ฉบับที่ 188 พิษสวาท : ระหว่าง “ชาติภพ” กับ “ชาตินิยม” ในสังคม 4.0

“ชาติ” คืออะไร? หากย้อนกลับไปเมื่อก่อนหน้าสองร้อยปีที่ผ่านมานั้น คำว่า “ชาติ” ที่ชาวสยามประเทศรับรู้ในยุคดังกล่าว อาจไม่ใช่ “ชาติ” ในความหมายเดียวกับที่คนไทยในปัจจุบันกำหนดนิยามเอาไว้ในอดีตนั้น คนไทยรับรู้ความหมายของชาติว่า เป็นเรื่องของชาติภพ ซึ่งมีวัฏฏะแห่งกรรมหรือการกระทำเป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น มนุษย์ที่เกิดมาในชาตินี้ ก็เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน อันเป็นกฎที่มนุษย์เราจะหลีกเลี่ยงฝ่าฝืนไปไม่ได้เลย เพราะชาติหรือภพชาติเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วก่อนที่คนเราจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีกจนกระทั่งในราวเกือบสองร้อยปีได้กระมัง ที่ความหมายของชาติอีกชุดหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมา ชาติในทัศนะใหม่กลายเป็น “จินตกรรมร่วม” ของคนจำนวนมาก ที่จะบ่งบอกว่าตนสังกัดเป็นส่วนหนึ่งในจินตกรรมความเป็นชาตินั้นๆ เช่น เมื่อชาติต่างๆ ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เราก็จะเห็นจินตกรรมความรักชาติปรากฏออกมาผ่านเสียงเชียร์และกำลังใจมากมายที่มีให้กับตัวแทนทีมชาติของตนด้วยเหตุฉะนี้ ชาติในความหมายดั้งเดิมกับชาติในนิยามที่ร่วมสมัย จึงมีนัยยะที่แตกต่างกัน ระหว่าง “ชาติภพ” แห่งการเวียนว่ายตายเกิด กับจิตสำนึก “ชาตินิยม” ที่คนส่วนใหญ่จินตกรรมเอาไว้ร่วมกันเมื่อก่อนนี้ผู้เขียนเองเคยเชื่อว่า นิยามความหมายของชาติสองชุดนี้ น่าจะแยกขาดกันตามโลกทัศน์ของผู้คนที่มีต่างกันในแต่ละยุคสมัย แต่เมื่อได้นั่งดูละครโทรทัศน์เรื่อง “พิษสวาท” แล้ว กลับพบว่า “ชาติภพ” กับ “ชาตินิยม” อาจจะเป็นสองสิ่งอย่างที่สามารถฟั่นเกลียวไขว้พันกันได้อย่างแนบแน่นละครผูกเรื่องราวของความรักความแค้นแบบข้ามภพชาติของตัวละคร “อุบล” หญิงสาวนางรำหลวงแห่งราชสำนัก ผู้เป็นภรรยาของ “พระอรรคราชบดินทร์” ทหารเอกมากฝีมือแห่งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อวาระสุดท้ายของราชธานีสยามยุคนั้นมาถึง พระอรรคจำต้องลงดาบฆ่าและใช้โซ่ตรวนจองจำอุบลเอาไว้ เพื่อมอบหมายภารกิจให้เธอทำหน้าที่เป็น “ผู้เฝ้าทรัพย์แห่งแผ่นดิน” อันเป็นจุดเริ่มต้นของความแค้นที่สะสมอยู่ในดวงวิญญาณที่ของอุบล ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชายคนที่เธอรักมากที่สุดถึงลงทัณฑ์ทำร้ายเธอได้เยี่ยงนี้ครั้นพอมาถึงสมัยปัจจุบัน พระอรรคผู้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็น “อัคนี” นักโบราณคดีหนุ่ม ได้เวียนว่ายมาพบกับหญิงสาวลึกลับลุคกิ้งไฮโซนามว่า “สโรชินี” ที่รู้จักกันผ่านวัตถุโบราณอย่าง “ทับทิมสีเลือด” ซึ่งถูกโจรกรรมมา ความทรงจำในชาติปางบรรพ์จึงเริ่มถูกกู้ไฟล์ขึ้นมา จนภายหลังอัคนีจึงตระหนักได้ว่า สโรชินีก็คือดวงวิญญาณของอุบลซึ่งถูกกักขังไว้ และรอคอยการแก้แค้นเขาเมื่อวัฏฏะแห่งกรรมเวียนมาบรรจบอีกครั้งหากพิจารณาจากชื่อเรื่อง “พิษสวาท” ดูเหมือนว่า ละครเรื่องนี้น่าจะมุ่งเน้นให้เราเห็นบ่วงกรรมที่ตัวละครทำเอาไว้ในชาติภพก่อน แล้วยังคงผูกพันกันเป็น “พิษ” แห่ง “สวาท” ที่ตามติดมาหลอกหลอนจนถึงในภพชาตินี้แต่อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางกระแสที่สำนึกความเป็นชาติของคนไทยอยู่ในสภาวะง่อนแง่น และถูกแรงกระแทกจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกถาโถมเข้ามามากมาย ดังนั้น พิษรักแรงแค้นจึงอาจมิใช่เป้าหมายเดียวที่อุบลใช้อ้างเหตุจำแลงกายมาเป็นสโรชินีในชาติภพปัจจุบัน แต่ mission ของการกอบกู้ความเป็นชาติต่างหากที่เธอทนเฝ้ารอเพื่อกลับมาพบเจอกับตัวละครหลากหลายอีกครั้งในชาตินี้จากชาติภพที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคแอนะล็อก จนมาถึงชาตินิยมสมัยใหม่ในยุคเศรษฐกิจสังคมแบบ 4.0 นี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่ไฟล์ความทรงจำของตัวละครซึ่งข้ามผ่านกาลเวลามาได้ถูกดีลีทไปบ้าง ติดไวรัสไปบ้าง หรือถูกแฮกเกอร์ลบข้อมูลบางอย่างออกไปบ้าง พันธกิจของอุบลจึงเป็นความพยายามกอบกู้ไฟล์ และติดตั้งโปรแกรมสำนึกชาตินิยมเข้าไปในโลกทัศน์ของตัวละครต่างๆ กันอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นไฟล์ของนักการเมืองมือสะอาดอย่าง “อัครา” ที่ฐานข้อมูลเรื่องชาติยังไม่ได้ถูกทำลายไปมากนัก หรือคู่อริทางการเมืองผู้กังฉินอย่าง “ดนัย” ที่โปรแกรมความรักชาติทั้งรวนทั้งแฮงค์มาตั้งแต่ภพชาติก่อนจนถึงภพชาติปัจจุบัน อุบลก็ค่อยๆ ใส่โปรแกรมชาตินิยมเวอร์ชั่นล่าสุด ที่จะช่วยฟื้นฟูความทรงจำของทั้งสองคนให้สำเหนียกถึงความเสียสละตนเพื่อชาติที่กำลังอ่อนแอลงยิ่งกับตัวละครพระเอกอัคนีด้วยแล้ว ข้อมูลความทรงจำทั้งหมดของเขาดูจะถูกลบทิ้งจนกู้กลับคืนได้ลำบากมาก อุบลจึงต้องอาศัยเทคนิควิธีการอันแพรวพราวเพื่อจะดาวน์โหลดบูทเครื่องและติดตั้งโปรแกรมชาตินิยมเข้าไปในฮาร์ดดิสก์ความทรงจำของเขาเสียใหม่เมื่อต้องมาใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล 4.0 เช่นนี้ ในหลายๆ ฉากของท้องเรื่อง เราจึงเห็นอุบลพยายามสรรค์สร้างโลกจำลองเสมือนจริงขึ้นมากระทุ้งความทรงจำของอัคนีอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ครีเอทฉากเปิดตัวของเธอในงานอีเวนท์กันชนิดอลังการงานสร้างยิ่งนัก แทรกซึมเรื่องราวในอดีตของเธอและเขาเข้าไปในห้วงความฝันของอัคนี ไปจนถึงจัดฉากแบบ simulation ในงานแสงสีเสียงกรุงเก่า เพื่อจำลองภาพบรรยากาศสงครามช่วงเสียกรุง โดยมีบรรดาวิญญาณบรรพชนเข้าร่วมเป็นนักแสดงในฉากให้ดูสมจริงยิ่งกว่าจริงทีเดียวด้วยเหตุนี้เอง ความเป็นชาติที่เป็นจินตกรรมซึ่งเกิดขึ้นมาไม่เกินกว่าสองร้อยปี จึงถูกร้อยรัดขมึงเกลียวเข้ากับความหมายของชาติภพที่พันผูกกันผ่านบ่วงกรรมของตัวละครเอาไว้อย่างแยบยล เกินกว่าที่วิทยาศาสตร์หรือศาสตร์ใดๆ ในโลกจะหยั่งถึงได้กว่าจะถึงฉากจบที่อุบลได้ตระหนักว่า แม้แต่กับตัวเธอในฐานะเว็บมาสเตอร์ผู้กอบกู้ไฟล์ชาตินิยมอยู่นี้ โปรแกรมรุ่นเก่าของเธอก็มีเหตุให้ต้องติดไวรัสไปด้วยเช่นกัน เพราะเธอเองก็ไม่มีความทรงจำติดตั้งเอาไว้เลยว่า เหตุผลที่พระอรรคจำต้องสังหารชีวิตภรรยาอันเป็นที่รัก ก็เพียงเพื่อปกป้องหล่อนไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของข้าศึก และมอบหมายภารกิจที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นดวงวิญญาณบรรพสตรีที่เฝ้าสมบัติของแผ่นดินเอาไว้นั่นเองและในตอนท้ายของเรื่องอีกเช่นกัน ที่ตัวละครทุกคน รวมทั้งอัคนีและอุบล ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ปัญหาการถูกจองจำอยู่ใน “พิษสวาท” หรือแรงรักแรงแค้นนั้น ก็เป็นเพียงปัญหากิเลสที่ครอบงำวิญญาณระดับปัจเจกบุคคลข้ามภพชาติเท่านั้น ต่างไปจากเรื่องสำนึกรักและเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งเป็นปัญหาระดับส่วนรวมที่บรรพชนติดตั้งเป็นโปรแกรมอนุสสติเตือนใจเราเอาไว้ตั้งแต่ยุคก่อนที่จินตกรรมชาตินิยมจะถูกสร้างขึ้นไว้เสียอีก

อ่านเพิ่มเติม >