ฉบับที่ 170 บ้านศิลาแดง : การกลับมาแก้แค้นอีกครั้งของ “แรงเงา”

เมื่อราวสองปีก่อน สังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ “วันแรงเงาแห่งชาติ” ที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ได้ออกอากาศ และกระชากเรตติ้งจนทำให้สรรพชีวิตหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราว เพียงเพื่อรอรับชมละครเรื่องดังกล่าวที่หน้าจอโทรทัศน์ ในครั้งนั้น เรื่องราวได้ผูกให้ “มุตตา” หญิงสาวโลกสวยแต่ถูกผู้ชายอย่าง “ผอ.เจนภพ” หลอกให้รักและหลง จนในที่สุดเธอก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เพราะไม่อาจทนอยู่ในสภาพภรรยาน้อยที่ถูกคุกคามจากภรรยาหลวงอย่าง “นพนภา” ได้อีกต่อไป และนั่นก็เป็นที่มาของการแก้แค้นของ “มุนินทร์” พี่สาวฝาแฝดที่ปลอมตัวมาเป็นน้องสาวเพื่อทำลายครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภาเป็นการเอาคืน และเป็นจุดกำเนิดของตำนานฉาก “ตบน้อยหน้ากระทรวง ตบหลวงหน้ากอง” อันเลื่องชื่อ สองไปผ่านไป (ไวเหมือนโกหกจริงๆ) ปรากฏการณ์แบบแฝดพี่แฝดน้องสลับตัวเพื่อแก้แค้นในลักษณาการเช่นนี้ ก็ได้หวนวนกลับมาซ้ำรอยอีกคำรบหนึ่งในละครเรื่อง “บ้านศิลาแดง” เรื่องราวเปิดฉากขึ้นมาที่คฤหาสน์บ้านศิลาแดง เมื่อ “พรเพ็ญ” ลูกสาวของ “เอกรินทร์” ซึ่งนอนป่วยเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง ได้ถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงใจร้ายอย่าง “สโรชา” ร่วมกับ “ณัฐพงศ์” และ “อาภาพร” พี่น้องลูกติดและเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของสโรชานั่นเอง แม้จะมีศักดิ์เป็นลูกสาวเจ้าของบ้านศิลาแดงก็ตาม แต่พรเพ็ญก็ถูกเลี้ยงดูมาประหนึ่งคนรับใช้ และเรียนจบแค่ชั้น ม.3 เพราะสโรชาไม่ต้องการให้เธอฉลาดและเผยอทัดเทียมลูกทั้งสองคนของเธอ จึงกดขี่พรเพ็ญไว้เยี่ยงทาส กับอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะหาทางครอบครองเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกับฮุบสมบัติของเอกรินทร์เอาไว้ทั้งหมด   ในขณะเดียวกัน “เพ็ญพร” หญิงสาวปราดเปรียวทายาทเจ้าของบริษัทสวนเสาวรส ได้เรียนจบวิชาบริหารจากต่างประเทศกลับมา เพ็ญพรไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีพี่สาวฝาแฝดอยู่อีกคน แต่กระนั้น ลึกๆ ในจิตใจเธอก็รู้สึกได้ถึงความผูกพันกับพี่สาวที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน และทุกครั้งที่พี่สาวถูกแม่เลี้ยงข่มเหงทำร้าย เพ็ญพรก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าว เพ็ญพรจึงเริ่มสืบสาวราวเรื่องเหตุการณ์และเหตุปัจจัยที่เธอมีความรู้สึกผูกพันกับชะตากรรมของใครบางคนอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด เมื่อสองพี่น้องได้โคจรมาพบกัน ปฏิบัติการสลับร่างสวมรอยของฝาแฝดทั้งสองคนจึงเริ่มต้นขึ้น พี่สาวที่หัวอ่อนยอมคนก็ได้มีโอกาสเข้ามาใกล้ชิดกับ “เดือนฉาย” มารดาที่พลัดพรากจากกันไปนาน ในขณะที่น้องสาวผู้แข็งแกร่งกว่า ก็ได้เข้าไปดูแลบิดาที่ป่วย และกลั่นแกล้งแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้าย เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกลับคืน พร้อมๆ กับการสลับตัวไปมาจนสร้างความสับสนให้กับนายตำรวจอย่าง “ตรัย” และนักธุรกิจหนุ่มอย่าง “วิทวัส” ชายหนุ่มสองคนผู้เป็นพระเอกของเรื่องไปในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ย้อนกลับไปในละครเรื่อง “แรงเงา” นั้น ตัวละครอย่างมุตตาผู้เป็นน้องสาวฝาแฝดต้องเสียชีวิตก่อน “แรง” แห่ง “เงา” ของมุนินทร์ผู้พี่สาวจึงค่อยสวมรอยกลับมาทวงหนี้แค้นคืน ทว่า ในเรื่อง “บ้านศิลาแดง” วิธีการผูกเรื่องกลับต่างออกไป เพราะน้องสาวอย่างเพ็ญพรไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมกับชีวิตพี่สาวพรเพ็ญเสียก่อน แต่เธอกลับเลือกเข้ามาสวมบทบาทสลับร่างแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้ายไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย แล้วเหตุอันใดเล่าที่ทำให้ตัวแสดงอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญ จึงเลือกกระทำการแตกต่างไปจากฝาแฝดมุตตากับมุนินทร์? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ปมหลักของความขัดแย้งที่ต่างกันไปในชีวิตของคู่แฝดทั้งสองคู่ ในขณะที่ปมปัญหาหลักของมุตตาหญิงสาวอ่อนโลกมาจากเหตุปัจจัยเรื่อง “รักๆ ใคร่ๆ” ซึ่งในทัศนะของคนชั้นกลางทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและของใครของมันที่จะต้องจัดการกันเอาเอง แต่กับกรณีของเพ็ญพรและพรเพ็ญนั้น ปมความขัดแย้งใหญ่ของเรื่องกลับอยู่ที่ “บ้านศิลาแดง” อันเป็นมรดกที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นของบรรพชนมาจนถึงเอกรินทร์ผู้เป็นบิดา และมีแนวโน้มว่ามรดกทั้งบ้าน ที่ดิน และศฤงคารทรัพย์เหล่านี้ ก็น่าจะสืบต่อมาอยู่ในมือของคู่แฝดอย่างพวกเธอ หากมองผาดดูแบบผิวเผิน มรดกก็คือสินทรัพย์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสืบทอดและมอบต่อให้กับลูกหลานที่อยู่ในสายตระกูลของตน แต่อันที่จริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของมรดก ก็มีสถานะเป็น “ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของคนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ต่างถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่คนชั้นกลางมีศักยภาพที่จะแปลงให้มันกลายเป็น “ทุน” เพื่อจะได้ใช้ต่อยอดผลิดอกออกผลต่อไปได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น มรดกโภคทรัพย์ดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนชั้นกลางเริ่มรู้สึกหวั่นไหวว่า มรดกบ้านและที่ดินทั้งหลายของตนมีแนวโน้มจะถูกครอบครองหรือพรากส่วนแบ่งไปด้วยอำนาจของผู้อื่น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มเข้ามาต่อสู้ต่อกรกับอำนาจดังกล่าวนั้น (ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับภาพความขัดแย้งจริงๆ ที่กำลังปะทุอยู่ในเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางสังคมที่พี่น้องเข่นฆ่ากันได้เพียงเพื่อแย่งสมบัติประจำตระกูล) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา บารมี และทุนทรัพย์แบบนามธรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตอันพ่วงแนบมากับมรดกคฤหาสน์และที่ดินของบ้านศิลาแดงอีก ที่ฝาแฝดพี่น้องทั้งสองต้องพิทักษ์สิทธิ์และผลประโยชน์เอาไว้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยจากความขัดแย้งในมรดกนี่เอง ตัวละครอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญจึงยอมไม่ได้ หากแม่เลี้ยงสโรชาและบรรดาสหพรรคพวกของเธอจะมาผลาญพร่า “ชุบมือเปิบ” ไปแต่โดยง่าย เหมือนกับประโยคที่เพ็ญพรมักจะพูดกับสโรชาและลูกของเธออยู่เป็นประจำว่า “จะผลาญสมบัติพ่อของฉันกันอีกแล้วเหรอ...” ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางไทยอาจจะมีความคิดว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง ยังนอนสะดุ้งจนเรือนไหว” แต่มาถึงยุคนี้ หากจะต้องเสียทั้งทองและทรัพย์สมบัติมรดกที่สั่งสมผ่านสายตระกูลกันมา คงจะเป็นเงื่อนไขที่คนกลุ่มนี้ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน ก็เหมือนกับชีวิตตัวละครพี่น้องเพ็ญพรและพรเพ็ญนั่นแหละ ที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องมรดกอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของตนให้ได้เสียก่อน ส่วนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับพระเอกหนุ่มของเรื่อง ค่อยมาแฮปปี้เอนดิ้งในภายหลัง หรือเรียกง่ายๆว่า ให้ “lucky in game” ก่อน แล้วเรื่อง “lucky in love” ค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >