ฉบับที่ 174 “เอ๊ะ ทำไมปลากระป๋องนี้ดูเหมือนมีพยาธิ”

เชื่อว่าใครหลายคนอาจติดใจในรสชาติปลากระป๋อง เพราะไม่ว่าจะนำไปใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำเป็นยำแซ่บ หรือกินคู่กับข้าวเปล่าร้อนๆ ก็อร่อยไปหมด ซึ่งหลักการสำคัญในการเลือกปลากกระป๋องมารับประทานก็เป็นเรื่องทั่วไป เช่น การดูวันเดือนปีที่ผลิต หมดอายุ กระป๋องอยู่ในสภาพดี อย่างไรก็ตามหากเราเลือกแล้วอย่างรอบคอบ แต่กลับพบว่าเมื่อเปิดมารับประทาน ปลากระป๋องนั้นมีสิ่งแปลกปลอม ที่ดูคล้ายกับพยาธิอยู่ด้วย เราจะทำอย่างไรคุณนกได้ซื้อปลากระป๋องยี่ห้อ อะยัม (AYAM) มารับประทาน จากห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาปิ่นเกล้า ราคากระป๋องละ 32 บาท ซึ่งหลังจากรับประทานก็รู้สึกว่ารสชาติผิดปกติไปจากที่เคยกิน และเมื่อตรวจสอบปลาชิ้นนั้นดีๆ ก็พบสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ อยู่ในน้ำซอส จึงคาดเดาไปว่าเจ้าสิ่งนี้มันคือพยาธิแน่ๆ ถึงจุดนี้บางคนอาจจะนำไปทิ้งอย่างรวดเร็วด้วยความขยะแขยง แต่คุณนกผู้ร้องได้เก็บชิ้นส่วนที่น่าตกใจนั้นไว้ และนำมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาความเป็นธรรมแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงส่งตัวอย่างที่ผู้ร้องนำมาให้กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง ช่วยตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าใช่พยาธิหรือไม่ พร้อมเชิญทุกฝ่ายมาร่วมฟังผลการทดสอบ ซึ่งผลปรากฏว่า ตัวอย่างดังกล่าวไม่มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มพยาธิ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อปลาที่เปื่อยยุ่ยเท่านั้น พอได้ฟังอย่างนี้หลายฝ่ายต่างก็พากันโล่งใจ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ทางบริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า ชิ้นเนื้อที่เปื่อยยุ่ยนั้นอาจเกิดจากคุณภาพและขนาดปลาแต่ละรอบที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งได้ประสานงานไปยังบริษัทใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ให้ควบคุมดูแลปลาแต่ละรอบให้มีความสมบูรณ์เท่ากันมากขึ้น นอกจากนี้ยังชดเชยผู้ร้องด้วยปลากระป๋องใหม่อีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นผู้ผลิตไม่ละเลยเรื่องทุกข์ร้อนของผู้บริโภค ซึ่งต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ และตัวผู้บริโภคเองที่ไม่ละเลยสิทธิของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >