ และในกลุ่มวิชาบังคับของหลักสูตรใหม่ ก็ไม่มีการเปิดสอนวิชาเขียนเพลง แต่ก็ควรจะมีวิชาที่เทียบเท่ากันได้อย่าง Introduction to Film Scoring ,Writing and Production Techniques in Pop/Rock Idioms,Contemporary Arranging for String ถึงแม้จะมีวิชา Lyrics Writing ในหลักสูตรใหม่ก็ไม่เคยเปิดสอน  ปัจจัยเกื้อหนุนก็ไม่พร้อม อย่างห้องซ้อมดนตรีก็มีเครื่องดนตรีไม่ครบ ทั้งที่ประกาศในสัญญาแล้วว่าต้องมีจำนวนเท่าไร มีอะไรบ้าง ถ้ามองในมุมมองของนักศึกษาอย่างหนูก็คือ ‘คณะมันไม่พร้อมที่จะเปิดตั้งแต่ต้น’ จากแต่ก่อนเราคิดว่าเราจบจากที่นี่อนาคตเราดีแน่นอน แต่ว่าเขาเปลี่ยนหมดเลย”  อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย  เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก  เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ  ลุกขึ้นมาสู้ เธอยอมรับว่าช่วงแรกๆ ก็งงว่าจะทำอย่างไร เริ่มคุยกับรุ่นพี่ ปรึกษาอาจารย์ว่าควรทำอย่างไร แล้วก็เริ่มถามตัวเองว่าชีวิตจะไปต่ออย่างไร เพราะวิชาสำคัญๆ ที่ต้องเรียน และต้องใช้ประกอบอาชีพถูกตัดออกไป    “ต้องมาเรียนวิชาการแสดง เราก็คิดว่าจบออกไปแล้วก็คงไม่ได้อะไร พยายามปรับตัวเอง ให้หันไปแต่งเพลงดีไหม แต่พอจะมุ่งมาทางการแต่งเพลงจริงๆ ก็มีวิชาการแต่งเพลงเพียงไม่กี่ตัวให้เรียน ‘เหมือนเขาจะสอนเป็ด ทั้งสอนว่ายน้ำ ทั้งสอนบิน แต่ก็ไม่ได้อะไรสักอย่าง’”  เธอกับเพื่อนร่วมคณะจำนวนหนึ่ง เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 2 ของภาคเรียนที่ 2 พ.ศ. 2551 จนถึงล่าสุดวันที่ 20 มกราคม 2553 รวม 11 ครั้งในระยะเวลา 3  ปี จึงเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภควันที่ 24 ธันวาคม 2553 และเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ยื่นข้อเรียกร้องช่วย 3 ประเด็น  1)ให้มหาวิทยาลัยฯ คืนเงินชดเชยค่าลงทะเบียน และค่าขาดโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษา  2) ต้องการให้ปรับปรุงคณะดนตรี อุปกรณ์การเรียนการสอน และจัดอาจารย์สอนให้ตรงกับสาขาวิชา และ  3) ต้องการให้ สกอ.ประสานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นักศึกษาคณะดนตรี เอแบค ต้องการย้ายไปเรียน ซึ่งเบื้องต้น สกอ.รับปากจะช่วยไกล่เกลี่ยให้  “การที่หนูออกมาเรียกร้อง เพราะได้เข้าพบผู้บริหารในเดือนพฤศจิกายน 2553 แล้วเขาบอกว่า ‘ถ้าไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ก็ให้ย้ายออกไปเรียนที่อื่น’ การออกมาเรียกร้องของพวกหนูก็ได้รับเพียงคำชี้แจงจากผู้บริหาร มากกว่าจะเป็นการแก้ไข แล้วยังว่าพวกหนูอีกว่าจะเรียกร้องอะไรกันมากมาย  อยากให้เขารับผิดชอบและทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เรื่องแรกก็คือเขาจะรับผิดชอบอย่างไรกับชีวิตคนๆหนึ่ง เพราะเขาทำให้ชีวิตเด็กเสียหาย ถ้านับเป็นชีวิตก็ทั้งคณะนะคะ บางคนก็ไม่กล้าออกมาเรียกร้อง จะมีบางกลุ่มอย่างพวกหนูที่กล้าออกมาเรียกร้อง และอีกกลุ่มก็คือพ่อแม่ไม่อยากให้ยุ่ง  อย่างที่สองที่ต้องรับผิดชอบก็คือค่าหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนไป  ซึ่งทางมหาลัยฯ ก็ต้องชดเชยเช่นกัน ซึ่งหากทางมหาวิทยาลัยยังเงียบ ไม่ยอมเจรจาด้วย คุยๆ กับเพื่อนไว้ค่ะว่าก็ต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีใครเข้ามารับผิดชอบต่อเรื่องนี้   อยากให้คนที่พบกรณีแบบเดียวกันนี้รักษาสิทธิของตัวเอง อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย  เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก  เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ”  ฝันเปลี่ยนแต่รักดนตรีไม่เปลี่ยนณัฎฐาเองยังคงหวังที่เดินบนถนนดนตรี จึงหวังจะย้ายเข้าไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเรียนสายดนตรี แต่เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีปาฏิหาริย์ทุกคน เธอไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่นี่ได้ เพราะเทียบโอนได้บางวิชาเท่านั้น บางรายวิชาต้องไปเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 เรียนได้เทอมละ 1 วิชาเท่านั้น จึงไม่ต่างกับการเข้าเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 “เหมือนเราไปนับหนึ่งใหม่ในเส้นทางที่เราเดินมาแล้ว พอปรึกษากับพ่อ พ่อก็แนะนำให้ไปเรียนในอีกสาขาหนึ่งในสิ่งที่ชอบเท่ากันก็คือการครัว สุดท้ายก็ย้ายมาเรียนการครัว แต่ใจก็ยังรักดนตรีนะคะ”  หลังติดต่อหาที่เรียนเป็นที่เรียบร้อยที่ วิทยาลัยดุสิตธานี ในภาควิชาอุตสาหกรรมการบริหาร เธอยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นนักศึกษาปี 4 ของมหาวิทยาลัยเอแบค วันที่ 11 พ.ค. 2554   ณัฐฎากลายเป็นนักศึกษาปี 1 อีกครั้ง โดยเริ่มเรียนปรับพื้นฐานวันที่ 16 เม.ย. 54 ก่อนจะเปิดเทอมในเดือน มิ.ย.  “เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เหมือนเรามีหวังกับที่ใหม่ เป็นอีกทางที่เราเลือก พ่อเค้าก็อยากให้หนูได้สิ่งที่ดีที่สุด คืออย่างเอแบคเทอมละ 70,000 บาท สำหรับหนูถือว่าแพงแล้ว แต่พอต้องมานับหนึ่งใหม่ในอีกที่เรียนหนึ่งตกปีละ 300,000 บาท พ่อต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นก็เห็นใจพ่อนะคะ ปัจจุบันก็ต้องวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวและของตัวเอง อะไรที่ไม่จำเป็นละได้ก็ละ พ่อกับแม่บอกว่า ‘เงินก้อนสุดท้ายแล้วนะลูก’ ฟังแล้วสะอึก เราทำให้เขาผิดหวังไม่ได้ จบมาแล้วต้องคืนทุนอย่างรวดเร็ว” อนาคตเชฟสาวผู้มีหัวใจรักดนตรีพูดทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >