ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >