ฉบับที่ 125 หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน อุบัติเหตุชีวิตของลูกบ้าน ที่สยองกว่าลัดดาแลนด์

หลังเก็บเงินมากว่าครึ่งชีวิต “ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี” ก็ทุ่มเงินก่อนซื้อบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นที่หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน สมุทรปราการ โดยหวังสร้างครอบครัวอบอุ่น เล็กๆ ในฐานะผู้นำครอบครัว ไม่ต่างจากพระเอกในภาพยนตร์เรื่องลัดดาแลนด์ ครั้นอยู่มาเพียงแค่ 3 ปี ทุกอย่างที่เขาทุ่มเททำมาก็พลันมลายลงใน ราวๆ เวลา 21.00 น. ของคืนวันที่ 10 กันยายน 2553  “คืนนั้นมีเสียงดังสนั่นตั้งแต่หลังคา ฝ้าเพดาน ผนังห้อง พื้นห้อง ทรุดตัวแตกร้าวตามจุดต่างๆ มันน่ากลัวมาก” ธวัชชัย บอกเล่ากับทีมฉลาดซื้อ  เช้าวันรุ่งขึ้นเขาและเพื่อนบ้านในทรัพย์ยั่งยืน ซอย 22 และ 24 รีบเข้าแจ้งความกับตำรวจให้เข้าไปตรวจสอบ บ้านทั้ง 16 หลังซึ่งสร้างเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ลักษณะหันหลังชนกัน  ซึ่งกลายเป็นข่าวดังขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2553 ในเนื้อข่าวให้รายละเอียดไว้ว่า ‘หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 5 ปีก่อน มีทั้งหมด 450 หลัง เดิมพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา ดินจึงอาจทรุดตัว’  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ จึงประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในวันที่ 14 ก.ย. 53  สำนักงานเทศบาลตำบลบางเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้ระดมความช่วยเหลือให้กับชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยนำเต๊นท์กางเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือหลังคาเรือนละ 20,000 บาท ด้านบริษัท ส.มณีสิน วิลล่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบโครงการหมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น 30,000 บาท หลังการไกล่เกลี่ยจึงให้เพิ่มเป็นเงิน 200,000 บาท กับบ้านที่เสียหาย 16 หลังคาเรือนและไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดอีก โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯ ก่อสร้างตามมาตรฐานของแบบแปลนที่ฝ่ายโยธาธิการกำหนดไว้แล้ว  จากวันผ่านเป็นเดือน เต๊นท์หลังเดิมยังถูกกางไว้หน้าบ้านของธวัชชัย ข้าวของในบ้านถูกทยอยขนออกไปอยู่บ้านเช่าทีละชิ้นสองชิ้น หลงเหลือไว้เพียงความฝันของธวัชชัยที่คลุ้งอยู่เต็มทุกอณูของบ้านที่แตกร้าว   ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาคุณผู้อ่าน ไปพูดคุยกับธวัชชัยและเพื่อนบ้าน ที่เฝ้ารอวันตื่นจากฝันร้าย   เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงิน เก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น…แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน   บ้านในฝัน(ร้าย) ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี เลือกซื้อบ้านหลังนี้จากโฆษณาโครงการฯ ที่ดูดี ที่สำคัญเขาตัดสินเลือกเพราะว่าโครงการฯ นี้เหมาะกับการเดินทางเรื่องงานและอยู่ติดกรุงเทพฯ  แต่เขาลืมคิดไป(จริงๆ เรียกว่า คาดไม่ถึงมากกว่า) ว่าโครงการฯ นี้ใกล้แม่น้ำ ทำให้มันกลายมาเป็นปัญหาการทรุดตัวของบ้าน “ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ บ้านมีประกันอัคคีภัย แต่ไม่คิดว่ามันจะทรุด ก่อนซื้อเราก็ดูแล้วว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการใหญ่ แต่อยู่ๆ ไปเข้าปีที่ 4 บ้านก็ทรุด” (โครงการใหญ่ตามคำนิยามของธวัชชัยก็คือมีทั้งหมด 450 หลัง)  ตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้น ธวัชชัย พาครอบครัวออกจากบ้านในฝันราคากว่า 1 ล้านบาท ไปเช่าบ้านเดือนละ 5,000 บาทเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงต้องผ่อนบ้าน “ทรุด” หลังนั้นอีกเดือนละ 7,000 บาท ตามภาระผูกพันกับธนาคาร ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกยึดบ้าน  “ตอนเกิดปัญหาหน่วยงานราชการก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งนำเต๊นท์มากาง นำอาหารมาให้ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบและแก้ไขปัญหานี้  ผ่านไป 9 เดือนแล้ว ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ก็ต้องวนกลับมาที่พวกผมล่ะว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงินเก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องกันเงินส่วนนี้ไว้ก่อน อย่างน้อยๆ มันก็ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนไว้ให้รวมกันเป็นกลุ่ม อยู่กันแบบพี่แบบน้อง แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน ผมยืนยันที่จะสู้ต่อไปกับเพื่อนบ้าน เพราะผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าความยุติธรรมมันอยู่ตรงไหน ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ตอนนี้ผมยังหาความยุติธรรมไม่ได้”  ธวัชชัยหวังไว้ว่าความยุติธรรมที่เขาตามหาอยู่จะช่วยซ่อมผนังบ้านที่ปริแตก แยกตัวออกเป็นชิ้นๆ ช่วยซ่อมพื้นห้องครัวที่ทรุดลงไปเป็นฟุตๆ ช่วยซ่อมผนังในครัวที่แยกตัวออกจากกันจนเดินเข้าออกได้ ฝ้าเพดานพังลงมาทั้งหลัง ไม่สามารถจะมีพื้นที่ไหนที่จะซุกตัวอยู่ได้   บ้านหลังแรก แตกเป็นชิ้นสามารถ คารพุทธา พ่อบ้านอีกรายที่ตกลงใจซื้อบ้านหลังแรกของชีวิตที่หมู่บ้านนี้ ในราคา 890,000 บาท ขนาดพื้นที่ 16 ตารางวา   “การอยู่การกินของเราลำบากครับ ผมทำงานรับจ้างตอนแรกก็ไปเช่าห้องอยู่ข้างนอก แต่ทนค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะต้องเช่าถึง 2 ห้อง ห้องละ 1,500 บาทต่อเดือน ห้องหนึ่งก็ไว้เก็บข้าวของในบ้าน อีกห้องก็เอาไว้นอน สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับเข้ามาอยู่ในบ้าน(แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน) ก็คิดนะว่ามันคงไม่พังลงมาทีเดียวหรอกมั้ง  แต่ก็เช่าอีกห้องไว้เก็บของ” ครอบครัวของสามารถมีด้วยกัน 4 คน พวกเขาต้องจัดการชีวิตใหม่ โดยให้ลูกคนเล็กไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย เขาและภรรยาอยู่กับลูกชายวัย 17 ปี ซึ่งจำต้องอยู่ต่อ เนื่องจากขณะนี้เรียนอยู่โรงเรียนใกล้บ้าน แล้วก็เช่นเดียวกับธวัชชัย สามารถยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 6,700 บาท บ้านที่เขาเองก็ไม่รู้ว่ามันจะพังเมื่อไร  บ้านของสามารถดูภายนอกจะเหมือนไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ครั้นพอเดินผ่านประตูบ้านที่ปิดไม่สนิทเข้าไปในตัวบ้าน บานหน้าต่างที่บูดเบี้ยว เตียงนอนวางอยู่กลางห้องโถงชั้นล่างมีสายมุ้งมัด 4 ด้าน พื้นบ้านเอียงลาดไปด้านหลังบ้าน ฝาผนังมีรอยปูนแตกประดับประดาแทนภาพประดับบ้านทั่วไป ห้องครัวหลังบ้านพื้นยุบตัวลงไปเป็นคืบ ผนังแตกร้าว ชั้นสองห้องนอนด้านหน้าบ้านฝ้าเพดานพังลงมาหมดแล้ว ห้องนอนหลังบ้านซึ่งเป็นห้องนอนของลูกชาย หน้าต่างบิดเบี้ยวผิดรูป ฝ้าเพดาน มีรอยน้ำรั่ว  “ช่วงที่ฝนตก