ฉบับที่ 242 ตลกร้ายของประเทศนี้

        ไทย ประเทศที่มีผู้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือเฉลี่ย 20,000 คน ต่อปี แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพันธะสัญญากับองค์การอนามัยโลกและนานาชาติว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ตามปฎิญญามอสโกที่กำหนดให้ ปี 2554 - 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ทว่าสิบปีผ่านไปทุกอย่างกลับล้มเหลว และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับสองหมื่นคนไม่ได้ลดลงตามเป้าหมาย         แย่ยิ่งกว่านั้นทิศทางหรือนโยบายของรัฐบาลยังสวนทางกับเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการกำกับบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอีกด้วย  แม้ว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบร้อยละ 70 จะมีสาเหตุจากรถจักรยานยนต์ แต่ภาพรวมของความรุนแรง บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพาหนะทุกประเภทเกือบทั้งหมดล้วนมาจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด         ขณะที่ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมยังส่งเสริมให้คนเข้าถึงความเร็วของถนนได้มากขึ้นกับกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มคิกออฟเส้นทางแรก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทางประมาณ 50 กม.         กฎกระทรวงฉบับนี้มีสาระสำคัญที่กำหนดให้ผู้ขับรถยนต์ใช้ความเร็วบนถนนทางหลวงได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. หากใช้ช่องขวาสุดต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ซึ่งเงื่อนไขของถนนที่จะใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. ประกอบด้วย มี 4 ช่องจราจร ไปกลับสองช่องจราจร เกาะกลางถนนแบบกำแพงและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน โดยต้องเป็นเส้นทางที่ประกาศโดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เท่านั้น         ที่สำคัญกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาท่ามกลางข้อทักท้วงจากนักวิชาการถนนปลอดภัยที่ต่างให้ข้อคิดเห็นว่ากฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ยังไม่ใช่ทางออก และไม่เหมาะสมที่จะประกาศใช้ ชี้ความเร็วคือจุดเริ่มต้นของปัญหาอุบัติเหตุและความรุนแรง อีกทั้งถนนในบ้านเรายังไม่รองรับความเร็ว 120 กม/ชม. ที่มีก็อาจจะมีเพียงทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นเพียงเสียงลมพัดผ่าน เพราะถึงตอนนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว        ส่วนประเด็นความไม่พร้อมของถนนที่นักวิชาการทักท้วงนั้น ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงคมนาคม เพราะมีหลายคนบอกต่อกันว่า “เขาออกกฎหมายมาก่อนแล้วค่อยสร้างถนนตามทีหลัง” ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ภายหลังที่กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. มีผลบังคับใช้ หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ต่างประกาศแผนสร้างถนนรองรับนโยบายความเร็ว 120 กม/ชม. อีกกว่า 25 เส้นทางทั่วประเทศทันที เรียกได้ว่าพร้อมขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงกันเต็มที่         ขณะที่ข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เรื่องความเร็วกับถนนยกตัวอย่างของต่างประเทศจะดูตามสภาพของถนนและกายภาพของถนน โดยจะแบ่งถนนเป็นลำดับชั้น เช่น Freeway เทียบได้กับทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ในบ้านเรา โดยจะต้องเป็นถนนที่มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีทางเข้าออกอื่น ไม่มีจุดยูเทิร์น  ไม่มีรถจักรยานยนต์วิ่ง ต่อมา คือ ถนน Arterial หรือถนนสายหลักเทียบได้กับถนนสายเอเชีย สุขุมวิท มิตรภาพ ที่เป็นถนนแบบมีทางเข้าออก มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีจุดยูเทิร์นกลับรถ ซึ่งในต่างประเทศการกำหนดความเร็วของถนนจะกำหนดตามลำดับชั้นก่อน ถ้าเป็น Freeway ก็จะวิ่งได้ความเร็วสูงกว่าถนนลำดับรอง แต่ก็ดูต้องด้วยว่าถนนเส้นนั้นอยู่ในเขตเมืองหรือนอกเมืองอีกด้วยหรือไม่ ที่สำคัญในต่างประเทศถ้าเป็นถนนฟรีเวย์แบบนอกเมืองที่ไม่ค่อยมีรถวิ่งจะจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ไม่เกิน 110 กม./ชม. และยังไม่เห็นมีประเทศไหนที่กำหนดความเร็ว 120 กม./ชม. เหมือนบ้านเรา         กลับมาที่ถนนสายเอเชียที่เป็นจุดคิกออฟความเร็ว 120 กม./ชม. แม้จะได้รับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐมนตรี แต่กายภาพของถนนสายเอเชียไม่ได้ถูกออกแบบเหมือนถนน Freeway เช่น ทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ ที่มีทางเข้าออกชัดเจน ไม่มีจุดกลับรถ แต่ถนนสายเอเชียโดยปกติ มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีรถขับออกมาจากถนนด้านข้าง ไม่มีแบริเออร์กั้นกลาง หรืออาจจะมีคนเดินข้ามถนน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากความเร็วของรถที่วิ่งไปมาได้         นอกจากนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. ยังส่งผลถึงพฤติกรรมผู้ขับรถยนต์ที่รู้สึกอยากขับรถเร็วขึ้น เพราะเบื่อเลนขวาแต่ขับช้า พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดความคุ้นชินในการขับรถเร็วที่ต่อไปอาจจะไม่อยู่แค่ในเขตเส้นทางที่กำหนดก็เป็นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุต่อไปได้         อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วกฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. อาจจะถูกใจคนขับรถเร็ว และเอาใจรัฐมนตรีที่ประกาศนโยบายไว้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางถนน และยังไม่เห็นถึงข้อดีตามแบบที่รัฐมนตรีคิดไว้  ที่สำคัญรัฐควรตาสว่าง ไม่ควรมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ความเร็วที่ไม่ปลอดภัย แต่ควรส่งเสริมความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมากกว่า เพราะคงเป็นเรื่องตลกขำไม่ออกที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามลดความเร็วลงเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน แต่รัฐบาลประเทศไทยกลับมุ่งมั่นทำให้ทุกคนได้ขับรถเร็วขึ้น มันน่าอายเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >