ฉบับที่ 172 นางชฎา : จาก “ผีนางนาก” สู่ “ผีนางรำ”

ในบรรดาผีที่ออกอาละวาดผ่านโลกของสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชมละครโทรทัศน์ชาวไทย ชื่อแรกคงหนีไม่พ้น “ผีนางนาก” หรือบ้างก็เรียกว่า “แม่นาคพระโขนง” นั่นเอง    จับความตามท้องเรื่องของนางนากนั้น เป็นเรื่องเล่าตำนานกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในสยามประเทศยังล้าหลังอยู่ เมื่อ “อ้ายมาก” ต้องถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมสงคราม “นางนาก” ที่คลอดลูกตามวิถีแบบโบราณ ก็เกิดเสียชีวิตตายทั้งกลม    ด้วยความรักและผูกพันกับสามีนั้น นางนากจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และกลายเป็นผีอุ้มลูกในตำนาน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีตำน้ำพริกดูแลอ้ายมากอยู่หลายเพลา กว่าที่เธอจะถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปลดปล่อยวิญญาณ และเรื่องจบลงในท้ายที่สุด    นับกว่าศตวรรษผ่านไป เมื่อระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าขึ้น และสูตินารีเวชศาสตร์กลายเป็นองค์ความรู้ที่เข้ามาจัดการดูแลความปลอดภัยให้กับสตรีมีครรภ์ หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า แล้วตำนานความเชื่อแนวผีสาวเฝ้ารอความรักแบบนางนากนั้น จะสูญหายกลายกลืนไปกับกระแสธารแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ด้วยหรือไม่?    คำตอบก็คือ ผีนางนากอุ้มลูกที่อยู่ท่าน้ำริมคลองอาจจะไม่ได้หายไปหรอก หากทว่าเปลี่ยนรูปจำแลงร่างให้ดูเป็นผีสาวที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ต่างจากตัวละครผีนางรำสวมชฎาอย่าง “ริลณี” ที่รอคอยการกลับมาของหนุ่มหล่อคนรักในวัยเรียนอย่าง “เตชิน”         ถ้าหากผีนางนากต้องพลัดพรากจากสามีเพราะระบบการจัดการสุขภาพที่ล้าหลังและไม่ปลอดภัย แล้วเหตุอันใดที่ทำให้ผีริลณีจึงมีอันต้องพลัดพรากจากเตชินชายคนรักของเธอ?     ในสังคมสมัยใหม่นั้น แม้วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพลเมืองจะก้าวหน้าไปเพียงไร แต่อีกด้านที่ล้าหลังของสังคมดังกล่าวก็คือ การธำรงอยู่ของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ยังคงคุกรุ่นและทับทวีความรุนแรงให้เห็นเข้มข้นยิ่งขึ้น     นี่เองที่เป็นเหตุผลหลักที่รักระหว่างริลณีกับเตชินมิอาจลงเอยแฮปปี้เอนดิ้งไปได้ เพราะเธอเป็นเด็กสาวที่เติบโตมาในสถานกำพร้า และต้องรับจ้างเป็นนางรำ “เต้นกินรำกิน” เพื่อเลี้ยงชีพ และเพราะเขาคือนักศึกษารุ่นพี่ที่เติบโตมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน และมีอนาคตอาชีพการงานที่ก้าวไกล ความสมหวังในความรักของทั้งคู่จึงเป็นไปไม่ได้เลย     แบบที่ “จิตรา” ผู้เป็นมารดาของเตชิน เคยกล่าวปรามาสถากถางริลณีที่กำลังคบหาดูใจกับบุตรชายว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ผู้หญิงชั้นต่ำไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างเธอเข้ามาเกี่ยวดองกับคนในตระกูลอย่างแน่นอน”     และบทเรียนที่จิตราสั่งสอนให้กับริลณีในระลอกแรกก็คือ ทั้งการข่มขู่คุกคาม การพยายามใช้เงินซื้อ การส่งคนไปเพื่อหวังจะทำร้าย