ฉบับที่ 165 ทรายสีเพลิง : ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

กล่าวกันว่า ทุกครั้งที่สังคมมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง มักจะปรากฏให้เห็นภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือที่เรียกกันว่า “ชนชั้นนำ” ที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ เพื่อฉายให้เห็นภาพรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม และความขัดแย้งที่ปะทุกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เก่ากับใหม่เช่นนี้ เราก็อาจจะวินิจวิเคราะห์ได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของตัวละครอย่าง “ทราย” (หรือ “ศรุตา”) กับ “เสาวนีย์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ทรายสีเพลิง” ความขัดแย้งระหว่างทรายกับเสาวนีย์เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นของ “ดวงตา” ผู้เป็นมารดาของทราย ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเด็กหญิงที่ถูกชุบเลี้ยงไว้ในเรือนของ “คุณหญิงศิริ พรหมาตร์นารายณ์” แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณหญิงต้องการผูกมัดดวงตาให้อยู่เป็นข้ารับใช้ตนตลอดไป คุณหญิงจึงรู้เห็นเป็นใจให้ดวงตาคบหาเป็นภรรยาลับๆ ของบุตรชายหรือ “ศก” จนกระทั่งเธอตั้งท้องลูกสาวซึ่งก็คือทรายนั่นเอง และในเวลาเดียวกัน ในวันที่ดวงตาไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ก็เป็นวันเดียวกับที่คุณหญิงศิริวางแผนให้ศกกับเสาวนีย์ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรส เพื่อกำหนดสถานะความเป็นอนุภรรยาให้กับดวงตาที่ต้องอยู่ใต้อาณัติของคุณหญิงและเสาวนีย์ในเวลาต่อมา จากความขัดแย้งตั้งแต่ในรุ่นของมารดา ยังผลให้เกิดความโกรธแค้นในรุ่นของลูกสาว เมื่อทรายเองก็ถูกเสาวนีย์กลั่นแกล้งตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับการกล่าวโทษว่าทรายพยายามจะฆ่าน้องสาวต่างมารดาอย่าง “ลูกศร” ให้ตกน้ำจนเกือบจะเสียชีวิต เป็นเหตุให้สองแม่ลูกมีอันต้องตัดสินใจเก็บกระเป๋า ระเห็จออกจากบ้านตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ไป เมื่อวันเวลาผันผ่าน ทรายที่ไปเติบโตอยู่ในสหรัฐฯ ก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่มั่งคั่งในฐานะทางเศรษฐกิจสังคม เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย เพื่อร่วมงานศพของคุณหญิงศิริ และเพื่อดึงเสาวนีย์ให้กลับเข้าสู่เกมของการแก้แค้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของลูกศรในท้ายที่สุดของเรื่อง   ด้วยพล็อตเรื่องที่กล่าวถึงการกลับมาแก้แค้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่คนรุ่นก่อน แม้ดูผิวเผินจะไม่ใช่เนื้อเรื่องที่ใหม่นักในละครโทรทัศน์บ้านเรา แต่หากเราเชื่อว่าภาพความขัดแย้งดังกล่าว เป็นการฉายให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำในห้วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านแล้ว โครงเรื่องทำนองนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำหรับสังคมไทยในยุคดั้งเดิม หรืออาจเรียกเป็นอีกนัยได้ว่ายุคศักดินานั้น ชนชั้นนำเองก็คงมีทัศนะไม่ต่างจากตัวละครอย่างคุณหญิงศิริหรือเสาวนีย์เท่าใดนัก กล่าวคือ ในสังคมศักดินา อำนาจเกิดแต่บารมีและการบริหารจัดการผู้คนที่อยู่ภายใต้บารมีนั้นๆ ซึ่งก็คล้ายกับคุณหญิงศิริ ที่ด้วยฐานานุรูปและฐานันดรศักดิ์ เธอก็เลือกที่จะขอเด็กหญิงดวงตาจากพ่อแม่ชาวสวนมาอุปถัมภ์เลี้ยงดูจนเติบโต แต่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบศักดินานั้น คุณหญิงได้ใช้กลวิธีซื้อใจให้ดวงตายอมอยู่ใต้อาณัติ ด้วยการส่งเสียให้เธอเรียนพยาบาล เพื่อที่ว่ามารดาของทรายจะยอมสวามิภักดิ์ และ “อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจนพอแรง” โดยไม่สนใจว่าลึกๆ แล้ว มนุษย์ที่เป็นแรงงานภายใต้ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมดังกล่าว จะมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไร แบบเดียวกับที่คุณหญิงเคยกล่าวกับศกเพื่อให้ทรายได้ยินด้วยว่า “ดวงตามันเลี้ยงไม่เชื่อง มันเป็นคนทะเยอทะยาน ถ้ามันไม่รักไม่หวังในตัวลูกอยู่ล่ะก็ มันคงไม่อยู่ให้แม่ใช้จนป่านนี้หรอก แม่ถึงบอกให้...ร้อยมันไว้ใช้เถิด ไม่เสียหายอะไรหรอก...” แต่ทว่า เมื่อสังคมศักดินาเริ่มอ่อนอำนาจลง ทุนทรัพย์ที่ได้สั่งสมมาก็มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาบารมีและฐานานุรูปเอาไว้ เหมือนกับที่ตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ก็ต้องขายสมบัติชิ้นแล้วชิ้นเล่าจนเกือบหมดตัว เพียงเพื่อรักษาสุขภาพ(และหน้าตา)ของคุณหญิงศิริในช่วงบั้นปลายชีวิต ในทางกลับกัน ตัวละครอย่างทรายก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทน “the rise” ของระบบทุนนิยมใหม่ในท่ามกลาง “the fall” ของกลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังร่วงโรยและอ่อนกำลังลง สำหรับชนชั้นนำในระบบทุนนิยมใหม่นั้น มักเน้นการสั่งสมทุนในหลายๆ แบบ เฉกเช่นทรายที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของทุนไทยที่ไปประสานผลประโยชน์กับทุนนิยมตะวันตก (เหมือนตัวละครที่บัดนี้ได้กลายไปเป็นลูกเลี้ยงของนายทุนอเมริกันอย่าง “ดอน”) เท่านั้น เธอยังสั่งสมทุนความรู้จากต่างประเทศด้วยการจบมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ สั่งสมทุนชื่อเสียงเกียรติยศในแวดวงสังคมชั้นสูง รวมถึงบริหารจัดการเสน่ห์และเรือนร่างให้กลายเป็นทุนอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน และในขณะที่ชนชั้นนำเดิมเลือกใช้วิธีการ “ร้อย” คนเอาไว้ใช้เป็นแรงงาน ระบบทุนนิยมแบบใหม่กลับเลือกใช้ทุนเป็นอำนาจเพื่อขูดรีดผู้คนและตอบโต้กับกลุ่มชนชั้นนำเก่า เหมือนกับที่ทรายเคยกล่าวไว้เป็นนัยกับมารดาว่า “แม่บอกทรายเสมอว่าเราสองไม่ต่างจากกรวดหินดินทรายในบ้านเขา แม่ถึงตั้งชื่อทรายว่าทรายเพื่อเตือนใจเรา” เพราะฉะนั้น “…ทรายจะเอาคืนทุกอย่างที่ควรเป็นของทราย” ดังนั้น เมื่อทุนเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งอำนาจ ทรายจึงเริ่มบริหารทุนของเธอ ตั้งแต่ใช้เสน่ห์ยั่วยวน “พัชระ” คู่หมั้นของน้องสาว จนเขาถอนหมั้นกับลูกศรในที่สุด ใช้เม็ดเงินซื้อคฤหาสน์ของตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ในช่วงที่ศกกำลังร้อนเงิน หรือแม้แต่หลอกใช้ผู้ชายที่ภักดีต่อเธอยิ่งอย่าง “ฌาน” เพื่อให้เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมการแก้แค้นกับเสาวนีย์ บนสงครามระหว่างอำนาจเก่ากับกลุ่มทุนใหม่เช่นนี้ ฉากสุดท้ายก็มักจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมของผู้คนที่แม้จะไม่ได้เป็นคู่สงครามในสมรภูมิ แต่ก็มักกลายเป็นผู้สูญเสียด้วยเช่นกัน เฉกเช่นตัวละครอย่างฌาน พัชระ หรือแม้แต่น้องสาวที่ใสซื่อไร้เดียงสาอย่างลูกศรผู้ที่ต้องจบชีวิตลงในตอนท้ายเรื่อง แม้ในบทสรุปของ “ทรายสีเพลิง” ตัวละครต่างๆ จะได้บทเรียนว่า ความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจนั้น จะคลี่คลายได้ก็เพียงแต่ขั้วอำนาจที่ต่อสู้ขัดแย้งกันยินยอมจะ “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” ให้กันและกัน หรือแม้ “บุรี” ผู้ชายที่ทรายแอบรักมาตั้งแต่วัยเยาว์จะกล่าวเป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่า “ชีวิตมันไม่เหมือนจิ๊กซอว์ จะหยิบชิ้นไหนมาต่อผิดต่อถูกโดยไม่ต้องคิดก็ได้ เพราะถึงต่อผิด ก็มีโอกาสเลือกชิ้นใหม่มาต่อ แต่ชีวิต...ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย ไม่มีโอกาสเปลี่ยนมาเริ่มต้นทำใหม่ได้อีกครั้ง” แต่คำถามก็คือ ความขัดแย้งที่เป็นเกมอำนาจในชีวิตจริงนั้น คำว่า “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” จะเป็นคำตอบได้เพียงไร หรือในสงครามของคู่ความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมแบบนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยังเดินหน้าร้องครวญเป็นเพลงต่อไปว่า “ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้...”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point