ฉบับที่ 170 ถั่วงอก

ถั่วงอก คือต้นอ่อนระยะเริ่มงอกของเมล็ดถั่ว แต่คนไทยจะรู้จักมากๆ จาก ถั่วงอกถั่วเขียว เพราะหากินง่าย ราคาไม่แพง กินได้ทั้งดิบและสุก ชาติแรกที่เพาะถั่วงอกมาทำเป็นอาหาร หนีไม่พ้นชนชาติจีน ตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยเริ่มเพาะจากถั่วเหลือง ซึ่งเดี๋ยวนี้คนไทยหลายคนก็นิยมรับประทาน เรียกกันว่า ถั่วงอกหัวโต ถั่วงอกถือเป็นแหล่งอาหารชั้นดีอุดมด้วยวิตามินซีและสารโปรตีน คนไทยจัดถั่วงอกเป็นผัก ทำอาหารได้หลายชนิดโดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวและผัดไท ขาดถั่วงอกไม่ได้เลย ถั่วงอกบ้านเราทำจากเมล็ดถั่วเขียว ซึ่งมีสองชนิดที่นำมาเพาะ คือถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ(ถั่วแขก) แบบผิวมันถั่วงอกที่ได้จะออกเหลืองอ่อนๆ ไม่ขาวเท่าถั่วงอกจากถั่วเขียวผิวดำ ในขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตอนที่ถั่วเริ่มออกรากเล็กๆ บางโรงผลิตจะให้สารเร่งอ้วน คล้ายการใส่ปุ๋ยเพื่อให้ถั่วงอกดูอวบๆ น่ากิน และก่อนนำไปขาย อาจมีการใช้สารฟอกสี เพื่อให้ขาวน่ากินมากขึ้น และพอมาถึงผู้ค้ารายย่อยอาจมีการใช้สารฟอร์มาลีนเพื่อคงความสดให้กับถั่วงอก คนกินจึงอาจเสี่ยงได้รับสารเคมีตกค้าง ถึงจะเสี่ยงแต่ถั่วงอกก็มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะวิตามินบี 12 และวิตามิน ซี พบว่าถั่วและเมล็ดงอกทุกชนิดมีวิตามินซีมากกว่าในรูปที่เป็นเมล็ด 3-5 เท่า หากท่านมีโอกาสเลือก ปัจจุบันมีคนเพาะ ถั่วงอกแบบไร้สารมาขาย กันมากขึ้น หาซื้อไม่ยาก โปรดจงอุดหนุนเพื่อร่วมกำหนดคุณภาพอาหารที่ดี และหากไม่ได้มีธุระอะไรมากเพาะถั่วงอกกินเองขำๆ ก็สนุกดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ขาว ใช่ว่าจะดีเสมอไป

เรื่องทดสอบ 3 คงไม่มีใครที่อยากเสี่ยงกับการปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร โดยเฉพาะกรณีจงใจใส่ลงไปทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภค แต่ผู้ค้าหลายรายก็ยังคง เล่นไม่ซื่อ กับลูกค้าตาดำๆ ดังนั้นจึงต้องมีการเฝ้าระวังอันตรายจากการปนเปื้อนของสารพิษในอาหารอยู่เสมอ ฉลาดซื้อฉบับนี้ ไปเดินสำรวจตลาดแล้วแวะซื้อถั่วงอกกับขิงซอย มาตรวจหาสารฟอกขาว หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยสุ่มตัวอย่างจากตลาดสด 4 แห่ง และซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดบางแค ตลาดคลองเตย ตลาดยิ่งเจริญและตลาดเทวราช ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง คือ คาร์ฟู บางแค โลตัส อ่อนนุช และเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ถั่วงอกสด คนนิยมบริโภคกันมาก เพราะเป็นผักที่นิยมกินกันดิบๆ โดยจะกินเป็นเครื่องเคียงของอาหารคาวชนิดต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ขนมจีนน้ำพริก-น้ำยา ผัดไท ก๋วยเตี๋ยวหลอด หรือนิยมนำมาผัดกับเต้าหู้ ที่เป็นเมนูโปรดของหลายคน ส่วนขิงซอย แม้จะบริโภคในปริมาณไม่มากเท่าถั่วงอกเพราะมีรสเผ็ดร้อน แต่ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เดิมอาจไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเราซื้อกันเป็นแง่งมาปอกเปลือกและหั่นฝอยเอง แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่แม่ค้าที่ต้องใช้ขิงซอยประกอบอาหาร สามารถซื้อแบบซอยสำเร็จรูปแล้ว มาปรุงอาหารได้เลย แน่นอนว่า ขิงนั้นปล่อยไว้สักระยะก็จะมีสีคล้ำดำ จนไม่น่ารับประทาน จึงนิยมนำสารฟอกขาวมาผสมเพื่อให้ขาวเรียกความสนใจได้นานๆ ผลทดสอบจากการทดสอบ สินค้าที่เป็นแบรนด์ของห้าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาว ทั้งในถั่วงอกและขิงซอย แต่แบรนด์ที่ไม่ใช่ของห้างแต่นำมาวางขายในห้าง คือ ถั่วงอกยี่ห้อ วีพีเอฟ ซึ่งเก็บจากเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาวหรือ ซัลเฟอร์ไฮดรอกไซด์ 11.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่ยี่ห้อ วีพีเอฟที่เก็บตัวอย่างจาก คาร์ฟู บางแค ไม่พบการปนเปื้อน ในส่วนของขิงซอย ที่พบมากน่าเป็นห่วงคือ ขิงซอยจากตลาดยิ่งเจริญ พบสารฟอกขาว 204.58 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ ขิงจากตลาดเทวราช พบ 48.45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม กินถั่วงอก ขิงหั่นฝอยให้หายห่วง 1.ซื้อถั่วงอก ขิงซอย ที่ไม่ดูขาวจนเกินไป ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะขิงซอย เมื่อไม่มีเปลือกมันจะมีสีคล้ำตามธรรมชาติเนื่องจากการสัมผัสกับอากาศ ถ้าขาวก็ถือว่าผิดปกติ ส่วนถั่วงอก ตามธรรมชาติ เมื่อเด็ดหางออกบริเวณที่มีรอยฉีกขาดจะมีสีคล้ำขึ้น 2.ถั่วงอก ถ้าให้ล้างพิษจากสารฟอกขาวได้เด็ดขาด ต้องลวกในน้ำเดือด เพื่อที่จะทำลายสารตกค้าง 3.หาโอกาสเพิ่มทางเลือก ด้วยการปลูกหรือเพาะถั่วงอกเอง เพื่อรับประทานภายในครัวเรือน ผลทดสอบ ถั่วงอก สถานที่เก็บตัวอย่าง สารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์)มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตลาดบางแค ไม่พบ ตลาดคลองเตย ไม่พบ โฮม เฟรช มาร์ท (เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) ไม่พบ ถั่วงอก วีพีเอฟ (ห้างคาร์ฟู บางแค) ไม่พบ ตลาดเทวราช 3.79 ตลาดยิ่งเจริญ 5.79 ถั่วงอก วีพีเอฟ (จากเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) 11.47 ผลทดสอบ ขิงหั่นฝอย สถานที่เก็บตัวอย่าง สารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตลาดบางแค ไม่พบ ตลาดคลองเตย ไม่พบ ซีโอเอฟ (เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) ไม่พบ ซีโอเอฟ (คาร์ฟู บางแค) ไม่พบ เทสโก ไฮจีนิก (โลตัส อ่อนนุช) ไม่พบ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ไม่พบ ตลาดเทวราช 48.45 ตลาดยิ่งเจริญ 204.58 สารฟอกขาว เป็นสารเคมีที่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตอาหารหลายประเภท ทั้งในอาหารที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้ใส่สารฟอกขาว โดยพบการตกค้างในปริมาณสูงในอาหารหลายชนิด จึงถูกจัดเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ต้องมีการเฝ้าระวังในการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างใกล้ชิด สารฟอกขาวที่นิยมใช้ในอาหารบ้านเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของสารประกอบซัลไฟต์ ซึ่งเป็นชื่อรวมของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเกลืออนินทรีย์ของกรดซัลฟูรัสซึ่งแตกตัวให้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าความปลอดภัยต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันของสารกลุ่มนี้ไม่ควรบริโภคเกิน 0.7 มิลลิกรัมซัลเฟอรไดออกไซด์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน และประเทศไทยได้อนุญาตให้สารซัลไฟต์เป็นสารฟอกขาวใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท เช่น การผลิตน้ำตาล วุ้นเส้น เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ลูกเกด และอาหารทะเลเยือกแข็ง เป็นต้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point