ฉบับที่ 175 ผู้กองยอดรัก : ไม่มีเส้นแบ่งและศักดิ์ชั้นในความบันเทิงสนุกสนาน

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อ วิลเลียม เคลาสเนอร์ ได้เคยเข้ามาศึกษาสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ 1950 และได้ค้นพบข้อสรุปที่เขาเองก็สนเท่ห์ใจว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่รักความบันเทิงสนุกสนาน จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ยากจะหาสังคมอื่นมาเทียบเคียงได้    และหากความบันเทิงเป็นเบื้องลึกเบื้องหลังที่วัฒนธรรมไทยก่อร่างขึ้นมา ความบันเทิงก็คงทำหน้าที่สนองต่อความต้องการหลายๆ ด้านให้กับคนไทยด้วยเช่นกัน     บทบาทหน้าที่ของความบันเทิงต่อมนุษย์เราอาจมีได้หลายประการ ตั้งแต่การช่วยให้เราได้หย่อนใจคลายเครียด ช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากความทุกข์ ช่วยให้ปัจเจกบุคคลมีพลังในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญ ความบันเทิงสนุกสนานยังช่วยลดทอนความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดขึ้นและธำรงอยู่ในระหว่างกลุ่มสังคม    เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่ในพื้นที่ที่มีการใช้อำนาจเข้มข้นที่สุดในสังคม แต่ทว่า ความบันเทิงสนุกสนานก็สามารถชำแรกแทรกเข้าไปในห้วงอณูแห่งอำนาจได้เช่นกัน และนี่ก็คือภาพที่ฉายให้เราเห็นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ ในเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” นั่นเอง     จะว่าไปแล้ว ด้านหนึ่งละครเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” ก็คือโลกแฟนตาซีที่มาเติมเต็มความฝันของกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยอย่างบรรดาทหารเกณฑ์ ที่ริอยากจะสอยดอกฟ้าหรือผู้กองหญิง ที่ไม่เพียงแต่สูงฐานะศักดิ์ชั้นกว่าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้หญิงที่มีสถานภาพทางอำนาจ ยศ และตำแหน่งที่เหนือกว่าพวกเขาในทุกๆ ทาง     ด้วยพล็อตเรื่องที่เปิดฉากให้ “พัน น้ำสุพรรณ” หนุ่มบ้านนอก (แต่มีดีกรีการศึกษาจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากอังกฤษ) มาตกหลุมรักแบบ “love at first sight” กับ “ผู้กองฉวีผ่อง” ร้อยเอกแพทย์หญิงผู้เป็นลูกสาวของ “ผู้พันผวน” กับ “คุณนายไฉววงศ์” พันจึงเลือกสมัครเป็นทหารเกณฑ์มากกว่าต้องรอจับใบดำใบแดง เพื่อจะได้รับใช้ชาติและใกล้ชิดกับผู้กองฉวีผ่องไปในเวลาเดียวกัน    แน่นอน เมื่อทหารเกณฑ์หนุ่มคิดหวังจะเด็ดดอกฟ้า จึงสร้างความไม่พอใจให้กับว่าที่พ่อตาอย่างผู้พันผวน รวมทั้ง “พันตรีสุทธิสาร” ทหารหนุ่มอีกคนที่มาแอบติดพันผู้กองฉวีผ่องอยู่ ผู้พันทั้งสองคนต่างดูถูกว่าพันเป็นแค่ทหารเกณฑ์ เพราะฉะนั้น เมื่อพันต้องเข้ามาเป็นทหารรับใช้อยู่ในบ้านของผู้พันผวน คุณผู้พันทั้งสองจึงต้อง “จัดเต็ม” เพื่อสั่งสอนและกีดกัน “สุนัข” ที่ไม่บังควรแหงนมอง “เครื่องบิน” ที่ลอยอยู่บนฟ้าเอาเสียเลย    จากโครงเรื่องที่กล่าวมานี้ ละครได้เผยให้เห็นว่า วิธีคิดของสังคมไทยยังมีระบบการแบ่งแยกและจัดลำดับชั้นขึ้นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ระหว่างคนที่ต่างวุฒิการศึกษา ไปจนถึงระหว่างความเป็นเมือง (ที่พูดวาจาชัดถ้อยชัดคำ) กับชนบท (ที่สะท้อนผ่านสำเนียงเหน่อสุพรรณของตัวละครเอก)    และที่สำคัญ เส้นกั้นกับความแตกต่างระหว่างศักดิ์ชั้นเหล่านี้ ก็ยังคงสืบต่อและดำรงอยู่แม้แต่ในโลกสัญลักษณ์ของสถาบันใหญ่ๆ ในสังคมอย่างกองทัพด้วยเช่นกัน    ในแง่หนึ่ง สถาบันทหารอาจถูกมองได้ว่าเป็นสถาบันรูปธรรมที่สุดของการบริหาร “อำนาจ” เพื่อควบคุมชีวิตและร่างกายของมนุษย์อย่างเข้มข้น เพราะตั้งแต่ฉากแรกที่พันและผองเพื่อนอย่าง “อ่ำ” “นุ้ย” “บุญส่ง” และ “พรหมมา” ได้เข้ามาใช้ชีวิตในกองทหาร พวกเขาก็ถูก “หมู่ทอง” จัดวินัยในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จับทหารใหม่ตัดผมเสีย จับร่างกายของพวกเขามาอยู่ในชุดยูนิฟอร์มเหมือนกัน จนถึงเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้ต่างไปจากที่เคยใช้ชีวิตมาก่อนหน้านั้น (แม้ตัวละครจะยังคงพูดสำเนียงท้องถิ่นอยู่เหมือนเดิมก็ตาม)    แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากเราเชื่อว่าความบันเทิงสนุกสนานช่วยลดทอนเส้นแบ่งระหว่างความแตกต่างทางสังคม และหากเรื่องของอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ละครก็เลือกใช้อารมณ์บันเทิงขบขันมาผูกเล่าเรื่องของทหารเกณฑ์กลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเสียดสีท้าทายอำนาจของระบบศักดิ์ชั้นได้อย่างแยบยล    ภาพลักษณะนี้เห็นได้ทั้งจากการที่พันและสหพรรคพวกคอยเล่น “ลิงหลอกเจ้า” ล่อเอาเถิดกับครูฝึกอย่างหมู่ทอง หรือการจับเอาทั้งผู้พันผวนกับผู้พันสุทธิสารมาล้อเลียนล้อเล่นเพื่อเรียกเสียงฮา ไปจนถึงการเสียดสีไปถึงหลังบ้านของผู้พันผวนที่มีศรีภรรยาอย่างคุณนายไฉววงศ์ ผู้แสนจะเค็มแสนเค็มและงกเงินจน “ทะเลเรียกพี่” ได้เลย    การใช้ความขบขันที่เอื้อให้ทหารเกณฑ์ได้ล้อเล่นเสียดสีตั้งแต่กับเจ้านาย นับตั้งแต่คุณหมู่คุณจ่า ผู้กอง ผู้พัน ไปจนถึงคุณนายหลังบ้านผู้พัน (แต่ไม่ยักกะมีท่านนายพล???) คงย้อนกลับไปสะท้อนให้เราเห็นว่า ความบันเทิงสนุกสนานนี่เองที่เป็นพื้นที่ให้โครงสร้างอำนาจต่างๆ ของสังคมได้รับการตรวจสอบและตั้งคำถามอยู่ในเวลาเดียวกัน    ตามหลักทฤษฎีแล้วเชื่อว่า เฉพาะในพื้นที่ของความบันเทิงเริงรมย์เท่านั้น ที่เส้นกั้นระหว่างเจ้านาย-ลูกน้อง ผู้ใหญ่-ผู้น้อย และผู้มีอำนาจ-ผู้ด้อยอำนาจ จะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน    เพราะฉะนั้น ในท้ายที่สุด ถึงแม้จะเป็น “เจ้าที่ถูกลิงหลอก” มาแทบตลอดทั้งเรื่อง แต่บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เรียนรู้ที่จะมองเห็นอีกด้านหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าด้อยอำนาจวาสนากว่าตน    หมู่ทองเองก็เรียนรู้ที่จะรักใคร่พันและผองเพื่อน หรือแม้แต่จะยอมรับอ่ำให้มาเป็นลูกเขยของตนเอง ผู้พันสุทธิสารก็เข้าใจว่าคุณค่าของคนไม่ได้พิสูจน์กันด้วยยศถาบรรดาศักดิ์แต่อย่างใด เฉกเช่นเดียวกับผู้พันผวนที่ได้ทบทวนตัวเองว่า ลำดับชั้นและการตัดสินคนที่อำนาจนั้น ก็อาจเป็นเพียงเปลือกนอก มากกว่าการมองเข้าไปเห็นตัวจริงและแก่นแท้ที่เป็น “เนื้อทองผ่องอำไพ” ซึ่งอยู่ในจิตใจของผู้ใต้อำนาจการบังคับบัญชา    เมื่อโลกแห่งความบันเทิงสนุกสนานได้กรุยทางการตั้งคำถามเรื่องเส้นกั้นกับศักดิ์ชั้นระหว่างทหารเกณฑ์กับผู้กองสาวที่อาจลางเลือนลงไปได้ในละครเช่นนี้แล้ว คำถามก็คือ แล้วเส้นกั้นแบ่งที่อยู่ในโลกจริงจะมีโอกาสสลายลงไปได้บ้างหรือไม่? เป็นผู้กองยอดรักแบบร้อยเอกแพทย์หญิงฉวีผ่อง กับเป็นทหารเกณฑ์แบบพัน น้ำสุพรรณ น่าจะได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเยี่ยงนี้แล!!!  

อ่านเพิ่มเติม >