ฉบับที่ 122 เปลี่ยนระบบประกันตนได้ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบสุขภาพไทย

  นิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณมาคุยกับ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะ เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน(เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.54) ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพของประเทศไทย จากปัญหาใหญ่เรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในระบบประกันสุขภาพระหว่าง ระบบประกันสังคมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ฝ่ายหนึ่งยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลไม่ได้เท่าเทียมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย หลายคนเกิดคำถามว่าเหตุใดถึงลุกขึ้นเรียกร้องช่วงนี้ แล้วมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ตอนนี้ทำอะไรไปบ้าง ฉลาดซื้อจะพาไปคุยค่ะ   เปิดตัวชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ความจริงเรื่องนี้คิดกันมานานแล้วนะแต่ไม่ได้จังหวะทำ ด้วยงานที่ทำทั้งการรณรงค์เรื่องสิทธิบัตรทอง ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น การผลักเรื่องเครือข่ายผู้ติดเชื้อก็เริ่มลงตัว จึงเริ่มเดินเรื่องชมรมฯ กันได้ประกอบกับพวกเราอยากผลักเรื่องรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่เรื่องกฎหมายบำนาญชราภาพ ที่มีการล่ารายชื่อหนึ่งหมื่นรายชื่อเสนอกฎหมายกันไป อีกอย่างก็คืออยากแก้กฎหมายประกันสังคมเรื่องเงินออม ซึ่งเมื่อมองหลายๆส่วน หากเราต้องการผลักให้เกิดบำนาญชราภาพอย่างจริงจังก็ต้องผลักในหลายๆ ส่วน ซึ่งก็ต้องดูทั้งบำนาญชราภาพของคนที่นอกระบบที่รัฐจะให้ก็คือเดือนละ 1,500 บาท บำนาญชราภาพของคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่พอดูกันจริงๆ แล้ว ได้เดือนละ 3000 บาท ทำงานกันมานานมาก กว่าจะได้ใช้ก็อายุปาเข้าไป 55 ปี แรกๆ ก็ดูทุกคนอุ่นใจว่ามีบำนาญของประกันสังคม แต่ไม่เคยรู้ว่าได้เท่าไรเพราะคำนวณไม่เป็น แต่พอคำนวณได้   เอ้า...ตายละได้คนละ 3,000 บาท ก็คิดว่าน่าจะมีอะไรผิดพลาดละ เลยมาคิดหาทางออกกันว่าจะปรับจะแก้อย่างไร จะนำเงินที่ไม่ได้ใช้ไปจ่ายเพิ่มค่าบำนาญได้อย่างไร ก็เล็งไปที่ระบบสุขภาพที่ดูกันจริงๆ แล้วไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ทุกเดือนเราต้องจ่ายให้ประกันสังคม 5% และ 1.5 % ถูกนำไปใช้ในระบบสุขภาพ  พี่ทำงานด้านเอดส์ก็จะเห็นภาพชัดเจน เพราะมีเครือข่ายผู้ติดเชื้อซึ่งพอเข้ามาทำงานกับเครือข่ายก็ต้องโอนย้ายสิทธิจากบัตรทอง มาใช้สิทธิการรักษาของประกันสังคม ก็ติดปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ในการับยาต้านไวรัส ต้องใช้รับรองเพื่อดูสูตรยาต้านฯ และยาต้านไวรัส บางตัว ระบบประกันสังคมยังไม่ครอบคลุม บางคนก็บอกว่าไม่เข้าใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม เราก็พยายามอธิบายว่า ‘ประกันสังคมดีนะ มีสิทธิประโยชน์อย่างอื่นด้วยทั้งเรื่องสวัสดิการการว่างงาน หรือเจ็บป่วยก็มีสิทธิชดเชยนะ หรือทำงานแล้วส่งเงินไป 15 ปีก็จะได้เงินบำนาญ’ แต่ที่พูดมาเป็นเรื่องราวในอนาคต ซึ่งการรักษาพยาบาลเราไม่ได้ใช้   และโครงการประชาวิวัฒน์เป็นตัวผลักดันให้เกิดชมรมฯ เพราะโครงการนี้มีการนำแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคมแต่ไม่รวมเรื่องสุขภาพ ระบบสุขภาพยังอยู่กับบัตรทอง ซึ่งเราเห็นด้วย แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็คือรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมายประกันคมให้คู่ของผู้ประกันตนย้ายออกจากบัตรทอง ที่มีระบบการกระจายความเสี่ยงที่ดีของระบบบัตรทอง ซึ่งผู้ประกันตนปัจจุบันมี 9 ล้านกว่าๆ แต่พอรวมคู่ประกันตนเข้าไปอีก 10 ล้าน บวกลูกผู้ประกันตนเข้าไปอีก ก็จะอยู่ราวๆ 20 ล้านคน ซึ่งในกฎหมายที่จะแก้ระบุว่าให้โอนงบประมาณค่ารายหัวตรงนั้นเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งเหมือนเงินมันหายไปเยอะมาก จะทำให้เกิดความสั่นคลอนกับระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพมาก ก็คิดกันว่าระบบสุขภาพที่ดีที่สุดก็คือ “ต้องมีระบบสุขภาพระบบเดียว” นำคน งบประมาณ มาอยู่ในระบบเดียวกัน ซึ่งมันจะทำมีพลังในการต่อรองระบบการรักษาในโรคเดียวกัน ราคาเดียวกัน หากเราทำให้ทุกอย่างมันอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ระบบมันจะมีคุณภาพ   ระบบสุขภาพระบบเดียวสร้างมาตรฐานการรักษาพยาบาล ยกตัวอย่างระบบสุขภาพของประเทศไต้หวัน ที่มีระบบสุขภาพระบบเดียว พอเป็นระบบเดียวก็มีองค์กรการบริหารองค์กรเดียว มีเงินก้อน แล้วโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องทำเป็นคู่สัญญากับองค์กรกับกองทุนนี้ เพราะระบบการรักษาพยาบาลนั้นรัฐบาลเป็นคนจ่าย ถ้าโรงพยาบาลไหนไม่เข้าระบบก็จะไม่ใครเข้าไปใช้บริการ เพราะฉะนั้นถ้าโรงพยาบาลอยากได้เงินก็ต้องร่วมกองทุน ซึ่งระบบนี้จะมีอำนาจในการกำหนดราคา คุณภาพบริการ ระบบการผูกขาดบางอย่างก็ดีถ้ามันเป็นประโยชน์โดยรวม  แต่บ้านเรายังกำหนดไม่ได้โรงพยาบาลนี้มีชื่อเสียงก็ราคาแพงหน่อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการคลอด โรงพยาบาลนี้ 10,000 แต่อีกโรงพยาบาล 50,000 บาท อะไรแบบนี้ เห็นไหมมันมีความต่างที่เรายังไม่สามารถกำหนดได้ ถ้าเรามีระบบสุขภาพระบบเดียวการผูกขาดแบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในเชิงคุณธรรม ซึ่งมันเป็นเรื่องของชีวิตไม่ควรจะมีการค้ากำไร แต่ก็จะถูกโต้แย้งเสมอว่า “เพราะต้องการให้เกิดการแข่งขัน พอมีการแข่งขันทุกโรงพยาบาลก็จะมีการบริการที่ดี” แต่ดูสิข้อเท็จจริงตอนนี้มันไม่ใช่ ที่มีการแข่งขันก็คือ แอร์เย็น มีระบบต้อนรับที่หรูหรา แต่คุณภาพการรักษามันก็โรคเดียวกันมันก็โรคเดียวกัน การใช้ยาก็ต้องใช้ยาเหมือนกันๆ แต่ราคาแตกต่างกัน ยาจะแตกต่างกันบ้างก็คือการใช้ยาในบัญชียาหลักและยานอกบัญชี ซึ่งก็จะแพงขึ้น   คิดใหม่ทำใหม่ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนต้องใช้เวลา ถามว่าจะนานแค่ไหนก็คงต้องดูกันต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล และหากเปลี่ยนแปลงได้มันจะเป็นการพลิกระบบสุขภาพ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างตอนที่เกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ทำให้ประชาชนรักษาสุขภาพฟรี ก็ต้องใช้เวลา หรืออย่างเกิดระบบ “30 บาทรักษาทุกโรค” ถ้าหากพรรคการเมืองมองการณ์ไกลก็หยิบส่วนนี้ไปผลักคะแนนเสียงมาตรึม ที่ผ่านมาเราพยายามทำความเข้าใจว่าระบบการรักษาพยาบาลมันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เราเริ่มต้นด้วยการสร้างกระแสผ่านสื่อทุกช่องทางทำให้คนรับรู้ว่ามันเกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็ใช้มาตรการในการเจรจา ต่อรอง ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อสร้างแรงกดดัน เมื่อยังนิ่งอยู่เราก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่มี ซึ่งเราจะเห็นว่ากฎหมายผิดรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5,10 และ 11 มีความไม่เป็นธรรมในเรื่องสุขภาพที่รัฐเลือกปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญก็ว่าไป ที่เรามองต่อมาและชกตรงมากขึ้นก็คือศาลแรงงาน เพื่อให้เห็นคู่ชกก็คือผู้ใช้แรงงานที่ถูกหัก 5% กับสำนักงานประกันสังคม โดยเรียกร้องขอเงินคืน คืนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบด้านสุขภาพจำนวน 1.5% ตั้งแต่ปี 2545 แล้วนำไปใช้ในกองทุนบำนาญชราภาพ เพราะเป็นปีที่มีกฎหมายหลักประกันสุขภาพและประชาชนไม่ควรที่จะถูกเก็บเงินสมทบตั้งแต่ปีนั้น ซึ่งที่เรียกร้องไม่ใช่เพื่อขอเงินคืน แต่เพื่อให้เห็นจำนวนเงินว่าสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ไหม อย่างไปใช้ในส่วนชราภาพ หรือชดเชยบุตรจาก 6 ปี เป็น 20 ปีก็ได้ หรือนำไปบวกในส่วนชดเชยการขาดรายได้ก็ได้ ประกันสังคมไม่ต้องไปจ่ายปีละ 20,000 ล้านในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเราก็หวัง แต่ต้องใช้เวลา   ต้องยอมรับกฎหมายประกันสังคมที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 30 ที่แล้วเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นรัฐสวัสดิการแรกๆ ของเมืองไทยที่ดูแลคน แต่ว่าเมื่อสถานการณ์ สังคมเปลี่ยนมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพขึ้นมาแล้วดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศและดูแลได้ดีกว่า คนบริหารระบบประกันสังคมก็ต้องคิดที่จะพัฒนาว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะให้คนที่ใช้แรงงานได้ประโยชน์สูงสุด ในอดีตประกันสังคมมีอดีตที่ดีตอนนี้ปัจจุบันมันเปลี่ยนประกันสังคมก็ต้องเปลี่ยนเพื่อพิทักษ์ประโยชน์และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน จริงไหม??....  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point