ฉบับที่ 160 มารู้จักน้ำเต้าหู้กันหน่อย

ผู้เขียนได้พบกระทู้ในเว็บพันทิปที่ตั้งขึ้นว่า “ตอนนี้งดมื้อเย็นเลยหันมากินน้ำเต้าหู้แทนค่ะแต่เป็นน้ำเต้าหู้ไม่เครื่องหวานน้อย ซื้อครั้งละ 5 ถุง ไม่รู้ว่าอ้วนไหม กินมา 2-3 เดือนแล้วค่ะ แต่น้ำหนักไม่เห็นลง มีแต่เพิ่ม 55555 ลูกสาวเรา 3 ขวบ ก็กินน้ำเต้าหู้กะเราบางวันกินที มากกว่า 2 ถุงเลย มีผลอะไรไหมค่ะ ลูกสาวเราเป็นเด็กทานเก่งมากว่า น้องค่อนข้างอวบ ๆ ไม่รู้ผลมาจากน้ำเต้าหู้ด้วยไหม” ในกระทู้นั้นก็มีคนเข้ามาให้ความเห็นว่า “นมถั่วเหลืองให้พลังงานสูงค่ะ ยิ่งเป็นน้ำเต้าหู้ข้างทาง ไม่รู้มีแค่น้ำนมถั่ว+น้ำ รึป่าว เห็นว่าบางเจ้าใส่แป้ง ใส่นมวัวเพิ่ม นอกจากนี้น้ำเต้าหู้ช่วยเพิ่มฮอร์โมนผู้หญิง ลูกคุณกินมาก อาจมีรูปร่างโตเป็นสาวไว มี ปจด.เร็ว” ทั้งคำถามและคำตอบในกระทู้นี้สรุปได้ว่า มีผู้สนใจเรื่อง น้ำเต้าหู้(หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองนั้นเอง) ซึ่งน่ายินดีมาก เพราะเป็นที่ยอมรับกันทางระบาดวิทยาแล้วว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองนั้นลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและมดลูก ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยมีบอกในภาพยนตร์ไทยเรื่อง น้ำเต้าหู้กับครูระเบียบ ที่ฉายเมื่อ พ.ศ. 2537 อย่างไรก็ดี มีบางประเด็นที่ทั้งผู้ตั้งกระทู้และผู้แสดงความเห็นนั้นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่น้อยหน่อยคือ การกินน้ำเต้าหู้ ลดอาหารเย็น แล้วแต่น้ำหนักยังไม่ลด ประเด็นนี้ไม่ต้องประหลาดใจเพราะ การทำน้ำหนักขึ้น 1 กิโลกรัม นั้นใช้เวลาสบายๆ แค่อาทิตย์เดียว แต่การจะลดน้ำหนักสัก 1 ขีด หรือ 100 กรัมนั้น ครึ่งปียังทำได้ยากเลย   การลดอาหารมื้อเย็นนั้นบางครั้งทำให้เราสบายใจว่า ได้ตัดพลังงานทิ้งไปแล้ว จึงไม่ค่อยระวังในมื้อเช้า ที่สำคัญในการลดน้ำหนักนั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุดและทำได้ยากมากคือ การออกแรงเผาพลังงานทิ้ง ซึ่งต้องทำจนถึงขั้นที่ร่างกายดึงเอาไขมันที่สะสมอยู่ออกมา น้ำหนักจึงจะลด ดังนั้นการลดน้ำหนักนั้นจึงต้องศึกษาหาความรู้ว่าควรกินอย่างไร ลดอะไร เพิ่มอะไร ปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หาได้ไม่ยากเลยในเว็บไทย ๆ ขอฝากท่านผู้อ่านทำเป็นการบ้าน อีกประเด็นที่น่าสนในคือ ข้อมูลที่กังวลเกี่ยวกับการกินสารไฟโตเอสโตรเจนในผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเกี่ยวกับความกังวลเรื่องได้รับสารไฟโตเอสโตรเจนทำให้มี ปจด. (ประจำเดือน) มาก่อนเวลาอันควรของเด็กหญิงนั้น ไม่ควรกังวลแต่อย่างใด ถ้าเด็กคนนั้นกินอาหารมีใยอาหาร โดยเฉพาะเพ็คตินจากพืชตระกูลส้ม ฝรั่ง กล้วย แตงกวา ฯลฯ มากพอ เพราะเพ็คตินมีผลทางอ้อมในการยืดเวลาเริ่มการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งทำให้เริ่มมีประจำเดือน และไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลืองนั้นเป็นสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนค่อนข้างต่ำ ไฟโตเอสโตรเจนคือ สารจากพืชที่ออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน จึงมีศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็น Estrogen agonist คำว่า agonist นั้นหมายถึง สารที่มีฤทธิ์ต่อสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน แต่ความเหมือนนั้นมีทั้งเหมือนแบบฤทธิ์มากกว่าและเหมือนแบบฤทธิ์น้อยกว่า สารที่เป็น Estrogen agonist แต่ออกฤทธิ์มากกว่าเอสโตรเจนในมนุษย์คือ ไฟโตเอสโตรเจนที่อยู่ในกวาวเครือ ซึ่งมีประโยชน์ใช้เป็นยาแผนโบราณสำหรับหญิงและชายที่เข้าสู่วัยทอง (ถ้ารู้ขนาดใช้ที่เหมาะสม) โดยอาศัยฤทธิ์ที่คล้ายเอสโตรเจนธรรมชาติช่วยบรรเทาปัญหาของความรู้สึกภายในร่างกายซึ่งกำลังเปลี่ยนถ่ายจากวัยเจริญพันธุ์ไปสู่วัยชรา จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้จัดให้เอสโตรเจนในร่างกายผู้หญิงเป็น สารก่อมะเร็งธรรมชาติ (สนใจไปหาข้อมูลได้ที่ http://ntp.niehs.nih.gov) เพราะถ้าใครมีมากเกินความจำเป็น โอกาสเป็นมะเร็งเต้านม มดลูก และรังไข่จะสูงกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ ส่วนในผู้ชายนั้นการใช้สารสกัดจากกวาวเครือมากๆ ทำให้ผู้ชายมีหน้าอกใหญ่คล้ายผู้หญิงได้ แต่โอกาสเป็นมะเร็งเท่าผู้หญิงหรือไม่นั้น ยังต้องรอการศึกษาต่อไป ส่วนสารที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนน้อยกว่าเอสโตรเจนธรรมชาติ (เมื่อคิดต่อน้ำหนักสารบริสุทธิ์เท่ากัน) ที่น่าสนใจคือ เจ็นนิสตีน (genistine) ในถั่วเหลือง สารนี้จับกับบริเวณรับฮอร์โมนเอสโตรเจนบนผนังเซลล์ต่อมน้ำนม(mammary gland cell) และของมดลูกของผู้หญิงดีมาก แต่ออกฤทธิ์ต่ำกว่าเอสโตรเจนธรรมชาติที่ผู้หญิงผลิตเอง ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นเมื่อสารนี้เข้าไปแย่งที่จับบนผนังเซลล์ ฤทธิ์ของเอสโตรเจนธรรมชาติจึงลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อผู้หญิงหลายคนในช่วงมีประจำเดือน ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆ ว่า ปรกติเอสโตรเจนธรรมชาติมีคุณสมบัติในการกระตุ้นให้เซลล์ที่มันเข้าไปจับเตรียมพร้อมที่จะแบ่งตัว กล่าวคือ ทำให้เซลล์ต่อมน้ำนมและมดลูกขยายใหญ่เตรียมแบ่งในช่วงผู้หญิงมีประจำเดือน (เพื่อรอการปฏิสนธิของตัวอ่อน ถ้ามี) สภาวะนี้จึงทำให้ผู้หญิงบางคนที่ร่างกายสร้างเอสโตรเจนออกมามากกว่าคนอื่น เกิดอาการคัดเต้านมและปวดมดลูกในช่วง 2-3 วันแรกที่มีประจำเดือนหรืออาจมีอาการล่วงหน้าก่อนมีประจำเดือนด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าให้ผู้ที่มีปัญหาปวดคัดเต้านมและปวดมดลูกช่วงเวลามีประจำเดือนได้กินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเป็นประจำ เจ็นนิสตีนจะเข้าไปแย่งจับที่บริเวณรับของเอสโตรเจนที่เซลล์เป้าหมาย ทำให้เอสโตรเจนธรรมชาติออกฤทธิ์น้อยลง ที่สำคัญก็คือ การแย่งที่จับที่บริเวณรับของเซลล์ต่อมน้ำนมและมดลูกนี้เป็นการลดความเสี่ยงที่เซลล์ดังกล่าวจะถูกกระตุ้นให้กลายเป็นมะเร็งได้ ในกรณีที่ไม่มีการปฏิสนธิในมดลูก นอกจากเจ็นนิสตีนจะมีผลดีต่อผู้หญิงในเรื่องลดความเสี่ยงต่อมะเร็งแล้ว สารนี้ยังมีศักยภาพในการยับยั้งการสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งที่เกิดใหม่ด้วยซึ่งเป็น ผลดีผสมร้ายถ้ากินไม่เป็น ความหมายของการกินไม่เป็นคือ ไปกินเจ็นนิสตีนในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นการกินสารนี้เข้มข้นกว่าการกินจากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหลายร้อยเท่า จึงอาจส่งผลให้ผู้หญิงมีลูกยาก มีสมมุติฐานกล่าวว่า ขณะที่ผู้หญิงมีตัวอ่อนอยู่ในมดลูก ตัวอ่อนนั้นมีศักยภาพคล้ายก้อนมะเร็งก้อนใหญ่ที่ร่างกายแม่ต้องสร้างเส้นเลือดเพื่อส่งอาหารไปเลี้ยงตัวอ่อนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผ่านทางรก ดังนั้นถ้ากินเจ็นนิสตีนในปริมาณมาก การสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงตัวอ่อนอาจถูกขัดขวาง ที่สำคัญได้มีข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองแล้วว่า เจ็นนิสตีนปริมาณสูงทำให้สัตว์ทดลองมีลูกยากขึ้น จึงมีคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตั้งใจมีลูก ผู้หญิงอาจต้องลด(ไม่ได้หมายว่าหยุดเลย) การบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองจนกว่าเด็กจะคลอดหรืออย่างน้อยให้พ้นช่วงสามเดือนแรกไปก่อน และเมื่อใดที่ปลงใจว่าปิดโรงงานการผลิตทายาทแล้ว การบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเป็นประจำน่าจะเป็นคำแนะนำที่ดีในการลดความเสี่ยงของมะเร็งของอวัยวะที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point