ฉบับที่ 265 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2566

ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าดำเนินคดีทุกราย!         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยมีประชาชนร้องเรียนว่าพบมีการลักลอบเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาในบริเวณตลาดถนนคนเดินใกล้มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านเขตประเวศ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.อุดมสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบผู้กระทำผิดจริงในขณะกำลังเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าหลายราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อดำเนินการยึดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปที่ สน.อุดมสุข เพื่อดำเนินคดีฐานขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทุกราย         "บุหรี่ไฟฟ้า"  เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้นผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ ขอคะแนนคืนได้         หลังจากมีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าหากผู้ขับขี่รายใดถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน ท่านสามารถขอคะแนนคืนได้ด้วยการเข้าอบรม ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศซึ่งมีการเปิดอบรมให้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถจองคิวผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ DLT Smart Queue แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (การเข้าอบรมจะมีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร)            กรณีที่ถูกตัดแต้มใบขับขี่จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักอนุญาตใบขับขี่ (ห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน) และหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพื้นที่มีค่าฝุ่น PM. เกิน 51 มคก./ลบ.ม. และเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด และ กทม. 50 เขต โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่ม 6 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีทั้งหมดจำนวน 36 จังหวัด         ทั้งนี้การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 5 มี.ค. 66 นั้น พบว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน กลุ่มผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 คน โรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน โรคตาอักเสบ 242,805 คน โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ยี่ห้อในอินเดียยังไม่มีขายในไทย        จากกระแสข่าวที่มีศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) นั้น มีการพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma โดยมีผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งน้ำยาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญเสียการมองเห็นถึง 8 คนและต้องผ่าลูกตากว่า 4 คนนั้น           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ(อย.) ระบุจากการตรวจสอบของทาง อย.ไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลจำหน่ายทางออนไลน์ในไทย โดยทาง อย.มีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งมีการติดตามข่าวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างประเทศอย่าใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ขอให้ผู้บริโภควางใจ มพบ. ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีปมควบรวม ทรู-ดีแทค         8 มีนาคม 2566 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สนง.กสทช) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ รับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง        กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ซื้อเครื่องตัดหญ้าออนไลน์ แต่ใช้งานไม่ได้

        คุณวิรัชต์ ผู้ซึ่งรักต้นไม้และการทำสวนเป็นชีวิตจิตใจ แต่การต้องตัดหญ้าในสนามหน้าบ้านทุกๆ สองสัปดาห์ ก็ทำเอาคุณวิรัชต์รู้สึกปวดเอวอยู่ไม่น้อย มาวันหนึ่งขณะที่คุณวิรัชต์เปิดเว็บไซต์ดูสินค้าในร้านค้าออนไลน์ ก็ไปพบเข้ากับเครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าแบบชาร์จแบตเตอรี่ได้ พร้อมโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 ในราคา 1,090 บาท เมื่อดูภาพโฆษณาและอ่านรีวิวแล้ว ก็คิดว่าน่าจะใช้งานได้ดี และคงสะดวกกว่าการใช้กรรไกรตัดหญ้าอยู่ไม่น้อย คุณวิรัชต์จึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องตัดหญ้าดังกล่าว         ไม่กี่วันให้หลังสินค้ามาถึงผู้รับอย่างรวดเร็ว เมื่อเปิดกล่องพัสดุออกดูด้วยความตื่นเต้น กลับพบว่า รูปลักษณ์ของเครื่องตัดหญ้านั้นช่างแตกต่างจากที่โฆษณาไว้เหลือเกิน ทั้งยังไม่มีกล่องแบตเตอรี แต่กลับเป็นช่องใส่ถ่านขนาดสองเอ (AA) แทน เมื่อคุณวิรัชต์ลองใช้ดูก็พบว่า ไม่สามารถตัดหญ้าได้เหมือนอย่างที่รีวิวเอาไว้อีกด้วย         ด้วยความผิดหวังคุณวิรัชต์จึงรีบโทรกลับไปยังร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืน เพราะร้านค้าเคยแจ้งว่า สินค้ามีการรับประกันสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ภายใน 7 วัน ซึ่งทางร้านค้าก็ได้ให้คำมั่นว่าจะรีบดำเนินการตรวจสอบสินค้าให้ แต่เอาเข้าจริงคุณวิรัชต์ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย พอสอบถามไปบ่อยๆ เข้า ก็เงียบหายและติดต่อไม่ได้อีกเลย คุณวิรัชต์จึงลองกลับไปดูที่เว็บไซต์อีกครั้ง ปรากฏว่ามีผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วเข้ามาบ่นว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพและใช้งานไม่ได้จริงเหมือนกัน แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณวิรัชต์สามารถรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน ได้แก่ ข้อมูลของร้านค้าที่คู่กรณี, ภาพถ่ายสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่โฆษณา, หลักฐานการโอนเงินว่าโอนเงินไปยังบัญชีใด เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกหนังสือขอให้ทางธนาคารปลายทางอายัดบัญชีดังกล่าวไว้ เพื่อติดตามเงินคืนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์แล้วพบว่า ชำรุดบกพร่องไม่สามารถใช้งานได้จริงตามคำโฆษณาก็ให้ขอคืนสินค้าโดยทันทีตามกรอบระยะเวลาเงื่อนไขที่ทางร้านได้แจ้งไว้ หรือแจ้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องโฆษณา และหากเป็นไปได้ควรซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านค้าที่จดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และขึ้นทะเบียนขายตรงกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถติดต่อไปยังผู้ขายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 หุ่นยนต์ตัดหญ้า