ไปจนถึงการว่าจ้างคนร้ายให้ไปเผาสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ริลณีกับเพื่อนๆ เติบโตมา     ส่วนในระลอกถัดมา ริลณีก็ถูกทดสอบบทเรียนจากบรรดาเพื่อนๆ ในสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะที่เธอเป็นกำพร้าและไม่มีทุนอันใดติดตัวมาแต่กำเนิดเลย แต่เพื่อนรอบข้างกลับเป็นผู้ที่ทั้งมีและเพียบพร้อมไปในทุกด้าน     ไม่ว่าจะเป็น “ปริมลดา” ที่รูปร่างหน้าตาสวยกว่า “เอกราช” ที่มีฐานะมั่งคั่ง “ตุลเทพ” ที่มีความสามารถและชื่อเสียง “ประวิทย์” ที่เรียนหนังสือเก่ง “เชิงชาย” ที่เป็นคนเจ้าเสน่ห์ “หงส์หยก” ที่เป็นลูกสาวพ่อค้าผู้มั่งมี และรวมไปถึงเพื่อนรักที่เป็นนางรำคู่ของริลณีอย่าง “ชมพู” ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานานุรูป จึงถูกญาติผู้ใหญ่จับให้เป็นคู่หมั้นหมายกับเตชิน    เพราะปมขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่หยั่งรากลึกเกินกว่าความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพใดๆ ริลณีจึงถูกเลือกปฏิบัติจากบรรดาเพื่อนๆ ที่หล่อสวยรวยทรัพย์กว่าเหล่านี้ ตั้งแต่ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสี การกระทำทารุณทางกายและใจ การถูกคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการที่ผองเพื่อนร่วมสมคบกันวางแผนที่จะข่มขืนเธอ จนนำมาซึ่งความตายและการพลัดพรากจากชายคนรัก    และเพราะ “อำนาจ” ในสมรภูมิขัดแย้งระหว่างชนชั้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ริลณีจึงเรียนรู้ว่าถ้าเธอไม่รู้จักที่จะใช้อำนาจ ในที่สุดเธอก็จะถูกใช้อำนาจจากคนที่สูงสถานะกว่า    ดังนั้น แม้เมื่อตอนมีชีวิต ริลณีจะถูกกระทำโดยที่เธอเองไม่มีทางต่อกร แต่หลังจากสิ้นสังขารกลายเป็นผีไปแล้ว ริลณีก็ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาล้างแค้นและจัดการกับผองเพื่อนไปทีละราย เพื่อให้ตัวละครเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่า หากต้องมาตกอยู่ในสถานะที่ถูกกระทำอย่างเธอบ้างแล้ว เขาและเธอจะมีความรู้สึกเช่นไร ไม่เว้นแม้แต่จิตราผู้เป็นมารดาของเตชิน ริลณีก็ใช้อำนาจของผีหลอกจนจิตราหวาดกลัวแทบไม่เป็นผู้เป็นคน    เมื่อเทียบกับผีนางนากที่แก้แค้นกับทุกคนที่เข้ามาขัดขวางเป็นอุปสรรคความรักของอ้ายมากกับเธอ ผีสาวริลณีก็ใช้วิธีจัดการกับตัวละครทุกคนที่ไม่เพียงขัดขวางความรักเท่านั้น แต่ยังล้างแค้นกลุ่มคนที่มีสถานะทางชนชั้นเหนือกว่า แต่กลับพรากเอาชีวิตของเธอไปอย่างไม่ยุติธรรม     ในทางหนึ่ง ละครเรื่อง “นางชฎา” ได้มอบอุทาหรณ์ว่า ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้นตอบแทน หรือการอโหสิกรรมและการไม่ยึดติดต่อกรรมใดๆ จะช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นและเป็นสุขในสัมปรายภพ     แต่ในอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงดำรงอยู่ ข้อคิดที่พระอาจารย์คงได้เทศน์สอนใจตัวละครทั้งหลาย ก็ยังคงถูกต้องเสมอว่า “ถึงเราจะคิดว่าผีร้าย แต่ก็อาจไม่ร้ายเท่ากับคน” ตราบเท่าที่คนเหล่านั้นยังมีรักโลภโกรธหลงและเดียดฉันท์กันข้ามชั้นชนระหว่างคนด้วยกันเอง                                 

อ่านเพิ่มเติม >