ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 กระแสต่างแดน

มูลค่าความเขียว        บริษัทด้านไอทีอย่าง facebook  Apple และ Google ต้องใช้พลังงานมหาศาลเพื่อการทำงานของศูนย์ข้อมูล พวกเขาจึงเลือกที่จะตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งผลิตพลังงานทางเลือกได้เหลือเฟือ        รัฐบาลเดนมาร์กเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 400 ล้านโครน (1,900 ล้านบาท) แต่เงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้ลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากฟาร์มกังหันลมในทะเล         และในอนาคตเดนมาร์กอาจมีพลังงานทางเลือกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศและต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานฟอสซิล มีการคาดการณ์ว่าศูนย์ฯ เหล่านี้จะบริโภคร้อยละ 17 ของพลังงานไฟฟ้าในประเทศในปี 2030        พรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล “แบน” ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จนกว่าจะมีกฎหมายที่สร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติมาอาศัยชุบตัวด้วยภาพลักษณ์ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ไปฟรีๆ ด้วยภาษีคนเดนมาร์ก ระวังถูกเท        ธุรกิจที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดในสิงคโปร์ในปี 2018 ได้แก่ธุรกิจความงามและสุขภาพ สมาคมผู้บริโภคของสิงคโปร์(CASE) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 30         กว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียน 1,829 เรื่อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องถูกลอยแพโดยธุรกิจที่ปิดตัวกะทันหัน และผู้ที่ถูก “หลอกขาย” หรือทำให้เข้าใจผิดเรื่องค่าบริการ        ตัวอย่างเช่น มูลค่าความเสียหายจากการปิดกิจการของแฟรนไชส์ร้านนวด Traditional Javanese Massage Hut อยู่ที่ 200,000 เหรียญ(4.7 ล้านบาท)        อีกกรณีหนึ่ง ผู้บริโภคถูกหลอกให้เซ็นใบเรียกเก็บค่าบริการ 2,800 เหรียญ(66,000 บาท) ขณะสาละวนสวมเสื้อผ้าหลังรับบริการที่เข้าใจว่ามูลค่าเพียง 28 เหรียญ        สมาคมสปาและสุขภาพของสิงคโปร์บอกว่า ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงและมีต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างมาก แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ประหยัดผิดจุด         ทางการเยอรมนีตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกหลายร้อยคันแอบใช้ตัวช่วย “ปิด” ระบบบำบัดไอเสียเพื่อลดต้นทุน         จากรถบรรทุก 13,000 คันที่ตรวจสอบ เขาพบ “ความผิดปกติ” 300 คัน และจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  เขาพบ “รถผิดปกติ” ถึง 132 คัน ที่น่าตกใจคือมีถึง 84 คันที่ผิดพลาดโดยจงใจ           การติดตั้งอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋วและการใช้ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนยากแก่การตรวจจับ ทำให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงหนึ่งในสามของต้นทุนการวิ่งรถตามมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6         อุปกรณ์ที่ว่านี้บ้างก็หลอกซอฟท์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ให้เข้าใจว่าคาตาแลคติกคอนเวอร์เตอร์ยังทำงานอยู่ บ้างก็ขึ้นผลอุณหภูมิหลอกๆ เพื่อปิดระบบการบำบัดไอเสียที่อุนหภูมิต่ำกว่า -11 เซลเซียส         เมื่อระบบถูกปิด รถเหล่านี้จึงสามารถปล่อยมลพิษออกมาได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนไดออกไซต์ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดระวังติดไฟ        หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ที่เมืองฟุกุชิมะ คนญี่ปุ่นเริ่มหันมานิยมใช้หลอดไฟ LED กันมากขึ้นเพราะประหยัดไฟและใช้ได้นานกว่า        แต่สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับหลอดดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  สิบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 328 ครั้ง และมักเกิดขึ้นขณะที่ทำการเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากหลอดแบบฟลูโอเรสเซนท์มาเป็นหลอด LED หรือเปลี่ยนหลอดไฟ LED หลอดใหม่        โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเต้าเดิมเป็นแบบที่ปรับความสว่างได้ หลอด LED จะร้อนจัดจนเกิดควันหรือเกิดไฟลุกขึ้นได้ จาก 328 ครั้ง มีถึง 23 ครั้งที่ทำให้เกิดไฟไหม         สำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นจึงออกประกาศเตือนและเรียกร้องให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้ดีว่าควรใช้กับขั้วแบบไหนและย้ำว่าหากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับทางร้านก่อนลงมือเปลี่ยน ขอใบเสร็จด้วย        สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนเรียกร้องให้บริการไฟแนนซ์รถมีความโปร่งใสมากขึ้นและบรรดาตัวแทนขายรถควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น        ที่ผ่านมาพบการอุปโลกน์ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มยอดหนี้ บางเจ้าบังคับให้ผู้บริโภคซื้อประกันรถยนต์โดยไม่ออกใบเสร็จ และบางเจ้าก็เรียกเก็บ “ค่าบริการ” ซึ่งผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นค่าบริการอะไร เพราะไม่ได้รับใบเสร็จ           สมาคมฯ ย้ำว่าตัวแทนจำหน่ายมีหน้าที่จัดหาสินค้ามีคุณภาพ และหากไม่ปฏิบัติตามและไม่แสดงความรับผิดชอบก็ควรได้รับโทษตามกฎหมาย        ก่อนหน้านี้มีสาวจีนโพสต์บอกชาวเน็ตว่ารถเบนซ์ CLS300 ที่เธอเพิ่งจะซื้อเมื่อปลายเดือนมีนาคมมีปัญหาเครื่องยนต์แต่ตัวแทนขายไม่สามารถขอเงินคืนหรือขอเปลี่ยนรถได้        เธอคนนี้ก็โดนเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียม” ลึกลับ ไป 15,000 หยวน(71,000 บาท) เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 โซล่าร์เซลล์.......เหมาะกับสังคมคนไทยจริงหรือ

เราอาจจะไม่ต้องเกริ่นนำให้ยืดยาวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องประหยัดพลังงานและหาพลังงานทดแทนมาเพื่อสอดรับกับเรื่องวิกฤติพลังงาน  เพราะจากข้อมูลทางสถิติบอกว่า  นับแต่ประมาณปี 2543 เป็นต้นมา อัตราความสำเร็จในการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ดิ่งลงอย่างสม่ำเสมอ และคาดว่าเมื่อถึงปี 2050 จะไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่อีกต่อไปแล้ว   มาใช้พลังงานทางเลือกกันเถอะ ปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้หรือปัญหาน้ำมันแพง เป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับการหันมาเลือกใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยทั้งเราและโลกให้ดำรงอยู่แบบไม่ลำบากในภายภาคหน้านัก พลังงานทางเลือก หรือ พลังงานหมุนเวียน ซึ่งหมายถึงพลังงานที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรรอบตัวที่ไม่มีวันหมด เช่น สายลม แสงแดด สาบน้ำ เศษอาหาร มูลสัตว์ ชานอ้อย แกลบ ฯลฯ จึงถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนพลังงานกระแสหลักทุกวันนี้ ถ้าถามว่า ทำไมเราต้องหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน คำตอบก็คือ เพราะต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนมีลักษณะยิ่งทำยิ่งถูก   เพราะมีค่าใช้จ่ายหลักคือการลงทุนตอนต้น หลังจากนั้นวัตถุดิบล้วนแต่หาได้รอบตัวในราคาถูก หรือไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่นเมื่อติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าแล้ว นอกเหนือจากค่าตรวจสภาพ ซ่อมบำรุง ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสายลมจัดการต่อ   ส่วนพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติที่มีเหลือเฟือและเหมาะกับบ้านเมืองเรามากที่สุดก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์   พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาเป็นการใช้พื้นที่หลังคาบ้าน อาคารธุรกิจ หรือโรงงาน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งส่วนที่อยู่บนหลังคา ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำหน้าที่รับแสงอาทิตย์และเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง ไฟฟ้าที่ได้จะเป็นกระแสตรง (Direct Current) ซึ่งจะถูกส่งมายังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าหรือ Inverter ที่ติดตั้งอยู่ภายในบ้าน เพื่อเปลี่ยนกระแสไฟตรงให้เป็นกระแสสลับ (Alternate Current) ที่สามารถนำมาใช้งาน ได้เหมือนกับกระแสไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ตามปกติ ไฟฟ้าที่ผลิตได้และผ่าน Inverter แล้วจะสามารถขายให้แก่การไฟฟ้าได้ทั้งหมด โดยได้รับราคาตามมาตรการ FiT ที่ภาครัฐกำหนด คือ •          ขนาดเล็กสำหรับที่พักอาศัย ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.96บาทต่อหน่วย •          ขนาดกลาง มากกว่า 10 กิโลวัตต์ และไม่เกิน 250 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.55 บาทต่อหน่วย •          ขนาดมากกว่า 250 กิโลวัตต์ และไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.16 บาทต่อหน่วย ข้อดีของการผลิตไฟฟ้า ณ ที่มีการใช้แบบนี้คือ จะช่วยลดการสูญเสียไฟฟ้าในระบบจำหน่ายได้ และเป็นการทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีความสะอาดไม่ก่อให้เกิดมลพิษ   ตัวอย่างการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย ในปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนของไทยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เฉพาะที่ภาคอีสาน พบว่า มีศักยภาพสูง  ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ รวมทั้งการที่ชาวบ้านสามารถมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาพลังงาน ตัวอย่าง ที่ยโสธร มีการนำพลังงานลม ที่ได้จากกังหันลมมาช่วยลดต้นทุนการผลิต และสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร จนการทำไร่ทำนาสามารถทำได้ทุกฤดูกาลไม่ต้องรอฟ้ารอฝน รวมทั้งที่สุรินทร์  นำน้ำเสียจากโรงงานขนมจีน หรือมูลสัตว์ มาผลิตแก๊สชีวภาพในชุมชน เป็นต้น     โซล่าร์เซลล์ช่วยเราประหยัดอย่างไร ข้อมูลการเปรียบเทียบให้เห็นการลงทุน+การคุ้มทุน+การประหยัดพลังงาน ฯลฯ ตาราง  GZTH-PV Price Guide for FIT Program 13-09-13 เครดิต คุณสุทัศนา กำเนิดทอง บ.เกร็นโซน(ประเทศไทย) จำกัด   SOLAR PV PRICE GUIDE FOR THAI FIT PROGRAM 13th September, 2013 ขนาดของระบบ พื้นที่ติดตั้ง(ตรม.) PERFORMANCE MULTIPLIER FIT Rate ( บาท ) กำลังการผลิตเฉลี่ยต่อปี(kwh) รายได้เฉลี่ยต่อปีจาก FIT (บาท) ค่าติดตั้ง(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จุดคุ้มทุน(ปี) 2 20 3.9 6.96 2,847 19,815 168,000 8.48 3 30 3.9 4,271 29,723 246,000 8.28 5 50 3.9 7,118 49,538 405,000 8.18 10 100 3.9 14,235 99,076 800,000 8.07 20 200 3.9 6.55 28,470 186,479 1,560,000 8.37 50 500 3.9 71,175 466,196 3,850,000 8.26 75 750 3.9 106,763 699,294 5,550,000 7.94 100 1000 3.9 142,350 932,393 7,000,000 7.51 150 1500 3.9 213,525 1,398,589 10,200,000 7.29 200 2000 3.9 284,700 1,864,785 13,200,000 7.08 250 2500 3.9 6.16 355,875 2,192,190 16,000,000 7.30 500 5000 3.9 711,750 4,384,380 30,000,000 6.84 1000 10000 3.9 1,423,500 8,768,760 55,000,000 6.27 สรุปจากตาราง .....จะพบว่า บ้านที่ติดตั้งระบบโซล่าร์ รู๊ฟ ในพื้นที่ขนาด  30 ตร.ม. ขนาด 3 กิโลวัตต์ เงินลงทุน 246,000 บาท ได้ไฟ 4,271 หน่วย/ปี ขายไฟฟ้าได้ประมาณ 29,723 บาท/ปี เพราะฉะนั้นคืนทุนใน 8.28 ปี   โปรแกรมการคำนวณอย่างง่ายสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โปรแกรมการคำนวณอย่างง่ายสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ คือ โปรแกรมที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน  พัฒนาขึ้นสำหรับผู้สนใจเรื่องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ บ้านพักอาศัย, อาคารธุรกิจขนาดเล็ก และ อาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ หรือโรงงาน ขนาดตามที่ระบุไว้ข้างต้น ที่ขายไฟฟ้าได้ตามมาตรการ FiT ของภาครัฐ โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกตั้งต้นการคำนวณได้ทั้งจากพื้นที่ในการติดตั้งที่มีอยู่ หรือกำลังการติดตั้งที่ต้องการ และเลือกชนิดของแผงเซลล์และราคาระบบที่สามารถจัดซื้อได้ต่อ 1 กิโลวัตต์ และกดคำว่าคำนวณ ผลจากการคำนวณจะได้ทราบข้อมูลดังนี้ •          เงินลงทุนระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมดที่ต้องจ่าย •          พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปี •          จำนวนเงินที่ขายไฟฟ้าได้ต่อปี •          จำนวนปีที่คืนทุน เพื่อให้รู้ว่าท่านจะคุ้มทุนในกี่ปี สามารถดาวน์โหลดได้ที่http://www.ces.kmutt.ac.th/pvroof/index.php สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ โทร 02 223-0021 ต่อ 1246 คุณกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพร.   การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กระทรวงพลังงาน ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.)  ได้มีมติรับทราบมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2556 เห็นชอบให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Rooftop PV System) โดยมีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของแผงโฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Panel) รวม 200  MWp จำแนกเป็น 100 MWp สำหรับอาคารประเภทบ้านอยู่อาศัย และอีก 100 MWp สำหรับอาคารประเภทธุรกิจและโรงงาน ทั้งนี้ ให้มีการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายในปี 2556 ด้วยอัตราการรับซื้อแบบ Feed-in Tariff ระยะเวลาการสนับสนุน 25 ปี โดยมีช่วงระยะเวลาการยื่นคำขอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2556 ถึง วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556 ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดทำการของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (รวม 15 วันทำการ) ระหว่างเวลา 9.00 น. – 15.00 น. อนึ่ง ผู้ที่ประสงค์จะจำหน่ายไฟฟ้าประเภทอาคารบ้านอยู่อาศัยสามารถยื่นคำขอในแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 10 คำขอ และประเภทอาคารธุรกิจ/โรงงานสามารถยื่นคำขอในแต่ละครั้งได้เพียง 1 คำขอ โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะพิจารณาแบบคำขอและประกาศผลการตอบรับซื้อไฟฟ้าบน Website ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ข้อสังเกต ระเบียบการยื่นคำร้องมีรายละเอียดปรากฏที่เว็ปไซต์ของกระทรวงพลังงาน มีข้อสังเกตว่า ใบสมัครมีความซับซ้อน เข้าถึงยาก แม้คนที่จบทางด้านวิศวกรรมมายังใช้เวลานานในการกรอกข้อมูล นอกจากนี้หากผู้บริโภคทำเรื่องขออนุญาตด้วยตนเองจะยากและใช้เวลามากกว่าการขอผ่าน