        หากการตัดหญ้าหน้าบ้านด้วยกรรไกรมันใช้เวลานานเกินไป หรือทำให้คุณปวดหลังไปอีกหลายวัน ลองดูผลทดสอบเครื่องตัดหญ้าอัตโนมัติที่เรานำมาฝาก การทดสอบครั้งนี้ทำขึ้นทั้งในห้องปฏิบัติการและสนามหญ้าจริง ในช่วงปลายปี 2019 โดยองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ         สัดส่วนคะแนนในการทดสอบเปรียบเทียบ แบ่งออกเป็น ประสิทธิภาพการทำงาน ร้อยละ 60  (การตัดหญ้าได้สม่ำเสมอสวยงามทั้งหญ้าเปียก/หญ้าแห้ง หญ้ายาว/หญ้าสั้น การตอบสนองของเครื่องเมื่อเจออุปสรรค เช่น รั้ว แปลงดอกไม้ ต้นไม้ หรือชานบ้าน เป็นต้น)  ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 20 (การตั้งค่า การใช้ร่วมกับแอปฯ การเคลื่อนย้าย การทำความสะอาด การเปลี่ยนใบมีด เป็นต้น) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงรบกวน ร้อยละ 10 ตามด้วยคุณภาพการประกอบ ร้อยละ 5 และคู่มือการใช้งาน ร้อยละ 5         ในภาพรวมถือว่าเจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ทำงานได้เข้าตากรรมการ แต่ราคาของมันก็ไม่ถูกนัก เครื่องตัดหญ้าที่เราเลือกมา 20 รุ่นจากการทดสอบครั้งนี้มีราคาระหว่าง 6,750 – 40,500 บาท และราคาก็มีผลต่อประสิทธิภาพพอสมควร รุ่นที่ได้คะแนนมากที่สุดคือรุ่นที่แพงที่สุด (Stihl RMI 632)  แต่อย่าเพิ่งถอดใจกลับไปใช้กรรไกร ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนมากกว่า 80 ในราคาไม่เกิน 10,000 บาทให้คุณได้เลือก         สิ่งหนึ่งที่วางใจได้คือทุกรุ่นได้คะแนนความปลอดภัยในระดับ 5 ดาว และทำงานได้ทั้งระบบออโตและแมนนวล ยกเว้น Riwall PRO RRM 1000 ที่เป็นระบบออโตเพียงอย่างเดียว         มีข้อสังเกตว่า สำหรับเครื่องตัดหญ้าส่วนใหญ่ ขนาดพื้นที่สนามสูงสุดเป็นไปตามที่ผู้ผลิตเคลมไว้ในสเปค ยกเว้น Wolfgarten Loopo M 1500 และ Wolfgarten Loopo M 1000 ที่ทดสอบแล้วทำได้สูงสุดเพียง 800 และ 500 ตารางเมตร ตามลำดับ และ Cub Cadet XR2 1000 ที่รองรับได้สูงสุดเพียง 500 ตารางเมตรเท่านั้น         · หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาแปลงจากหน่วยเงินยูโร ตามที่องค์กรสมาชิกจ่ายจริง โปรดตรวจสอบราคาที่เป็นปัจจุบันอีกครั้งก่อนตัดสินใจ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 233 รู้เท่าทันการรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ต้องผ่าตัด

        ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน การรักษามาตรฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบันคือการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกทางหน้าท้องหรือด้วยการส่องกล้องเป็นการรักษาหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มมีใช้ยาปฏิชีวนะฉีดทางหลอดเลือดดำแทนการผ่าตัด ซึ่งให้ผลดีได้เช่นเดียวกับการผ่าตัด เรามารู้เท่าทันกันเถอะ การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องกับการส่องกล้อง         ไส้ติ่งอักเสบเป็นความเจ็บป่วยที่พบบ่อยในอาการปวดท้องเฉียบพลันที่ต้องทำการผ่าตัด มักเป็นในผู้ที่มีอายุ 15-30 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง ประมาณว่า เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 4 รายจาก 1,000 ราย ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งออก           การตัดไส้ติ่งออกเป็นการรักษาหลัก อย่างไรก็ตาม โรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดก็เกิดขึ้นได้ จึงเกิดนวัตกรรมในการผ่าตัดทางหน้าท้องเป็นการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้อง ซึ่งพบว่า การตัดไส้ติ่งด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีแบบเดิม การต้องนอนพักในโรงพยาบาลสั้นกว่า การดมยาสลบน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่าและสามารถกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานได้เร็วกว่า การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดน้อยกว่า แต่ค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันอาจสูงกว่า         การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้องกับการส่องกล้องจึงเป็นวิธีการรักษามาตรฐานทั้งสองวิธีที่ใช้กันในโรงพยาบาลทั่วไป แต่การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เพราะต้องใช้อุปกรณ์เลนส์ที่ใช้ส่อง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีมาตรฐานหลักของการรักษา การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการไม่ต้องผ่าตัด         ห้องสมุดคอเครนได้ทำการทบทวนงานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะกับการผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะหายภายใน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญ (กลับมาเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้ง) ภายในหนึ่งปี ไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญและเล็กน้อยในระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะดีกว่าหรือด้อยกว่าการผ่าตัดไส้ติ่ง เนื่องจากคุณภาพของการวิจัยยังมีข้อจำกัด          การทบทวนงานวิจัยของ Pubmed ก็พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาไส้ติ่งอักเสบก็เป็นวิธีการที่สะดวกสำหรับไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และไม่ทำให้เกิดการแตกของไส้ติ่งในผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กเพิ่มมากขึ้น การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยในจะไม่ได้ผลร้อยละ 8 ของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ และอาจกลับโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยการเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้งร้อยละ 20         ดังนั้น การผ่าตัดไส้ติ่งจึงยังเป็นวิธีการมาตรฐานหลักในการรักษาไส้ติ่งอักเสบ ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นอาจใช้ได้ดีในไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และในผู้ที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัด ควรตัดไส้ติ่งออกก่อนที่จะมีอาการหรือไม่         ยังไม่มีคำแนะนำทางการแพทย์ที่ให้มีการตัดไส้ติ่งออกเพื่อป้องกันการเกิดไส้ติ่งอักเสบ เพราะการผ่าตัดแม้ว่าจะปลอดภัย แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ตั้งใจไปเรียนตัดเสื้อ ถูกเรียกเงินเพิ่มจนเกือบตัดใจ

        ปัจจุบันมีการขายคอร์สเรียนหลากหลายในหน้าโซเชียล โปรโมชันหลายอย่างก็เร่งรัดจนผู้บริโภคตัดสินใจอย่างขาดความระมัดระวังทำให้เสียประโยชน์ อย่างไรก็ตามการโฆษณานั้นหากไม่ตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิตนเองได้         คุณรุ่งรัตน์ สนใจเรียนตัดเสื้อและทำผม ลองค้นหาโรงเรียนหลายแห่งทางอินเทอร์เน็ต พบโฆษณารับสมัครเรียนบนหน้าเฟซบุ๊ก ของโรงเรียนตัดเสื้อทำผมเก่าแก่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เป็นโปรฯ ช่วงโควิด รับสมัครนักเรียนแค่ 10 คนเท่านั้น เมื่อติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามรายละเอียด คุณรุ่งรัตน์พบว่าหากต้องการเรียน ต้องจ่ายเงินค่าเรียนทันทีก่อนหมดโอกาส โดยพนักงานแจ้งว่าใกล้เต็มแล้ว         คุณรุ่งรัตน์จึงโอนเงินทันที เป็นจำนวน 8,900 บาท ตามที่ระบุบนโฆษณา ซึ่งเป็นค่าเล่าเรียนในระยะเวลา 30 ชั่วโมง เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็รู้สึกว่าตนเองรีบร้อนไปหน่อย ไม่ทันได้สอบถามรายละเอียดอื่นๆ จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงเรียนเพื่อขอรายละเอียดตารางเวลาเรียน ช่วงแรกๆ ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงเข้าใจว่าผู้เรียนคงยังไม่ครบจำนวน ต่อมาประมาณ 1 อาทิตย์มีโทรศัพท์แจ้งจากทางโรงเรียนว่าให้เข้าไปเรียนได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 6,000 บาท “ตกใจมากค่ะ บอกกับทางพนักงานไปว่า ตนเองมีเงินเท่าที่จ่ายไป 8,900 บาทเท่านั้น” ในโปรฯ ไม่เห็นรับรู้เลยว่าจะมีการจ่ายเพิ่ม ทางพนักงานบอกว่า ไม่จ่ายเพิ่มก็เรียนไม่ได้ “แล้วดิฉันก็กังวลมากเพราะในใบเสร็จระบุว่า จ่ายแล้วไม่คืนเงินทุกกรณี” ได้ไปแจ้งความไว้แล้ว และติดต่อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ทาง สคบ.แจ้งว่า กรณีของคุณรุ่งรัตน์เป็นการเรียนเพื่อหารายได้ จึงไม่เข้าข่ายคดีผู้บริโภค “แล้วจะต้องทำอย่างไรดี” คุณรุ่งรัตน์ปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้เข้าข่ายการทำสัญญา ศูนย์ฯ แนะนำให้คุณรุ่งรัตน์ทำหนังสือถึงโรงเรียนสอนตัดเสื้อทำผมดังกล่าว เพื่อบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (การทำจดหมายควรใช้แบบไปรษณีย์ตอบรับเพื่อเป็นหลักฐาน) จำนวน 8,900 บาท โดยทำสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อการติดตามเรื่อง         ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณรุ่งรัตน์ว่า ทางโรงเรียนได้รับคุณรุ่งรัตน์เป็นนักเรียนแล้ว โดยไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 6,000 บาทเพิ่ม ทั้งนี้ทางโรงเรียนแจ้งว่า เป็นความผิดพลาดของพนักงานที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง คุณรุ่งรัตน์เองก็ตั้งใจเรียนจริงๆ เมื่อเห็นว่าไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว จึงตกลงไปเรียนตามที่ตั้งใจไว้และขอยุติเรื่องการบอกเลิกสัญญา ลงเอยด้วยดีไป หวังว่าจะมีช่างตัดเสื้อและทำผมดีๆ เพิ่มขึ้นอีกราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 สหรัฐอเมริกาทบทวนการตัดต่อพันธุกรรม

งานวิจัยกว่า 600 ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  ในอดีต เมื่อเกษตรกรฉีดยาฆ่าหญ้าเพียงไม่กี่หยด หญ้าก็ตาย  แต่ปัจจุบัน การตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดหญ้าที่มีภูมิต้านทานยาฆ่าหญ้า จนไม่มียาที่สามารถจัดการวัชพืชพวกนี้ได้ กลายเป็นซูเปอร์วัชพืช  ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรในทางตะวันตกของรัฐวิสคอลซิน สหรัฐอเมริกา ต้องปวดหัวกับหญ้าหนามที่โตเร็วมาก โดยโตได้เร็วถึง 7 – 8 เซนติเมตร/วัน และโตเต็มที่สูงถึง 2 เมตรกว่า เนื่องจากหญ้าหนามนี้โตเร็วมาก จึงขึ้นคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก อีกทั้งหญ้านี้ยังมีลำต้นที่แข็งมาก จนเครื่องจักรเก็บเกี่ยวต้องเสียไปหลายเครื่อง เพราะต้นหญ้าหนามนี้   ที่จริงแล้ว มีซูเปอร์วัชพืชเป็นสิบชนิดที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากใน 22 รัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และมีการใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโต  จนเกษตรกรต้องใช้สารเคมีปราบวัชพืชที่เข้มข้นมากขึ้น มีพิษรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับซูเปอร์วัชพืชพวกนี้ได้  และแม้แต่บริษัทมอนซานโตเองก็ยอมรับปัญหาการดื้อยาของซูเปอร์วัชพืช และขอเวลา 6 ปีเพื่อที่จะพัฒนาสารเคมีกำจัดหญ้าใหม่ มาทดแทนสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน  แต่สำหรับเกษตรกร คงไม่มีใครที่จะสามารถรอนานถึง 6 ปีได้  พวกเขาต้องพยายามต่อสู้กับซูเปอร์วัชพืชเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายรายต้องยอมแพ้ ปล่อยให้พื้นที่เกษตรกลายเป็นทุ่งซุปเปอร์วัชพืชแทน   นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐเองได้เริ่มยอมรับว่า การตัดต่อพันธุกรรมไม่ได้มีผลดีอย่างที่บริษัทได้สัญญาไว้  ภาพฝันอันสวยงานของพืชจีเอ็มโอกำลังเลือนหายไป   แพทย์เตือนให้หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารจีเอ็มโอปีที่ผ่านมา อเมริกาเริ่มทบทวนเทคโนโลยีจีเอ็มโอให้เข้มงวดมากขึ้น  มีการศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 600 ชิ้น และได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมได้เผยแพร่บทความเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้ป่วยในการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ และเรียกร้องให้แพทย์งดให้คนไข้ทานอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจีเอ็มโอเช่นเดียวกัน  ทำให้มีแพทย์ที่เขียนใบสั่งให้ผู้ป่วยเลิกทานอาหารจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เมื่อคนเราบริโภคอาหารจีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองที่มีการดัดแปลงยีน ยีนที่ดัดแปลงนั้นสามารถถ่ายทอดไปสู่จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้คน และขยายตัวต่อไป  ดังนั้น แม้ว่าเราจะเลิกรับประทานอาหารจีเอ็มโอ แต่ในร่างกายของเราก็ยังมียีนที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ ซึ่งยีนเหล่านี้ที่อยู่ในจุลินทรีย์สามารถทำให้จุลินทรีย์ผลิตยีนนั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอจากหลายที่ ทั้งจากเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้พืชจีเอ็มโอและจากนักวิชาการที่ทำการทดลองกับสัตว์  เช่น  • การทดลองให้หนูขาวกินมันฝรั่งจีเอ็มโอทำให้หนูขาวเติบโตช้ากว่าหนูทั่วไป รวมทั้งหัวใจ ตับ และสมองก็มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนมีภูมิต้านทานต่ำกว่าด้วย  • ในฟาร์มเลี้ยงหมูในภาคตะวันตกของอเมริกากลาง พบว่า หมูที่กินข้าวโพดจีเอ็มโอจะเป็นหมัน  • ฟาร์มไก่และวัว ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มโอ มีอัตราการตายสูงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ  • เมื่อให้แม่หนูขาวกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นเวลา 2 สัปดาห์และช่วงตั้งท้อง ปรากฏว่า ลูกหนูขาวส่วนใหญ่ตายหลังคลอดไม่นาน และลูกหนูที่รอด จะเติบโตช้า ตัวเล็ก และบางส่วนจะเป็นหมัน   ปลายปี 2552 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบกับอาหารจีเอ็มโอ และมีความสงสัยต่อเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมว่า มีประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีเอ็มโอนั้นไม่ติดฉลากแจ้ง ในขณะที่อาหารออร์กานิคกลับต้องมีการตรวจสอบรับรองและมีฉลากระบุความเป็นเกษตรอินทรีย์   ตลาดอาหารออร์กานิคในสหรัฐอเมริกาได้ขยายตัวจาก 3,600 ล้านเหรียญในปี 2540 เป็นกว่า 21,100 ล้านเหรียญในปี 2551 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย แต่ตลาดอาหารออร์กานิคกลับยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จนหลายครั้งมีปัญหาผลผลิตอาหารออร์กานิคขาดตลาด   ปัญหาซูเปอร์วัชพืชทำให้รัฐบาลต้องทบทวนเกี่ยวกับหลักการในการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโอ เพราะนอกเหนือจากเรื่องปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาเกษตรของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมกับอนาคตของเกษตรสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับซูเปอร์วัชพืชที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนมากขึ้น เพราะจัดการกับวัชพืชได้ยากขึ้น ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น จนส่งผลคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม   นอกจากซูเปอร์วัชพืชแล้ว แปลงที่ปลูกพืชจีเอ็มโอยังพบแมลงแปลกๆ ที่เป็นศัตรูพืชที่ในอดีตไม่ใช่ศัตรูพืชหลัก แต่เนื่องจากแมลงศัตรูพืชหลักถูกควบคุมโดยพืชจีเอ็มโอ แมลงศัตรูพืชรองจึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแมลงศัตรูพืชหลักแทน ซึ่งศัตรูพืชใหม่นี้ได้พัฒนาภูมิต้านทานของตัวเอง จนทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้เกษตกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น   กระทวงเกษตรสหรัฐ ซึ่งเคยยืนยันมาตลอดถึงประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ ได้เริ่มยอมรับว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอนี้อาจทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดชพืชเพิ่มขึ้น จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งจากการที่ต้องซื้อสารเคมีเพิ่มขึ้น และค่าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่มีราคาแพงมาก   ส่วนกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐก็ได้เริ่มสอบสวนบริษัทมอนซานโตและบริษัทที่พัฒนาพืชจีเอ็มโออื่นเกี่ยวกับการปิดบังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม โดยทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่า การปิดบังข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะบริษัทพวกนี้ถือว่าได้รับสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ หรือแม้แต่นักวิจัยอื่น ที่ต้องการทดสอบหรือพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อ  แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนทางบริษัทจะต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับกระทรวงยุติธรรม ไม่อาจบิดพลิ้วปิดบังข้อมูลได้อีก   เทคนิคใหม่ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติดูเหมือนหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ จะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่า การตัดต่อพันธุกรรมรุ่นแรกมีผลคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม  ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีเสียใหม่ ก็คงถึงหนทางตัน   ความจริงแล้ว บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอต่างก็ทราบท่าทีของรัฐบาลและทัศนคติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนี้มานานพอควร ทำให้บริษัทพยายามที่จะหาทางออกใหม่ เช่น เมื่อ กลางปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทจีเอ็มโอใหญ่รายหนึ่งประกาศจะพัฒนาถั่วเหลืองจีเอ็มโอ “รุ่นใหม่” ที่เป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยคาดว่า จะได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและองค์การอาหารและยา เพื่อเริ่มขายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยพืชจีเอ็มโอรุ่นใหม่นี้ จะไม่ใส่ยีนจากภายนอกเข้าไป แต่จะใช้วิธีปิดยีนบางตัวที่มีอยู่แล้วในพืชนั้นๆ เพื่อให้ยีนดังกล่าวไม่ทำงาน โดยนักวิจัยของบริษัทอธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้กับลูกได้ ถ้าใช้เทคนิคการปิดยีนนี้ จะทำให้ลูกไม่ได้ยีนที่เป็นโรค และพันธุกรรมของลูกก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งบริษัทอ้างว่า แนวทางของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมใหม่นี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   แต่ข้อสงสัยก็ยังคงมีอยู่สื่อมวลชนสหรัฐก็ยังคงไม่สนับสนุนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมแนวใหม่นี้อยู่  หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้ลงบทความเมื่อวันที่ 12 และ 20 มิถุนายน 2553 วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่า ส่วนใหญ่ไร้ผล ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษย์ควรพึงสังวรว่า มนุษย์เรายังเข้าใจความสลับซับซ้อนของพันธุกรรมน้อยมาก และการที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงยีนนี้ อาจไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   อาจารย์กู้ซิ่วหลิน นักวิชาการของประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยด้านพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรัฐยูนาน ประเทศจีน ก็ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีการดัดแปลงยีนแบบใหม่นี้ เพราะเห็นว่า ผิดหลักธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยการแทรกยีนใหม่ หรือไปกดยีนเดิมไว้ไม่ให้ทำงาน เป็นแทรกแซงต่อแบบแผนชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาว่า จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก  แต่ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมยักษ์ใหญ่ ที่จะยังคงผลักดันการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ต่อไป  แปลจากบทความ ในนิตยสาร Organic Food Time (ปี 2010 ฉบับที่ 2)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 คดีประวัติศาสตร์ ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง

 ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน  เคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดีขึ้น ในครั้งนั้นรถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาในซอยเพื่อดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสภาพของซอยร่วมฤดี เป็นซอยขนาดเล็กในใจกลางเมืองใหญ่ มีความกว้างของถนนเพียงรถยนต์วิ่งไปได้กลับ 2 เลน เท่านั้น ทำให้รถดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่ เข้าไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังเป็นภาพของความหวาดกลัว และวิตกกังวลถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้อยู่อาศัยภายในซอยร่วมฤดีจวบจนปัจจุบันจนกระทั่งในปี 2548 เริ่มมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวน 2 อาคาร โดยมีอาคารที่มีความสูง 18  ชั้น ของบริษัท ลาภประทาน และ อาคารที่มีความสูง 24 ชั้น ของบริษัท ทับทิมทร  ของบริษัทเอกชน ขึ้นบริเวณปากซอยร่วมฤดี 2 ภายในซอยร่วมฤดี  โดยอ้างเอกสารการรับรองความกว้างของถนนว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างของถนน 10 เมตรตลอดแนวของสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งต่อมาชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบเขตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าวจึงขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535  ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แต่การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินการต่อไป เมื่อการร้องเรียนไม่เป็นผล กลุ่มผู้ร้องเรียน โดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก 24 คน ได้มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง  ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้นำเสนอแล้วพิจารณาเห็นว่า ซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ซึ่งได้ทำการรังวัดรังวัดสอบเขตทางตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จึงได้มีคำสั่งพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ ผู้อำนวยการเขตปุทมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่คู่กรณีทั้งสามฝ่ายอุทธรณ์และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557  ศาลปกครองสูงสุดออกอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชาบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด คือ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า     " คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว  และแม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยาวนานกว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ท้ายที่สุดอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"    นายแพทย์สงคราม  ทรัพย์เจริญ   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ การที่กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 หมอผ่าตัดผิดพลาด ต้องรับผิดชอบ !

คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างที่ผู้เขียนอยากจะเผยแพร่ เพื่อให้เห็นถึงการวินิจฉัยและการใช้กฎหมายที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอย่างแท้จริง...เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 นางกรวรรณ ได้ไปโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ด้วยอาการปวดท้องมาหลายวัน แต่อาการไม่ดีขึ้น เบื้องต้นแพทย์เวรได้ตรวจโดยการเอ็กซ์เรย์ปอดและเจาะเลือดพร้อมสังเกตอาการไปด้วย  ต่อมา นายแพทย์ ก. แพทย์ประจำแผนกสูตินรีเวช ผู้ทำการรักษาได้ตรวจนางกรวรรณด้วยวิธีใช้มือกดที่บริเวณท้องและแจ้งว่าน่าจะเป็นเนื้องอกขนาดใหญ่มาก จึงรีบดำเนินการผ่าตัดโดยด่วนโดยไม่มีการตรวจอัลตราซาวน์ก่อน  ภายหลังการผ่าตัดโดยเปิดหน้าท้องปรากฏว่านางกรวรรณ ตั้งครรภ์ มิใช่ก้อนเนื้องอกตามที่ นายแพทย์ ก. คิดไว้ จึงได้เย็บแผลผ่าตัดให้ปิดดังเดิม หลังจากนั้นนายแพทย์ ข. ผู้ทำการร่วมตรวจได้ส่งตัวนางกรวรรณไปฝากครรภ์ต่อที่โรงพยาบาลภูมิพลต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 อีกครั้ง ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอดเนื่องจากรกเกาะต่ำและเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ประกอบกับนางกรวรรณป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง นายแพทย์ ข. ผู้ทำการรักษาและคณะได้ร่วมกันตรวจวินิจฉัยและตัดสินใจต้องผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดพบว่าทารกในครรภ์ได้เสียชีวิตแล้ว ส่วนนางกรวรรณเสียเลือดมาก แต่คณะแพทย์ที่ทำการผ่าตัดได้ช่วยกันจนห้ามเลือดไว้และเฝ้าดูอาการจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย...คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ โดยนายวิเชียร หนูมา สามีผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ นายแพทย์ ก. เป็นจำเลยที่ 1 และ นายแพทย์ ข. เป็นจำเลยที่ 2 และโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เป็นจำเลยที่ 3  ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 3557/2555  ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ระหว่างพิจารณาคดี คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบหักล้างกัน  ต่อมาศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้วจึงมีคำพิพากษา ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ศาลเห็นว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ได้ทำการรักษานางกรวรรณอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นางกรวรรณถึงแก่ความตาย ดังนั้นเมื่อ นายแพทย์ ก และ ข. ในฐานะ จำเลยที่ 1 ที่ 2  ไม่มีความผิด  โรงพยาบาลนวมินทร์  9 จำเลยที่ 3  จึงไม่มีความผิดด้วย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์  ประการแรกว่า นายแพทย์ ข. จำเลยที่ 2 ที่ผ่าตัดครั้งที่ 2  ต้องรับผิด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีพยานบุคคลนายแพทย์ผู้ร่วมทำการผ่าตัดมาเบิกความประกอบกันว่า นางกรวรรณ ผู้ตายได้เข้ามารักษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอด นายแพทย์ ข. จึงต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน ซึ่งการผ่าตัดต้องเสียเลือดมาก ผลการผ่าตัดพบว่าทารกเสียชีวิตแล้ว เมื่อล้วงคลอดรกพบว่ารกเกาะทะลุมดลูก จึงต้องตัดมดลูกที่ทะลุออก และยังพบว่ารกยังเกาะอยู่กับอวัยวะใกล้เคียงและเลือดออกมาก จึงให้ศัลยแพทย์เข้าร่วมผ่าตัดด้วย ทั้งที่กระเพาะปัสสาวะ ผนังอุ้งเชิงกราน เมื่อเลาะรกออกแล้วมีเลือดซึมออกไม่หยุด จึงห้ามเลือด เย็บบาดแผลปิดหน้าท้อง และเฝ้าดูอาการ  แต่ผู้ตายยังมีเลือดออกมาก แพทย์จึงให้เลือดและยาตามอาการ จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย ดังนั้นการเสียชีวิตของผู้ตายจึงเป็นไปตามพยาธิสภาพ นายแพทย์ ข. ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจและรักษาแล้วประการที่สอง โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า นายแพทย์ ก. จำเลยที่ 1 ที่ผ่าตัดครั้งแรก ต้องรับผิดด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ได้ว่า การผ่าตัดในครั้งที่ 2 โดยนายแพทย์ ข. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอดของผู้ตายเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการกระทำของนายแพทย์ ก. ที่ผ่าตัดครั้งแรก แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า นายแพทย์ ก. จะมีส่วนประมาทในการตรวจรักษาผ่าตัดผู้ตายในครั้งแรก แต่ก็ยังฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. กระทำโดยประมาทเป็นเหตุนางกรวรรณถึงแก่ความตาย เนื่องจากการผ่าตัดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 กับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากเป็นเหตุการณ์คนละช่วงคนละตอนไม่เกี่ยวกันอย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค การพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 39 ที่บัญญัติว่า “ ...ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ก็ตาม…”และมาตรา 42  ที่บัญญัติว่า ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร...”ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว สรุปได้ว่า  แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความอ้างว่ามีแพทย์เวรเป็นคนตรวจเบื้องต้นตอนแรกก่อนจะมาถึงตน  แต่จำเลยที่ 1 ก็ทำเพียงแค่ซักถามประวัติผู้ตายเบื้องต้นว่าทำหมันมาแล้ว ทั้งที่ทราบดีว่าการทำหมันแล้วก็มีโอกาสหมันหลุดได้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ตรวจผลเอ็กซ์เรย์เอง ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและยอมรับว่าแพทย์ทางรังสีวิทยาจะเป็นผู้อ่านผลเอง แต่เนื่องจากการเอ็กซ์เรย์ของผู้ตายทำในเวลากลางคืนและจะทราบผลการอ่านของแพทย์รังสีวิทยาตอนเช้าดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เพียงตรวจดูผลจากการวินิจฉัยของแพทย์เวรที่ตรวจเบื้องต้น และซักประวัติโดยไม่ตรวจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าก้อนเนื้อที่พบนั้นจะเป็นทารกหรือไม่  อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังยอมรับว่าการตรวจการตั้งครรภ์สามารถทำด้วยวิธีง่ายๆ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำ กลับรีบผ่าตัดผู้ตายในคืนเดียวกับที่เข้ามาตรวจ  