ฉบับที่ 146 เบื้องหลังขบวนการ 3 กำลังสูง

  ถ้ามองให้ลึกกันจริงๆ ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม กลับมีน้ำตาล  ไขมันและโซเดียมสูง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือคนส่วนใหญ่ก็ชอบกิน โดยเฉพาะเด็กๆ  เราถูกยัดเยียดให้กินสิ่งเหล่านี้โดยไม่มีทางเลือกอื่นเลย จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเบื้องหลังของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 3 กำลังสูงถูกเปิดเผย โดย นงนุช  ใจชื่น นักวิจัย แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขที่กล้าออกมาเผยโฉมหน้าของอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่แสวงหาผลกำไรเพื่อกลุ่มบริษัทเดียวกัน และงัดกลยุทธ์การสื่อสารการตลอดแบบบูรณาการ  เพื่อพิชิตใจลูกค้า รวมทั้งกฎหมายที่เปิดช่องให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทำโฆษณาอย่างอิสระ ไปดูกันค่ะว่า ขบวนการ 3 กำลังสูง คืออะไร  และเราจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร   เปิดปฏิบัติการเผยโฉมขบวนการ 3 กำลังสูง “เราไม่มีได้โจมตีหรืออยากจะทำร้ายใคร  ไม่ต้องการสร้างศัตรูในงานชิ้นนี้ เราต้องการกระตุกให้คนได้รู้ว่าโครงสร้างบริษัทอาหารเป็นแบบนี้  การตลาดเป็นแบบนี้ที่สุดท้ายก็ต้องการส่งเสริมการขาย มากกว่าจะสร้างสุขภาพที่ดี” นงนุช  เอ่ยถึงเป้าหมายงานวิจัยชิ้นนี้   อะไรคือขบวนการ 3 กำลังสูง อธิบายกันง่ายๆ ก็คือเป็นการศึกษาขบวนการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มี 1 น้ำตาล  2 ไขมัน และ 3 โซเดียมสูง ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ในกรศึกษาครั้งนี้ เราใช้วิธีกำหนดขนาดตัวอย่างตามเกณฑ์กำไรสุทธิของการส่งรายงานงบประมาณการเงินปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2554 ให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 50 บริษัท เพื่อศึกษาใน 2 มิติ นั่นก็คือ มิติที่1 ความเป็นมา  เป้าหมาย  Mindset การลงทุนและพันธมิตร และมิติที่ 2 คือ การสื่อสารการตลาด จะมีทั้งบริษัทไทย และบริษัทต่างประเทศ  และแต่ละบริษัทก็มีทั้งผลิตสินค้าประเภทเดียวนั่นคือน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีรสหวาน  และสินค้าหลายประเภท นั่นคือขนมกรุบกรอบ  ขนมปัง (บิสกิตเวเฟอร์) ขนมหวาน (ช็อคโกแลต ลูกอม หมากฝรั่ง ไอศกรีม) อาหารจานด่วน  ที่น่าจับตาก็คือทุ่มทุนสร้างโฆษณาสินค้า ซึ่งดูงบโฆษณาต่อรายได้ทำให้เราได้รู้ว่า การลงทุนของบริษัทกับการโฆษณา ก็เพื่อกระตุ้นยอดขายและจูงใจให้มีบริโภคสินค้านั่นเอง “ยกตัวอย่างบริษัทโคคา – โคลา(ประเทศไทย) จำกัด มีงบโฆษณาต่อรายได้ 30.11 % เทียบง่ายๆ โค้กขวดละ 10 บาท จะมีค่าโฆษณา 3 บาท  บริษัท แพรรี่มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มีงบโฆษณา ต่อรายได้ 15.76 % นั่นก็คือ โปเตโต้ชิพ ซองละ 10 บาท จะมีโฆษณา 1 บาท 57 สตางค์”   โยงใยแมงมุม เครือข่ายเดียวกัน นงนุช  เล่าต่อว่าสายธุรกิจของขบวนการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 3 กำลังสูงนั้น เป็นพันธมิตรนั่นคือเป็นเครือข่าย อย่างเช่นมีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศแล้วขยายสาขามาประเทศไทย อีกรูปแบบก็คือเป็นคู่ค้า มีการซื้อขายระหว่างกัน ทั้งวัตถุดิบและเครื่องจักรการผลิต  รูปแบบเป็นครอบครัว เป็นเครือญาติกันระหว่างบริษัท  รูปแบบเป็นหุ้นส่วนกัน มีการถือหุ้นร่วมกันระหว่าง 2 บริษัท นั่นคือกรรมการอีกบริษัทหนึ่ง ถือหุ้นอีกบริษัทหนึ่ง “แต่บริษัทเป็นกลุ่ม เครือข่ายเดียว มีความเชื่อมโยงกันทั้งสายเลือด  สายธุรกิจ ไม่ว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ จะซื้อสินค้าอะไรก็ตาม ก็เข้าข่ายเป็นสินค้าของบริษัทเดียวกัน”   เบื้องหน้า VS เบื้องหลัง เมื่อหันมาดูวิสัยทัศน์  ค่านิยมหลัก และเป้าหมายของแต่ละบริษัท นงนุช บอกว่าแต่ละบริษัทนั้นต้องการเป็นบริษัทชั้นนำค้าสร้างแบรนด์ให้คนรู้จักไปทั่วโลก  ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค และมีความรับผิดชอบต่อสังคม หวังเติบโตไปพร้อมกับคู่ค้า “ถ้ามองให้ลึกกันจริงๆ ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม กลับมีน้ำตาล  ไขมันและโซเดียมสูง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือคนส่วนใหญ่ก็ชอบกิน โดยเฉพาะเด็กๆ  เราถูกยัดเยียดให้กินสิ่งเหล่านี้โดยไม่มีทางเลือกอื่นเลย  ทั้งการโฆษณาทุกช่องทางทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ โปสเตอร์ ที่สำคัญคือใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นการ์ตูน ดารา  นักร้อง เพื่อโน้มน้าวให้ชื่นชอบสินค้าที่เขาโฆษณา นอกจากการโฆษณาแล้ว  ยังมีเทคนิคการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ทั้งการเปิดตัว การจัดสัมมนา การบริจาคหรือการช่วยเหลือชุมชน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ขายเครื่องดื่มน้ำตาลสูง บริจาคน้ำดื่มให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม บริจาคผ้าห่มกันหนาวให้คนที่ภาคเหนือ การทำสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อสร้างความเชื่อถือได้มากขึ้น  ซื้อใจหน่วยงาน องค์กรอื่นๆ สื่อมวลชน เพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างบริษัทอีกด้วย”   สร้างโรคภัย จากความเคยชิน จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อปล่อยให้ขบวนการ 3 กำลังสูงเหล่านี้ยัดเยียดทั้งไขมัน  น้ำตาล และโซเดียมต่อไป  นั่นก็คือจะเกิดการเสพติดในรสชาติบางคนติดหวาน  ติดเค็ม โดยไม่รู้ตัว แล้วโรคต่างๆ ก็ตามมา คือมันอาจจะไม่ได้แสดงออกในทันที แต่มันปรากฏเมื่อเด็กๆ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ การเสพติดในรสชาติและภักดีต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่นบริษัทผลิตเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งที่ สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ก็มีการโหมโฆษณาเพื่อให้ติดตาผู้คน แต่หลายๆ คนก็อาจจะยังติดในรสชาติเดิมของน้ำที่ผลิตโดยบริษัทนั้น กฎหมายมีไว้ ใช้ได้จริงแต่มีช่องว่าง ครั้นถามถึงกฎหมายต่างๆ ในการควบคุมการโฆษณานงนุชบอกว่า “บ้านเรามีเยอะ” หากย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494  - พ.ศ.2554 ฉลาดซื้อนับรวมกันแล้วทั้งประกาศและกฎหมาย (จากหนังสือ เบื้องหลังขบวนการ 3 กำลังสูง: ลวงผู้ใหญ่ ล่อใจเด็ก) รวม 25 ฉบับด้วยกัน “ยังมีช่องว่างนั่นก็คือยกตัวอย่าง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522  มาตรา 40 และ 41 ว่าด้วยเรื่องการความคุมการโฆษณา ห้ามโฆษณาที่มีเนื้อหาเกินจริง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของผู้บริโภค และต้องผ่านการตรวจสอบก่อนถึงโฆษณาได้  แต่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงเวลาในการโฆษณาแฝงในสื่อโทรทัศน์  สื่อออนไลน์ หรือ พ.ร.บ คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2552 ก็ยังไม่ครอบคลุมรูปแบบการส่งเสริมการขายโดยใช้ของเล่น ของแถม การใช้การ์ตูนในการโฆษณา”   ปิดฉากการกินรวบ แจกจ่ายพวกพ้อง การที่จะปิดฉากขบวนการเหล่านี้ได้นั้น ต้องหนุนให้นำผลการศึกษาที่ได้ไป ขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน โซเดียมสูง  ให้ความรู้กับผู้บริโภคเพื่อให้เท่าทันธุรกิจเหล่านี้ “รัฐต้องลงทุนสร้างความรู้ให้เข้าถึงผู้บริโภคทั้งการใช้สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ ให้ความรู้กับประชาชน และหากเป็นไปได้ควรจะมีหน่วยมอนิเตอร์ คอยตรวจสอบการโฆษณาต่างๆ  ให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องพัฒนากฎหมายให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรง  ไม่ใช่ปรับถูกๆ เพราะเมื่อเทียบกับรายได้ที่เข้ามาที่บริษัท มันน้อยนิดเหลือเกิน ในขณะเดียวกันรัฐก็ควรเรียกร้องให้ขบวนการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ลดส่วนผสมประเภทน้ำตาล  ไขมัน  และโซเดียมลง และผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และต้องเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่นมีร้านขายผลไม้ ร้านขนมไทยๆ ในโรงเรียน  สวนสนุก เพราะถ้าไม่สร้างทางเลือก ก็ต้องถูกขบวนการ 3 กำลังสูงยัดเยียดสิ่งเหล่านี้ต่อไป” ##

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point