จะทรมานมากครับ เพราะต้องคอยรองน้ำที่ไหลลงมาจากรอยรั่วที่หลังคา ไม่งั้นก็จะเอ่อท่วมทั้งบ้าน เวลานอนก็กังวลครับ ไม่เคยหลับอย่างเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่ามันจะมีการยุบตัวอีกเมื่อไร ยิ่งฟ้าร้องนี้ก็ระแวงครับว่าเสียงบ้านทรุดหรือเปล่า คืนไหนที่ฝนตกจึงเป็นอีกคืนที่ไม่ค่อยได้นอน อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้ครับ เวลาเห็นสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าว ยอมรับว่าดีใจครับ อย่างน้อยก็มีคนที่จะส่งผ่านเรื่องราวของพวกเราไปถึงหน่วยงานราชการให้เข้ามาแก้ปัญหา”   ความรู้สึกที่ไม่อาจเยียวยากัญญภัค โคตรพัฒน์ เป็นอีกคนที่บ้านหลังนี้คือความหวังทุกอย่างของเธอ เงินที่เก็บมากว่าครึ่งชีวิตก็ทุ่มไปกับบ้านหลังนี้ ครั้นบ้านที่สู้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงมาทรุดลง ความรู้สึกของเธอก็แตกร้าวทรุดตัวลงเช่นกัน  “ผิดหวังมาก คือเราซื้อบ้านเราก็หวังที่จะมีความสุข แต่มันไม่ใช่ มันสับสนนะ มันเหนื่อยอยู่ข้างในมัน...” เราต้องปล่อยให้เธอสงบใจสักพัก เมื่อเห็นน้ำตาที่รื้นขึ้นมา   เวลากลางวันกัญญภัคมาทำงาน มาเย็บผ้าที่บ้าน เพราะเป็นห่วงข้าวของที่ยังเก็บไว้ที่บ้านส่วนหนึ่ง เวลากลางคืนก็อยู่ที่ห้องพักที่สำนักงานขายหมู่บ้านปันพื้นที่บางส่วนให้ครอบครัวของเธออยู่ โดยช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟรวมเดือนละ 1,000 บาท ครอบครัวของกัญญภัค มีด้วยกัน 4 คน  และยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 5,500 บาทกับธนาคาร   ความช่วยเหลือไม่มาก แต่อย่าให้น้อย ตั้งแต่เกิดเรื่องราว “ธวัชชัย” และเพื่อนบ้านก็ไม่ได้นิ่งเฉย หลังจากไม่สามารถตกลงกันได้กับบริษัท ส. มณีสิน วิลล่า จำกัด ที่มีสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย  หลังใช้เวลาไกล่เกลี่ย 3 ครั้งใช้เวลา 3 เดือน  วันที่ 14 ม.ค. 2554 สำนักงานจังหวัดฯ จึงส่งเรื่องต่อไปที่สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสมุทรปราการ พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัทฯ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายกับธวัชชัยและเพื่อนบ้านผู้เดือดร้อน    “จะให้เราไปฟ้องร้องเองก็ไม่ไหว เพราะเงินก็ไม่มี ก็ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เจตนาของเราก็คือต้องการไกล่เกลี่ย คือเรามาซื้อบ้านเราก็ไม่ได้ไปคดโกงใครมานะ เราเก็บเงินจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเรา พอได้มาก็คิดว่าทุกอย่างคงสมบูรณ์ แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผู้ประกอบการไม่รับผิดชอบช่วยเหลืออะไร  ซึ่งเขาควรจะรับผิดชอบ ก็ขอให้มีหน่วยงานไหนสักแห่งที่เข้ามาลงโทษเอาผิดกับเขาได้บ้าง ถึงที่สุดจริงๆ ก็ต้องต่อสู้ต่อไปล่ะครับ แต่จะช้าจะเร็ว ก็ต้องดูกันไป”  สุดท้ายธวัชชัยฝากบอกว่า “เวลาจะซื้อบ้านอยากให้มองไปถึงเรื่องความรับผิดชอบของผู้ประกอบการด้วย เพราะเราไปวิเคราะห์ที่โครงสร้างภายในไม่ได้ ก็อยากให้เรื่องของพวกผมเป็นบทเรียนให้ทุกคน”   สถานการณ์ปัจจุบัน หลังเรื่องเข้าไปที่ สคบ.แล้ว จากการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. มีมติที่จะดำเนินการฟ้องแทนผู้บริโภค ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีความชำรุดของโครงสร้างก็จะมีหน่วยงานมาช่วยพิสูจน์ให้ ความคืบหน้าจะรายงานต่อไปค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point