ฉบับที่ 64 การพัฒนาเพื่อคุณภาพร้านยาในประเทศไทย

ภ.ญ.ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร1, ภ.ก.วราวุธ เสริมสินสิริ2 สำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา สภาเภสัชกรรม, สำนักงานโครงการพัฒนาคุณภาพร้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   ร้านยาเป็นสถานบริการทางสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ (Primary Care Unit) ซึ่งมีความสำคัญ เป็นที่พึ่ง และอยู่ใกล้ชิดประชาชนและชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นแหล่งที่ประชาชนตัดสินใจเลือกไปใช้บริการในเบื้องต้นเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้น เป็นทางเลือกเพื่อการดูแลสุขภาพก่อนที่จะเริ่มมีการก่อตั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามการแพทย์ตะวันตก  และจากการศึกษามากมายบ่งชี้ให้เห็นว่า  ร้านยาเป็นจุดที่ประชาชนเลือกมารับบริการเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นสูงถึงร้อยละ 60-80  และคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 45 ของมูลค่าการบริโภคยาทั้งประเทศ (สุวิทย์และคณะ, 2537)  และพบว่าการใช้บริการด้านยาผ่านร้านยานี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 14.8 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพของครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ 6.83 ของรายจ่ายสุขภาพเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมดของประเทศไทย (อดิศวร์ หลายชูไทยและคณะ, 2541) จากสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพตนเองมากนัก ละเลยในการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ได้ใส่ใจที่จะออกกำลังกาย มุ่งแต่ทำงาน  และมีเวลาให้ตนเองน้อยลง เมื่อเกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อย ประชาชนจึงยังต้องพึ่งบริการจากร้านยา แม้ว่าปัจจุบันสถานพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลินิกหรือโรงพยาบาลเกิดขึ้นมากมายแล้วก็ตาม ร้านยายังเป็นทางเลือกที่สะดวก เข้าถึงง่าย จากการสำรวจรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน (ระบบยา, 2545) พบว่าหลังจากเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แนวโน้มที่ประชาชนซื้อยากินเองกลับเพิ่มขึ้นจาก 15.4 ในปี 2542 เป็น 18.6 ในปี 2543 ขณะที่สัดส่วนการใช้บริการที่สถานพยาบาลลดลง   และจากรายงานการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ในปี 2544 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2545) พบว่าพฤติกรรมในการเลือกใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยกรณีไม่ต้องนอนโรงพยาบาลของประชาชนไทย ส่วนใหญ่ซื้อยากินเองร้อยละ 23  ใช้บริการที่สถานีอนามัยร้อยละ 20   ใช้บริการที่โรงพยาบาลจังหวัด/โรงพยาบาลอื่นๆ ของรัฐ ร้อยละ 20  ใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 13   ใช้บริการที่คลินิกเอกชนร้อยละ 12  และอื่นๆ   จะเห็นได้ว่าร้านยาเป็นสถานบริการหนึ่งที่ประชาชนเลือกใช้บริการเป็นด่านแรก และยังคงเป็นที่พึ่งทางด้านสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ในการดูแลตนเอง แต่การที่ประชาชนตัดสินใจซื้อยากินเอง ก็พบปัญหาที่ต่อเนื่องมากมาย  ทั้งการใช้ยาไม่เหมาะสม การใช้ยาฟุ่มเฟือยมากเกินความจำเป็น การใช้ยาที่ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงอันตรายจากการใช้ยาในบางประเภท ทั้งยาชุดและยาควบคุมพิเศษต่าง ๆ   สาเหตุหลัก ๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากร้านยาในสังคมไทย ยังไม่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดและคาดหวังไว้ การควบคุมกำกับร้านยาให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ยังไม่ต่อเนื่องจริงจัง มีการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงการจ่ายยาที่ผิดกฎหมายและไม่เหมาะสมตามหลักการวิชาการ (บรรหาร และคณะ, 2540; เพียงฤทัย และดวงฤดี, 2544; โกมาตร และคณะ, 2542; Thamlikitkul 1998) สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในปี 2544 ที่ชี้ให้เห็นว่า มีการจ่ายยาเตตร้าซัยคลินที่หมดอายุแล้วโดยร้านขายยาแผนปัจจุบันและร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จฯ ถึงร้อยละ 23.8 และ 21.7 ตามลำดับ (เพียงฤทัย และดวงฤดี, 2544) นอกจากนี้ จากการสำรวจของบริษัท