ฉบับที่ 146 พรพรหมอลเวง : หัดรู้จักเอาใจเด็กมาใส่ใจผู้ใหญ่กันบ้าง

  หากจะถามใครต่อใครว่า ในอนาคตพวกเราฝันอยากจะเป็นอะไรกันบ้าง คำตอบที่ได้คงหลากหลายยิ่งนัก โดยเฉพาะกับคำตอบและความฝันที่หลายคนคงอยากจะประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตกัน   แต่คำตอบแน่ๆ ข้อหนึ่งที่บรรดาผู้ใหญ่บางคนคงไม่อยากจะฝันให้ตนเองเป็นก็คือ การย้อนกลับไปใช้ชีวิตสิงสถิตอยู่ในร่างแบบเด็กๆ กันอีกครั้ง   เรื่องที่น่าแปลกก็คือ แม้วัยเด็กจะเป็นวัยที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องเคยผ่านมาก่อน แต่เมื่อห้วงเวลานั้นได้ผันผ่านไปแล้ว มนุษย์ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งก็อาจจะรู้สึกว่า ผ่านช่วงวัยเด็กกันมาแล้วเราก็จงผ่านเลยไป และอย่ากลับไปเป็นเช่นนั้นอีกเลย   ก็คงแบบเดียวกับ “ตันหยง” สาวนักเรียนนอกวัยเบญจเพส ที่คู่หมั้นของเธอหรือ “พิราม” เกิดเผลอไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเลขานุการคนสนิท จนเป็นต้นเหตุให้ตันหยงต้องประสบอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝัน และฟื้นขึ้นมาสลับวิญญาณอยู่ในร่างของ “น้องเมย์” หนูน้อยวัยห้าขวบ   และก็อย่างที่ผมกล่าวไปตั้งแต่แรก เมื่อต้องย้อนกลับไปเป็นเด็กห้าขวบอีกครั้ง ตันหยงก็พบว่า นี่คือสิ่งที่เธอไม่นึกไม่ฝันและไม่อยากจะกลับไปเป็นที่สุดในชีวิต และด้วยเหตุที่วิญญาณของเธอมาอยู่ในร่างของน้องเมย์ ทำให้เธอยังได้เข้าไปเผชิญหน้ากับปัญหาในครอบครัวใหญ่ของหนูน้อย จนเกิดความรู้สึกพิเศษกับ “น้าวี” หรือ “ปฐวี” คุณหมอหนุ่มซึ่งเป็นน้าแท้ๆ ของน้องเมย์   ในขณะที่ชื่อเรื่องของละคร “พรพรหมอลเวง” อาจจะสื่อนัยว่า เหตุแต่การสลับร่างระหว่างสาวเบญจเพสกับเด็กหญิงวัยห้าขวบนี้ เป็นเพราะพระพรหมท่านเกิดโอนไฟล์ใช้โปรแกรม “cut-and-paste” ผิดพลาด แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นเจตจำนงของพระพรหมท่านที่จะให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ได้เรียนรู้ที่จะ “เอาใจเด็กมาใส่ใจผู้ใหญ่” กันดูบ้าง   เริ่มตั้งแต่ที่ตันหยงต้องเผชิญกับความจริงข้อแรกว่า เด็กนั้นเป็นมนุษย์ที่ตัวเล็ก แบบเดียวกับที่น้องเมย์ต้องใช้เก้าอี้ต่อตัวเพื่อจะหยิบของในที่สูง และในขณะเดียวกัน เด็กก็ต้องมีวิธีการพูดแบบเด็กๆ ที่ต้องใช้วลีประโยคแบบที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่เขาพูดกัน   ต่อมา ละครก็ได้ให้คำอธิบายว่า เรื่องปัญหารักๆ ใคร่ๆ หรือรักนอกใจ ซึ่งแสนจะเป็นปัญหายิ่งใหญ่ในชีวิตของตันหยงนั้น กลับดูเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย และเทียบเท่าไม่ได้เลยกับปัญหาของเด็กอย่างน้องเมย์ที่เกิดมาในครอบครัวใหญ่ก็จริง แต่สายสัมพันธ์ในครอบครัวกลับดูเปราะบางยิ่ง   จากนั้น เมื่อตันหยงในร่างน้องเมย์ ต้องเริ่มทำกิจกรรมแบบที่เด็กวัยห้าขวบเขาต้องทำกัน เช่น ต้องตื่นเช้าไปเรียนหนังสือ ต้องอ่านหนังสือและทำข้อสอบวิชาต่างๆ ไปจนถึงการต้องมีกิจกรรมการเล่นการรวมกลุ่มสนุกสนานแบบเด็กๆ เธอก็เริ่มพบว่า ชีวิตแบบเด็กเช่นนี้ ช่างเป็นอีกโลกที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันแบบผู้ใหญ่อย่างที่เธอเคยเป็นเสียนี่กระไร   และเพราะเป็นกิจกรรมแบบเด็ก ตันหยงจึงพบว่า สิ่งที่เด็กอนุบาลเห็นว่ายากเย็นแสนเข็ญ อย่างการคิดเลขในวิชาคณิตศาสตร์ หรือการฝึกฝนพูดภาษาอังกฤษ กลับเป็นสิ่งที่ง่ายมากสำหรับหญิงสาวนักเรียนนอกอย่างเธอ จนทำให้น้องเมย์ได้คะแนนสอบสูงสุดในชั้นเรียนเป็นครั้งแรก   แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นพื้นฐานแบบเด็ก ๆ อย่างนันทนาการการเล่นหรือการรวมกลุ่มสนุกสนานนั้น แม้ตันหยงจะเคยผ่านชีวิตแบบนี้มาแล้วเกือบยี่สิบปี แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เธอหลงลืม และช่างยากยิ่งที่เธอจะปรับตัวให้กลับไปทำเยี่ยงนั้นอีกครั้งหนึ่ง   ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายมักทำกับเด็กจนกลายเป็นความเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นการจูงมือ การกอด หรือการหอมแก้มเด็กเล็กๆ แบบที่น้าวีทำกับน้องเมย์อยู่เนืองๆ นั้น ก็อาจจะเป็นการกระทำที่มองมาจากจุดยืนแบบผู้ใหญ่ฝ่ายเดียว โดยที่เมื่อเธอต้องกลับเป็นเด็กและถูกน้าวีทำแบบนี้บ้าง ก็ต้องรู้สึกเป็นกระอักกระอ่วนใจอยู่ทุกครั้ง   ซ้ำร้ายที่สุด ตันหยงได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า สิ่งที่ทำร้ายจิตใจของเด็กทุกวันนี้มากที่สุดไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นคนก่อร่างสร้างเรื่องเอาไว้ทั้งสิ้น ตั้งแต่ความไม่เข้าใจกันระหว่าง “เมธี” และ “ประภัสสร” พ่อกับแม่ของน้องเมย์ ก็คือปมปัญหาด่านแรกที่ทำร้ายน้องเมย์เสียยิ่งกว่าอาการป่วยเรื้อรังของหนูน้อยเสียอีก   หรือแม้แต่การบ่มเพาะความเกลียดชังของผู้ใหญ่อย่างคุณป้า “ปรางค์ทิพย์” ที่มีต่อพ่อและแม่ของน้องเมย์ ไม่เพียงแต่จะทำร้ายตัวน้องเมย์ด้วยกิริยาวาจาเท่านั้น แต่ป้าปรางค์ยังได้ใส่ความแค้นและความคาดหวังแบบผู้ใหญ่ลงไปในชีวิตของลูกสาวทั้งสองของเธอ จนพรากความเป็นเด็กออกไปจากหนูน้อยสองคน ให้มีชีวิตที่เอาแต่เรียนกับเรียน เพื่อเติมเต็มความอยากเอาชนะและเป็นสงครามตัวแทนของมารดา   ความไม่เข้าใจหัวอกของคนเป็นเด็กและการพรากเอาความเป็นเด็กออกไปจากชีวิตของหนูน้อยทั้งหลาย น่าจะเป็นสิ่งที่พระพรหมท่านเล็งเห็น และกำลังตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ จนทำให้เกิดเรื่องราวสลับร่าง กลายเป็นความอลเวงกันไป   และในที่สุด แม้เมื่อวิญญาณของตันหยงจะได้กลับคืนสู่ร่างเดิมของเธอ และแม้วิญญาณของน้องเมย์จะต้องดับไปตามอายุขัยที่พระพรหมท่านได้ลิขิตเอาไว้ แต่ตันหยงและตัวละครเกือบทุกคนในเรื่องก็ได้เรียนรู้ว่า เด็กอาจจะมีวัฒนธรรมความคิดที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่ก็เพียงความต่างของคนอีกกลุ่มชีวิตที่ไม่ได้แปลกแยกแปลกประหลาดแต่อย่างใด   ในสังคมของผู้ใหญ่ เรามักจะเรียกร้องให้เด็กนั้นต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่ฝ่ายเดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ใหญ่ได้หลงลืมไปก็คือ พวกเธอและเขาก็ควรต้องหัดเคารพในสิทธิความเป็นเด็กด้วยบ้างในทางกลับกัน   อย่างน้อยบทเรียนเรื่องการสลับร่างของตันหยงและน้องเมย์ ก็คงบอกเป็นนัยให้ผู้ใหญ่กลับไปเห็นคุณค่าของวัยเด็กที่ตนเคยผ่านมา และหัด “เอาใจเด็กมาใส่ใจของบรรดาผู้ใหญ่” กันบ้าง เพราะหาไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เกิดพระพรหมท่านให้พรที่สลับร่างกันขึ้นมาจริง ๆ แล้ว มันก็อาจจะอลเวงได้อีกเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point