ฉบับที่ 118 ชีวิตนี้ผมอยากเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค

ทุกคนมีสิทธิ 118 สุมาลี พะสิม สัมภาษณ์/ถ่ายภาพ ปัญหาขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และทุกองค์การเลยก็คือ ปัญหาเรื่องกรรมการสรรหา จะเอาใครมาเป็นกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหาจะดีหรือไม่จะส่งผลกระทบต่อกรรมการที่จะเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระ ชีวิตนี้ผมอยากเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2540 เรามีรัฐธรรมนูญไทยที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นั่นก็เพราะว่ามีกระบวนการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการตื่นตัวและตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น และเป็นถือเป็นครั้งแรกประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 57 “องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างอิสระ และด้วยการเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในกฎหมาย ภาพการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 แต่แล้วก็ไปไม่ถึงฝั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกยกเลิกไป จนปี 2550 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคถูกบัญญัติไว้อีกครั้งในมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่เน้นย้ำความอิสระของ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ”จากหน่วยงานรัฐจริงๆ โดยไม่อยู่ใต้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งต่างจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ที่ยังอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี  ในที่สุดความคึกคักก็กลับมาอีกครั้งมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐบาล และภาคประชาชนมารวมทั้งหมด 7 ฉบับ และที่ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดของการรอคอยกว่า 13 ปีของผู้บริโภคนั่นก็คือ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค ก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฉลาดซื้อขอตามสถานการณ์เรื่องนี้โดยการพาทุกคนมาพูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมาธิการภาคประชาชนนั่นก็คือคุณดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้คร่ำหวอดในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค   องค์การอิสระผู้บริโภคจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ไหมตอบยากนะ เพราะเท่าที่มีประสบการณ์ การเป็นสมาชิกวุฒิสภามา 2 สมัย ซึ่งก็ 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับตัวผมเองและที่ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ องค์การอิสระอย่าง กสช. และ กสทช. ที่จัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคมและจัดสรรคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นงานที่เป็นองค์กรผลประโยชน์มหาศาล   เพราะเป็นองค์กรที่ทำให้องค์กรบางองค์กรเสียประโยชน์มหาศาล องค์กรทั้งสององค์กรนี้ยังไม่เกิดขึ้น จนผมพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ซึ่งช่วงที่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกมาเราก็กระเหี้ยนกระหือรือ มีความกระตือรือร้นและสุขใจ ว่างานวิทยุโทรทัศน์จะได้เป็นธรรมสักที เพราะสื่อก็น่าจะเป็นของประชาชน ซึ่งก็คิดว่าในเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็น่าจะได้รับความเป็นธรรมและถูกต้อง โดยมี กสช.และ กสทช.เป็นผู้จัดสรร แต่แล้วมันก็ไม่ได้ จนกระทั่งวันนี้จะสิ้นปี 2553 แล้วก็ยังไม่ได้  ที่พูดเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกว่าไม่มีความมั่นใจเลยว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 จะออกหรือเราจะได้ทั้งๆ ที่ขณะนี้เราก็ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัตินี้ และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังมีการประชุมและถกเถียงกันอยู่ อีกอย่างก็คือเราไม่รู้ความผกผันทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนรัฐบาลหรือจะยุบสภาฯไหม หรือถ้าได้รัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ที่ได้มาจะมาต่อยอดเรื่ององค์กรอิสระนี้อีกเมื่อไร เราก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้นคำตอบที่น่าเป็นการตอบเพื่อให้กำลังใจว่า “จะได้แล้วจะเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรานี้อยู่” จากประสบการณ์ของผม ผมก็ตอบไม่ได้ว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ก็อยากให้ความหวังว่าขอให้มันได้   ระหว่างการพิจารณากฎหมาย อุปสรรคหรือมีปัญหาอะไรไหมอุปสรรคในการพิจารณาไม่มีนะ แต่มีปัญหาเพราะมันเป็นองค์การใหม่ และรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นในทรรศนะของผม ผมมีความรู้สึกว่าไม่ได้จริงหรือไม่ค่อยอยากจะได้องค์การอิสระฯ นี้นัก เพราะดูแล้วองค์การนี้ไม่ค่อยจะมีอำนาจ ความจริงเราไม่ได้ต้องการอำนาจอะไรนะ เพียงแต่ว่าเราต้องมีสิทธิและอำนาจในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผมเพิ่งกลับจากประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้พบเรื่องราวความเป็นจริงของงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นรูปธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และจริงจัง ของการบังคับใช้กฎหมายขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์การฯ ที่ภาคธุรกิจจะเกรงใจ และไม่กล้าที่ทำอะไรที่ไปละเมิดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ยกตัวอย่างกรณีการบินไทยบ้านเรามีผู้โดยสารต้องการจะซื้อตั๋ว ซึ่งเขาบอกว่าเขาแพ้ถั่ว และเห็นว่าสายการบินนี้มีโฆษณาว่ามีการบริการอาหารสำหรับผู้แพ้ถั่ว ผู้โดยสารท่านนี้เลยต้องการจะบินกับสายการบินนี้ ซึ่งสายการบินก็ยินดีที่จะบริการอาหารที่ไม่มีถั่วให้กับเขา แต่ผู้โดยสารท่านนี้มีข้อแม้ว่า “คนที่นั่งอยู่บริเวณใกล้เขาต้องไม่มีถั่วด้วย” ซึ่งสายการบินก็บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ จะได้เฉพาะของยูเท่านั้นที่ไม่มีถั่ว แล้วเขาก็หายไปสัก 2 เดือน หลังจากนั้นเขาก็ฟ้องสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกว่านิวซีแลนด์คอมเมิร์ช คอมมิชชั่น พร้อมเรียกค่าเสียหาย ซึ่งผู้จัดการสายการบินบอกว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่เรื่องจะไม่ไปถึง สคบ.นิวซีแลนด์ เพราะถ้าหน่วยงานนี้ตัดสินเมื่อไร 95% ผู้บริโภคจะชนะ ซึ่งเขาให้ความศักดิ์สิทธิว่าผู้บริโภคต้องชนะ เพราะฉะนั้นมีอะไรที่พูดจา อะลุ่มอล่วยกันได้ เขาจะยอมหมด อย่างบินครั้งต่อไปจะอัพเกรดให้ไปนั่งในชั้นบิซิเนสคลาส ซึ่งถ้าบินมาเมืองไทยก็ราวๆ แสนกว่าบาท ซึ่งผู้โดยสารท่านนั้นก็ไม่ยอม ทั้งๆที่ เขายังไม่ได้ซื้อตั๋วและไม่ได้บินนะ แต่เหตุที่เขาอ้างเพราะว่า “เพราะเขาเชื่อโฆษณาทำให้เขาเสียเวลาเข้ามาติดต่อ” แล้วเรื่องก็ขึ้นศาลและศาลตัดสินให้การบินแพ้ ให้จ่ายค่าชดเชย 5,000 นิวซีแลนด์ดอลล่าร์ เห็นไหมว่าเมื่อมีองค์การฯ นี้ขึ้นมา เราต้องกลับมาย้อนมาฟังผู้จัดการสายบินซึ่งบอกมาว่าจะต้องดูแลโฆษณาไม่ให้คลุมเครือเกินจริง และอย่าให้เรื่องไปถึงหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ เพราะเรื่องไปถึงแล้วมีโอกาสแพ้ พอเราฟังเรื่องราวแบบนี้ และถ้ามีองค์การนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยและมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มข้น ประชาชนรู้จักใช้สิทธิ เราก็จะอยู่อย่างไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ   แล้วปัญหาว่าองค์การอิสระผู้บริโภคเป็นเรื่องใหม่คืออะไรถ้ามองกลับมาที่บ้านเราเรื่องของปัญหาขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และทุกองค์การเลยก็คือ ปัญหาเรื่องกรรมการสรรหา จะเอาใครมาเป็นกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหาจะดีหรือไม่จะส่งผลกระทบต่อกรรมการที่จะเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระ ผมเข้ามาประชุมทุกครั้งเรื่องก็จะวนๆ อยู่แต่เดิม เพราะความหวาดระแวงเขาเราที่มีอยู่เพราะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ   และด้วยวิธีคิดของเราไม่เหมือนวิธีคิดของต่างประเทศ ซึ่งบ้านเรายังมองในเรื่องผลประโยชน์อยู่ ซึ่งก็ยังรู้ว่ารูปแบบจะออกมาอย่างไร กฤษฎีกา เอ็นจีโอ รัฐบาลก็ว่าอย่างหนึ่ง ซึ่งทุกฝ่ายก็พยายามนะครับ ผมได้เตือนสติคณะกรรมาธิการฯ ว่าเราอย่าช้านักนะ เดี๋ยวมันมีความผันผวนทางการเมือง แล้วระยะเวลากว่า 13 ปีขององค์การฯ นี้จะเป็นอย่างไร คือในชีวิตนี้ของผมอย่างเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค  อีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องงบประมาณ ผมคิดว่าประสบการณ์ที่เรามีอยู่ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. นั้นมีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงน้อยนิด และมีงบประมาณน้อยทั้งที่ทำงานใหญ่ สมัยที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็มีงบไม่ถึง 100 ล้านในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคที่ทุกคนถูกเอาเปรียบจากการบริโภคแทบทั้งสิ้น แล้วเราก็มีองค์กรอยู่เล็กนิดเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อ พ.ร.บ.มีองค์การฯ นี้เกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาอย่าง พ.ร.บ.ที่คุณสารีเสนอมาก็เสนอให้คิดหัวละ 5 บาท จากประชาชน 60 ล้านคน ก็จะงบประมาณสนับสนุน 300 ล้านบาท ทีนี้พอเขียนเป็นกฎหมายแล้วก็ต้องบอกให้ละเอียดอีกว่าจากเงิน 5บาท อาจจะเหลือบาทเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดหลายๆ แบบว่าเงินสนับสนุนจะมาจากทางไหน งบประมาณอาจจะให้มาจากรัฐบาล จากสำนักงบประมาณซึ่งก็ต้องผ่านรัฐสภา ผ่าน ส.ส. ผ่าน สว.ซึ่งก็จะไปติดขัดเรื่องผลประโยชน์อีก ผลประโยชน์ในที่นี้ก็คือคนที่อยู่ในสภาฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักธุรกิจ เป็นคนที่มีผลประโยชน์อยู่ ซึ่งถ้าองค์การฯ นี้แข็งแรงมาก เขาก็คงไม่อยากให้แข็งแรงมากอาจจะให้เงินน้อยๆ ก็พอ ผมเคยพูดนานแล้วว่า ปปช. เนี่ยสมควรที่จะให้เงินเขาไปเป็นหมื่นๆ ล้าน ยังจะคุ้มเลยในการเข้าไปปกป้องรักษาการคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ปีหนึ่งไม่ใช่น้อยแต่มันเป็นแสนๆ ล้าน   องค์การอิสระฯ ที่อยากเห็นเป็นอย่างไร อยากให้คล้ายกับนิวซีแลนด์ไหมใช่เลยครับอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้มีอำนาจและหน้าที่ ที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้จริงๆ แต่ในรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเพียงแค่ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นในการออกมาตรการ กฎหมาย   องค์การอิสระผู้บริโภคเรียกได้ว่าก้าวมาไกลพอควรแล้วอยากจะบอกอะไรถึงผู้บริโภคผมอยากจะฝากให้ประชาชนได้ใส่ใจถึงสิทธิประโยชน์ของตนเอง เพราะประชาชนไม่ค่อยสนใจ แทบจะไม่เห็นว่ามีข่าวในสื่อต่างๆ เลยในเรื่องของการที่จะมี พ.ร.บ.นี้ พูดก็พูดเถอะนะว่าจะมีก็แต่หนังสือฉลาดซื้อกับหนังสือคู่สร้างคู่สมนี่ล่ะ ที่ชี้นำและส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้ และอยากวอนขอให้สื่อได้นำเสนอชักจูงประชาชนให้ใส่ใจและเฝ้ามองดูว่าในสภาฯ เขาทำอะไรกันอยู่ในเรื่องนี้   ขอย้ำอีกอย่างก็คือในประเทศไทยเรามีกฎหมาย มี พ.ร.บ.เป็น ร้อยเป็นพัน แต่มีกฎหมายไม่กี่ฉบับที่ประโยชน์เป็นของประชาชนและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ กฎหมายที่ออกมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นของราชการในการที่จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคนั้นถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กรรมการก็จะมาจากผู้บริโภค องค์การอื่นๆ ก็จะมาจากหลายภาคส่วน แต่ไม่มีผู้บริโภค อย่างผู้พิพากษา นักวิชาการ แต่กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นประชาชนต้องสนใจต้องใส่ใจ ก็อยากจะขอวอนให้หันมาใส่ใจซึ่งก็ไม่ค่อยสนใจไม่ค่อยรับรู้ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point