IMS (ธีระ ฉกาจนโรดม, 2543) พบว่ายอดขายยาผ่านช่องทางร้านยาสูงสุด 10 อันดับแรก มีมูลค่ารวมกันประมาณ 1,289 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 12.4 ของมูลค่าการบริโภคยาผ่านช่องทางร้านยาในช่วงเดียวกัน  โดยยาคุมกำเนิด Diane-35 มียอดขายสูงสุด รองมาเป็นยาแก้หวัด Tiffy  ผลการสำรวจสอดคล้องกับการสำรวจรายการยา จากร้านยาเพื่อการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคหมวดค่ายาเมื่อปี 2541 (รุ่งเพ็ชร เจริญวิสุทธิวงศ์, 2541)  ที่พบว่า Tiffy มียอดขายสูงสุดในยากลุ่มทางเดินหายใจ และ Diane-35 มียอดขายสูงสุดในกลุ่มยาคุมกำเนิด   มีข้อสังเกตว่ายา Diane-35 ซึ่งติดอันดับยอดขายสูงสุดไม่ใช่ยาที่ควรซื้อใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร   จากการพิจารณายาใน 10 อันดับแรกที่มีการบริโภคสูงสุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของการโฆษณาที่บริษัทต่างๆ ใช้ ผลักดันให้อุปทานยาขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลให้เกิดการบริโภคยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เกินความจำเป็น หรือมีการบริโภคผิดซึ่งอาจเกิดอันตรายและสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาประเมินความสูญเปล่าจากการจ่ายยาแก้ปวดหลังของร้านยาในกรุงเทพมหานครโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่ามีมูลค่า 29 - 62 ล้านบาทต่อปี (ดวงทิพย์, 2540) ปัญหาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายควบคุมร้านยาที่เป็นอยู่น่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ และไม่สามารถใช้เป็นมาตรการหลักในการกำกับให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพในร้านยาได้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีโครงการพัฒนาร้านยาให้มีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่สร้างขึ้น  เพื่อยกระดับการให้บริการของร้านยา แต่โครงการก็ไม่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนของมาตรฐาน กลไกการประเมิน วิธีเพิกถอนใบรับรอง และที่สำคัญในระบบที่ผ่านมายังขาดแรงจูงใจและความชัดเจนในการกระตุ้นให้ร้านยาต่าง ๆ พัฒนาตนเอง (มาตรฐานร้านยา อย., 2537, 2540) สภาเภสัชกรรมเห็นความสำคัญของร้านยา ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้ดูแลตนเองยามเจ็บป่วยเบื้องต้น เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเพื่อให้ร้านยาพัฒนาบทบาทให้เกิดความยอมรับในการเป็นหน่วยหนึ่งแห่งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงได้พัฒนาและจัดการยกระดับคุณภาพร้านยาให้สามารถเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนและสังคมโดยรวมได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยดำเนินการให้มีการรับรองคุณภาพร้านยาขึ้น และพัฒนา "มาตรฐานร้านยา" ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อใช้เป็นคู่มือแนวทางในการบริการของเภสัชกรชุมชนที่ร้านยา และเป็นเกณฑ์ในการประเมิน ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานร้านยา รายละเอียดของคู่มือ แนวทางการประเมินตนเอง แนวทางการเยี่ยมสำรวจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ ทำการเยี่ยมสำรวจ และประชุมรับรองคุณภาพร้านยารอบแรก ถึงรอบที่ 3 ไปแล้ว โครงการ "พัฒนาและรับรองคุณภาพร้านยา" ของสภาเภสัชกรรมนี้ เป็นงานในความรับผิดชอบของสำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา กิจกรรมหลักในโครงการฯ จะเป็นการสร้างรูปแบบการปฏิบัติงานและการให้บริการของร้านยาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการสร้างกลไกประเมินที่ตรวจสอบได้และทันการณ์ และมีการสร้างแรงจูงใจให้ร้านยาพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานที่กำหนด (สภาเภสัชกรรม: โครงการพัฒนารูปแบบการรับรองคุณภาพร้านยา, 23 ธค.45)บทบาทของร้านยาคุณภาพต่อสุขภาพของคนใช้ยา เภสัชกรที่ให้บริการในร้านยาเป็นส่วนหนึ่งและในหลายกรณีมีฐานะเป็น "ด่านแรก" ที่ผู้ป่วยจะเข้ามาใช้บริการสุขภาพจากผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งบางรายดูแลสุขภาพตนเองมาแล้วในเบื้องต้นโดยไม่ใช้ยา ผู้ป่วยที่พึ่งพาร้านยา ไว้วางใจให้ร้านยาเป้นบริการด่านแรกของตนมีหลายกลุ่ม แบ่งได้ดังนี้ 1.    กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการดูแลรักษาพยาบาลตนเองในเบื้องต้น (Self medication)ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวต้องการที่จะเลือกซื้อยาบำบัดอาการ ความเจ็บป่วยของตนในเบื้องต้น โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจของตนเอง การบอกเล่าจากเพื่อน เครือญาติ จากประสบการณ์ตรงของตนเอง หรือ มาจากการโฆษณายาทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านสื่อต่างๆ ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะมาเภสัชกรในร้านยาโดยจะเรียกหา "รายชื่อยา" ที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับดูแลรักษาตนเองหรือคนในครอบครัว ต่อกรณีนี้บทบาทของเภสัชกรในร้านยาจะมีบทบาทหลัก คือการประเมินความเหมาะสม ของยาที่เรียกหานั้น และส่งเสริมการดูแลตัวเองด้วยการใช้ยาอย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยเภสัชกรจะมีกระบวนการในการสอบถาม ตรวจสอบซ้ำถึงความเจ็บป่วยและอาการของผู้ป่วย เภสัชกรจะประเมินยาที่เรียกหาว่ามีความเหมาะสมกับอาการและความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่มากน้อยเพียงใด รวมทั้งประเมินความเหมาะสมด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นอายุ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำอยู่ หากผู้ป่วยเข้าใจผิดในสรรพคุณของยาที่ตนเองเรียกหาหรือเกิดความไม่เหมาะสมขึ้น เภสัชกรจะให้ความรู้และปรับเปลี่ยนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ รวมทั้งเสนอแนวทางการเลือกใช้ยา และการรักษาที่ถูกต้อง 2.    กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการปรึกษาต้องการคำแนะนำและให้เภสัชกรพิจารณาเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะเข้ามาด้วยการบอกเล่า อาการความเจ็บป่วยและให้เภสัชกรเลือกสรรยาที่เหมาะสมให้ ต่อกรณีนี้บทบาทของเภสัชกร คือการคัดกรองและรักษาโรคพื้นฐานอย่างเหมาะสม อยู่ภายใต้ขอบเขตความรู้ความสามารถของ เภสัชกรโดยเภสัชกรจะมีกระบวนการซักประวัติผู้ป่วย วินิจฉัย และเลือกยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย โดยใช้องค์ความรู้หลักๆ คือ Pharmaco therapy (เภสัชบำบัด) ความรู้พื้นฐานเรื่องโรค รวมทั้งทักษะในการสื่อสารกับผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทดังกล่าวนั้นจะถูกวางกรอบไว้ เฉพาะผู้มารับบริการรายที่ป่วยด้วยโรคพื้นฐาน (ไข้หวัด ท้องเสีย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ บาดแผล เป็นต้น) โดยเภสัชกรจะประเมินแล้วว่า อยู่ในขอบเขตที่สามารถให้การดูแล รักษาได้ การส่งต่อผู้ป่วยให้ไปรับการตรวจวินิจฉัย และ รักษาจากแพทย์ในสถานพยาบาลที่เหมาะสมหลังจากที่เภสัชกรคัดกรองผู้ป่วยแล้วจะส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ในรายที่มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและการรักษาจากแพทย์ เช่น เป็นอาการฉุกเฉินของโรคบางอย่าง เป็นโรคที่เกินกว่าศักยภาพของเภสัชกรในการดูแล มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรัง หรือ ควรพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น การสื่อสารกับแพทย์อาจจะจำเป็นในบางกรณีเพื่อทุ่นเวลาหรือชี้ประเด็น สำหรับอำนวยความสะดวกกับแพทย์ที่จะรับการส่งต่อ โดยอาจจะมีเอกสารประกอบการส่งตัว เช่น ใบส่งตัว (Referral form) 3.    กลุ่มผู้ป่วยที่มาเรียกหา "ยาที่ใช้ประจำ" หลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์มาแล้วในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวนั้นจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังซึ่งจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน ต้องการการติดตามการดำเนินโรคและการควบคุมโรคจากแพทย์ โดยหลักแล้วการมีโอกาสได้พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในหลายกรณี การพบแพทย์อย่างต่อเนื่องนั้นมีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การเสียเวลารอคอย ภาระค่าใช้จ่ายที่สูง หรือกรณีที่ยาหมดก่อนถึงวันนัด เป็นต้น ดังนั้นการมาเรียกหายาที่ใช้ประจำในร้านยาจะเป็นการสะดวกกับผู้ป่วย โดยบทบาทของเภสัชกรในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวคือประเมินสภาวะของโรคและความเหมาะสมในการจ่ายยาที่ใช้ประจำ [Refill]รวมทั้ง สืบค้น และติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ก่อนที่เภสัชกรจะ Refill ยาให้ผู้ป่วย การประเมินความเหมาะสมก่อนจ่ายยามีความจำเป็น โดยการพิจารณาถึง ประสิทธิภาพการการควบคุมโรคของยาเดิมด้วยการติดตามผลการรักษาว่าสามารถควบคุมอาการ โรคได้หรือไม่ โดยจะมีซักถามอาการ รวมทั้งอาจจะให้บริการอื่นๆ เช่น บริการเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลโดยใช้เครื่องตรวจแบบง่ายๆ หรือวัดความดันโลหิต นอกจากนั้นจะพิจารณาถึง ความถี่ห่างของการพบแพทย์ และที่สำคัญคือ การ สืบค้นปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ความร่วมมือในการใช้ยา การได้รับยามากเกินไป น้อยเกินไป การเกิดDrug Interaction ระหว่างยาเป็นต้น ให้คำแนะนำเฉพาะที่จำเป็นต่อผู้ป่วยที่มารับบริการ จ่ายยาเดิมที่ใช้ประจำ [Refill] ยาหลังจากนั้นจะให้บริการด้านคำแนะนำเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้มาใช้บริการร้องขอหรือประเมินแล้วผู้ป่วยขาดข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งคำแนะนำที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีมากมาย เช่น-    ข้อบ่งใช้ของยา-    การปฏิบัติตัวเฉพาะของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ-    อาการแทรกซ้อนที่จะตามมา-    การใช้และรับประทานยาที่ถูกต้อง-    ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น -    ปฏิกิริยาของ ยาอื่นๆ ที่ผู้ใช้อยู่ประจำ กับ ยาที่มาหาซื้อ-    ส่วนอื่นๆที่สนใจ เช่น การแก้ไขเบื้องต้นในอาการแทรกซ้อนที่จะเกิด-    การปรับวิถีชีวิตและการปฏิบัติตัว (Life  style  modification) เฉพาะของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ-    ความจำเป็นในการพบแพทย์ และช่วงเวลาที่ควรไปพบแพทย์ครั้งต่อไป โดยการประเมินจากประสบการณ์ส่วนตัวของเภสัชกรว่า โรคนั้นๆ ผู้ป่วยรายนั้นๆ ควรไปพบแพทย์เมื่อใด บ่อยแค่ไหน แพทย์นัดเมื่อไร ผู้ป่วยทั้ง 3  กลุ่ม นอกจากจะได้รับการบริการเฉพาะข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับบริการที่เป็นพื้นฐานในการให้บริการ คือ การส่งมอบยา พร้อมคำแนะนำด้านยา และตอบสนองสิทธิผู้ป่วยพื้นฐานด้านข้อมูลยาหลังจากเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแล้ว การส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำด้านการใช้ยาเป็นบทบาทสำคัญที่ตามมา โดยเภสัชกรจะให้คำแนะนำด้านการใช้ยากับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพในการรักษา มีเข้าใจ และเกิดความร่วมมือในการใช้ยา (Compliance) โดยการให้คำแนะนำจะเน้นประเด็นต่างๆที่สำคัญ เช่น ชื่อยา (ระบุบนซองยา) ปริมาณและวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพ (ระบุบนซองยา)   คำเตือน (ระบุบนซองยา)  สรรพคุณของยา ข้อบ่งใช้ กลไกของยาในการรักษาเบื้องต้น และการเฝ้าระวัง ป้องกัน และบำบัดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการบริโภคยา โดยใช้องค์ความรู้ในเชิง เภสัชวิทยา (Pharmacology) เสริมในการให้บริการ นอกเหนือจากความรู้ที่ใช้ในการรักษาโรคพื้นฐานด้วยยาการให้ความรู้เรื่องโรคและยา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ผู้ป่วยควรรู้บทบาทในการให้ความรู้ด้านอื่นๆ นอกจาก "ยา" เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่มีความจำเป็น เนื่องจาก ผู้ที่มาใช้บริการมักจะขาดความรู้ในเรื่องที่จำเป็นในการดูแล รักษาโรคที่ตนกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของโรค การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การดูแลตนเองให้หายจากการเจ็บป่วยเร็วมากขึ้น การประเมินความรุนแรงของโรคด้วยตนเอง การระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ และการปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการอันไม่พึงประสงค์ หรือจะเป็นความรู้เบื้องต้นในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้นการให้ความรู้นอกจากจะให้เป็นรายบุคคลแล้ว เภสัชกรจะให้ความรู้กับผู้ที่สัญจรไปมา ด้วยการจัดบอร์ดให้ความรู้ เอกสารแผ่นพับ จดหมายข่าว ฯลฯ  หรือในบางกรณีเภสัชกรชุมชนอาจจะมีกิจกรรมที่ให้ความรู้ต่อชุมชน  เช่น  การมีจดหมายข่าวไปสู่สมาชิกในชุมชน  การเยี่ยมบ้าน หรือการจัดบอร์ดในชุมชนการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ และ รับประกันคุณภาพของยาก่อนถึงมือผู้ใช้กระบวนการในการคัดเลือกยาที่จะมาให้บริการในร้าน เป็นอีกบทบาทที่มีความสำคัญ โดยการใช้ทักษะองค์ความรู้เฉพาะทางเภสัชศาสตร์ พิจารณารูปแบบยาจากภายนอก ประสบการณ์ในการคัดเลือก ประสบการณ์ด้านคุณภาพโรงงานผลิต เป็นต้น เพื่อการมียาที่คุณภาพดีที่จะใช้บริการผู้ป่วย นอกจากนั้นยังต้องสร้างระบบการควบคุม เฝ้าระวังการหมดอายุของยา ใม่ว่าจะเป็นระบบแถบสี หรือ บัญชียาหมดอายุ รวมทั้งการเก็บรักษายาตามหลักเภสัชศาสตร์เพื่อป้องกันการเสื่อมอายุของยา การเป็นปรึกษาและเป็นที่พึ่งเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน ที่เข้าถึงง่ายเมื่อเรื่องของสุขภาพมีในหลายแง่มุม กว้างขวาง ประชาชนยังมีความรู้ไม่พอเพียง และต้องการที่ปรึกษาที่เข้าถึงง่าย เภสัชกรในร้านยาที่มีคุณภาพมักจะสามารถสร้างความเชื่อถือ ไว้ใจ ใกล้ชิดกับประชาชนพอที่จะให้บริการตอบคำถามต่างๆ ในเรื่องของสุขภาพได้ โดยไม่คิดมูลค่า เช่น ในกรณีที่ต้องการให้ช่วยประเมินความปลอดภัยของยาที่จะใช้กับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์  การประเมินความจำเป็นในการไปพบแพทย์ เป็นต้น บริการดีๆของร้านยาที่มีคุณภาพ บทบาทของเภสัชกรในร้านยาที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ร้านยาคุณภาพพึงจะมีให้ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ นอกจากบทบาทพื้นฐานเหล่านี้  เช่น-    เก็บบันทึกประวัติผู้ป่วยเรื้อรังที่มีปัญหาจากการใช้ยาหรือป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ระบบการติดตามผล -    การรณรงค์ป้องกันโรคในชุมชน โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม-    บันทึกแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในกาคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา-    ออกให้บริการ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา นอกสถานที่ แล้วแต่เทศกาล-    เยี่ยมบ้านสำหรับผู้ป่วยบางราย-    ทำจดหมายข่าวให้ความรู้ กรณีตัวอย่างที่ 1ร้านส่งเสริมเภสัช ตั้งอยู่เลขที่ 255/47 ถนน พหลโยธิน ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี - ตำบลคูคต เป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย  6 หมู่บ้าน คือ บ้านขจรเนติยุตร, บ้านคลอง 3, บ้านสายไหม, บ้านลำสามแก้ว, บ้านสาดสนุ่น, บ้านสามัคคี เป็นตำบลที่มีการคมนาคมสะดวก เป็นที่ตั้งของตลาดสดสี่มุมเมือง ทำให้มีการสัญจรไปมาขับคั่ง ตำบลคูคต ทิศเหนือ ติด ต.ประชาธิปัตย์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ทิศใต้ ติด กรุงเทพฯ ทิศตะวันออก ติด ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และทิศตะวันตก ติด ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี จำนวนประชากรทั้งสิ้น 15,694 คน ในตำบลคูคต มีร้านยาจำนวน 25 ร้าน คิดเป็น จำนวนร้อยละ 16.55 ของจำนวนร้านยาทั้งหมดในจังหวัดปทุมธานี ร้านส่งเสริมเภสัช โดย ภ.ก.วิรัตน์ เมลืองนนท์ ได้จัด บอร์ดให้ความรู้แก่ผู้สัญจรไปมา และผู้มาใช้บริการ เพื่อให้ได้มีความรู้มากขึ้นในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โดยมีบอร์ดสำเร็จรูปทั้งหมดที่ร้านทำไว้ 40 - 50 แฟ้มที่เอาไว้เปลี่ยน เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นโรคพื้นฐาน เช่น เรื่องโรคกระเพาะ เรื่องการใช้ยา เรื่องเริม และจะมีเปลี่ยนเดือนละ 1 - 2 ครั้ง ส่วนการเลือกเรื่องนั้น แล้วแต่ฤดูกาล"...เรื่องของ โปสเตอร์หน้าร้าน นั้นจะเปลี่ยนตามช่วง ช่วงที่มีไข้เลือดออกระบาดก็จะทำเนื้อหาเกี่ยวกับไข้เลือดออกเป็นต้น ซึ่งดูจากสื่อมวลชน เราจะรู้ว่าช่วงนี้ควรติดเรื่องอะไร และดูตามฤดูกาล เช่น เข้าหน้าหนาวเราควรดูแลตนเองอย่างไร ข้อมูลที่มาจากคนไข้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่เป็นหลัก..." (สัมภาษณ์ เภสัชกรผู้ให้บริการหลักในร้านส่งเสริมเภสัช)บทบาทในการให้ความเรื่องอื่นนอกจาก "ยา" เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่มีความจำเป็น เนื่องจาก ผู้ที่มาใช้บริการมักจะขาดความรู้ในเรื่องที่จำเป็นในการดูแล รักษาโรคที่ตนกำลังประสบอยู่"...ความรู้ที่ให้ไปนั้น บางครั้งเรามองว่าเป็นบทบาทของอีกวิชาชีพหนึ่ง แต่ถึงเวลาจริงๆ คนไข้กลับไม่ได้รับความรู้เรื่องนั้นๆ ในชุมชนที่เราอยู่ไม่มีคนให้ความรู้ หรือ คนไข้ไม่ได้รับความรู้มาทั้งหมด มีระบบที่มีการให้พยาบาลมาให้ความรู้ตามโรงพยาบาล แต่ละโรงพยาบาล ระบบนี้ก็ไม่ได้ให้เหมือนกันทั้งหมด ผู้มาใช้บริการกับผมมักจะไม่ค่อยรู้ การแบ่งบทบาทวิชาชีพเป็นเรื่องดี แต่ในฐานะที่เภสัชกรชุมชน ที่มีหน้าที่ต้องคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น ผมว่าควรให้ความรู้อื่นๆประกอบนอกจากเรื่องยาของเรา...และต้องมีองค์ความรู้เพียงพอในเรื่องโรค เพราะในบางครั้งเราสามารถเสริมในสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าผู้ป่วยเรียกร้อง หรือคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะให้.. บางครั้งเราก็ต้องรู้เพื่อแบ่งเบาภาระ แต่ต้องรู้ว่าด้านนี้ไม่ใช่ภาระหลักของเภสัชกร แต่เราต้องรู้เพื่อครอบคลุมการดูแลชุมชนของเรา เพื่อคุ้มครองเขา..." (สัมภาษณ์ เภสัชกรผู้ให้บริการหลักในร้านส่งเสริมเภสัช) กรณีตัวอย่างที่ 2ร้านเรือนยา  ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนฯ เป็นร้านขายยา ขนาด 2คูหา มี ภ.ก.คฑา บัณฑิตานุกูล เป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเปิดตั้งแต่ 8.00 - 22.00 น. มีการรับสมัครสมาชิกกว่า 500 ราย และมี จดหมายข่าวด้านสุขภาพ ในชื่อ " เรือนยาสัมพันธ์ " เป็นสายใยความผูกพันระหว่างร้านยาและผู้ใช้ยา ส่งตรงถึงบ้านสมาชิกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุกเดือน ๆ ละฉบับ กว่า 4 ปีแล้ว ที่วารสารเกือบ 50 ฉบับได้ส่งถึงมือผู้รับพร้อมมอบสาระ ความรู้ และสร้างความผูกพันระหว่างกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากบริษัทยาใด ๆ เป็นความตั้งใจให้จดหมายข่าวทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง โดยมีความมุ่งหมายคือการส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพทั้งก่อนเจ็บป่วยและหลังเจ็บป่วย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม บางฉบับมีการสร้างกิจกรรมร่วมกันโดยมีแบบสอบถามความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน ของขวัญที่เป็นหนังสือความรู้เรื่องเล็กๆน้อยๆ ล่าสุดมีความพยายามในการเปิดเวทีความคิดให้กับสมาชิกมาร่วมกันในจดหมายข่าวมากขึ้นเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกด้วยกันมากขึ้น ตอนนี้ถึงแม้มีผู้ใช้ยาหลายคนย้ายที่อยู่และไม่ได้มาใช้บริการกับร้านเรือนยาแล้ว แต่ด้วยสายใยที่ยังเหนียวแน่น จดหมายข่าวจะยังไปถึงมือสมาชิกต่อไปแม้จะได้มาใช้บริการที่ร้านก็ตาม สิ่งดีๆเหล่านี้มีความเผยแพร่แนวคิดเรื่องจดหมายข่าวให้กับร้านยาอื่นๆ มากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเนื้อหาสาระ รูปแบบใหม่ๆ ที่สำคัญคือการสานให้เกิดเครือข่ายร้านยาที่มีจุดหมายและกิจกรรมที่ดีๆสู่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องและขยายตัวออกไป กรณีตัวอย่างที่ 3 ร้าน เอ็น & บี ฟาร์มา แคร์ เป็นร้านยาที่เปิดตัวขึ้นใหม่ แถวรามคำแหง 2 เขตประเวศ บริหารโดย ภ.ก.นาวี ช่วยชาติ เภสัชกรหนุ่ม ไฟแรงมีความใฝ่ฝันในการพัฒนาคุณภาพงานบริการทางเภสัชกรรมในร้าน เป็นร้านยาใหม่ที่วางแนวทางเป็นร้านยาคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้น เป็นอีกร้านที่มีความพยายามที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยและบริหารจัดการภายในร้าน กิจกรรมที่น่าสนใจในร้านนี้เห็นจะได้แก่การเก็บประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  เช่น โรคความดันโลหิตสูง และ กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเชื้อจุลชีพ ที่เป็นผู้ป่วย 2 กลุ่มที่ต้องการการติดตามการใช้ยา ว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือไม่ และใช้เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลที่เป็นพื้นฐานสำหรับในการให้บริการด้านยาในครั้งต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูล  "ไม่เอาผู้มาใช้บริการเป็นหนูทดลองยาและบางครั้งยังทำให้เกิดการประหยัดสำหรับผู้มาใช้บริการด้วย"  เป็นทัศนคติที่สำคัญของเภสัชกรประจำร้าน ผู้มาใช้บริการร้านนี้ หลังจากใช้ยาที่ต้องติดตามแล้วจะมีเสียงโทรศัพท์จากร้านยา เพื่อแสดงความห่วงใยและติดตามผลการใช้ยา รวมทั้งเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น  แม้จะเป็นบริการรูปแบบใหม่ ทำให้ผู้มาใช้บริการหลายคนถึงกับแปลกใจในระยะแรก ปัจจุบันก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 9 ข้อ ประเมินร้านยาที่ท่านใช้บริการ 1.    ท่านจะรู้ทันทีว่า ใครกำลังให้บริการท่านอยู่ เป็นเภสัชกร ผู้ช่วยเภสัชกร  แต่อย่างไรก็ตามเภสัชกรจะส่งมอบยาขั้นสุดท้ายก่อนถึงมือท่าน 2.    เมื่อท่านเรียกหายา ผู้ให้บริการจะถามถึงผู้ใช้ยาที่แท้จริง และถามย้ำเพื่อยืนยันให้แน่ใจว่า ยาที่ท่านเรียกหานั้น เหมาะสมกับโรคหรืออาการที่ท่านเป็น มีความปลอดภัยกับท่าน ไม่ตามใจท่านโดยขายอย่างเดียว3.    เมื่อท่านได้รับยาแล้ว ท่านจะรู้ว่า ยาที่ได้รับ มาจากร้านชื่ออะไร ชื่อยาอะไร รักษาอะไร วิธีใช้อย่างไร มีคำเตือนอะไร โดยระบุบนซองยาและฉลากให้ความรู้ด้านคำเตือนเสริมให้ในข้อมูลที่สำคัญ 4.    ไม่มีจ่ายยาเป็นชุดๆ  แต่จะ จ่ายยาพร้อมให้คำอธิบายที่จำเป็น เช่น วิธีใช้ การปฏิบัติตัวเพื่อให้หายป่วย การใช้ยาอย่างเหมาะสม เป็นต้น5.    ถ้าท่านเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องมารับบริการต่อเนื่อง จะมีแฟ้มเก็บ "ประวัติการใช้ยา" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยจากการใช้ยา 6.    ในกรณีมีปัญหาจากการใช้ยา จะมีบริการ "ให้คำปรึกษาด้านยา" เพื่อแก้ไขปัญหาจากการใช้ยา และ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาอยู่อย่างสม่ำเสมอ 7.    เมื่อโรคและอาการที่มาเกินความสามารถของเภสัชกรในการดูแล รักษา จะมีการส่งต่อให้แพทย์ดูแล 8.    มีสื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพ และมีประกาศสิทธิผู้ป่วย ให้เห็นชัดเจน9.    ปรึกษาเรื่องยา เรื่องสุขภาพ การป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ได้ด้วย -    Mapping (ร้านยาที่ผ่าน / ร้านยาที่สมัคร)ร้านยาที่สมัครเข้าโครงการเพื่อพัฒนาเป็นร้านยาคุณภาพ ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก เพียง 200 กว่าร้าน แต่ก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการประสานงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ และ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ร่วมกับสภาเภสัชกรรมร้านยาที่ผ่านการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพ โดยสภาเภสัชกรรม ในปี 2546 (รุ่นที่ 1 ) มี 26 ร้าน และในปี 2547 (รุ่นที่ 2 ) 21 ร้านนี้ คาดว่าจะมีเพิ่มอีกกว่า 50 ร้านก่อนสิ้นปี 2547  ทั้งใน กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ผู้ประสานงานเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ภ.ญ.ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร อนุกรรมการ และ ผู้เยี่ยมสำรวจ สำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา สภาเภสัชกรรม T. 02 590 1877, M. 01 627 4848ภ.ก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้ประสานงาน สำนักงานโครงการพัฒนาคุณภาพร้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาT. 02 589 7147, M. 09 796 1437

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 กระแสต่างแดน

สวรรค์ของคนเป็นแม่ กระแสต่างแดนฉบับนี้ พาคุณไปสำรวจสุขภาวะของบรรดาคุณแม่รอบโลก ผ่านรายงานว่าด้วยสุขภาวะของมารดาทั่วโลกประจำปี 2012 (Mother’s Index 2012) ที่องค์กร Save the Children เขาเก็บข้อมูลจาก 165 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดอันดับให้คะแนนประเทศเหล่านั้นโดยแยกประเทศเหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่มก่อนจัดอันดับ ได้แก่ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 43 ประเทศ กลุ่มที่กำลังพัฒนา 80 ประเทศ และกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมากอีก 42 ประเทศ ----- เกณฑ์การให้คะแนน สุขภาวะของเด็ก                                                 ร้อยละ 30 สุขภาพของสตรี                                                  ร้อยละ 20 สถานภาพทางการศึกษาของสตรี                          ร้อยละ 20 สถานภาพทางเศรษฐกิจของสตรี                           ร้อยละ 20 สถานภาพทางการเมืองของสตรี                            ร้อยละ 10 ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่ม “พัฒนาแล้ว” ที่มีคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงที่สุด นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม ไอร์แลนด์ 10.  