ฉบับที่ 139 ธรณีนี่นี้ใครครอง : ความรู้ อำนาจ และศักดิ์ศรี

หากจะถามว่า ธรณีนี่นี้ใครเป็นผู้ครอง? คนไทยตั้งแต่ยุคโบราณมาคงตอบได้ในทันทีว่า ก็ต้องเป็นแม่พระธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนผืนพิภพแห่งนี้ แต่หากจะถามต่อว่า แล้วในละครโทรทัศน์นั้น ธรณีนี่นี้ใครจะเป็นผู้ครอบครอง? มิตรรักแฟนคลับของญาญ่า-ณเดชน์ ก็ต้องตอบได้ในทันทีเช่นกันว่า เป็นคุณย่าแดง นายอาทิจ และน้องดรุณี จากละครเรื่อง “ธรณีนี่นี้ใครครอง” เท่านั้น เพราะตัวละครทั้งสามคือผู้รู้คุณแม่พระธรณี และช่วยกันพลิกฟื้น “สวนคุณย่า” ให้กลายเป็นสินทรัพย์แห่งชีวิตคนไทย และหากจะถามกันต่อไปอีกว่า แล้วอะไรกันที่ทำให้ตัวละครย่าหลานทั้งสามคนสามารถครอบครองผืนธรณีสวนคุณย่านี้ได้ ถ้าเป็นคนไทยในยุคดั้งเดิม ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะจิตสำนึกของตัวละครที่รักแผ่นดินบ้านเกิด และหวงแหนผืนดินที่บรรพชนสืบต่อเป็นมรดกให้มา แต่อย่างไรก็ดี สำหรับคนไทยในยุค “สังคมแห่งความรู้” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกไว้อย่างกิ๊บเก๋ว่า “knowledge-based society” นั้น กลับให้คำตอบที่เพิ่มขึ้นด้วยว่า แค่จิตสำนึกรักผืนดินถิ่นเกิดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเสียแล้ว ต้องมี “ความรู้” เป็นพื้นฐานในการใช้รักษาผืนธรณีแห่งบรรพชนเอาไว้ด้วย เหตุแห่งเรื่องก็เริ่มมาจากการที่นายอาทิจซึ่งเป็นตัวละครเอกได้เรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตรศาสตร์ แต่เพราะสำนึกรู้คุณแห่งแผ่นดิน บวกกับความต้องการที่จะไถ่โทษให้บิดาที่เคยทำความผิดกับคุณย่าแดงเอาไว้ อาทิจก็เลยตัดสินใจอาสามาช่วยงานในไร่ของคุณย่า   และเพราะในสังคมแห่งความรู้นั้น ผู้ใดที่มี “ความรู้” ผู้นั้นก็คือผู้ที่มี “อำนาจ” เพราะฉะนั้น แม้นายอาทิจจะไม่ได้เติบโตมาในสังคมบ้านไร่บ้านนาโดยตรง แต่เกษตรศาสตรบัณฑิตผู้นี้กลับเลือกที่จะใช้ความรู้จากเมืองกรุงมาเป็น “อำนาจ” เพื่อปลดปล่อยและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับบรรดาเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่ตัวละครคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเวทางค์ วิยะดา หรือคุณตุ่น เลือกที่จะใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากสถาบันการศึกษาส่วนกลาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง และหวนกลับไปสู่การใช้ชีวิตมั่งคั่งในเมืองกรุง แต่นายอาทิจกลับเริ่มเปิดฉากชีวิตด้วยการพกพาความรู้ส่วนกลางกลับมอบคืนให้กับคนในท้องถิ่น แม้ด้านหนึ่ง ละครจะชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรท้องถิ่นต่างก็มีองค์ความรู้ที่เป็นทุนเดิมของตนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อาทิจเลือกมาเติมเต็มให้กับชาวบ้านก็คือ องค์ความรู้แผนใหม่แบบการวิเคราะห์วิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นชุดความรู้ที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้ผลิตออกมา เฉกเช่นเดียวกับที่ภายหลังจากคุณย่าแดงมอบที่ดินจำนวนหนึ่งให้กับอาทิจ ก่อนที่เขาจะลงมือปลูกพืชกล้าอันใด เขากลับเลือกเริ่มต้นใช้องค์ความรู้แผนใหม่เรื่องการทดสอบสภาพดินมาจัดการสำรวจที่ดินแปลงนั้นเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจคุณลักษณะของดินว่าเค็มเปรี้ยวร่วนซุยเพียงใด หน้าดินหนาลึกมีชั้นดินเป็นเช่นไร แหล่งน้ำรอบที่ดินนั้นมีมากน้อยเพียงพอแค่ไหน และพืชชนิดใดบ้างที่จะเหมาะกับหน้าดินและปริมาณหรือคุณภาพของน้ำที่หล่อเลี้ยงผืนดินดังกล่าวอยู่ เหล่านี้คือองค์ความรู้สมัยใหม่ ที่อาทิจใช้ย้อนกลับไปปลดปล่อยและยกระดับพัฒนาวิถีชีวิตเกษตรกรในท้องถิ่น รวมไปถึงบางฉากบางแง่มุมที่ละครก็ได้สะท้อนให้เห็นด้วยว่า แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการซ่อมแซมรถแทรกเตอร์หรืออุปกรณ์เครื่องจักรที่ขัดข้อง ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้แบบนี้เข้าไปจัดการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้เชิดชูให้เห็นแต่ด้านดีหรือข้อเด่นของวิทยาการความรู้สมัยใหม่ของนายอาทิจแต่เพียงด้านเดียว ตรงกันข้าม ละครได้ชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นขีดจำกัดของความรู้ที่ผลิตออกมาจากส่วนกลางนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากความรู้ที่ผ่านสถาบันการศึกษาของนายอาทิจเป็นความรู้แบบ “รวมศูนย์” หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นองค์ความรู้ที่ถูกเชื่อว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกที่ทุกภูมิภาค เพราะไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในท้องถิ่นใด ความรู้เรื่องการทดสอบสภาพดิน ตรวจสอบคุณภาพน้ำ หรือแม้แต่ความรู้ในการซ่อมรถแทรกเตอร์ที่มีขายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ก็ล้วนเป็นความรู้ที่สามารถปูพรมประยุกต์ใช้กันได้ในทุก ๆ สถานการณ์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นที่นายอาทิจกลับหลงลืมไปก็คือ อันสิ่งที่เรียกว่าเป็น “ความรู้” นั้น มิได้มีแต่ด้านที่เป็น “สากล” หรือเป็นอำนาจของส่วนกลางที่เข้าไปสวมครอบท้องถิ่นได้ในทุก ๆ เรื่อง แต่ทว่ายังมีความรู้อีกชุดหนึ่งที่เป็นลักษณะ “เฉพาะถิ่นเฉพาะที่” ซึ่งหมายความว่า ต้องคนในท้องถิ่นเท่านั้นที่สามารถสกัดแปลงประสบการณ์ให้กลายมาเป็นความรู้เฉพาะที่ของตนเองได้ ดังนั้น เมื่อนายอาทิจถูกนางเอกอย่างดรุณีและชาวบ้านสอนมวยหลอกให้ลงมือปลูกกล้วยป่า ซึ่งเป็นพืชที่มีแต่เม็ดไม่สามารถขายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ อาทิจก็ได้ซาบซึ้งถึงบทเรียนเรื่อง “อำนาจ” ของความรู้จากท้องถิ่นที่มิอาจปฏิเสธหรือมองข้ามไปได้ในสังคมแห่งความรู้เช่นนี้ แบบเดียวกับที่คุณย่าแดงได้ให้ข้อเตือนใจกับตัวละครในภายหลังว่า “…คนเรามันจะรู้อะไรไปเสียทุกอย่าง ย่าเกิดมาปูนนี้แล้ว เรื่องเล็ก ๆ บางเรื่องย่ายังไม่รู้เลย...ต้นไม้ใบหญ้ามีเป็นล้าน ๆ ชนิด ถ้าบ้านเขาไม่มี เขาไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก มันผิดด้วยหรือ...” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดหรืออยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง ที่จะเอาไว้ข่มคนอื่นว่าเราเหนือกว่า หรือมี “อำนาจ” เป็นผู้ผลิตสัจธรรมได้เพียงฝ่ายเดียว แต่ความรู้ที่จะองอาจหรือมี “อำนาจ” สร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริงนั้น คงต้องเป็นอำนาจแบบที่นายอาทิจและน้องดรุณีใช้เชื่อมประสานความรู้จากทุกทิศทุกทาง เป็นอำนาจความรู้จากส่วนกลางที่นำมารับใช้คนทุกคน และเป็นอำนาจที่เคารพศักดิ์ศรีความรู้แห่งท้องถิ่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน และเมื่อความรู้สมัยใหม่จากส่วนกลาง ประสานพลังเข้ากับความรู้ที่เป็นรากและฐานของท้องถิ่นได้แล้ว เราก็คงได้คำตอบในที่สุดว่า ในสังคมแบบที่มีความรู้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเยี่ยงนี้นั้น ใครบ้างที่ควรจะเป็นผู้ครอบครองธรณีนี่นี้ที่บรรพชนมอบให้มา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point