ซึ่งผลการผ่าตัดของจำเลยที่ 1 ไม่พบเนื้องอกที่รังไข่ แต่พบทารกที่มีอายุครรภ์ 16 – 18 สัปดาห์ มีอวัยวะครบ ซึ่งมีส่วนของกระดูกและหัวใจของทารกเต้นแล้ว  ซึ่งการวินิจฉัยที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 จึงมีผลทำให้ผู้ตายต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ของจำเลยที่ 3 ดังนั้นความเสียหายแก่ร่างกายของผู้ตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้แม้โจทก์จะไม่ได้เรียกร้องมาในคำขอบังคับก็ตาม ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39ส่วนค่าเสียหายนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า  ภายหลังการผ่าตัดที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 3 เคยเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000  บาท แต่โจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อโจทก์เคยเรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท ประกอบกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้ตาย จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายข้างต้นอีก 300,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 500,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลที่ผู้ตายเข้าใช้บริการและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่นั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไปคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีสิทธิที่จะขออนุญาตศาลเพื่อฎีกา หากมีความคืบหน้าผู้เขียนจะนำมาบอกกล่าวให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบอย่างแน่นอน ....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 ผ่าตัดเกินพอดี

นิตยามีอาการปวดใต้ลิ้นปี่ ไปเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แพทย์ตรวจพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี จึงทำการผ่าตัดออก และนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 6 วันแพทย์จึงให้กลับบ้าน แต่เมื่อกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ เกิดอาการผิดปกติตัวเหลืองตาเหลืองไม่มีแรง นิตยาจึงเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิอีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่ และแจ้งว่าหากอาการผิดปกติยังไม่หายจะส่งตัวผู้ร้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชจากนั้นจึงให้เธอกลับไปรอดูอาการที่บ้าน“อาการของดิฉันรู้สึกแย่ลงมาก ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น อีกประมาณ 10 วัน หมอนัดตรวจอาการ แต่เป็นหมอคนใหม่บอกว่ามารักษาแทนหมอคนเดิมที่ทำการผ่าตัด ดิฉันบอกกับหมอที่มารักษาแทนว่า หมอคนเดิมบอกว่าถ้าพบสิ่งผิดปกติจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วทำไมถึงเงียบ หมอถามว่า หมอคนเดิมบอกแบบนั้นหรือ ดิฉันก็ตอบว่าใช่ค่ะ แล้วคุณหมอท่านนั้นก็บอกว่าผมจะส่งคุณไปเอง”นิตยาถูกทำเรื่องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อมา แต่ก็พบปัญหาว่าผลเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งมานั้นดูผลได้ไม่ชัดต้องเอ็กซเรย์ใหม่ แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าเอ็กซเรย์เองหากจะให้ศิริราชดำเนินการ     นิตยาจึงต้องย้อนกลับไปติดต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ซึ่งได้แจ้งให้เธอไปเอ็กซเรย์กับโรงพยาบาลในเครืออีกแห่งแล้วถึงได้นำผลเอ็กซเรย์ไปให้โรงพยาบาลศิริราชวินิจฉัยทำการรักษาต่อไปนิตยาใช้เวลาในการเดินเรื่องขั้นตอนนี้กว่า 2-3 เดือน ขณะที่สภาพร่างกายแย่มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะได้รับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรงพยาบาลศิริราช“ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า การผ่าตัดครั้งนี้ต้องตัดไส้มาเย็บต่อน้ำดี เนื่องจากว่าท่อน้ำดีถูกตัดสั้นจนเกินไป(จากการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมา) เลยทำให้การเย็บต่อก่อให้เกิดการตีบตันของทางเดินเลือด จึงเป็นสาเหตุทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลดจาก 55 เหลือ 44 กิโลกรัม” ปัญหาจากการผ่าตัดครั้งแรกทำให้น้ำหนักตัวของนิตยาลดลงถึง 11 กิโลกรัมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากตัวเหลืองก็กลายเป็นดำและคันตามตัวเป็นอย่างมากและตาก็เหลืองมากขึ้น ด้วยร่างกายที่อ่อนแอลงทำให้เธอไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ขณะที่ต้องรับภาระส่งลูกเรียกระดับ ปวช. ส่งค่าบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารก่อให้เกิดหนี้สินมากมายเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงรักษาตัวและทำการผ่าตัด ทำให้นิตยาต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ภายหลังการยื่นเรื่องตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยาได้รับพิจารณาเงินช่วยเหลือจำนวน 50,000 บาท  ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในครั้งแรก ได้รับคำร้องเรียนของนิตยาและรับที่จะรับผิดชอบเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลได้ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาลไว้กับบริษัทประกันภัย ในที่สุดนิตยาได้รับการพิจารณาเยียวยาความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติโดยมิต้องดำเนินการฟ้องร้องให้เป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กสทช. ออกคำสั่งห้ามตัดสัญญาณบัตรเติมเงิน

หลังจากรอให้เกิด กสทช. มานานเกือบ 15 ปี วันนี้มีแล้ว และได้เริ่มปฏิบัติงานมาแล้วเกือบ 5 เดือน อาจถือได้ว่าเป็นช่วงทดลองงาน ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่ กสทช.ยังชุลมุนอยู่กับ การจัดทำแผนแม่บท ทั้งเขียนทั้งรับฟัง เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนแต่ในช่วงชุลมุนนี้ กสทช.ก็ยกมาเป็นข้ออ้างในการชะลอการบังคับใช้ประกาศของ กทช.เดิมไม่ได้(ยกเว้นกสทช.มีประกาศในเรื่องเดียวกันที่ดีกว่าออกมาบังคับใช้เสียก่อน) โดยเฉพาะประเด็น การกำหนด ระยะเวลาการให้บริการบัตรเติมเงิน ที่มีเรื่องร้องเรียนกันมาอย่างยาวนาน จนอาจารย์อนุภาพ ถิรลาภ ซึ่งเป็นหน่วยกล้าตายฟ้องคดีนี้ต่อศาล นำไปสู่การมีคำสั่งของศาล ช่วงปลายปี 2554 ให้ กทช.เร่งดำเนินการบังคับใช้ระเบียบของ กทช.ภายใน 90 วัน(หลังจากศาลตัดสินเป็นที่สุด) และคำสั่งดังกล่าวคาบเกี่ยวตั้งแต่ กทช.ที่กำลังหมดวาระ จนมาถึง กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 5 เดือน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ขยับผู้เขียนในนามประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จึงได้ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อเพื่อกระตุ้นให้ กสทช.บังคับใช้(ประกาศ กทช) ซึ่งส่งผลให้ กสทช. นัดให้ผู้ประกอบการและตัวแทนผู้บริโภคเข้ามาหารือกันถึงการแก้ปัญหาการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ในระยะยาว ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีข้อสรุปให้ฝ่ายผู้ให้บริการไปคำนวณต้นทุนและให้หาข้อสรุปร่วมกันภายใน 30 วันหลังจากที่ได้หารือกัน โดยในวันนั้น “กสทช.สุทธิพล ทวีชัยการณ์ พูดชัดเจนว่า ขณะนี้ กสทช.ได้บังคับใช้ ประกาศมาตรฐานสัญญาข้อ 11 แล้วโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินจะไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ ใครจะมาตัดวันเราไม่ได้” นั่นหมายถึงโทรศัพท์แบบเติมเงินทุกเจ้าไม่มีสิทธิตัดการใช้บริการผู้บริโภคได้อีกแล้ว จนกว่าจะมีข้อสรุปร่วมกันใหม่ แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผู้ให้บริการบางเจ้า ยังใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจตัดการให้บริการอยู่ เรื่องนี้ยืนยันเห็นจริงปฏิบัติจริงมากับมือ เหตุมีอยู่ว่ามีคนมาหารือกับผู้เขียนว่า ตนเหลือเงินอยู่ในโทรศัพท์ 400 กว่าบาท แต่โทรออกไม่ได้ โดยมีการแจ้งว่าสาเหตุมาจากผู้ให้บริการว่าวันหมด ผู้เขียนจึงให้น้องโทรประสานไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทนั้น และได้แจ้งว่าบริษัทกำลังละเมิดคำสั่ง กสทช. ที่ห้ามตัดการใช้บริการ ก็ได้คำตอบมาว่า บริษัทได้ทำตามคำสั่ง กสทช.แล้ว โดยไม่ได้ตัดสัญญาณ เพราะเบอร์ดังกล่าว สามารถรับสายเข้าได้ปกติ แต่ไม่ให้โทรออกเท่านั้นเอง(ดูเขาทำ) น้องก็เถียงไปว่า กสทช.ห้ามตัดการใช้บริการทั้งโทรเข้าโทรออก ทำอย่างนี้ก็ขัดคำสั่ง กสทช.อยู่ดี เพราะเงินเรายังมีเราต้องใช้บริการได้ เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับมาอย่างกำปั้นทุบดินว่า หากต้องการโทรออกได้ให้เอาเงินที่เหลือไปแลกวันมาก็จะสามารถใช้บริการได้ปกติต่อไป เจอเข้าไปแบบนี้ผู้ใช้บริการก็ได้แต่มึนไปไม่เป็นว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ผู้เขียนได้แนะนำให้โทรไปร้องทุกข์ที่สายด่วน กสทช. หมายเลข 1200 เพื่อร้องเรียนผู้ประกอบการรายนี้ จนสามารถโทรออกได้ปกติและได้วันฟรีมา 1 ปี เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังอยู่ในระยะเวลาของการหารือจึงยังมิได้ดำเนินการทางกฎหมายหลังจากวันที่ 8 มีนาคม 2555 หากใครถูกจำกัดการใช้บริการด้วยเหตุวันหมด สามารถเดินขึ้นไปบนศาลจังหวัด ขอฟ้องคดีผู้บริโภคได้ทันทีทุกศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อ้อ... หากจะฟ้องนอกจากบริษัทผู้ประกอบการแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือต้องฟ้อง กสทช.ด้วย ในฐานะเป็นองค์กรกำกับ แต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความสามารถกำกับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติการคำสั่งได้ เพราะ กสทช.มีอำนาจสั่งปรับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.ได้ พวกเราผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้องค์กรกำกับทำหน้าที่ มิให้ผู้ประกอบการกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ร้องหมอผ่าตัดทำเสียดวงตา

คุณปภาวี วัย 49 ปี มีอาชีพรับราชการพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง และต่อมาได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ทั้งหมด 4 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 อีก 3 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553คุณปภาวีได้ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดตาทั้งสองข้าง ทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  ผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง “ดิฉันได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง”ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้หลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลยคุณปภาวีบอกถึงสาเหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. รามาธิบดีว่า เนื่องจาก ร.พ.จุฬาลงกรณ์ เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น“ดิฉันจึงไปที่ ร.พ.รามาฯ ซึ่งอยู่ใกล้กัน คิดว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง”ด้วยความที่มีอาชีพเป็นพยาบาลคุณปภาวี มีความเห็นว่าการผ่าตัดที่ ร.พ.รามาธิบดี อาจมีข้อบกพร่อง เช่น“ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์.......ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว” “การผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.จุฬาฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) ดิฉันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่ม”หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า ตามืดบอด คุณปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะทำได้“ดิฉันถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้”หลังจากนั้นคุณปภาวีจึงได้ไปทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เรียกคุณปภาวีเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านไม่มีอำนาจไม่ใช่คณบดี ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้”คุณปภาวีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้รับเดือนละ 2,000 บาท“ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า”“ดิฉันอยากเรียกร้องค่าเสียหายจากทางโรงพยาบาลรามาฯ ไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่” คุณปภาวีทิ้งคำถามสำคัญ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาข้อยุติกรณีร้องเรียน จากการเจรจาในวันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดียินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้ต่อมาในวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาคุณปภาวีพร้อมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตามนัด และรับเงินช่วยเหลือตามจำนวนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย“การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก” คุณปภาวีกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 “อภิสิทธิ์” โดนเก็บค่าตัดไฟ 107 บาท

หากมีคนถามว่า เวลาจ่ายค่าไฟคุณจ่ายค่าไฟวันไหน  หลายคนมักจะตอบโดยไม่ต้องคิด ป้าดโธ่ เงินเดือนมาก็ไปจ่ายเมื่อนั้นล่ะ ไม่เห็นจะต้องคิดให้มากเลย พอคิดแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ มักจะโผล่ไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนกันเป็นแถวแต่กับคุณอภิสิทธิ์ คนเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องบอกว่าก็เพราะไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนนี่แหละ ที่ทำให้ต้องถูกการไฟฟ้าตัดไฟและเรียกเก็บค่าตัดไฟ 107 บาทมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งเตือน “ผมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ อ.แม่แตงครับ”คุณอภิสิทธิ์บอกว่าครอบครัวเป็นบ้านใหญ่ ทำให้ใช้มิเตอร์รวม 3 หม้อ ตอนเย็นอากาศดี ๆ ของวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2552 ระหว่างที่กำลังนำขยะไปทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน สายตาพลันเหลือบไปเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า 2 ใบนอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นหน้าบ้าน หยิบขึ้นมาดูจึงรู้ว่าเป็นของบ้านตัวเอง เลยมองหาอีกใบเผื่อว่าจะตกหล่นเหมือนกันแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบวันรุ่งขึ้นแม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่เพราะเห็นจากบิลค่าไฟ 2 ใบว่าจะครบกำหนดชำระในวันนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์จึงต้องเดินทางไปชำระค่าไฟฟ้าที่มีบิลก่อน 2 หม้อที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง ส่วนค่าไฟฟ้าของหม้อที่ 3 คุณอภิสิทธิ์เคยทราบว่าก่อนจะตัดไฟการไฟฟ้าจะมีใบแจ้งเตือนมาก่อนเพื่อให้รีบไปจ่ายค่าไฟที่ค้างอยู่ภายใน 3 วันทำการ เมื่อหาบิลไม่เจอ ก็คิดว่ายังพอมีเวลาจะหาโอกาสไปจ่ายในวันธรรมดาที่สำนักงานของการไฟฟ้าต่อไป“วันจันทร์ผมติดธุระที่ต้องไปรับ-ส่งญาติที่มาจากต่างจังหวัด กะว่าจะไปชำระเงินหม้อที่ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์” คุณอภิสิทธิ์เล่าถึงแผนที่ได้เตรียมไว้ แผนการของคุณอภิสิทธิ์เกือบสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ตอนเก้าโมงครึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและทำการปลดสายมิเตอร์ออก พร้อมกับยื่นใบเหลืองเหมือนกรรมการฟุตบอลยื่นให้ตอนนักฟุตบอลทำฟาวล์แล้วบอกกับคุณอภิสิทธิ์ด้วยหน้าตาขึงขังว่า ไปจ่ายค่าไฟซะพร้อมเสียค่าต่อมิเตอร์ด้วย 107 บาท ไม่งั้นจะไม่จ่ายกระแสไฟให้   คุณอภิสิทธิ์ที่เป็นคนไม่มีอภิสิทธิ์จึงต้องจ่ายค่าต่อไฟ 100 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7 บาทไปด้วยความชอกช้ำใจ แนวทางแก้ไขปัญหา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ มีคำชี้แจงในกรณีนี้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบว่าด้วยการเงินกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่ากระแสไฟฟ้าและการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยจะมีระยะเวลาเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้า และอ้างว่าจะมีช่วงเวลาการแจ้งเตือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอได้กำหนดอีก  3 วันก่อนการงดจ่ายไฟฟ้า รวมเป็น 10 วัน โดยระเบียบที่ว่านี้มุ่งหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือตัวแทนจุดรับบริการรับชำระเงินได้ภายใน 10 วันนี้ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน 10 วันข้างต้นแล้วผุ้ใช้ไฟฟ้ายังไม่ชำระเงิน พนักงานจะเสนอผู้จัดการไฟฟ้าฯ เพื่อขออนุมัติงดจ่ายไฟฟ้า อย่างช้าไม่เกินวันทำการถัดไปเหตุผลที่มีการตัดไฟและเรียกเก็บเงินกับคุณอภิสิทธิ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ แจ้งว่า คุณอภิสิทธิ์ได้รับใบแจ้งหนี้เมื่อ 21 มกราคม 2552 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าวันที่ 31 มกราคม 2552 ซึ่งการไฟฟ้าฯ ตีความว่าครบ 10 วันแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ไฟไม่ไปชำระค่าไฟภายในกำหนด จึงได้มีการอนุมัติให้งดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 และผู้รับจ้างงดจ่ายไฟฟ้าได้ไปปลดสายมิเตอร์ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 09.30 น. หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์จึงได้ไปชำระค่าไฟพร้อมค่าธรรมเนียมต่อกลับในวันเดียวกัน ในเวลาประมาณ 10.25 น.จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างไปทำการต่อไฟตามปกติในวันนั้นประเด็นนี้ เราเห็นว่าแนวปฏิบัติการตัดไฟและเรียกเก็บค่าต่อไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การไฟฟ้าฯ อ้างว่าในระเบียบได้มีช่วงเวลาการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นอีก 3 วันก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟหากไม่มีการชำระค่าไฟหลังการแจ้งเตือน แล้วการไฟฟ้าฯ ได้ถือวิสาสะนำระยะเวลาของการแจ้งเตือน 3 วันนี้ไปรวมกับระยะเวลากำหนดการจ่ายค่าไฟ 7 วัน แล้วนับต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันเป็น 10 วันรวด โดยที่ไม่เคยมีการส่งเอกสารการแจ้งเตือนจริงๆ ไปให้กับผู้บริโภคเลยซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวงที่ปฏิบัติอยู่ และจากการสอบถามผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ร้องเรียนเข้ามาพบว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในหลายๆ แห่ง ไม่เคยมีการส่งใบแจ้งเตือนมาแต่อย่างใด มีแต่เพียงใบแจ้งหนี้ใบเดียวเท่านั้นดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนมาเป็นหนังสือ การไฟฟ้าฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดไฟกับผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่าต่อไฟกับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปแล้วถือเป็นการเรียกเก็บเงินที่ผิดระเบียบของการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทั้งโดยการเรียกร้องโดยตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >