ฉบับที่ 184 ผลของการเลิกสัญญา

สวัสดีครับครั้งนี้เราจะมากล่าวกันถึงเรื่อง ผลของสัญญา กัน โดยทั่วไปเมื่อสัญญาเกิดขึ้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเกิดสิทธิหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อกันตามที่ตกลงในสัญญา แต่ทุกสัญญาย่อมมีวันสิ้นสุด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง อีกฝ่ายหนึ่งจึงใช้สิทธิเลิกสัญญา แต่เมื่อเลิกสัญญากันไป กฎหมายก็ได้กำหนดสิทธิหน้าที่ไว้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรละเลยสิทธิที่เกิดจากการเลิกสัญญานะครับ  ซึ่งสิทธิอย่างแรกที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 กำหนดไว้ คือ “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม.........”   หลายท่านคงสงสัย อะไรคือกลับสู่ฐานะเดิม  ซึ่งในประเด็นนี้ ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เป็นเรื่องของการเช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อเพื่อบรรทุกของ แต่มาทราบภายหลังว่าผู้ให้เช่าซื้อเอารถที่ไม่ได้จดทะเบียนมาขาย รถดังกล่าวจึงนำมาใช้งานไม่ได้ ผู้เช่าซื้อจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา   ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2540 ทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเป็นรถยนต์บรรทุกสิบล้อ (รถดั๊ม)ใช้บรรทุกของหนัก โจทก์เป็นเจ้าของรถดั๊มที่ให้เช่าซื้อจึงมีหนี้ที่จะต้องให้จำเลยได้ใช้หรือรับประโยชน์จากรถนั้นเมื่อโดยสภาพรถนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ประกอบมาตรา 537และมาตรา 548 เมื่อรถดั๊มที่ให้จำเลยเช่าซื้อเป็นรถที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนจึงต้องห้ามตามมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ที่จำเลยอ้างว่า ได้นำรถไปใช้บรรทุกดินแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จึงมีเหตุผลสนับสนุนเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนรถดั๊มที่ให้จำเลยเช่าซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อจำเลยจะได้นำรถดั๊มที่เช่าซื้อออกวิ่งได้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่า จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาและต่อมาโจทก์ได้ยึดรถคืนจากจำเลยโดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันโดยปริยาย โดยโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อและผลแห่งการเลิกสัญญาย่อมทำให้คู่ความแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อจำเลยได้คืนรถดั๊มแก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่รับไปแล้วแก่จำเลย ปรากฎว่าจำเลยออกเช็คพิพาท 9 ฉบับผ่อนชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลย จากคำพิพากษาข้างต้น การกลับคืนสู่ฐานะเดิมคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกลับมาอยู่ในสภาพก่อนที่จะทำสัญญากัน นั่นคือ ผู้ให้เช่าซื้อมีรถบรรทุก ผู้ขายยังไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อ ดังนั้น เมื่อมีการเลิกสัญญากัน จึงทำให้ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถบรรทุกคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ และผู้ให้เช่าซื้อก็ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดให้แก่ผู้เช่าซื้อนั่นเอง แต่กรณีทำสัญญาตกลงทำการงานให้กัน และมีการจ่ายค่าตอบแทน เมื่อมีการเลิกสัญญา การงานที่ได้กระทำให้แก่กันตามสัญญาซึ่งโดยสภาพไม่อาจคืนได้ ต้องใช้เงินแทนตามสมควรแก่ค่าของงานนั้น คำพิพากษาฎีกาที่ 175/2521 โจทก์ทำสัญญาตกลงกับจำเลย ให้จำเลยสร้างโรงภาพยนตร์และตึกแถวลงในที่ดินของโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเองโดยโจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 20 ปี จำเลยผิดสัญญาในการก่อสร้างตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยโดยชอบแล้ว ดังนี้ สัญญาและข้อผูกพันต่าง ๆ ในสัญญาก่อสร้างต้องสิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเช่าหรือครอบครองโรงภาพยนตร์และตึกแถวตามสัญญานั้นอีกต้องคืนที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ส่วนโจทก์ก็ต้องชดใช้ค่าก่อสร้างอันเป็นผลงานที่จำเลยสร้างลงไปให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามส่วนการเลิกสัญญา โดยทั่วไป กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ว่า ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การแสดงเจตนาเลิกสัญญาไม่มีแบบ  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 853/2522 ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขายนาว่า ถ้าจำเลยผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบโจทก์เรียกนาและคืนเงินได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยชำระราคาไม่ครบ โจทก์ขอคืนเงินที่จำเลยชำระแล้ว และเรียกคืนที่ดิน ถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาโดยปริยายแล้วสัญญาทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาเลิกสัญญาไม่ต้องทำเป็นหนังสือในการเลิกสัญญานั้น  ผลอีกประการคือทำให้สัญญาไม่มีผลบังคับอีกต่อไป ดังนั้น เมื่อบอกเลิกสัญญาไปแล้ว จะมาเรียกร้องสิทธิตามสัญญาอีกไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2568/2521 สัญญาก่อสร้างตึกแถวมีข้อความว่า ผู้ก่อสร้าง (จำเลย) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขับไล่ผู้อยู่อาศัยที่ยังเหลืออยู่อีกสองรายในที่ดิน ส่วนที่ผู้ให้ก่อสร้าง (โจทก์) ชนะคดีแล้วนั้น ผู้ให้ก่อสร้างรับผิดชอบขับไล่ให้โดยบังคับคดีภายใน 20 วันนับแต่วันทำสัญญา ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีให้ผู้เช่าออกจากตึกแถวแล้วตามสัญญามิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องขับไล่ผู้เช่าออกไปจากตึกแถวภายใน 20 วันนับแต่วันทำสัญญา ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นได้ว่าการทำสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์จำเลยมิได้มุ่งเรื่องเวลาเป็นข้อสารสำคัญ หากแต่มีเจตนาผ่อนปรนซึ่งกันและกันตามสมควรในกรณีผิดสัญญา สิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญานั้นมีอยู่สองประการ คือ บังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้ประการหนึ่ง กับบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายอีกประการหนึ่ง คดีนี้โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วย่อมจะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์อ้างว่าถ้าจำเลยสร้างตึกแถวเสร็จโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์และได้ค่าเช่านั้น เท่ากับโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิ แต่การที่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับค่าหน้าดินตามสัญญา ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้จึงควรเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว  

อ่านเพิ่มเติม >