ฉบับที่ 186 ทะเลไฟ : เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น

    นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เรอเน่ เดการ์ตส์ เคยประกาศคำขวัญคำคมเอาไว้ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันเป็นการวางศิลาฤกษ์ให้กับห้วงสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ว่า “I think, therefore I am” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็น”     สังคมตะวันตกที่ก่อรูปก่อร่างมากับกรอบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เชื่อในหลักการที่ว่า การเข้าถึง “ความจริง” ในชีวิตของมนุษย์ จะเกิดจากการนั่ง “มโน” หรือดำริคิดเอาเองไม่ได้ หากแต่ต้องคิดอย่างแยบคายและมีเหตุผลบนหลักฐานที่จับต้องรองรับได้แบบเป็นรูปธรรมเท่านั้น    ดังนั้น ข้อสรุปของเดการ์ตส์จึงถูกต้องที่ว่า “เพราะฉันคิด” แบบมีหลักการเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และมีหลักฐานอ้างอิงพิสูจน์ได้ “ฉันจึงเป็น” หรือกลายมาเป็น “มนุษย์” ที่มีตัวตนอยู่ตราบถึงทุกวันนี้    แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้นั่งชมละครโทรทัศน์เรื่อง “ทะเลไฟ” อยู่นั้น คำถามแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวสมองก็คือ ตรรกะหรือคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะใช้ได้หรือไม่กับสังคมไทยที่ไม่ได้ผ่านการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มาอย่างเข้มข้นแบบเดียวกับโลกตะวันตก    หาก “ทะเลไฟ” คือภาพวาดที่สะท้อนมาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว ดูเหมือนว่า ความคิดเชื่อมโยงแบบมีเหตุมีผล และความคิดที่ใช้ตรรกะจากประจักษ์พยานหลักฐานมาพิสูจน์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบคิดของตัวละครหลักที่ชื่อ “พศิกา” และ “เตชิน” เท่าใดนัก    ด้วยเพราะผิดหวังในความรักเป็นจุดเริ่มเรื่อง บุตรสาวของปลัดกระทรวงใหญ่อย่างพศิกาจึงตัดสินใจหนีไปทำงานเป็นเลขานุการที่รีสอร์ตบนเกาะไข่มุกของ “อนุพงศ์” ผู้เป็นบิดาของพระเอกเตชิน ก่อนที่อนุพงศ์จะส่งเธอไปเรียนต่อยังต่างประเทศ     อันที่จริงแล้ว เมื่อเริ่มต้นเรื่อง พศิกากับเตชินได้เคยพบเจอกันมาก่อนในต่างแดน และต่างก็แอบชอบพอกัน เพราะประทับใจในตัวตนจริงๆ ที่ได้รู้จักกันในครั้งนั้น แต่ทว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อทั้งคู่มีเหตุให้ต้องกลับมาเมืองไทยโดยไม่ได้ร่ำลา และได้โคจรมาพบกันอีกที่เกาะไข่มุก    กับการพบกันใหม่อีกครั้ง เตชินเกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้หญิงที่เขาแอบรักอย่างพศิกามีสถานะเป็นภรรยาน้อยของบิดาตนเอง กอปรกับการถูกเป่าหูโดยคุณแม่แห่งปีอย่าง “นลินี” ที่หวาดระแวงตลอดเวลาว่า สามีของเธอจะแอบซุกกิ๊กนอกใจเป็นหญิงสาวรุ่นลูกอย่างพศิกา    เพราะหูสองข้างที่ต้อง “หมุนวนไปตามลมปาก” ของมารดา ทำให้เตชินโกรธเคืองพศิกาโดยไม่ต้องสืบสาวหรือค้นหาเหตุผลความเป็นจริงใดๆ มาอธิบาย และกลายเป็นชนวนแห่งความชิงชังในแบบละครแนว “ตบๆ จูบๆ” ที่พระเอกต้องทารุณกรรมนางเอก (แม้จะหลงรักหล่อนอยู่ในห้วงลึก) ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จนสาแก่ใจ    ในขณะเดียวกัน “อันอารมณ์หากเหนือเหตุผล ความแค้นก็แน่นกมล กลายเป็นคนคิดสั้นไปได้” นลินีจึงยังคงติดตามราวี และจ้างวานบุคคลรอบข้างหรือใครต่อใครให้ระราน และลงมือทำทุกอย่างเพื่อเขี่ยพศิกาออกไปจากเกาะไข่มุก และออกไปจากชีวิตของเตชิน ที่ต่อมาภายหลังก็เริ่มมีสติที่จะเรียนรู้ว่า พศิกาอาจไม่ใช่ผู้หญิงร้ายกาจแบบที่มารดาคอยเสี้ยมหูยุแยงเขาอยู่ตลอด    และที่สำคัญ เมื่ออคติเข้ามาบดบังนัยน์ตา คุณแม่ดีเด่นอย่างนลินีจึงมองข้ามข้อเท็จไปว่า บรรดาตัวละคร “บ่างช่างยุ” ที่อยู่รายรอบชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทที่เป็นผู้จัดการแผนกต้อนรับอย่าง “สุดารัตน์” หรือเครือญาติที่สุดารัตน์เอามาช่วยงานอย่าง “สง่า” รวมไปถึงพนักงานในรีสอร์ตคนอื่นๆ อย่าง “ทรงศักดิ์” “นวลพรรณ” “เอกรัตน์” และอีกหลายคน แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ต่างหากที่ไม่เคยหวังดี และเบื้องหลังก็แอบคอร์รัปชั่น พร้อมกับทำลายกิจการเกาะไข่มุก เพราะเคียดแค้นอนุพงศ์มาตั้งแต่ครั้งอดีต    ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและฝังลึกอยู่ในโครงสร้างใหญ่ของสังคม ดูจะไม่ใช่ปัญหาที่เคยเข้ามาอยู่ในสายตาหรือห้วงสำนึกของตัวละครคนชั้นกลางกลุ่มนี้เสียเลย ตรงกันข้าม ปัญหาจุกจิกแบบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือชิงรักหักสวาทต่างหาก ที่คนเหล่านี้สนใจและมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งในชีวิตเสียนี่กระไร    กว่าที่เตชินและนลินีจะค่อยๆ หวนกลับมาเจริญสติ และคิดใคร่ครวญด้วยปัญญา เหตุผล และการใช้หลักฐานต่างๆ พิสูจน์สัจจะความจริง และกว่าที่ทั้งคู่จะพบกับคำตอบจริงๆ ว่า เรื่องราวของพศิกากับอนุพงศ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการ “มโน” และ “ฟังความไม่ได้ศัพท์ แต่ดันจับไปกระเดียด” ขึ้นเท่านั้น เกาะไข่มุกที่อยู่กลางสมุทรก็แทบจะลุกฮือกลายเป็น “ทะเลไฟ” ไปจนเกือบจะจบเรื่อง    หากภาพในละครจำลองมาจากภาพใหญ่ที่ฉายมาจากฉากสังคมจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องเหล่านี้ ก็เผยให้เห็นว่า สำหรับสังคมไทยที่ “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” นั้น “เหตุและผล” ไม่ได้เป็นระบบคิดที่หยั่งลึกในสำนึกของคนไทย เพราะวิธีการได้มาซึ่งความรู้หรือความจริงของสังคมเรานั้น มักจะเป็นแบบ “คิดไปเอง” “เชื่อไปเอง” “มโนไปเอง” หรือแม้แต่ “ฟังเขาเล่าว่าต่อๆ กันมา”     และผลสืบเนื่อง “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” เช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาในสังคมไทยจึงมักเป็นการสาละวนอยู่กับปัญหาแบบปลอมๆ ปัญหากระจุกกระจิก และไม่ใช่แก่นสาระหลักในชีวิตแต่อย่างใด     ในทางตรงกันข้าม การตั้งคำถามเชิงพินิจพิเคราะห์ไปที่ปัญหาแท้จริง ซึ่งฝังรากลึกๆ อยู่ในโครงสร้างของสังคมอย่างปัญหาคอร์รัปชั่น หรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เหล่านี้มักกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม และทิ้งให้ปัญหานั้นยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสืบต่อมา    ก็อย่างที่บทเพลงเพื่อชีวิตเขาเคยกล่าววิจารณ์สังคมไทยในท่ามกลางความสับสนว่า “คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น...”    ตราบเท่าที่ตัวละครอย่างเตชินและนลินียังคง “แพ้ตัวและแพ้ใจ” หรือ “ฝันไกลไปลิบโลก” และตราบเท่าที่สังคมไทยไม่ลองหันมาขบคิดถึง “ความจริง” รอบตัวกันด้วย “เหตุและผล” และเบิ่งตาดู “ความเป็นจริงที่แท้จริง” แล้ว สังคมเราก็คงต้องว่ายเวียน “อับโชค” และตกลงกลาง “ทะเลไฟ” อยู่นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point