ฉบับที่ 129 ผักบุ้งโหรงเหรง

  สำนวน น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง หมายถึง  พูดมากแต่ได้เนื้อความน้อย สำนวนนี้มีมาแต่โบราณ ด้วยเมืองไทยเราในพื้นที่ภาคกลางนั้นเป็นที่ลุ่ม อุดมไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ยิ่งในฤดูที่น้ำหลากช่วงปลายฤดูฝนต่อถึงฤดูหนาว จะมีน้ำจากภาคเหนือมาท่วมท้องทุ่งนาเป็นปกติทุกปี น้ำจะท่วมอยู่นาน 3-4 เดือน แล้วค่อยๆ แห้งลงไป   ผักบุ้ง เป็นพืชพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไทยมานานแต่โบราณกาล นิยมกินกันทั้งผู้ดี ไพร่ สมัยอยุธยาถึงกับเคยมีบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึงการเก็บภาษีผักบุ้งไว้ด้วย ผักบุ้งในไทยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย เป็นสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองหรือชาวบ้านนำมามัดเป็นแพลอยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง ลำต้นมีสีเข้ม เขียวอมม่วง ทนทานแข็งแรง แต่ยางมากสักหน่อย   ส่วนผักบุ้งจีนเป็นพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ นิยมปลูกเป็นการค้า ลำต้นค่อนข้างขาว ใบสีเขียวอ่อน มียางน้อยกว่าผักบุ้งพันธุ์ไทย ผักบุ้งจีนนี้ถ้าโดนความร้อนจะนิ่มและเปื่อยง่าย จึงนิยมใช้ทำอาหารประเภทผัด โดยเฉพาะผัดผักบุ้งไฟแดง ส่วนผักบุ้งไทยจะนิยมกินสดเป็นผักแกล้มหรือใส่ในก๋วยเตี๋ยว ในแกงเทโพ หรือลวกกินกับน้ำพริก เขาว่ากันว่ากินผักบุ้งแล้วตาหวาน ก็ดูจะมีส่วนจริงตรงที่ผักบุ้งทุกพันธุ์มีวิตามินเอสูง ถ้ารับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา ในตำรายาไทย ใช้ต้นต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นยาถอนพิษเบื่อเมาได้

อ่านเพิ่มเติม >