ฉบับที่ 271 สำรวจฉลากโภชนาการ “เครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช”

         หลายปีมานี้เทรนด์การบริโภคอาหารจากพืช (Plant-Based) ที่ตอบโจทย์ทั้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ขยายความนิยมครอบคลุมในทุกเมนูอาหาร รวมทั้งนมจากพืชด้วย ดังจะเห็นได้จากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์นมจากพืช ปี 2565 มี 17,960 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยส่วนใหญ่เป็นนมถั่วเหลือง รองลงมาได้แก่ นมอัลมอนด์ น้ำนมข้าว นมข้าวโอ๊ต และกะทิพร้อมดื่มตามลำดับเฉพาะผลิตภัณฑ์ “น้ำนมข้าว” นี้ได้รับการผลักดันจากกรมการค้าภายในมาตั้งแต่ปี 2562 ให้ผลิตภายในประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่แพ้นมวัวและนมจากพืชตระกูลถั่ว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์ของน้ำนมข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่ดีต่อสุขภาพ ให้ได้รับรู้กันในวงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเครื่องดื่มน้ำนมข้าวส่วนใหญ่จึงผลิตในประเทศไทย มีราคาที่ผู้บริโภคซื้อดื่มอย่างต่อเนื่องได้ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ได้คิดค้นเครื่องดื่มน้ำนมข้าวออกมาให้ผู้บริโภคเลือกหลากหลายสูตร โดยบางรายผสมธัญพืชต่างๆ เติมน้ำตาล สารปรุงแต่งอื่นๆ เพื่อให้รสชาติอร่อย ดื่มง่าย และอาจเพิ่มสารกันเสียเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช จำนวน 26 ตัวอย่าง แบ่งเป็น แบบผงชงดื่ม 8 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ และแบบบรรจุขวด/กล่องพร้อมดื่ม 18 ตัวอย่าง 5 ยี่ห้อ เมื่อเดือนกันยายน 2566 มาสำรวจฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณพลังงาน น้ำตาล โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียม รวมถึงเปรียบเทียบราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลสำรวจ         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่ง 1 หน่วยบริโภค พบว่าพลังงาน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 100 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยสุด =  25  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 180 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด =  50  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล น้ำตาล        แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 3 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อไรซ์มายด์เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่ระบุปริมาณไว้ ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นไม่มีน้ำตาล        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 14 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ส่วนมีน้อยสุด = 1 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู สูตรไม่เติมน้ำตาล ส่วนที่ไม่มีน้ำตาล คือยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โปรตีน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  6 กรัม คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว ไม่มีโปรตีนแบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 6 กรัม คือ ยี่ห้อเนเจอร์ริช น้ำข้าวกล้องงอกผสมถั่ว 5 สี  ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก รสวานิลลา และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  15 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง และยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว ส่วนมีน้อยสุด = 3 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 32 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด = 4 กรัม คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โซเดียม         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  90 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว มีน้อยสุด = 10 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนอีก 4 ตัวอย่างนั้นไม่มีโซเดียมแบบพร้อมดื่ม : มีมากสุด = 230 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า ส่วนมีน้อยสุด = 5 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ด รสงาดำ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ต รสจืด และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ตการเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ        แบบผงชงดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 1.83 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.44 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าวแบบพร้อมดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 0.15 บาท/ 1 มิลลิลิตร คือ ยี่ห้อฮูเร่ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ผสมน้ำนมข้าว ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.06 บาท/ 1 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อดีน่า นมถั่วเหลือง สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น และน้ำนมถั่วเหลือง สูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องงอก 7 ชนิด เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ข้อสังเกต         - ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก         - ปริมาณน้ำตาลที่พบสูงสุดคือ 14 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 24 กรัมต่อวัน         - ในส่วนประกอบของทั้งหมด 26 ตัวอย่าง พบว่า มี 16 ตัวอย่าง เติมน้ำตาล  มี 6 ตัวอย่าง เติมแคลเซียม             มี 17 ตัวอย่าง ไม่ใช้วัตถุกันเสีย และมี 10 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าแต่งกลิ่น           - มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ในแบบผงชงดื่ม 4 ตัวอย่าง และแบบพร้อมดื่ม 12 ตัวอย่าง         - สำหรับแบบพร้อมดื่ม หากนำเกณฑ์สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” สำหรับเครื่องดื่มธัญพืชและนมถั่วเหลืองมาพิจารณา ที่ระบุว่าหากปริมาณไม่เกิน 300 มิลลิลิตร ต้องมีน้ำตาลทั้งหมดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 กรัม/ 100 มิลลิลิตร จะพบว่าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์นี้ ส่วนปริมาณโซเดียมต้องมีน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัม/ 100 มิลลิลิตร พบว่ามี 7 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์นี้ โดยในจำนวนนี้มี 3 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า (92 มก./100 มิลลิลิตร) และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก (84 มก./100 มิลลิลิตร) และยี่ห้อดีน่า น้ำนมถั่วเหลืองสูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย (41.67 มก./ 100 มิลลิลิตร)         - ทุกตัวอย่าง มีผู้ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย คำแนะนำ          -หากดื่มต่อเนื่องเป็นประจำ ควรเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวที่มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ มีการปรุงเสริมเติมแต่งน้อยที่สุด ไม่มีวัตถุกันเสีย และควรเลือกสูตรน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาล         -น้ำนมข้าวให้โปรตีนต่ำและมีคาร์โบไฮเดรตสูง จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานเพราะคาร์โบไฮเดรตจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้         - น้ำนมข้าวแบบผงชงดื่มมักจะเป็นส่วนจมูกข้าว ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด จึงเหมาะเลือกเป็นอาหารเสริมหรือนมสำหรับบำรุงร่างกาย ที่เพิ่มหรือลดความเข้มข้นได้ตามต้องการ ปรุงแต่งรสชาติได้ตามชอบ แต่ต้องชงแบบร้อนเท่านั้นเพื่อให้ผงน้ำนมข้าวละลายได้ดี และมักมีราคาค่อนข้างสูง         - แบบขวด/กล่องพร้อมดื่มมีให้เลือกหลายสูตรหลากรสกว่าแบบผง พกพาง่าย มีปริมาณและรสชาติแน่นอน ดื่มแบบเย็นจะเพิ่มความอร่อยขึ้น          - ก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง แนะนำให้ตรวจสอบส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ด้วย เพราะรสชาติของน้ำนมข้าวเพียวๆ ออกจะจืดๆ ผู้ผลิตบางรายจึงปรุงแต่งรสชาติหรือผสมรวมกับน้ำนมถั่วหรือธัญพืชอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นและทำให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น         - น้ำนมข้าวที่ทำจากข้าวกล้องและข้าวกล้องงอกจะมีสารอาหารสูง แต่คนที่เป็นโรคเก๊าต์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ปวดไขข้อมากขึ้นได้         -หากดื่มน้ำนมข้าวหรือนมจากพืชอื่นๆ แล้วมีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก และรู้สึกแน่นบริเวณลำคอและหน้าอก อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ หรือบางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที         - หากต้องการหลีกเลี่ยงสารปรุงแต่งต่างๆ จากเครื่องดื่มน้ำนมข้าวแบบสำเร็จรูป ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถลองทำน้ำนมข้าวดื่มเองได้ โดยค้นหาวิธีทำได้จากช่องยูทูป ทำไม่ยากเลย   ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.com/https://bestreview.asia/best-rice-milk/ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (https://fic.nfi.or.th/market-intelligence-detail.php?smid=377)https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG190704200320434

อ่านเพิ่มเติม >