ฉบับที่ 146 น้ำแข็งไส

  ไส หมายถึง การผลักไป รุนไป ไสน้ำแข็ง ก็คือการที่นำก้อนน้ำแข็งวางบนเครื่องไส ที่แบบบ้านๆ จะเป็นโต๊ะไม้เล็กๆ ที่มีใบมีดคมๆ หงายอยู่ตรงกลาง แล้วไถก้อนน้ำแข็งไปมาผ่านคมมีดเพื่อให้ได้เกล็ดน้ำแข็งฝอยๆ สำหรับกินกับ แตงไทย  เผือกลอดช่อง วุ้น เฉาก๊วย ขนมเชื่อมต่างๆ  อย่างลูกชิด มันเชื่อม หรืออื่นๆ แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ขนมแบบนี้แหละที่เราเรียกมันว่า ขนมน้ำแข็งไส ประเทศร้อนๆ อย่างเมืองไทยของเรา คนสมัยก่อนคงนึกไม่ออกว่า น้ำจะเป็นตัว ได้อย่างไร แต่กับคนในบ้านเมืองที่มีอากาศหนาวเย็นติดลบ น้ำแข็งไม่ใช่ของแปลก และการนำน้ำแข็งมาใช้ทั้งกินและถนอมอาหารก็ทำกันมานานเป็นพันปีแล้ว เมื่อการค้าจากชาติที่มีทั้งอากาศหนาวเย็นและวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งมาเยือนถึงถิ่นดินแดนเขตร้อน ราวศตวรรษที่ 19 น้ำแข็งจึงจัดเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นเพราะขนส่งมาไกลข้ามน้ำข้ามทะเลกันมาหลายเดือน คนไทยเราสั่งนำเข้าน้ำแข็งมาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากประเทศสิงคโปร์เพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ต่อมาจึงกลายเป็นของกินที่ทั้งแปลกและหรูหราในสมัยนั้น น้ำแข็งมากลายเป็นของธรรมดาก็เมื่อมีคนคิดค้นการผลิตน้ำแข็งขึ้นได้(ยุคแรกน้ำแข็งที่ใช้บริโภคเป็นน้ำแข็งที่เกิดตามธรรมชาติ) โรงงานน้ำแข็งแห่งแรกในประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวกับคนที่ทำรถเมล์เจ้าแรก คือ นายเลิศ(พระยาภักดีนรเศรษฐ) ชื่อว่า น้ำแข็งสยาม ณ เวลานี้  แม้น้ำแข็งไสแบบเดิมยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ น้ำแข็งไส หรือ น้ำแข็งใส ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น เกล็ดน้ำแข็งที่ผ่านเครื่องไสแบบสมัยใหม่จะละเอียดจนเรียกว่า ปุยนุ่นหรือเกล็ดหิมะ แบบตักใส่ปากก็ละลายโดยไม่ต้องเคี้ยว และยังมีท้อปปิ้งหน้าตาสวยงามให้เลือกหลากหลาย แน่นอนราคาก็ไม่ธรรมดาตามไปด้วย บางเจ้าราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทด้วยซ้ำ ว่าแต่...ร้อนๆ แบบนี้ได้น้ำแข็งไสสักถ้วยคงดีไม่น้อยนะ ว่าไหม?

อ่านเพิ่มเติม >