เนเธอร์แลนด์ ในกรณีที่คุณสงสัย สหรัฐอเมริกาได้อันดับที่ 25 ในขณะที่ญี่ปุ่นได้อันดับ 30  ส่วนสเปน แชมป์ฟุตบอลยูโรหมาดๆ นั้นได้อันดับที่ 16 ---- คุณแม่ชาวนอร์เวย์สามารถลาคลอดได้ถึง 9 เดือน โดยยังได้เงินเดือนเต็มจำนวน และถ้าลาเพิ่มอีก 10 สัปดาห์ก็ยังได้เงินเดือนร้อยละ 80 ที่สำคัญเมื่อกลับเข้าทำงานแล้วยังสามารถขอลาไปดูแลลูกระหว่างวันได้อีก และนั่นคงเป็นสาเหตุให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นอร์เวย์สูงถึงร้อยละ 99 และร้อยละ 70 ของทารกที่นั้นยังได้กินนมแม่จนอายุ 3 เดือน ผู้หญิงชาวนอร์เวย์ได้รับการศึกษาเฉลี่ย 18 ปี และมีอายุขัยเฉลี่ย 83 ปี มากกว่าร้อยละ 80 ใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่เพื่อการวางแผนครอบครัว นอกจากนี้ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเท่าเทียมทางรายได้ของสตรีชาวนอร์เวย์ก็สูงด้วยเช่นกัน ตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่ใช้สิทธิลาคลอด ซึ่งเขากำหนดไว้ที่ 3 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และนอกจากนี้อัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์สูงที่สุดในกลุ่มอีกด้วย ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่คุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงสุด คิวบา อิสราเอล บาร์เบโดส อาร์เจนตินา ไซปรัส เกาหลีใต้ อุรุกวัย คาซัคสถาน มองโกเลีย 10.  บาฮามาส ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 16 ของกลุ่ม ตามด้วยเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 20  41  52  และ59 ตามลำดับ บราซิลอยู่อันดับที่ 12  จีนอันดับที่ 14 ส่วนอินเดียตามมาห่างๆ ที่อันดับ 76 ---- 10 อันดับท้ายซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนา ที่แม่และเด็กยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรได้แก่ คองโก ซูดานใต้ ซูดาน ชาด เอริเทรีย มาลี กินี-บิสเซา เยเมน อัฟกานิสถาน 10.  ไนเจอร์ ประเทศกัมพูชา พม่า และลาวอยู่ในอันดับที่ 6  7 และ 11 ตามลำดับ ที่ประเทศไนเจอร์นั้น ผู้หญิง 1 ใน 30 คนมีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์ และเด็ก 1 ใน 7 คนจะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี โดยเฉลี่ยแล้วพวกเธอได้รับการศึกษาประมาณ 6 ปี และมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายมากกว่าครึ่งหนึ่ง ---- นมแม่นานาชาติ ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยอดเยี่ยม ได้แก่ นอร์เวย์ สโลเวเนีย สวีเดน และลักเซมเบอร์ก ในขณะที่ออสเตรเลีย มอลต้า และสหรัฐฯ  เป็น 3 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงแค่ร้อยละ 35 เท่านั้น ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำเกินไปนั้น ทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยของทารกถึง 13,000 ล้านเหรียญต่อปี   ในกลุ่มอาเซียนนั้น พม่า และกัมพูชาจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนระดับ “ดี” ในขณะที่ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียได้ระดับ “พอใช้” ส่วนเวียดนามอยู่ในระดับ “แย่” นอร์เวย์ได้มีการนำเนื้อหาในหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารเสริมและอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) มาบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการขอให้รัฐบาลของประเทศที่ร่วมลงนามนั้นมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และในขณะเดียวกันก็ห้ามการโฆษณานมผงหรือผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่อื่นๆ ห้ามการแจกสินค้าตัวอย่างแก่ทั้งบรรดาคุณแม่และบุคลากรทางการแพทย์ และห้ามการใช้งบของระบบสุขภาพในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์นมผง เป็นต้น   ประเทศไทยของเราก็ลงนามยอมรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2524 แล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมากนัก เพราะภาพคุณแม่หมาดๆ หิ้วตะกร้าผลิตภัณฑ์นมผงที่ได้รับแจกจากผู้ผลิตในวันที่ออกจากโรงพยาบาลก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ---- นมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของทารก เพราะนมแม่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย การเป็นโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่การตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (SIDS: Sudden Infant Death Syndrome) ของทารกได้ และตัวคุณแม่เองก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่น้อยลงด้วย ไหนจะช่วยลดโลกร้อนได้อีก เพราะนมแม่ไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดเก็บ จัดส่ง หรือแช่เย็น และมาจากแหล่งพลังงานทดแทน เรียกว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของคุณแม่ต่อสังคมด้วยนั่นเอง ----

อ่านเพิ่มเติม >