ฉบับที่ 141 ตัวชี้วัดของไทย ขอเป็นโอกาสเถอะครับ

...ถ้าเรามองในแง่ประเด็นที่กระทบอนาคตจริงๆ ถ้าถามผมสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่าการว่างงานคือเรื่องของว่าเรากำลังให้ โอกาสคนหรือเปล่า ตอนที่จะดูว่าเด็กที่จบมาใหม่จะเป็นอนาคตของประเทศ มันมีโอกาสหรือเปล่า มันก็ต้องไล่ไปในหลายมิติ... ฉบับนี้ฉลาดซื้อ พาคุณไปคุยกับ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการและเลขานุการผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ซึ่งสถาบันฯ แห่งนี้ ทำหน้าที่นำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่มีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ สังคมโดยรวม ทำอย่างไรให้ประชาชน เอกชน รัฐ สื่อมวลชน ใส่ใจเรื่องระยะยาวมากกว่าเรื่องเฉพาะหน้าและเรื่องระยะสั้น สถาบันฯแห่งนี้พยายามหาวิธีทำเรื่องอนาคตเรื่องระยะยาวให้จับต้องได้ โดยเป็นรูปธรรมที่วัดได้ แปลงเป็นตัวเลขได้ แปลงเป็น KPI (Key Performance Indicators) หรือตัวชี้วัดได้  คราวนี้เรามาเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวกันค่ะ   การที่ผู้บริโภครับรู้เรื่อง KPI จะนำพาประเทศไทยไปสู่โลกอนาคตที่ดีได้อย่างไร บ้านเมืองเราวุ่นวายมาก 3- 4 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ คนเราจำความได้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ หมายความว่าเด็กที่จะอายุ 15 ไม่เคยเห็นบ้านเมืองสงบเหมือนรุ่นเราๆ ที่เคยเห็น พอนึกแล้วตกใจ เพราะยาวไปถึงรากฐานของประเทศด้วย เมื่อก่อนอ่านหนังสือพิมพ์มีการวิจารณ์กัน ก็ฟังเหตุผล   ใครพูด  แต่ปัจจุบันไม่ใช่กลายเป็นว่า “ผมพูดและผมเป็นคนดีในหมู่พวกคุณ  คนอื่นที่พูดไม่ใช่พวกคนดี” ผมว่ามันยิ่งกว่าใครพูดนะ คือ ใครที่ไม่ได้ออกจากปากพวกเราไม่ใช่คนดี เห็นไหม หรือรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา  มีการเสนอนโยบายไว้ เริ่มทำงบประมาณ อ้าวหมดวาระเปลี่ยนรัฐบาลกันอีก  จะเห็นว่ามันไม่มีความต่อเนื่องในการบริหารงานอย่างปี  2552 มีการเปลี่ยนการบริหารถึง 3 รัฐบาล และเปลี่ยนรัฐมนตรีอีก 9 ท่าน ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ผมไม่ได้วิจารณ์ว่านโยบายไหนดี ใครหลายคนๆ อาจมองว่าทำไมต้องไปดูเรื่อง KPI อะไรให้มันยุ่งยาก ก็เพราะว่าบ้านเราหยุดอยู่กับที่มา 7 – 8 ปีแล้ว และมองอะไรเพียงสั้นๆ  ชอบดูกันนักเรื่อง GDP (Gross Domestic Product) ก็พูดกันแต่เรื่อง GDP   จริงๆ คิดว่าผู้บริโภคไม่รู้หรอกว่า GDP ไม่ได้มีความหมายกับเรา มีความหมายไหม ผมว่าเราอ่านหนังสือพิมพ์กันจนหล่อหลอมให้รู้สึกว่า GDP เยอะมันคงดี  ซึ่ง GDP ก็คือ กำไร รายได้ต่างๆ ของผู้ประกอบการ มาดูว่าเรามีเค้กอยู่ชิ้นหนึ่ง เราจะแบ่งไว้กินวันนี้หรือเก็บไว้กินวันหน้า  เหมือนเงินน่ะ เรามีอยู่หนึ่งร้อยบาท  เราจะกินหรือเราจะออม   GDP ก็คือรายได้ ความฟู่ฟ่าของเศรษฐีในวันนี้  คำถามก็คือว่า ถ้าเค้กเราชิ้นใหญ่แล้วแบ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ออม 60 เปอร์เซ็นต์มากินวันนี้มีความสุขมาก เพราะมันเยอะ  แล้วก็มาถามต่อว่าเค้กเรามันชิ้นใหญ่หรือชิ้นเล็ก แล้วเราแบ่ง 99 เปอร์เซ็นต์ กินวันนี้ แหมวันนี้มันช่างดูดีเหลือเกิน  แต่ปรากฏว่าในกระเป๋าที่ออมเหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ไม่ดีแน่ ผมพยายามโยงจากหลายส่วนทั้งการเมือง เศรษฐกิจ บางส่วนมันทำให้เหมือนว่าเศรษฐกิจไทยเราไปได้ดี  ปันผลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็เยอะเมื่อเทียบกับภูมิภาค  แต่การลงทุนเราน้อย  นั่นหมายความว่าเงิน 100 บาท เราเอามากินวันนี้หมด โดยที่เก็บไว้ลงทุนน้อย  ต่างชาติมาลงทุนได้กำไรแล้วก็ไม่ลงทุนต่อ ได้กำไรเต็มที่แล้วก็กลับบ้าน   แล้วบ้านเราจะเหลืออะไรจริงไหม ถ้าคนเรามันมองสั้นหมดแล้ว KPI สั้นหมด GDP มันก็ไปได้เรื่อยๆ พอทุกคนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว ถามว่าเก็บอะไรให้อนาคตบ้าง คำตอบก็คือไม่มี คือถ้ามองตัว KPI สั้น นโยบายรัฐที่ออกมาก็จะสั้น   ดังนั้นตัวชี้วัดหรือข้อมูลอะไรที่มันสื่อถึงอนาคตประเทศไทย ยกตัวอย่างเรื่องการว่างงานที่บอกว่า 1% ถึงน้อยกว่า แล้วประเทศเราดีจริงหรือเปล่าสำหรับตัวเลขการว่างงาน 1% ข้อมูลลึกๆ ข้างในพบว่าวัยทำงานของเรา 38 ล้านคน หรือ 40% อยู่ภาคเกษตร เพราะฉะนั้นตกงานจากในเมืองก็ไปอยู่ภาคเกษตรได้ พอหน้าฝนก็ให้ข้าวกินน้ำไป ตัวเองก็มาทำงานในเมือง พอฤดูแล้งกลับไปเกี่ยวข้าว ผู้รับเหมาจะสร้างทางก็ไม่มีแรงงาน เพราะว่ากลับไปเกี่ยวข้าวกันหมด ในทางกลับกัน ตัวเลขการว่างง่าน 1% ดูเหมือนจะดูดี แต่จริงๆ แล้วมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เลยทำให้หลังๆ ผู้ประกอบการก็เลยเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามา อย่างตัวเลขแรงงานพม่าประมาณ 2 ล้านคน แต่กระทรวงแรงงานบอกว่าที่ไม่จดทะเบียนอีกเท่าตัว สรุปแล้วแรงงานต่างด้าว 4 ล้านคน คิดเป็น 10% ของจำนวนแรงงานในระบบของไทย วันดีคืนดี ถ้าพม่าพัฒนาประเทศได้ แล้วเขากลับไปหมด ดังนั้น การว่างงานที่ดูเหมือนจะต่ำเพราะมีภาคเกษตรที่คอยรองรับ การที่แรงงานย้ายไปย้ายมา ทำให้ผู้ประกอบการปรับนิสัยก็ใช้วิธีเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาแทน คนตกงาน 1% โดย 40% ของใน 1% เป็นแรงงานที่มีอายุ 24 ปีลงมา กลับกลายเป็นว่าคนแก่ๆ เดี๋ยวนี้ตกงานไม่เป็นไร กลับไปทำไร่ทำนาได้ แต่เด็กยุคใหม่บอกลืมไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สอนทำไร่ทำนา จบออกมาปุ๊บ ตกงาน ก็ไปทำไร่ทำนาไม่ได้ ก็ตกอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่แหละ เกือบครึ่งหนึ่ง กลับกลายเป็นตกงาน อันนี้คือโอกาส ดังนั้นที่บอกว่าตัวเลขการตกงานต่ำๆ ก็พูดกันไป แต่ประเด็นคืออะไร ประเด็นคือต่ำแล้วคือดีแล้วใช่ไหม ถ้าดูตัวเลขอย่างนี้ก็หมายความว่า นโยบายก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะตัวเลขที่ประกาศมันดี นโยบายก็ออกเป็นว่าไม่ใส่ใจ หรือถ้าเรามองในแง่ประเด็นที่กระทบอนาคตจริงๆ ถ้าถามผมสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่าการว่างงานคือเรื่องของว่าเรากำลังให้ โอกาสให้คนหรือเปล่า ตอนที่จะดูว่าเด็กที่จบมาใหม่จะเป็นอนาคตของประเทศ มันมีโอกาสหรือเปล่า มันก็ต้องไล่ไปในหลายมิติ เช่นว่า บ้านเราตอนนี้ ถ้าคุณจะมีโอกาสคือคุณต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ตอนนี้จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้พอที่จะส่งลูกเรียนปริญญาตรีและที่สูงกว่า นี้ได้มีกี่ครัวเรือน ถ้าคุณมีเงินออมพอส่ง มีโอกาส ก็จบ นอกจากจบมาแล้วหางานได้หรือเปล่า จบใหม่ๆ ก็หางานไม่ได้ หรือถ้าหางานได้ มีโอกาสที่จะหางานตรงกับที่เรียนหรือเปล่า อันนี้เราวัดได้ ตอนนี้คนจบปริญญาตรีเยอะ แต่จบปริญญาตรีก็ไปเป็นเสมียนเยอะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคุณภาพไม่ค่อยดี แต่โอกาสในแง่ของตลาดแรงงานอาจจะไม่ดีด้วย นอกจากนี้ โอกาสเข้าถึงการเรียนหรือเปล่า จบแล้วหางานได้หรือเปล่า หางานได้แล้ว คุณเจริญในหน้าที่การงานหรือเปล่า หรือรายได้คุณโตหรือเปล่า พวกนี้จริงๆ วัดได้หมดเลย ความคิดเราก็คือทำพวกนี้เป็นตัวชี้วัดเพื่อที่จะสะท้อนเรื่องของโอกาส เอามายำเป็นอินเด็กซ์แล้วก็บอกว่า ดูตัวนี้สำคัญกว่าไปดูตัวเลข 1% ของเขา ถ้าเห็นว่าตรงนี้มันมีปัญหา ซึ่งมันมีจริงๆ ตัวประชากรเลขเรียนจบมีมากขึ้น ดูตามแนวโน้มแบบนี้ก็ดูดีขึ้นหมด แต่ไม่เคยใส่ใจว่าจบแล้วไปทำอะไร ทำงานตรงตามที่จบมาหรือเปล่า ตัวเลขนี้ไม่ดูเลย เหมือน KPI ประชาชนที่จบปริญญาตรีกี่คน แต่ถ้าคุณเห็นว่า KPI ของคุณไม่ใช่เรื่องว่าคุณผลิตคนมากี่คนแล้ว แต่คือถามว่าคนที่คุณผลิตแล้วมีโอกาสในการหางาน มีงานที่ทำให้รายได้โตหรือเปล่า หากตัวเลขออกมามันเปลี่ยนแล้ว จะเห็นทันทีว่าตัวชี้วัดพวกนี้ไม่ดี ดังนั้นการกำหนดนโยบายต้องเปลี่ยน คุณต้องไปดูเรื่องหลักสูตร เพราะหลักสูตรที่คุณผลิตออกมา มันไม่ตอบโจทย์ตลาด รายได้คุณถึงไม่โต หรือเขาหางานไม่ได้ การที่สถาบันฯ จะหยิบตัวเลขพวกนี้มาหวังว่าจะช่วย เหมือนกระตุกหางหมา อย่างน้อยให้คนระแวงว่าอย่าไปหลงกับตัวเลข มีช่องทางที่จะไปสู่การปฏิบัติในการกำหนดนโยบายที่ตรงประเด็นได้บ้างไหม จริงๆ เรามองเป็น 3 ชั้น โดยชั้นในสุดแกนกลางที่เป็นไข่แดง หรือ Policy Maker (ผู้กำหนดนโยบาย) ทำอย่างไรให้ Policy Maker สนใจเรื่องพวกนี้  อย่างเรื่องการศึกษาเป็นต้น  วงถัดมาเป็นพวกกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ นักคิด นักวิชาการต่างๆ ส่วนวงนอกสุดเป็นวงสาธารณะ สื่อ ประชาชนทั่วไป ตอนที่เราคิดถึงโปรดักส์นี่เราก็ต้องนั่งนึกด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายเรามีใหญ่ กลาง เล็ก ตั้งแต่วงในสุด “ไข่แดง” ยันวงนอกสุด “ไข่ขาว” แต่ละโปรดักส์ของเราสนองความต้องการของแต่ละคนอย่างไร ยกอย่างตัว Policy watch นี่ พูดถึงแต่อนาคต คนก็บอกว่า เดี๋ยวฉันก็ตายแล้วไม่ต้องมาสนใจอนาคตอะไร แต่ว่าตัว Policy watch เราคงต้องมีเพราะว่าสื่อมวลชนก็ดี ใครก็ดี เขาก็สนใจในปัจจุบันบ้าง เราควรที่จะ Policy watch ปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคตอะไรเป็นหลัก คำถามก็คือ เรามี 3 วง วงนอกคือ สื่อ ประชาชน วงกลาง นักคิด นักทำ วงในสุดคือ Policy Maker ซึ่งประชาชนเป็นหนึ่งในโปรดักส์ของเรา คือ Policy watch แต่เราจะทำเฉพาะ watch ที่เกี่ยวกับอนาคต ไม่ได้เกี่ยวกับวาเลนไทน์ว่า  จะทำให้จีดีพีโตเท่าไหร่  และสถาบันฯ ไม่ใช่จะไปชี้นำ Policy เพียงแต่เราจะยกระดับของการดีเบต  ให้รู้ทั้งข้อดีและข้อเสีย  พอจบแล้วก็จะไม่ชี้นำอะไร  แต่ว่าตัว Policy watch จะพยายามให้เห็น 2 มุม นักข่าวจะเอา 2 มุมนี้ไปถามใครก็ได้ หรือจะถามเราก็ได้เหมือนกัน  เป็นเหมือน Third Opinion แต่ว่าตอนเปิดโปรดักส์  เราไม่ได้ทำโปรดักส์แล้วบอกว่าต้องทำอย่างนี้สิ ไม่ใช่อันนี้ก็คือฝั่งที่เป็นไข่ขาวข้างนอก (สื่อ ประชาชน) ส่วนระดับตรงกลางนี่เราจะสร้างโดยใช้ Network Community เนื่องจากเรามีคนอยู่แค่หยิบมือหนึ่ง ยังไงเราเป็นกูรูทุกเรื่องไม่ได้ ซึ่ง Network Community มีทั้งผู้ใหญ่ในกรรมการที่ปรึกษา ทั้งผู้ใหญ่ในคณะกรรมการ เพื่อนๆ ที่อยู่ตามภาคเอกชนก็ดี  ก็บอกว่าเรามีอินเด็กซ์เรื่องนี้  เคยรู้หรือเปล่าว่า เช่นว่าแรงงานที่อยู่ในระบบตกงานเท่าไหร่ ตัวเลข 40% หรือเคยรู้หรือเปล่าว่าอัตราการดำรงตำแหน่งผู้ว่าอยู่ที่ 1 ปีหรือ 1.1 ปี เคยรู้หรือเปล่าว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาเซกเตอร์ไหน  เราก็เอาของเหล่านี้ที่เป็นอินเด็กซ์ไปขายในเครือข่ายนักคิด  ในอดีตมันก็มีหลายฟอรั่มที่พยายามจะรวมนักคิดรุ่นใหม่  ตั้งแต่รุ่นใหม่ จนขณะนี้เป็นรุ่นเก่า ก็ไม่เห็นใครรวมตัวได้เสียที อินเด็กซ์ของเราคือทำเพื่ออนาคต หรือเห็นอนาคต หรืออาจจะเห็นปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคต ดังนั้น ในเนื้อของอินเด็กซ์นี่ถ้าเขาจะไปเขียนอะไร  เขาต้องไปเขียนเรื่องปัจจุบันที่กัดกร่อนอนาคตอยู่  ดังนั้นตัวเขา (business community) งานก็เบาลง เพราะเหมือนมีมือไม้ทางนี้  พอเขาโทรมาเราอาจจะจัดข้อมูลให้เขา พอเขียนเสร็จปุ๊บ อย่าลืมนะครับ ปั๊มตรา ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ของเราด้วย ตอบคำถามที่ว่า พวกที่คิดมาต่างๆ นี่ จะผลักดันให้เป็นจริงอย่างไร โปรดักส์ต่างๆ ที่คิด คิดในเรื่องของการผลักดัน เพราะเราไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง คราวนี้ก็จะมีไข่ขาว ระดับตรงกลาง คือพวกกลุ่มนักคิด จะเอาไปช่วยผลักดันนั่นเอง” ฉลาดซื้อเชื่อว่านอกจากจะจัดทำดัชนีเครื่องชี้วัดแล้ว ก็ต้องการผลักดันให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจดัชนีเพื่ออนาคต เมื่อเราสนใจดัชนีเพื่ออนาคต นโยบายที่ออกมาก็เป็นนโยบายเพื่ออนาคตด้วย ตัวเลข ตัวชี้วัดต่างๆ เป็นตัวเลขที่สะท้อนเรื่องศักยภาพของอนาคตเรา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องการสื่อสารในการจัดงานเปิดตัวสถาบันในวันนี้ คืออนาคตไทยเราเลือกได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point