ฉบับที่ 145 ชีวิตไม่ใช่แค่หนังสั้นๆ

  เมื่อเรื่องผู้บริโภคไปโลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม ใน โครงการ “เล่าเรื่องผู้บริโภคผู้กำกับหนังสั้นกิตติมศักดิ์ 6 ผู้กำกับ” ฉลาดซื้อก็ไม่พลาดที่จะมาจับเข่าคุยกับผู้กำกับหนังสั้น   พัฒนะ จิรวงศ์ ผลงานสารคดีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค   พัฒนะ จิรวงศ์ ใครหลายคนรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับหนังสั้นเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งเรื่องที่สร้างชื่อให้เขาก็คือ The Missing Piece ฉันอยู่นี่...เธออยู่ไหน นอกจากจะเป็นผู้กำกับแล้วเขายังสอนการทำภาพยนตร์ ที่ ม.กรุงเทพ  รวมถึงรับเขียนบทให้กับหนังใหญ่ อย่างเรื่อง  'พุ่มพวง The Moon' ฝีไม้ลายมือขนาดนี้ไปดูแนวกันทำหนังผู้บริโภคกันบ้างค่ะ   “ครั้งนี้ทำสารคดี สะท้อนชีวิตคนประสบอุบัติเหตุทางรถตู้ จะเล่าชีวิตประจำวันของคนที่เป็นเหยื่อซึ่ง ต้องรักษาตัวต่อเนื่องและต้องใช้เงินตัวเองในการรักษา บริษัทรถหรือบริษัทประกันก็พยายามบ่ายเบี่ยงการจ่ายเงิน จะตัดสลับคำให้สัมภาษณ์ของคุณสารี  เพราะว่าน่าจะนำเสนอเรื่องได้จริงกว่าการสร้างเรื่องขึ้นมา  บางทีการสร้างเรื่องขึ้นมาข้อมูลมันอาจจะไม่ตรง 100% แต่นี่เราให้ฟังจากปากคุณสารีเอง ก็น่าจะกระจ่างว่าเราต้องการสื่ออะไร และเห็นเหตุว่าทำไม่ต้องต่อสู้ก็จะเห็นใจหรือสนับสนุนมากขึ้น”   สารคดีจะสื่ออะไรให้คนดู “ต้องการจะบอกว่าเรื่องผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะไปฟ้องศาล ไม่ให้คิดว่าแค่เรื่อง 10 บาทไปฟ้องทำไมให้อายเขา ถ้ามีองค์การอิสระจะช่วยอะไรได้ ตอนนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำลังต่อสู้กับอะไรอยู่เพื่อผู้บริโภค นั่นก็คือการผลักดันกฎหมายมาตรา 61 อยากให้คนดูได้รู้ว่ามูลนิธิฯ ทำอะไร ในขณะที่ให้ความช่วยเหลือ  ตัวเองก็กำลังสู้กับอะไรอยู่   การคิดแนวสารคดีที่ทำอยู่ ก็ถือว่ายากเหมือนกันว่าจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมา เพราะว่าจะเป็นบทสรุปให้กับหนังสั้นเรื่องอื่นๆ ในโครงการนี้ด้วย ก็ต้องเสนอในลักษณะสถานการณ์รวมๆ แต่ก็จะมีประเด็นใหญ่ที่นำเสนอเข้าไปด้วยก็คือเรื่องการฟ้อง ปตท.ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนภาพได้ชัดมากว่า การที่ไม่มีองค์การอิสระฯ ที่สามารถฟ้องแทนผู้บริโภคได้ มันเกิดปัญหาอย่างไร” ##############   มานุสส วรสิงห์ ผลงานเรื่อง “ Priceless “ มานุสส วรสิงห์ ผู้กำกับและมือตัดต่อขั้นเทพ  เริ่มต้นงานในวงการภาพยนตร์จากการเป็นผู้ถ่ายเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง “นายอโศกกับนางสาวเพลินจิต” เมื่อปี 2546     ล่าสุดคว้ารางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 22 จากเรื่อง It gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก จากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556     มี ผลงานภาพยนตร์สั้นที่ได้รางวัลมากมายในประเทศ และยังได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอีกหลายแห่ง เช่น ผลงานเรื่อง เจ้าหญิงนิทรา, เพื่อนยาก ฯลฯ     มีผลงานการลำดับภาพให้ภาพยนตร์ไทยกว่า 20 เรื่อง เช่น ยอดมนุษย์เงินเดือน, แต่เพียงผู้เดียว, ไม่ได้ขอให้มารัก It Gets Better, คืนวันเสาร์ถึงเช้าวันจันทร์, ปัญญาเรณู 1-2 ฯลฯ    มีผลงานการกำกับภาพยนตร์ที่ผ่านมานั้นมีเพียงเรื่องเดียว คือ "ตายโหง ตอน คุกกองปราบ" ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2553     เป็นหนึ่งในวิทยากรของกลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์ กลุ่มคนทำหนังที่รวมตัวกันเพื่อจัดทำการอบรมการทำภาพยนตร์สั้น ให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ   หนังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร “หนังสั้นเรื่องนี้ตั้งใจนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ในการเรียกร้องค่าชดเชย ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต คือ...พอเราได้อ่านข้อมูล แล้วทำให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่าการจะเยียวยาชีวิตหนึ่ง เขาจะวัดจากรายได้ อาชีพ การทำงาน ซึ่งมันต้องมีหลักฐาน เหมือนต้องอยู่ในระบบ แล้วก็มามองดูตัวเองซึ่งทำงานอิสระ ถ้าหากว่าตายขึ้นมา พ่อแม่เราจะได้รับการชดเชยยังไง เพราะเราทำงานอิสระ เงินได้มาก็ไม่ค่อยเอาเข้าบัญชีเท่าไหร่ ได้มาก็ใช้ไป ซึ่งคิดว่าตัวเองตายไปก็คงจะเรียกร้องไม่ได้เท่าไร ก็ทำให้เห็นระบบว่ามองคนไม่เท่ากัน   เราก็เลยคิดวิธีทำหนังขึ้นมาโดยให้ครอบครัวนี้เล่นเป็นตัวเองที่น้องชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารซึ่งก็ไม่ได้ทำอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง ที่ต้องแบกรับภาระด้วยการดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต แต่ก็ไม่ได้เอาชีวิตเขาให้มาเล่นใหม่ในชีวิตจริงนะ เราเพียงแค่นำเสนอบางแง่มุม เพื่อให้เห็นมุมมองของปัญหา”   ต้องการสื่ออะไร “หนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะใครดูก็อยากให้เข้าใจเรื่องที่ต้องการจะบอก สุดท้ายเมื่อดูหนังจบเราก็อยากให้เขาตั้งคำถามเหมือนกับเราว่าทางออกควรจะเป็นอย่างไร  ราคาชีวิตแต่ละคนควรจะเป็นเท่าไร  กฎหมายจะช่วยได้อย่างไร   แต่ตราบใดที่คนยังไม่โดนกับตัวเอง ผมก็คิดว่าคนยังไม่คิดว่าเป็นปัญหาของตัวเองที่ต้องมาแก้ร่วมกัน  อย่างกรณีรถตู้โดยสาร ถึงแม้มันอุบัติเหตุทุกวัน อ่านข่าวเจอแล้วมันสลดใจ ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เช้าวันรุ่งขึ้นบางคนก็ต้องนั่งรถตู้ไปทำงานอยู่ดี เพราะเราไม่มีทางเลือก ในขณะที่คนยังมีภารกิจที่ต้องทำยากเหมือนกันครับที่คนจะลุกขึ้นมาทำอะไร   หนังน่าจะสร้างความสงสัยให้คนได้ตั้งคำถาม  แล้วก็ลุกขึ้นมาทำอะไรและหลายส่วนก็ต้องเข้ามาช่วยกัน”   ยากไหมในการคิดประเด็น “ยากนะครับ สับสนเหมือนกันว่า สคบ. กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อันเดียวกันไหม พอได้เข้ามาจริงก็รู้ว่ามันแตกต่างกัน และเพื่อนๆ หลายคนก็ไม่รู้สิทธิเลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง  ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นประเด็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้ ก็อยากจะสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุด” ##############   ชาญ  รุ่งเรืองเดชวัฒนา ผลงานเรื่องเรื่อง “ กลับบ้าน (Go Home) “ ชาญ  รุ่งเรืองเดชวัฒนา ผู้กำกับหนังโฆษณาเลื่องชื่อ  มีผลงานที่ผ่านมา ทั้งผลงาน ธนาคารออมสิน , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , บุญถาวร , ชมรมเมาไม่ขับ , เสถียรธรรมสถาน , กระทรวงการต่างประเทศ , ธ.อ.ส. , ธนาคารธนชาติ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษประจำวิชาการสร้างสรรค์โฆษณา , การออกแบบสิ่งพิมพ์ , การเขียนบทโฆษณา , การผลิตภาพยนตร์โฆษณา , การวางแผนกลยุทธ์งานโฆษณา , วิจารณ์งานโฆษณา   ทำไมถึงสนใจทำหนังเรื่องนี้ “ทำอย่างไรจะให้เกิดความใส่ใจเรื่องผู้บริโภค คนนั่งรถโดยสารดูจะใกล้ตัวที่สุดเพราะคนก็ต้องเดินทาง ซึ่งก็เห็นความไม่ปลอดภัยในหลายๆ เรื่องทั้งจากที่นั่ง 11 ที่ กลายเป็นที่นั่ง 17 ที่นั่ง แต่รถยังมีขนาดเท่าเดิมผู้โดยสารก็ต้องเบียดกันมากกว่าเดิม เจ้าของธุรกิจก็รวยกว่าเดิมซึ่งก็เป็นปัญหาผู้บริโภค   อีกอย่างก็คือคนที่นั่งรถตู้กลับต่างจังหวัดก็คือ การที่คนขับไม่ใส่ใจคนนั่งเช่นคนขับไม่พร้อมจะขับรถ  และที่พยายามจะนำเสนออีกอย่างก็คือบริษัทรถซื้อยางรถ ที่เรียกว่ายางวิ่งลอบ เหมือนซื้อยางที่ประเทศญี่ปุ่นโล๊ะแล้วมาใช้กับรถตัวเองเพราะราคาถูก แต่เล่าในหนังได้ไม่หมด”   คาดหวังกับหนังเรื่องนี้อย่างไร “หนังเรื่องนี้ช่วยตะโกน ถึงแม้จะไม่ทำให้หน่วยงานต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในทันที  หนังช่วยตะโกนถึงสิ่งที่ผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการเหลียวแล  ช่วยสะกิดให้หน่วยงานไปจนถึงภาครัฐได้หันมาใส่ใจและกระตุ้นเตือนให้เจ้าของธุรกิจที่เอาเปรียบผู้โดยสาร ให้ฉุกคิดได้บ้าง   ตอนถูกทาบทามให้มาทำเรื่องผู้บริโภค ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร “ทำหนังเพื่อธุรกิจมาเยอะแล้ว  การที่เรามาทำงานเพื่อคืนกำไรให้สังคมบ้าง ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี รู้สึกท้าทายมาก ต้องกระโดดลงมาทำและไม่ลังเล ผมว่ามันเป็นการปลดปล่อยความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมในอีกมุมหนึ่ง  หนังสั้นจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้ถ่ายทอดจินตนาการผ่านเรื่องราวของหนังสั้น อย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้ดีขึ้น   ตอนแรกก็หนักใจว่าจะสื่อสารอย่างไร ก็ได้นำเสนอพลอตเรื่องให้กับทางทีมงาน มูลนิธิฯ ถึงความเข้าใจและงานของเรา ก็เข้าใจตรงกันช่วยกันปรับหนังสั้นให้ได้เนื้อหาออกมาหนักแน่นในช่วงตอนจบ เช่นขึ้นสถิติอุบัติเหตุว่ามีเท่าไร  คนที่ตายอยู่ในวัยทำงาน และญาติผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร ก็น่าจะช่วยตะโกนไปถึงหน่วยงานได้   คิดว่าหนังสั้นจะสื่อสารที่ต้องการสื่อออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเล่าผ่านรูปแบบความบันทึก คนจะซึมซับเนื้อหาเข้าไปเอง แต่ถ้าเล่าเรื่องราวผ่านสารคดีผมว่าคนก็ตั้งกำแพงที่จะรับ  หนังที่ผมนำเสนอก็เป็นเรื่องราวที่เป็นชีวิตประจำวันของคน  ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้ยัดเยียดให้ผู้ชมจนเกินไปให้เครียด คนก็น่าจะซึมซับเข้าไปได้ไม่ยาก หนังเรื่องนี้ขอบอกว่าคุณภาพเต็มเหมือนหนังใหญ่ทีเดียวทั้งการถ่ายทำ ตัดต่อ คุณภาพเสียง   ถ้าหากพูดถึงงบประมาณในการผลิตต้องบอกว่า “ทำงานด้วยหัวใจจริง” ซึ่งงานนี้ถ้าหากเป็นไปได้ควรจะมีโรงหนังสนับสนุนเยอะๆ มีรอบการฉายเยอะๆ เพราะรอบยิ่งเยอะจะยิ่งมีผลดีเป็นเงาตามตัว อยากฝากไว้ว่าความคิดสร้างสรรค์ยิ่งพร่างพรูออกมามากเท่าไร ก็ควรที่จะมีช่องทางในการรองรับให้มากมันถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point