บริษัทตัวแทนจำหน่ายโซล่าร์เซลล์  เช่น การขอใบรับรอง รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น     ความจริง เรื่องขายไฟฟ้าของประชาชนกับการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์ด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ตัวอย่างในต่างประเทศที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างเยอรมัน เดนมาร์กก็ทำปกติ คือใช้แผงของตัวเองเลยถ้าเหลือก็ขายได้แต่เน้นเอามาใช้ในครัวเรือนก่อน หรือบางทีเขาเรียกเป็นมิเตอร์ 2 ทาง คือขายไปกับเข้ามาแต่ว่าหักลบกันก่อนแล้วค่อยไปคิดเงินกัน ของบ้านเรานั้นมิเตอร์ 2 ตัวไม่ใช่มิเตอร์ 2 ทางที่เรียกมิเตอร์ 2 ตัวคือตัวหนึ่งขาย ตัวหนึ่งซื้อ ประเทศเพื่อนบ้านเราที่ทำที่ใกล้ที่สุดก็ญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นไม่ค่อยเยอะนักประเทศเราก็ทำได้ดีแล้วแต่ว่าเสียดายที่มันมาติดเรื่องเวลา คือถ้าเราคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรยังพอว่าแต่นี่คิดออกแล้วดันมาล็อคเรื่องเวลาซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าล็อคทำไม ล็อคแล้วมันกลายเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายธุรกิจมากกว่า แต่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นนะ ผลระยะยาวจะขายใครได้อีก ลึกๆ แล้วอยากให้มันแน่นอนนะ เหมือนรถปีที่แล้ววุ่นกันพอสต๊อกไว้แล้วก็ค้างบาน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้กันว่าสิ่งที่มันดูเหมือนช่วยเอาเข้าจริงมันอาจไม่ได้ช่วย   ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เยอรมัน เดนมาร์ก เขาเอาไปทำต่อเนื่องมันก็เลยประสบความสำเร็จไปในระยะยาว แผง Solar cell ของเขาก็กลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กรณีของไทยเหมือนทำอย่างเขา แต่เราไม่รู้รัฐบาลจะเปิดรอบไหน อย่างเราขายแผง Solar cell เองนั้นก็ไม่รู้เราจะไปลงทุนผลิตเองดีไหมในเมื่อมันยังไม่ชัวร์ เพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่ชัวร์เราก็รับมาจากต่างประเทศละกันอันไหนถูกกว่าหน่วยงานเราก็หากันเฉพาะหน้าไป เพราะฉะนั้นต่างประเทศที่เขาทำระยะยาวมันจึงประสบความสำเร็จในการสนับสนุน เริ่มตั้งแต่คนติดตั้งเยอะขึ้น คนลงทุนเยอะขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจ Solar cell อย่างครบวงจรได้ มันต้องการความชัดเจนในระยะยาว ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี อีกโมเดลหนึ่งคือ ผมคิดว่าประเทศไทยเราไม่มีเลย คือการลงทุนสนับสนุนสำหรับชุมชนหรือบ้านเรือนที่ใช้ในแนวของพลังงานอย่างยั่งยืน เรื่องการสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมเราไม่มีเลย วิธีการคิดของรัฐบาลคือติดตรงไหนก็เอาไปขายเข้าระบบอย่างเดียวแต่ของต่างประเทศเขามีคนมาร่วมกันเป็นสหกรณ์ เป็นบริษัทก็ได้ ถ้าทำมาเป็นโครงการลักษณะแบบที่จะมีการประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งมันไม่ได้มีแต่ Solar cell อย่างเดียว ยังมีอื่นๆ อีกที่ทำได้ เช่นสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำ สมมติว่าเราสร้างบ้าน 20 หลังแล้วเราทำท่อที่สิ่งปฏิกูลมาทำไบโอแก็สได้ ไบโอแก็สก็จ่ายคืนกลับไปสู่การใช้ LPG อันนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นในต่างประเทศการสนับสนุนเขาจะให้แต่ละที่คิดเองว่าจะทำอะไรได้บ้าง บางที่ก็ Solar cell อย่างเดียว บางที่ก็ Solar cell บวกกังหันลม บางที่ก็ Solar cell บวกไบโอแก็ส บางที่ก็ Solar cell บวกไบโอแมส อย่างเช่นกิ่งไม้ หมู่บ้านจัดสรรกิ่งไม้เยอะมาก เสร็จแล้วก็ไม่รู้ทำอย่างไรจริงแล้วเอามาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพราะฉะนั้นการให้สนับสนุนในโครงการลักษณะแบบนี้มันจำเป็นที่จะต้องมี เพราะในที่สุดแล้วมันคือการลดการใช้ไฟฟ้าแต่ปัจจุบันการให้ความสนับสนุนของรัฐฯ นั้นให้ก็ต่อเมื่อมีการขายไฟฟ้า ซึ่งบางคนเขาไม่ได้ขายแต่ว่าเราทำเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลงอันนี้มันก็เป็นการสนับสนุนของรัฐบาลไทย มันเหมือนกับขาเดียวไม่ได้ทำ 2 ขา คือใครขายก็ขาย ใครที่ใช้อยู่ก็ต้องใช้ให้มันน้อยลง   นโยบายของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมนอกจากเรื่องรับซื้อแล้วยังมีอะไรอีกเรื่องการส่งเสริมพลังงานโซล่าร์เซลล์ ไม่มีเลย ที่เหลือก็จะเป็นโครงการ มันไม่ได้เป็นกลไกนะโครงการมันเป็นกลไกที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ การรับซื้อที่มันเป็นกลไกมันก็ไม่ค่อยสมบูรณ์เพราะมันดันมาล็อคเรื่องเวลา เพราะฉะนั้นบ้านเรามันขาดกลไกจริงๆ เหมือนเราอุดหนุน LPG รัฐบาลออก LPG แต่คนทำไบโอแก็สเยอะเลย ชาวบ้านทำไบโอแก็สไม่ช่วยเขาเลย เขาทำไบโอแก็สแก้ปัญหาให้คุณไม่มีการอุดหนุนเลย คนทำไบโอแก็สก็ทำกันไปเรื่อยๆทั้งที่จริงการอุดหนุนไบโอแก็สนั้นง่ายมาก อุดหนุนผ่านวัสดุเลยถ้าคุณซื้ออันนี้เพื่อเอาไปทำไบโอแก็สคุณได้ส่วนลด ก็เหมือนกับรถคันแรกไปซื้อเสร็จคุณก็ไปขอส่วนลดใช่ไหม แต่นี่ไม่ได้ลดเป็นแสน ลดเป็นหลักพันหลักร้อยเองแล้วคุณก็ขึ้นบัญชีคนซื้อ LPGคุณได้ ใครซื้อไฟต่ำกว่าเท่านี้ก็ไปขออัตราลดLPGคุณทำได้เลย ชาวบ้านที่ทำไบโอแก็สจำนวนก็น้อยกว่า ความตั้งใจก็เยอะกว่า ประโยชน์ก็เยอะกว่า คุณก็ไม่ช่วย ผมคิดว่ารัฐบาลมองอะไรที่มันแบบผิวเผิน   สาเหตุที่รัฐบาลไม่ส่งเสริมอย่างจริงจัง เขาเน้นเป้า คือหมายถึงว่าอยากให้ได้ Solar cell กี่เมกะวัต คิดหาวิธีที่มันง่ายที่สุด เขียนนโยบายมาว่าจะต้องได้เท่านี้ สมมติว่าเขาได้ในระยะเวลาที่เขากำหนด เขาก็คิดว่ามันจบเลยต่อจากนี้ไม่ต้องยุ่งอีกต่อไป วิธีคิดเขาเป็นแบบนี้ แต่เขาไม่ได้มองว่าในความเป็นจริงคนค่อยเรียนรู้มันจะเกิดการพัฒนาต่อเนื่อง เขาไม่ได้มองเรื่องอนุรักษ์พลังงาน จริงๆผมว่าเขาไม่เคยมองเรื่องคนเลยมากกว่า คือทุกเรื่องสุดท้ายเราต้องการคนที่เปลี่ยนไป เขามองแค่การลงทุน ผมนี่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลยถ้าผมคิดว่าเงิน2แสนมันคุ้มค่า ผมก็โทรสั่งมาติด จบ ผมไม่ได้เปลี่ยนอะไร เขาสนใจแค่ได้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ อันนี้ทำให้เขาได้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ง่ายที่สุดก็จบแล้วสำหรับเขา   ทางออกสำหรับคนที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงาน ทางออกสำหรับคนที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงาน แต่ยังไม่ต้องการขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐ ทำได้ โดยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บางจุดของบ้าน  เช่น ทดแทนไฟฟ้าแสงสว่างในครัวเรือน หรือติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์บริเวณเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น   เยอรมัน อังกฤษ เดนมาร์ก และจีน เป็นประเทศที่มีนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่มีความน่าสนใจ โดยประเทศเยอรมันมีความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศอังกฤษที่เดิมมีพื้นฐานอุตสาหกรรมหนักมีการใช้พลังงานกระแสหลัก เช่น ถ่านหิน น้ำมันเป็นหลักเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ประกาศใช้นโยบาย RPS  ประเทศเดนมาร์ก ที่มีเป้าหมายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าเป็นเจ้าของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบสหกรณ์    และประเทศจีนที่กำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด ปัจจุบันเดนมาร์กมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบทำความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 30,000 แห่ง โดยมีเครื่องมือประมาณ 35,000 เครื่องสำหรับใช้ในระบบทำความร้อน และที่เกาะ Aeroe   ในเดนมาร์กเป็นที่ตั้งของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 19,000 ตรม. โดยพลังงานที่ได้ใช้สำหรับผลิตระบบความร้อนภายในเกาะพลังงานของระบบความร้อน 1 ใน 3 ของที่ใช้ในเดนมาร์กได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยสามารถกักเก็บพลังงานที่ผลิตได้สำรองไว้ใช้ในฤดูใบไม้ร่วง และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้   7,500 MWh โดยมีการลงทุนเพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วจำนวน 49 ล้านโครนเดนมาร์ก ซึ่งเงินจำนวน19 ล้านโครนเดนมาร์กจากจำนวนนี้มาจากการสนับสนุนของสหภาพยุโรปลำดับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 147 ซีพี ควบรวมกิจการ เพิ่มหรือปิดทางเลือกของผู้บริโภค

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้เรื่องที่เครือ CP เข้าซื้อ และควบรวมกิจการค้าส่งห้างแมคโคร   เรียบร้อยโรงเรียน CP ไปแล้ว   เขียนถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่า “แล้วไงอ่ะ?” ก็เขามีตังค์ซื้อ   มองอย่างนั้นก็ใช่นะ!  แต่ถ้ามองมุมของผู้บริโภค  ก็มีความน่ากังวลและน่าสะพรึงกลัว อยู่หลายเรื่อง   โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดธุรกิจด้านอาหาร  เพราะเราๆ ท่านๆ ก็คงได้เห็นสถานการณ์  ที่ร้านสะดวกซื้อ แทรกซึมเข้าไปในทุกชุมชนด้วยทุนที่เหนือกว่า  ซึ่งได้สร้างโศกนาฏกรรม    การฆ่าตัดตอนธุรกิจโชว์ห่วย  และร้านอาหารตามสั่ง ไม่เว้นแม้แต่ร้าน “หมูปิ้ง”ที่เขียนอย่างนี้มีหลักฐานยืนยัน เพราะผู้เขียนลงพื้นที่และเข้าไปพูดคุยกับร้านโชว์ห่วยที่อยู่ติดกับร้านสะดวกซื้อตรงทางเข้าดอนหอยหลอด  เขาบอกเลยว่าของในร้านขายไม่ได้เลย  ต้องเก็บไปคืนร้านค้าในเมืองหมด  จากร้านโชว์ห่วยต้องเปลี่ยนมาทำกับข้าวใส่ถุงขายเพื่อประทังชีวิต   ซึ่งก็ยังขายยาก  เพราะในร้านสะดวกซื้อมีหมดตั้งแต่ข้าวผัดกะเพรา  ข้าวผัดแหนม   ไม่เว้นแม้แต่ “หมูปิ้ง” ฯลฯ  ดังนั้นไม่ว่าชาวบ้านจะขายอะไรก็ขายยาก เรียกว่า ธุรกิจเล็กๆ ในชุมชน  “ตายยกรัง”เราคงได้ยินเสมอว่า  ธุรกิจที่เป็นธรรมและสมดุล ต้องทำให้เกิดการ แข่งขันอย่างเสรี     ซึ่งก็ไม่เถียง  แต่ให้ “เด็กอนุบาล” มาแข่งขันกับ “นักกีฬาทีมชาติ” ยังไม่เริ่มแข่งก็เห็นผลแล้ว   แต่กรรมการในฐานะผู้บริหารประเทศ    กลับปล่อยให้ทุนใหญ่ด้านอาหาร ที่มีทุนหนากว่ามีโอกาสมากกว่าโชว์ห่วยในชุมชนกลับนิ่งเฉย   พร้อมส่งเสียงว่า  เราสนับสนุนการแข่งขัน ซึ่งพฤติกรรมของทุนใหญ่ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้โหดเหี้ยม  มุ่งกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมใดๆ   ปิดทางทำมาหากินของชุมชนทุกช่องทาง  เพื่อให้ธุรกิจตนเองเติบโตและสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจในเครือข่ายของตน(ที่มีอยู่ตาย แล้วเกิดใหม่ 10 ครั้งก็กินไม่หมด) เหมือนกรรมการหลิ่วตาให้ผู้ใหญ่รังแกเด็ก  ซึ่งสิ่งที่เห็นคือธุรกิจชุมชนตายสนิทจึงต้องมีคำถามให้เราๆ ท่านๆ ได้คิดกันว่า หากองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล นิ่งเฉย  ปล่อยให้ทุนใหญ่ไล่ล่า  ไล่ฆ่าธุรกิจชุมชนต่อไปอย่างนี้   เมื่อธุรกิจชุมชนล่มสลาย   ช่องทางที่เป็นทางเลือกของผู้บริโภคก็ต้องน้อยลง   และเมื่อทุนใหญ่ก็ครองเมือง  แม้ว่าเราจะอยากซื้อหรือไม่อยากซื้อสินค้าของทุนใหญ่ สุดท้าย เราก็ต้องซื้อ  “เพราะไม่มีทางเลือก” เราจะปล่อยให้ประเทศไทยถูกควบกิจการโดยทุนใหญ่โดยไม่คิดจะทำอะไรกันบ้าง? เลยหรือ.....(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

อ่านเพิ่มเติม >