ฉบับที่ 134 ปางเสน่หา : ผีกับคนบนความเกื้อกูล

“ผีก็อยู่ส่วนผี คนก็อยู่ส่วนคน” ประโยคบอกกล่าวข้างต้นนี้ เป็นวิธีคิดที่หลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะแม้แต่ในตำนานของแม่นาคพระโขนงที่ถูกนำมาทำเป็นหนังเป็นละครโทรทัศน์อยู่หลายครั้ง ต่างก็ตอกย้ำให้เห็นเอาไว้อย่างชัดเจนในฉากจบของเรื่อง วิธีคิดเรื่องการแยกส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง “ผี” กับ “คน” แบบนี้ น่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติอย่างผีนั้นต่างคนต่างอยู่กันคนละภพชาติ และไม่เข้ามาข้องแวะสัมพันธ์กันแต่อย่างใด แต่อันที่จริงแล้ว ผมเองก็ชักไม่แน่ใจว่า ความคิดเรื่อง “ชั่วช่างผี ดีช่างคน” ดังกล่าว จะเป็นคุณค่าที่หยั่งรากฝังลึกมาในสังคมไทยอย่างยาวนานจริงแน่แท้แล้วหรือ? แล้วทำไมเวลาที่เราดูละครโทรทัศน์อีกหลาย ๆ เรื่อง เรากลับจะมักเห็นภาพของตัวละครผีที่เข้ามายุ่งก้าวก่ายในชีวิตของมนุษย์โลกกันอยู่เป็นเนืองๆ แบบเดียวกับละครเรื่อง “ปางเสน่หา” ที่แม้วิญญาณเร่ร่อนของตัวละครอย่างปรายดาวเธอจะหลุดไปยังต่างภพต่างปางแล้วก็ตาม แต่ด้วยสิเน่หาหรือความผูกพันบางอย่าง ทำให้ “ผีมิอาจอยู่ส่วนผี” แต่กลับต้องเข้ามุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ในทางโลกียวิสัย   ละครเรื่องนี้เปิดฉากมาด้วยภาพของคุณพระเอกอย่างผู้กองเตชิต นายตำรวจผู้มุ่งมั่นจับตัวการใหญ่ของผู้ค้ายาเสพติดให้ได้ แต่กลับต้องไป “เจอตอ” จนถูกสั่งให้พักราชการ เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปหลบปัญหาอยู่ที่บ้านไร่สุขศรีตรัง และด้วย “พรหมลิขิตบันดาลชักพา” เขาก็ได้ไปพบกับวิญญาณของปรายดาว และตกหลุมรักเธอที่บ้านไร่ชายทุ่งแห่งนั้น และที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่มนุษย์อย่างผู้กองเตชิตมีปัญหาชีวิตถาโถมเข้ามามากมาย แต่ก็มิได้หมายความว่า วิญญาณผีที่หลุดไปยังสัมปรายภพแล้ว จะปราศจากซึ่งปัญหาชีวิตแต่อย่างใด เพราะวิญญาณของตัวละครปรายดาวก็ต้องพบเผชิญกับอุปสรรคปัญหาในชีวิตอย่างมากมายไม่แพ้กัน สำหรับผู้กองเตชิตนั้น ปมปัญหาชีวิตของเขามาจากการที่ภรรยาถูกผู้ร้ายติดยาบ้าฆ่าตายพร้อมกับลูกในท้อง และกลายมาเป็นบาดแผลที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของเขามานานนับปี แม้เขาจะมุมานะทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพื่อให้ลืมความเจ็บปวดดังกล่าว แต่ทุกครั้งที่ข่มตานอน ก็จะเห็นภาพของเมียและลูกปรากฏอยู่ในความฝันนั้นเสมอ ส่วนนางเอกปรายดาวนั้น ต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนหลังจากประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ จนทำให้เธอกลายเป็นผีอัลไซเมอร์ที่หลงลืมความทรงจำในอดีต เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นวิญญาณล่องลอยไปแล้ว แต่อาการความจำเสื่อมไม่รู้ว่าใครฆ่าเธอ หรือไม่รู้ว่าเธอเป็นวิญญาณมาสิงสถิตอยู่ที่บ้านไร่ได้อย่างไร ก็กลายเป็นพันธนาการที่วิญญาณผีสาวแสนสวยอย่างปรายดาวไม่อาจหลุดพ้นไปไหนได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคนก็มีปัญหาและผีก็มีปัญหา จึงไม่แปลกที่เราได้สัมผัสประสบการณ์การเกื้อกูลกันระหว่างคนกับผีและผีกับคนมาปรากฏอยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์ เริ่มต้นกันตั้งแต่ที่ปรายดาว(หรือที่ผู้กองเตชิตเรียกเธอว่า “น้องเสียงหวาน”) ได้ช่วยเหลือให้ผู้กองเตชิตได้พบกับวิญญาณของภรรยาและลูกอีกครั้ง ก่อนที่จะล่ำลาจากกัน เป็นการสลัดทิ้งซึ่งความอาวรณ์ที่ฝังอยู่ในจิตใจของเขามานานนับเป็นแรมปี ในทางกลับกัน ผู้กองเตชิตก็ได้ช่วยไขปมปริศนาอุบัติเหตุทางรถยนต์ของปรายดาว แถมยังชวนบรรดาผองเพื่อนที่เป็นมนุษย์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านไร่อย่างศรีตรังหรือนายตำรวจลับอย่างพอล มาลงแขกช่วยเหลือจนวิญญาณของเสียงหวานได้กลับคืนสู่ร่างเจ้าหญิงนิทราของปรายดาว และยังช่วยฟื้นความทรงจำของผีให้กลับคืนมาแบบที่ไม่ต้องพึ่งอาศัยใบแปะก๊วยแต่อย่างใด บนความเกื้อกูลและเอื้ออาทรกันและกันระหว่างผีกับคนเช่นนี้ ทั้งผีและคนจึง “win-win” และต่างก็คลี่คลายปมปัญหาที่ผูกเธอและเขาเอาไว้ แม้จะอยู่กันคนละภพคนละปางก็ตาม อันที่จริงแล้ว วิธีคิดเรื่องความผูกพันระหว่างผีกับคน หรือระหว่างมนุษย์กับพลังอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ในสังคมไทยแต่อย่างใด หากย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งสังคมไทยยังเป็นชุมชนบุพกาลดั้งเดิม คติความเชื่อที่บรรพชนของเราเคยยึดถือเอาไว้ก็คือ หลักความสัมพันธ์แบบสามเส้าระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งอย่างหลังก็คือความผูกพันระหว่างมนุษย์กับผีนั่นเอง จนกระทั่งพุทธศาสนาได้ถูกอิมพอร์ตเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การแยกเส้นแบ่งระหว่างพุทธกับผีก็เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น และยิ่งเมื่อชาติตะวันตกได้แผ่ขยายองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เข้ามายังดินแดนแถบนี้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความเชื่อเรื่องผีก็ยิ่งถูกผลักให้เป็นความงมงายและพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหลักการและเหตุผลเชิงรูปธรรมมากกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ตั้งแต่ยุคของผีแม่นาคที่อุบัติขึ้นมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เราก็จะเริ่มรับรู้ถึงระยะที่ห่างออกจากกันระหว่างมนุษย์กับผี ซึ่งกลายเป็นความจริงชุดใหม่ที่คนไทยยอมรับนับถือนับจากนั้นเป็นต้นมาว่า “ผีก็อยู่ส่วนผี” เฉกเช่นเดียวกับที่ “คนก็อยู่ส่วนคน” การแยกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับผีออกไปเช่นนี้ ทำให้คนและผีต่างก็ต้องเผชิญหน้าปัญหาของตนแบบตัวใครตัวมัน และกลายเป็นปมปัญหาที่ผู้กองเตชิตและน้องเสียงหวานไม่อาจแก้ไขกันได้เลย คนสมัยก่อนเขาไม่ต้องมาพิสูจน์หรอกครับว่า ผีมีจริงหรือไม่ เพราะเขาเชื่อกันเต็มเปี่ยมว่าการดำรงอยู่ของผีต้องเป็นไปอย่างสัมพันธ์เกื้อกูลกับมนุษย์อย่างเราๆ แล้วคนรุ่นปัจจุบันอย่างพวกเราล่ะครับ เห็นด้วยหรือไม่ว่า ปัญหาของคนอย่างผู้กองเตชิตและปัญหาของผีอย่างปรายดาว จะไม่อาจแก้ไขให้ลุล่วงไปได้เลยถ้าคนกับผีต่างสร้างดาวอยู่กันคนละดวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point