ฉบับที่ 275 กระแสต่างแดน

ส้วมสะเทือนใจ        การรถไฟอินเดียต้องจ่ายค่าชดเชย 30,000 รูปี (ประมาณ 12,900 บาท) ให้กับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจจากสภาพห้องน้ำบนขบวนรถ         วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้โดยสารคนดังกล่าวขึ้นรถไฟตู้ปรับอากาศชั้นสามจากนิวเดลลีเพื่อไปลงที่เมืองอินดอร์ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามคืนที่ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง          แปดโมงเช้าวันต่อมา เขาลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าและทำธุระส่วนตัว แต่พบว่าไม่มีทั้งน้ำล้างหน้าและน้ำสำหรับกดชักโครก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพสกปรกสุดทน และเนื่องจากรถไฟเสียเวลา เขาจึงต้องทนปวดท้องอยู่สองชั่วโมงและไปถึงที่ทำงานสายด้วย         แม้จะแย้งว่าห้องน้ำไม่ถือเป็น “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่การรถไฟฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดหาน้ำใช้ที่สะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยให้กับประชาชนและยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง 10,000 รูปีด้วย  ยาถูกมีอยู่จริง         เป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์จะขับรถข้ามชายแดนไป “ซื้อของ” ที่ยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะนอกจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นั่นจะถูกกว่า รวมถึงยารักษาโรคก็ถูกกว่าด้วย แถมร้านยาในมาเลเซียก็ไม่ถามหา “ใบสั่งแพทย์” อีก         ตัวอย่างเช่น ราคาของยาลดความดัน Micardis ในสิงคโปร์อยู่ที่ 53 เหรียญ (1,400 บาท) แต่สามารถซื้อได้ในมาเลเซียที่ราคา 62 ริงกิต (470 บาท)         นอกจากความแตกต่างของค่าเงินแล้ว ยาในมาเลเซียยังถูกกว่าเพราะร้านยาซึ่งมีหลายร้านในบริเวณเดียวกันมักจะกระหน่ำลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าด้วย         อย่างไรก็ตามช่องข่าว CNA ซึ่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวพบว่ายาที่สั่งซื้อจากร้านออนไลน์ในมาเลเซียมักใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะคุณภาพการเก็บรักษาหรือการขนส่ง แถมหลายตัวยังเป็นยาปลอมหรือมีสารต้องห้าม         ทางช่องข่าวแนะนำให้คนสิงคโปร์ประหยัดด้วยการซื้อ “ยาชื่อสามัญ” เพราะเขาทดสอบแล้วพบว่าหลายตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาที่มีแบรนด์เลย ถือบัตรไหนดี         กรุงโซลและปริมณฑลมีบัตรขึ้นรถสาธารณะหลายใบให้เลือก เป้าหมายร่วมกันคือลดภาระค่าเดินทางให้คนเมือง แต่สิทธิประโยชน์และเขตพื้นที่ให้บริการนั้นไม่เหมือนกัน         “ไคลเมทการ์ด” บัตรรายเดือนโดยเทศบาลโซล ใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟได้ดินได้ทุกเส้นทางในโซลได้ไม่จำกัด ใบละ 62,000 (ประมาณ 1,650 บาท) และบัตรดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่เมืองอินชอนด้วยตั้งแต่ปี 2024         “ไอพาส” ของเทศบาลเมืองอินชอน ใช้เดินทางในเมืองนี้ได้โดยไม่จำกัดเที่ยว ผู้สูงอายุสามารถรับเงินคืนร้อยละ 30 จากที่จ่ายไป         “เคพาส” ของกระทรวงที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการขนส่ง ใช้เดินทางได้ 60 เที่ยวทั่วประเทศ หากใช้รถสาธารณะมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน สามารถขอเงินคืนได้ร้อยละ 30 (สำหรับผู้ที่อายุ 19-34 ปี) ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินคืนร้อยละ 52         แล้วยังมี “คยองกีพาส” สำหรับใช้ในจังหวัดคยองกี ที่จะเริ่มใช้เดือนพฤษภาคมได้เงินคืนเหมือนกันแต่ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว         ประชาชนเกาหลีหลายคนสงสัยดังๆ จะง่ายกว่าไหม ถ้ารัฐบาลลดราคาตั๋วไปเลย   ไม่ต้องฝัง         เพราะความสะดวกและความประหยัด คนดัทช์ยุคนี้จึงหันมาเลือกใช้บริการพิธีศพแบบเผา แทนที่จะฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม         ที่เนเธอร์แลนด์พิธีศพแบบเผามีค่าใช้จ่าย 6,000 ยูโร (ประมาณ 232,000 บาท) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างในกรณีที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ในขณะที่การฝังมีค่าใช้จ่ายถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ 350,000 บาท)         สถิติระบุว่าร้อยละ 68.4 ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ได้รับการฌาปนกิจศพ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นดูได้จากจำนวนฌาปนสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน         ข้อเสียอย่างเดียวคือ ตามขั้นตอนปกติของเนเธอร์แลนด์ ญาติจะต้องรอประมาณหนึ่งเดือนถึงจะสามารถมารับกระดูกกลับได้         หลายคนไม่อยากทิ้งภาระให้ลูกหลานต้องจ่ายค่าดูแลหลุมศพก็จะสั่งเสียไว้ให้เลือกวิธีนี้ ส่วนการกล่าวไว้อาลัยหน้าหลุมศพก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมบอกลากันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ล่วงลับจะจากไปฟาสต์เฟอร์นิเจอร์        รัฐบาลไต้หวันต้องรีบออกมาเคลียร์ หลังสื่อออกมาเปิดเผยว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังมีที่นอนเก่าที่ควรนำไปรีไซเคิลตกค้างอยู่ถึง 140,000 หลัง หมายความว่ามีสปริงที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานและมีผ้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ค้างอยู่         กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าที่ผ่านมาเขาก็จัดการรีไซเคิลที่นอนได้ปีละเกือบหนึ่งล้านหลังโดยไม่มีปัญหา แถมบอกอีกว่าเดี๋ยวช่วงตรุษจีนก็จะมีฟูกถูกทิ้งเพิ่มอีกเพราะคนต้องซื้อของใหม่เข้าบ้าน         ผู้แทนกระทรวงฯ อธิบายว่าเครื่องรีไซเคิลของเขานั้น ถ้าจะให้คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไปต้องใส่ฟูกเข้าไปอย่างต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 หลัง มันก็เลยเกิด “ความกอง” อย่างที่เห็น         แต่คำถามคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มูลค่าตลาดที่นอนมีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ด้วยยอดขายประมาณ 330,000 หลังต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่นอนเลย         อีกปัญหาที่ต้องรับมือคือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” ที่ราคาถูก ดีไซน์สวย แต่ใช้งานได้ไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม >