ฉบับที่ 277 ยาชื่อพ้อง มองคล้าย อันตรายกว่าที่คิด

        จากข่าวแม่พาลูกชายวัย 1 ขวบที่ลื่นล้มศีรษะฟาดพื้นในห้องน้ำไปรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้โรงพยาบาลสแกนสมอง และโรงพยาบาลได้ส่งตัวลูกไปสแกนสมองที่โรงพยาบาลอีกแห่ง ระหว่างเดินทางพยาบาลที่นั่งไปด้วยให้น้องกินยานอนหลับ เพื่อที่น้องจะได้หลับไม่ดิ้นตอนเข้าเครื่องสแกน ปรากฎว่ายาที่ให้กลับไม่ใช่ยานอนหลับแต่เป็นยาที่มีกรดไตรคลอโรอะเซติก (TCA) ที่เป็นยาใช้ภายนอกสำหรับใช้ในการจี้-รักษาหูดหงอนไก่ เมื่อเด็กกินไปแล้วจึงเกิดอาการปากและลำคอไหม้ หลังจากเกิดเหตุมีการสืบสวนที่มาของยา เจ้าหน้าที่เภสัชที่จ่ายยาให้น้องกินอ้างว่าหยิบผิด เนื่องจากมีบรรจุภัณฑ์คล้ายกันกับยานอนหลับ         ปัญหายา “ชื่อพ้อง มองคล้าย”         ปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงเฉพาะยาในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังพบกับยาทั่วไปทั้งในร้านขายยา คลินิก สถานพยาบาลเอกชน รวมถึงร้านชำ ซึ่งมีทั้งเกิดจากความคล้ายกันโดยบังเอิญและความจงใจของบริษัทผู้ผลิตยา เนื่องมาจากผลประโยชน์เพื่อการโฆษณาทางการค้าที่คอยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายการกำกับควบคุมเข้มงวดที่ต่างกัน กล่าวคือ โฆษณาสินค้าตัวหนึ่ง แต่วางสินค้าที่ชื่อพ้องกันหรือลักษณะภายนอกบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายกัน ทั้งที่ตัวยาสำคัญออกฤทธิ์นั้นแตกต่างกัน จึงเกิดความเสี่ยงนำไปสู่การใช้ยาผิดจากข้อบ่งใช้หรืออาจได้รับยาผิดกลายเป็นยาที่เคยแพ้มาก่อนนี้ หรืออาจได้รับยาต่ำกว่าหรือเกินกว่าขนาดที่ปลอดภัย หรืออาจได้รับยาคนละชนิดแล้วเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างกรณีที่เป็นข่าวนี้        ปัญหาความคล้ายคลึงของฉลากยาที่มีลักษณะ “ชื่อพ้อง มองคล้าย” เป็นปัญหาที่มีมานานและได้รับการแก้ไขในระดับองค์กรหรือโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่ต้นทางการอนุญาต ไม่ให้มียาที่“ชื่อพ้อง มองคล้าย”เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ยาของประชาชน            ความโหดร้าย ยาหน้าคล้าย ที่หมายมุ่ง            น้าป้าลุง แยกออกไหม ใครใคร่สน        ทั้งผลิต โฆษณา บิดเบือนปน                              ระชาชน ทุกข์ยาก ลำบากกาย             แสวงหา ยารักษา ยามป่วยเจ็บ                        แก้อักเสบ หรือฆ่าเชื้อ เรียกหลากหลาย        เสี่ยงลองกิน ตามคำบอก จากตายาย                   อันตราย ถึงชีวิน สิ้นเหลียวแล             บริษัทยา ผู้ผลิต คิดอะไรอยู่                            กฎหมายรู้ ผลกระทบ ไม่แยแส        อนาคต สุขภาพไทย จะอ่อนแอ                           หากไม่แก้ ทำไม่รู้ อดสูใจ             ยาสามัญ ประจำบ้าน เรียกขานชื่อ                    แท้จริงคือ แค่โฆษณา ยาอยู่ไหน        มีทะเบียน ไม่ผลิต หรืออย่างไร                            ยาปลอดภัย ยาสามัญ เฝ้าฝันรอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไปกินสุกี้บุฟเฟต์แล้วเกิดอาการหน้าบวม

        วันนี้ฉลาดซื้อ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการรับประทานอาหารบุฟเฟต์มาเล่าเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคหลายๆ คน ให้คอยระมัดระวังกัน โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณน้ำตาลได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เธอไปกินบุฟเฟต์ร้านดังที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้กับเพื่อนหลายคน ซึ่งเธอก็ได้สั่งอาหารมากินแบบจัดหนักจัดเต็ม (ก็บุฟเฟต์นี่นะ) แต่...เมื่อเธอเริ่มกินอย่างเอร็ดอร่อยได้สักพัก ดันมีอาการหน้าบวม ตาบวมจนปิดขึ้นมาซะงั้น ทำให้เธอต้องไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งในวันนั้นเธอได้สั่งแมงกะพรุนกับหมึกกรอบมารับประทาน (อาหารต้องสงสัย) เพราะว่าตัวเองนั้นชอบกินมาก แต่ในตัวเธอเองก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน         ต่อมา เมื่อเธอถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็ได้ทำการรักษา เช่น ฉีดยาแก้แพ้และรักษาตามอาการอื่นๆ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมทั้งแพทย์ยังตรวจพบว่าเธอมีหนองอยู่ในโพรงจมูก สืบเนื่องจากอาการแพ้อาหาร และเธอยังเคยเสริมจมูกมาทำให้ต้องผ่าตัดซิลิโคนออกเพื่อเอาหนองออกไป จนเมื่อเธอได้ออกจากโรงพยาบาลจึงได้ติดต่อมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ  แนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น          จากข้อมูลที่ทางผู้ร้องได้แจ้งมากับทางมูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำ ดังนี้             1. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเป็นเรื่องจริง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือใส่ความแต่ประการใด            2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย เช่น 15-30 วัน เป็นต้นไป             3.หากพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ อาจเรียกผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดได้  ผู้ร้องอาจจะต้องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องควรจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร         ทั้งนี้ หลังจากที่ทางผู้ร้องรับทราบก็ได้มีการทำตามที่มูลนิธิฯ แนะนำ หลังจากนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อผู้ร้องไปอีกครั้งเพื่ออัปเดตเรื่องดังกล่าวที่ก่อนหน้านี้วันที่ 18 สิงหาคม มีการนัดไกล่เกลี่ยกับทางร้านซึ่งสรุปว่าทางร้านไม่มาตามที่นัดหมายไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปรึกษาอีกว่าได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักข่าวต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย แต่หลังจากข่าวแพร่ออกไปกับมีความคิดเห็นต่อผู้ร้องในแง่ลบ จึงอยากปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี? ทางเราจึงได้แนะนำให้เข้าคอร์สเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่งทางผู้ร้องเองก็ได้ไปตรวจมาเรียบร้อย และกำลังรอผลอีก 1 สัปดาห์          ขณะปิดต้นฉบับเรื่องราวของคุณน้ำตาลยังไม่จบเพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ คุณน้ำตาลจึงมีอาการดังกล่าว พร้อมทั้งยังไม่ได้ค่าชดเชยจากทางร้าน  แต่อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับประทานให้มาก เพราะยิ่งเป็นอาหาร เช่น หมึกกรอบแมงกระพรุนก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะมีส่วนผสมของฟอร์มาลินได้ สามารถอ่านผลทดสอบหมึกกรอบได้ที่ : https://www.chaladsue.com/article/4269/           ทางที่ดีสอบถามทางร้านให้แน่นอนก่อนรับประทานเพราะมันคือสิทธิของเราที่จะถามว่าอาหารที่เรารับประทานมีแหล่งที่มาจากที่ไหนปลอดภัยและสะอาดหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 พ่อเลี้ยงเดี่ยว ไม่ได้จดรับรองบุตร อาจไม่ได้เงินค่าสินไหม

        คุณพ่อหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นสิทธิ์ของแม่ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนพ่อต้อง “จดทะเบียนรับรองบุตร” ถึงจะมีสิทธิ์ในตัวลูก ซึ่งคุณชัยก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เลิกกับเมียนานแล้ว และเลี้ยงลูกเองมาโดยไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตั้งแต่แรก ซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้มีปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยุ่งยากตามมาในภายหลัง         เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อลูกชายวัย 14 ปีของเขาประสบอุบัติเหตุ จากการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนแล้วรถเกิดเสียหลักวิ่งแหกโค้งกระแทกพื้นถนน ลูกชายเขาถูกนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล หมอเอกซ์เรย์ พบกะโหลกแตก มีเลือดคั่งในสมอง ต้องผ่าตัดด่วน รักษาตัวได้เพียง 5 วัน จึงเสียชีวิต         ขณะที่หัวอกคนเป็นพ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปกะทันหันนั้นกำลังเศร้า เขากลับต้องมาเครียดซ้ำอีก เมื่อไปยื่นเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้ 500,000 บาท เพื่อหวังนำมาเป็นค่าปลงศพลูกชาย แต่กลับพบว่าตนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนนี้ ซึ่งคนที่จะมีสิทธิ์นี้ได้ก็คือแม่ของลูก โดยทางตำรวจได้ออกหมายเรียกตัวแม่ของลูกไปแล้ว แต่ก็ยังติดต่อไม่ได้ คุณชัยจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาควรทำอย่างไรจึงจะมีสิทธิ์รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เมื่อผู้ร้อง(พ่อ)มีบุตรแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยาและไม่ได้จดรับรองบุตรที่เกิดมา ผู้ร้องจึงเป็นเหมือนบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวข้องกับบุตร ไม่สามารถรับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ จำนวน  500,000 บาทได้ แต่แม่ของลูกยังมีสิทธิ์ได้รับเงินตามกฎหมาย จึงตามแม่ให้มารับเงินดังกล่าวได้         2. หากติดต่อแม่ของลูกไม่ได้ สิทธิ์นี้ก็ต้องตกกับทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป คือผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางสายโลหิต ได้แก่ 2.1 ผู้สืบสันดาน 2.2 บิดามารดา 2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 2.5 ปู่ย่าตายาย 2.6 ลุงป้าน้าอา ถ้ายังมีอยู่ก็เรียกมารับค่าสินไหมตรงนี้ได้         3. แต่ถ้าไม่มี ผู้ร้องอาจจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรับรองบุตรและให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องเป็นบิดาของบุตร ซึ่งผู้ร้องจะต้องหาเหตุผลรวมทั้งพยานหลักฐานเข้ามาประกอบให้ศาลเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาที่แท้จริง เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องจึงจะมีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ          ในกรณีนี้ หลังจากได้รับคำแนะนำไป คุณชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศาลมีคำพิพากษาว่า “ให้พ่อเป็นผู้ปกครองเด็กอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” แล้ว เขากำลังเร่งขอคัดคำพิพากษาเพื่อนำไปยื่นต่อ “บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด” ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา เพื่อขอรับเงินค่าสินไหมในส่วนที่ได้ครึ่งหนึ่งคือ 250,000 บาท ส่วนแม่ของลูกยังติดต่อไม่ได้ ซึ่งหากเจอตัวแล้วแม่ทำหนังสือสละสิทธิ์เงินที่เหลืออีก 250,000 บาท คุณชัยก็จะได้เงินนี้ไปด้วย แต่ถ้ายังหาตัวแม่ไม่เจอ เงินส่วนนี้ก็จะเข้ากองทุนผู้ประสบภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 230 สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสดกับวิกฤตโควิด-19

หลายคนเวิร์กฟอร์มโฮมแต่ชาวฉลาดซื้อเปลี่ยนสำนักงานเป็นที่พักชั่วคราวและอยู่กับที่ตามนโยบายป้องกันโรค อย่างไรก็ตามเราก็ต้องขวนขวายหากิน ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สำรวย ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งอาหารสำคัญของเรา เพราะพี่เขาเข็นรถขายผักคันน้อยๆ มาอำนวยความสะดวกให้เราทุกวัน ฉบับนี้จึงขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับชีวิตของพ่อค้าคนยากที่ผันตัวเองจากชาวนาบ้านนอกมาเป็นผู้ขนส่งอาหารแก่ชาวเมืองหลวง ที่พึ่งยามวิกฤตโรคระบาดแห่งปี 2563              พี่สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสด วัย 55 พื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์ แล้วย้ายมาอยู่สุรินทร์ แต่มาได้แฟนที่ร้อยเอ็ด เดิมเขาเป็นชาวนา แต่ไม่พอกิน ทำให้ต้องออกมาทำมาหากินต่างถิ่น โดยเริ่มจากเป็นพ่อค้าที่จังหวัดชลบุรีก่อนจะมาค้าขายผลไม้ที่เมืองหลวงตอนอายุ 40 กว่าๆ หรือเมื่อกว่าสิบปีก่อน แต่พี่สำรวยเพิ่งผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายผักสดเพราะเห็นว่า ได้กำไรดีกว่า ซึ่งถ้านับอายุงานก็เพียงแค่สองสัปดาห์เศษ เขากับรถเข็นคู่ใจ บรรทุกผักนานาชนิดไม่ต่างจากรถพุ่มพวงขนาดย่อม โดยเริ่มต้นทางจากตลาดมหานาค ตระเวณเข็นรถขายมาเรื่อยๆ จนถึงย่านอนุเสาวรีย์ชัยในเวลาสายๆ ค่อนไปเกือบเที่ยง มาค้าขายในกรุงเทพฯ เองหรือมีคนชักชวนมา         มีคนที่รู้จักสมัยก่อนทำงานด้วยกันชวนมา เขาให้ลองมาขายดู มาขายก็ดีเหมือนกัน เมื่อก่อนของมันถูก ขายได้แต่เดี๋ยวนี้ของแพงมาก แต่ก่อนผมไปหาบขายที่ชลบุรี ขายถั่วต้ม ไข่นกกระทา ขนมไข่หงส์ รับเขามาขายอีกที ขายอยู่ที่ชลบุรีไม่ถึงปีหาบหนักและมันไกลด้วย กินอยู่ก็ไม่สะดวก ฟืนไฟไม่ค่อยมี ตื่นแต่ดึกต้องต้มข้าวโพดต้มถั่ว ลำบากมาก เลยตามเพื่อนชวนเข้ามาขายผลไม้ตั้งแต่แรก ขายมาเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปี ขายหลายที่แถวเยาวราช  หมอชิต สุขุมวิท เมื่อก่อนเดินไกลแต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้ว ที่ต้องเดินเพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าที่ เดินเอาตลอด เพิ่งมาเสียค่าเช่าที่ตอนขายที่ซอยรางน้ำ ถ้าไม่เสียก็จอดรถเข็นไม่ได้ ขายที่รางน้ำคงได้นักท่องเที่ยวเยอะ        เมื่อก่อนขายคนจีนนะ ซอยรางน้ำคนจีนเยอะ ก็ขายมะม่วง มังคุด คนจีนเขาชอบทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย ผลไม้หวานๆ ขายดีมาก เขาชอบของหวานๆ อย่างทุเรียนก็ชอบแบบสุกมากๆ ทำไมถึงเปลี่ยนมาขายผัก         เพิ่งขายได้ 2 อาทิตย์เอง ตอนนักท่องเที่ยวมากๆ เราขายผลไม้แบบชั่งเป็นกิโล ขายบริเวณแถวนี้ ซอยรางน้ำ ขายมะม่วง เงาะ ลำไย พวกมังคุด ละมุด พุทรา ขายผลไม้ทุกอย่างตามฤดูกาล เมื่อก่อนรายได้ดีแต่ตอนนี้ไม่ดีแล้ว พอเริ่มเจอโควิด 19 ก็ต้องเปลี่ยนเริ่มมาขายพวกผักตั้งแต่เดือนนี้ (เมษายน) คนเขาซื้อผักมากกว่าผลไม้ แต่ก็ลำบากเหมือนกัน ลำบากยังไง         มันขายยากขึ้นมากเลยครับ ต้นทุนของก็แพงมากขึ้นหาซื้อยากมาก ของที่ขายมีไม่เท่าเดิม(ความหลากหลาย) ผักหรือของบางอย่างก็ซื้อไม่ได้มันแพงเกินไป จะได้เท่าที่น้องเห็น บางทีลูกค้าถามหาผัก อย่าง คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พวกนี้แพงมากหรือก็ไม่มีให้ซื้อ ถึงซื้อมาก็ขายยาก ขายไม่ได้มันแพงมาก พี่จัดการเวลาขายอย่างไร         ผมไปตลาดมหานาค (บ้านพี่สำรวยอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น) ไปให้ถึงตลาดตั้งแต่ตีสี่(หลุดเคอร์ฟิวแล้ว)  ยากมาก ไปตีสี่ ตีสี่กว่าๆ นิด กลับมาเตรียมของกว่าจะเสร็จก็สี่โมงเช้า (ต้องซื้อเจ้าประจำไหม) ไม่ๆ ถ้าเจ้าเดิมไม่มีเราก็เดินซื้อไปเรื่อยๆ ที่มีผักขาย บางทีถ้าซื้อเจ้าประจำตอนนี้เขาขึ้นราคาเราก็ซื้อไม่ได้ไง ตอนนี้ลำบากเมื่อก่อนขายผลไม้ก็ขายไม่ได้ ขายผักๆ ก็ราคาสูงขึ้นอีกยิ่งไปใหญ่เลย เดี๋ยวนี้ของ(ผัก) มันแพง ส่วนหนึ่งเพราะมันหายาก พวกรายย่อยต้องแย่งกันเอาของมาขาย อย่างถ้าเราไปทันก็ทัน แต่ถ้าไม่ทันก็เรียบร้อยเลย อด ต้องตื่นให้ทันคนเขา แต่ดีกว่าขายผลไม้ตรงที่คิดว่า ทุกคนต้องกินอาหาร ทำอาหาร ผักอะไรพวกนี้ทุกคนยังต้องกินอยู่ ตอนนี้ก็คือทำอย่างนี้ไปก่อน        ใช่ คนเขายังต้องการผัก ทำกินไปวันๆ ก่อน ขายไปเรื่อยๆ ชั่วโมงหนึ่งก็เดินไปเรื่อยๆ เป็นจุดๆ ไม่ใช่ว่าจอดรถทิ้งไว้ที่ไหนตลอด มีเพื่อนๆ พี่ที่เปลี่ยนมาขายผักแบบบ้างไหม        เยอะ รับของจากที่เดียวกันหมดเลย แต่ละคนก็กระจายกันไปตลาดไทยบ้าง สี่มุมเมืองบ้าง มหานาค ถ้าไม่มีรถก็ซื้อแถวมหานาค ปากคลองบ้าง เพราะไปรถเมล์ง่ายกว่า แล้วพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำที่เราซื้อของเขา เขาลดราคาให้บ้างไหม        ราคาเขาลดบาทสองบาทได้ สมัยก่อน 50 สตางค์เอง เขาขายยกลังเขากินกำไรบาทสองบาท ถึงเป็นเจ้าประจำก็เหมือนเดิมเพราะเขาส่งมาแบบนั้น ที่เป็นเศษเขาก็ไม่เอา อย่าง 2,350 บาท 50 บาทเขาปัดออกให้เป็นถ้วน แต่บางคนไม่ลดเลย เต็มๆ เลย เขาบอกว่ากินกำไรแค่บาทสองบาท เป็นบางคนที่ลดให้ อย่างบางคนเราซื้อประจำเขาก็ไม่เอาเขาปัดออกเลยที่เป็นเศษ บางคนก็ไม่ได้จ่ายเต็มๆ เลยก็มีผักมันแพงมากแค่ไหนเมื่อเทียบกันกับช่วงเวลาปกติก่อนโควิดก็อย่างเคยขายถุงละ 80 บาทตอนนี้เป็น 200 บาทแล้ว คะน้าขึ้น 200 ผักบุ้ง 100 บาท ถั่ว 50 บาท เอามาขายไม่ได้มันแบ่งไม่ได้ อย่างเช่น เราเคยขายมะนาว ห้าลูก 10 บาท ตอนนี้ไม่ได้อะไรเลยคะน้าจากเดิมพี่ได้กำไรก็ได้ครึ่งต่อครึ่ง คะน้าธรรมดาแบ่ง 10 บาท มันได้ 20 กำ ตอนนี้ 20 กำ 200 บาท เราไม่ได้สักบาทเลย ส่วนผักที่เลือกมาขายคือที่ยังขายได้ มันได้ครึ่งๆ ก็ยังดี เราก็ยังได้ค่ากับข้าวค่าอะไรๆ บ้าง ถ้าเราขายหมด ถ้าขายไม่หมดกำไรก็ติดลบอยู่ ก็ไปซื้อมาเพิ่มอีกนิดหน่อย ไม่ต้องลงทุนเยอะ บอกได้ไหมว่าตอนนี้มีรายได้วันละเท่าไหร่        เมื่อก่อนมีรายได้วันละ 600 -  800 บาท แต่เดือนนี้ไม่ถึงแล้ว วันละ 400 - 500 บาท ก็ให้ได้เถอะ บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ สมัยก่อนวันละเป็น 1,000 ถึง 2,000 บาท เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย เป็นทุกคนกระทบหมดเลยผักที่ขายดีที่สุดของเราในช่วงนี้คืออะไร         มีผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า(ถ้าหามาได้) มะละกอก็ขายได้ดี ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ทุกอย่าง 10 บาทหมด กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก ก็ยังขายได้ พวกเครื่องแกงเครื่องต้มยำขายได้ คนเขาซื้อไปทำกินที่บ้าน คนที่มาซื้อเขามาซื้อปกติ หรือเขามีการป้องกันอะไรมากขึ้นไหมคะ         ระวังตัวเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะถามว่าผักมีสารพิษไหม เราก็บอกไม่รู้ รับเขามา เราก็บอกเขาให้ไปแช่น้ำเกลือก่อนก็ได้แล้วค่อยทำกิน ทุกวันนี้เขาใช้สารเคมีทั้งนั้น ร้านส่งเขาก็ตอบไม่ตรง เขาก็บอกผักสวยผักงามแค่นี้แหละ คนกินก็ต้องดูแลตัวเอง ทุกวันนี้ก็มีสารพิษหมด เวลาไปซื้อเดินดูถูกใจก็ซื้อเลย เวลาเราถามเขาก็ตอบไปอย่างนั้นแหละ เขาบอกผักสวย ปลอดสารพิษนะ แต่ก็ไม่จริงหรอก ถ้าพี่เป็นคนกินเองเวลาพี่ซื้อผักพี่จะทำอย่างไร        ส่วนมากไม่ค่อยได้กินผักมาก อยู่บ้านนอกก็จะกินผักที่ปลูกที่บ้าน ผักสวนครัว แต่ถ้ากินผักก็จะดูที่ใบที่มีแมลงกิน ก็จะกินแบบนั้นเพราะส่วนมากจะไม่ปลอดภัย เวลาล้างก็แช่น้ำ แต่ส่วนมากไม่ค่อยทำกินเองซื้อเขากิน พวกผัดกะเพรา ต้มยำ ถ้าเป็นที่บ้านนอกจะปลูกเองผักที่ป่าเยอะเลย ปลูกกินเองก็มีเกิดจากธรรมชาติก็มี ถ้าฝากถึงรัฐบาลได้ เขาคงช่วยได้เป็นบางคน คงช่วยไม่ทุกคนหรอก ตัวผมนี่ยังไม่ได้อะไรเลย เมื่อก่อนขายได้แต่ตอนนี้ขายไม่ค่อยได้ เวลาขายมันสั้นมาก(ติดเคอร์ฟิว) เมื่อก่อนขายถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง แต่ตอนนี้ขายได้แค่สี่ทุ่ม แต่ก่อนมีร้านเย็บผ้า ร้านนวด สปาเขาซื้อเรา ถ้าได้ทิปเยอะ เขาก็ซื้อเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ปิดหมดเลย ผักผลไม้ขายไม่ได้ มองข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง                   เหมือนมันไม่มีอะไรแน่นอน อยากให้มันแน่นอนบ้างนะ (น่าจะหมายถึงมาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับผู้ค้ารายย่อย) บางทีเราจอดตรงนี้ได้ พอไปๆ มาๆ ก็ยกเลิกบอกให้เราทำตรงนั้นตรงนี้ ทุกวันนี้มันไม่แน่นอนเดี๋ยวได้ย้ายอีก ถ้าที่ประจำเราจอดหน้าบ้านเราได้ อันนี้ที่ฟุตบาท บางทีเขาจะเปลี่ยนแปลงใหม่เขาก็ให้ย้ายไป อาชีพค้าขายไม่แน่นอนแบบพี่เลยไม่มีอะไรแน่นอนให้วางใจได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 พ่อยุ่งลุงไม่ว่าง : แล้วใครจะปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานเล่น?

จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้มอบหมายภารกิจให้ครอบครัวกลายเป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะดูแลเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุผลเบื้องต้นก็เป็นเพราะว่า ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นในปริมณฑลของสถาบันครอบครัว เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยที่ประกอบขึ้นด้วยพ่อแม่พี่น้อง ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา และเครือญาติอีกมากมาย สมาชิกที่ใกล้ชิดชีวิตของเยาวชนนี้เองที่ต้องมีภาระรับผิดชอบขับเคลื่อนชีวิตของเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวังไว้ แต่ทว่า คำถามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้ใหญ่ในบ้านไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับลูกๆ หลานๆ ได้แล้ว ผลต่อการเติบโตของเด็กตามความคาดหวังของสังคมจะเป็นเช่นไร ก็คงคล้ายๆ กับชีวิตของ “น้องกาโม่” ที่เกิดมาในครอบครัวที่ทั้ง “พ่อเองก็ยุ่ง” แถม “ลุงก็ยังไม่ว่างอีก” กาโม่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ที่สังคมคาดหวังได้แล้ว จะเกิดปัญหาอันใดบ้างกับเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ปัญหาของเด็กน้อยกาโม่เริ่มต้นเมื่อ “โต๊ด” และ “พาย” พ่อแม่วัยใสที่มีลูกตั้งแต่วัยเรียน แต่ไม่กล้าบอกกับทางบ้าน เพราะกลัวว่าตนจะถูกตัดออกจากกองมรดกของตระกูล จึงนำกาโม่มาฝากไว้ให้ “เต็ง” พระเอกของเรื่องผู้มีศักดิ์เป็นลุงคอยเลี้ยงดู และทั้งคู่ก็ตัดสินใจทิ้งลูกน้อยเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ด้วยอาชีพการงานของเต็งที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเอาเสียเลย กอปรกับภาระใหม่ที่ต้องมาสวมบทบาท “คุณพ่อจำเป็น” แทนน้องชาย ลุงเต็งจึงไปติดต่อเนิร์สเซอรี และได้พบกับ “ชิดดาว” ซึ่งเขาไม่เพียงแต่จ้างให้เธอมาช่วยเลี้ยงดูกาโม่เท่านั้น แต่ชิดดาวยังกลายเป็น “รักแรกพบ” ที่เต็งสะดุดตกหลุมรักเมื่อแรกเจอ ความใกล้ชิดระหว่างเต็งกับชิดดาวค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรักขึ้นมา ยิ่งเมื่อ “โต้” แฟนหนุ่มของชิดดาวเกิดนอกใจเลือกไปคบหากับ “ละออง” ผู้จัดการดารา เพื่อหวังใช้หล่อนเป็นทางลัดหรือสะพานไต่เต้าอยู่ในแวดวงบันเทิงด้วยแล้ว ชิดดาวจึงเลือกที่จะหันมาคบหาดูใจกับเต็งแบบเต็มตัว ลุงเต็งซึ่ง “ยุ่ง” อย่างมากกับหน้าที่การงาน ก็จึงยิ่งต้อง “ยุ่ง” กับภาระแห่งหัวใจเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ว่าความรักระหว่างเต็งกับชิดดาวจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคขวากหนามใดๆ เลย เพราะละครได้ผูกเรื่องเอาไว้ตามสูตรตำราที่ว่า หากตัวละครเอกจะ “lucky in love” แล้ว พวกเธอและเขาก็ไม่ควรจะ “lucky in game” ได้ง่ายนัก ฉะนั้น ในฟากของเต็งเองนั้น โต้ก็คือตัวละคร “ศัตรูหัวใจ” ที่เข้ามาขัดขวางและคอยทำตัวเป็น “สุนัขหวงก้าง” ราวีทุกวิถีทางที่จะเขี่ยเต็งออกไปจากชีวิตของชิดดาว และกลั่นแกล้งเขาในหน้าที่การงานด้วยการถอดรายการโทรทัศน์ที่เต็งและเพื่อนๆ รับผิดชอบอยู่ ให้หลุดออกไปจากผังของสถานี เมื่อปัญหาการงานรุมเร้าเข้ามา เราจึงเห็นภาพฉากที่หลายๆ ครั้ง ลุงเต็งก็พกพาเอาความหงุดหงิดจากนอกชายคาเข้ามาระบายออกในพื้นที่ของบ้าน และดุว่าหลานน้อยกาโม่ ที่ดึงดื้อตามประสาเด็กด้วยอยากจะเรียกความสนใจจากคุณลุงนั่นเอง ในขณะที่ทางฟากของชิดดาวนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับคำข่มขู่ของละอองที่หึงหวงไม่อยากให้เธอเข้าไปพัวพันกับชีวิตของโต้ ทำให้ชิดดาวเลือกตัดสินใจทิ้งปัญหารุมเร้าและหลบเร้นตัวเองออกไปจากชีวิตของเต็งและกาโม่ แม้ว่าเต็งจะเคยพูดกับเธอในฐานะคนรักว่า “ผมทุ่มสุดตัว พุ่งชนปัญหามาขนาดนี้ ผมต้องการกำลังใจมากนะครับ...” ก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้ใหญ่ก็เอาแต่สนใจและเล็งเห็นแต่ปัญหาของตนว่าเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งมวลในโลกนี้ ไม่เพียงแค่ “พ่อที่ยุ่ง” เพราะหายตัวไปกับแม่ตั้งแต่ต้นเรื่อง และ “ลุงที่ไม่ว่าง” เพราะสาละวนแต่จะแก้ปัญหาสารพันในที่ทำงาน แถมซ้ำด้วย “อาที่เอาแต่จะหนีปัญหา” แล้ว คำถามก็คือ ใครกันจะมาทำหน้าที่ “ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานของเรากัน”? เพราะสถาบันครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตัวละครหน้าใหม่อย่าง “ทอย” ที่เป็นเพื่อนร่วมงานและแอบหลงรักเต็ง ก็กลายมาเป็นตัวกลางใหม่ที่เข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์ระหว่างเต็งกับกาโม่ ในขณะที่ชิดดาวตัดสินใจตีจากเต็งเพื่อหนีปัญหาทั้งปวง ทอยก็ถือโอกาสเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ดูแลกาโม่แทนชิดดาวเสียเลย แม้จะมีความรักใส่ใจเด็กน้อยกาโม่อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ทอยก็มี “ผลประโยชน์” ที่อยากจะช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจของเต็งให้ได้ เด็กน้อยจึงมิใช่ “เป้าหมาย” ที่ทอยอยากจะทำหน้าที่ฟูมฟักดูแลจริงๆ หากแต่เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ถูกใช้เพื่อบรรลุ “เป้าหมาย” อันเป็น “ผลประโยชน์แฝงเร้น” ของเธอเท่านั้น  ด้วยมิจฉาทิฐิที่มีอยู่ในจิตใจ ทอยก็เริ่มต้นเป่าหูให้กาโม่เป็นสะพานเชื่อมเธอเข้าไปอยู่ในหัวใจลุงเต็ง เสแสร้งเป็นแม่คนใหม่ที่คอยดูแลกาโม่ และที่สำคัญ เมื่อชิดดาวย้อนกลับมาคบหากับเต็งอีกครั้ง ทอยก็ยุแยงให้กาโม่เกลียดและทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางความรักของคุณลุง  เมื่อเทียบกับบรรดาพ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือสมาชิกครอบครัวด้วยกัน ที่ผลประโยชน์หลักมักจะตั้งต้นที่ตัวของเด็ก ตัวละครแบบทอยก็คือตัวอย่างของคนนอกบ้านที่พร้อมจะเสี้ยมสอนและใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของตนเสียมากกว่า  จนมาถึงตอนท้ายของเรื่อง ก่อนที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จะลุกลามจนเกินเยียวยา บรรดาผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาทบทวนตัวเองและเข้าใจว่า บทบาททางสังคมในการดูแลบุตรหลานหาใช่การฝากฝังไว้ในมือของคนอื่น แต่เป็นภารกิจแรกๆ ที่ตนมิอาจเพิกเฉยไปได้  เริ่มจากโต๊ดและพายที่ตัดสินใจกลับมาจากเมืองนอก เพราะได้เข้าใจแล้วว่า พ่อแม่เป็นบุคคลแรกที่ต้องเลี้ยงดูเด็กน้อยโดยชอบธรรมที่สุด ในขณะที่เต็งก็เรียนรู้ว่า ภาระงานนอกบ้านก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความสุขความทุกข์ของหลานชายตัวน้อยได้เลย หรือแม้แต่ชิดดาวที่ตระหนักว่า การเอาแต่วิ่งหนีปัญหานั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามเป็นไฟไม่สิ้นไม่สุด “พ่อที่เลิกยุ่ง” กับ “ลุงที่เริ่มทำตัวว่างๆ” พร้อมกับ “อาผู้หญิงที่หันหน้ามาสู้กับปัญหา” ก็คือคำตอบแก่เราๆ ว่า อยู่บ้านของตนก็อย่ามัวนั่งนิ่งดูดายเสียเอง เพราะลูกหลานยังรอให้เราคอยอบรมดูแล หาไม่แล้วก็อาจมี “บ่างช่างยุ” จากนอกบ้าน ที่ย่างก้าวเข้ามา “ปั้นวัวปั้นควาย” ให้ลูกๆ หลานๆ เล่นแทนเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สุขพอที่พ่อสอน

“...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”“...ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ...”พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะนำมาบอกต่อผู้อ่านให้รู้และน้อมนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำมาเป็นคติเตือนใจให้มีความพอดีและเพียงพอนอกจากพระราชดำรัสที่ยกมาบางส่วนนี้แล้ว ผู้อ่านสามารถเข้าถึงพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่คัดตัดตอนมาเผยแพร่ลงในแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “สุขพอที่พ่อสอน”แอพพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” นี้ เกิดขึ้นจากสำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทมาเผยแพร่ โดยพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทจะมีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ การศึกษา การพัฒนา ความพอเพียง รู้จักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรมจริยธรรม ความสุขและความปรารถนาดี และความยุติธรรมภายในแอพพลิเคชั่นจะมีอยู่ 5 หมวด ดังนี้ หมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ หมวดเลือกข้อความ หมวดส่งต่อ และหมวดข้อมูล ซึ่งในทั้ง 5 หมวดนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกับ 9 เรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยจะมีความแตกต่างกันไป ก็คือ หมวดพระราชดำรัส จะเป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเลือกพระราชดำรัสที่ต้องการตามเรื่อง 9 เรื่อง หมวดนี้เป็นหมวดที่สำคัญ เนื่องจากผู้ใช้แอพพลิเคชั่นต้องเลือกเรื่องที่อยู่ภายในหมวดนี้ก่อน แล้วจึงไปอ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในหมวดอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องที่ได้เลือกไว้หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ จะเป็นภาพพระกรณียกิจในอิริยาบถต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเลือกโดยอิงจากภาพพระกรณียกิจเหล่านั้น สำหรับหมวดเลือกข้อความ จะแบ่งตามข้อความพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เพื่อให้สะดวกในการหาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการ หมวดส่งต่อ เป็นหมวดที่ใช้เมื่อผู้ใช้แอพพลิเคชั่นได้เข้าไปดูพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการภายในหมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ และหมวดเลือกข้อความ โดยมีความต้องการที่จะเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค หรือส่งต่อไปยังเมล หรือต้องการบันทึกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทนั้นไว้ ให้กดมาที่หมวดนี้ และหมวดสุดท้ายเป็นหมวดข้อมูล จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแอพพลิเคชั่นนี้พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ภายในแอพพลิเคชั่นนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยควรน้อมนำไปปฏิบัติกันโดยทั่วหน้า เพื่อให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามคำว่า “สุขพอที่พ่อสอน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 พ่อแม่รังแกฉัน

ชื่อเรื่องในฉบับนี้ผู้เขียนตั้งตามชื่อเรื่องสั้นที่แต่งโดยพระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งกล่าวถึงเด็กชายคนหนึ่งมีพ่อแม่เป็นเศรษฐีและรักเขามาก ทำอะไรพ่อแม่ก็ชม แม้เรียนหนังสือพ่อแม่ก็หาครูที่ตามใจลูกมาสอนจนสุดท้ายลูกก็ไม่มีความรู้ มรดกที่พ่อแม่ให้ไว้ก็ถูกใช้เรียบจนกลายเป็นยาจก แต่เพราะบุญยังพอมีจึงมีคนช่วยสั่งสอนวิชาให้หากินได้ สุดท้ายก็สำนึกว่าที่ผ่านมานั้น พ่อแม่รังแกตนด้วยความรัก (ซึ่งปัจจุบันพ่อแม่แบบนี้มีมากจริง ๆ) อย่างไรก็ดีถ้าค้นคำว่า พ่อแม่รังแกฉัน ใน google จะไปตรงกับบทความที่ท่าน ว.วชิรเมธี เขียนไว้ เมื่อ 29 มกราคม 2552 ณ.สถาบันวุมุตตยาลัย โดยเป็นบทความแนะนำการเลี้ยงดูลูกในเชิงว่า อย่าทำอะไรที่จะทำให้ลูกเลว 14 ข้อ ซึ่งมีข้อที่ 12 กล่าวว่า “พ่อแม่บางคนทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนให้ลูกรู้จักสมบัติของผู้ดี ผลก็คือ เขากลายเป็นคนหยาบกระด้างทั้งทางกาย ทางใจ ใจคอโหดหินทมิฬชาติ ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดสัมมาคารวะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักประมาณตน ครองตน ครองคน ครองงานไม่เป็น ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบประเพณี กฎหมาย จรรยาจารีตของสังคม ไม่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของเพื่อนมนุษย์” จากข้อแนะนำของท่าน ว. นี้ผู้เขียนขออภิปรายต่อว่า อะไรที่เป็นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อเด็กมีแล้วทำให้เด็กมีพฤติกรรมไม่ดี โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของฝรั่ง สมัยยังเล็กผู้ใหญ่มักสอนผู้เขียนว่า อย่าเอาขนมหวานให้หมากินเพราะมันจะดุ ซึ่งผู้เขียนก็พยายามหาคำอธิบายว่าเพราะอะไร คำอธิบายหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ หมามันคงติดใจขนม หลังจากนั้นมันก็คงพยายามขอเรากิน พอไม่ได้กินมันอาจเกิดอารมณ์แบบว่า ของขึ้น เลยแสดงออกซึ่งอาการที่เราเรียกว่า ดุ ออกมา   มาถึงวันนี้หลังจากใช้เวลาหาคำตอบในเรื่องนี้มาตลอดชีวิต ผู้เขียนก็ได้อ่านบทความกึ่งวิชาการที่ชื่อว่า “Could sweets every day as kids make adults aggressive” ในเว็บ www.foodnavigator.com ซึ่งให้ข้อมูลว่า มีการศึกษาโดย Dr. Simon C. Moore และคณะ (Cardiff University, สหราชอาณาจักร) ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในชื่อเรื่องว่า Confectionery consumption in childhood and adult violence ในวารสาร British Journal of Psychiatry เดือนตุลาคม ปี 2009 สรุปว่า การกินขนมหวานทุกวันตั้งแต่สมัยที่เป็นเด็กนั้นส่งผลให้เมื่อโตแล้วกลายเป็นคนมุทะลุดุดัน (aggressive) ผลงาน Dr. Moore และคณะเริ่มการศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (เข้าใจว่าคงนานราว 30 ปี) โดยใช้อาสาสมัคร 17,415 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 5, 10, 16, 26, 30, 34 และ 42 ปี แล้วพบว่า ร้อยละ 69 ของอาสาสมัครที่เข้าร่วมอยู่ในการศึกษาแล้วก่อเหตุรุนแรงในชุมชนเมื่ออายุ 34 ปีนั้น ตอนอายุ 10 ปี เริ่มกินขนมหวาน (confectionary) ติดต่อมาทุกวัน เมื่อเทียบกับคนในยุคเดียวกันวัยเดียวกันที่เป็นคนสุภาพเรียบร้อย (ซึ่งคงไม่ค่อยได้กินขนม) จากการศึกษานี้ได้บ่งชี้ว่า การกินขนมทำให้เด็กนิสัยเสีย เพราะผู้ใหญ่มักเอาขนมเป็นปัจจัยในการควบคุมพฤติกรรมเกเรของเด็ก คล้ายเป็นการซื้อความเกเรของเด็กโดยไม่สอนเด็กว่า ความเกเรนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้าย เด็กจึงคงพฤติกรรมดังกล่าวไว้เพราะหวังกินขนมอีก ดังนั้นเมื่อโตขึ้นนิสัยเกเรเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการจึงติดตัวเมื่อเป็นผู้ใหญ่ อีกปัจจัยหนึ่งที่ Dr. Moore และคณะสนใจคือ สารเจือปนในอาหารในขนมอาจเป็นสาเหตุของความเกเรของเด็ก โดยผู้วิจัยได้อ้างถึงงานวิจัยชื่อ Food additives and hyperactive behaviour in 3-year-old and 8/9-year-old children in the community: a randomised, double-blinded, placebo-controlled trial ซึ่งทำวิจัยโดย Dr. D. McCann และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อปี ค.ศ. 2007 โดย ผู้วิจัยได้ทำการหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการบริโภคสารเจือปนในอาหารต่อความเกเรของเด็ก แล้วสรุปผลการศึกษาว่า สีสังเคราะห์และ/หรือสารกันบูดคือ โซเดียมเบ็นโซเอท (เป็นสารกันบูดที่นิยมใช้ในบ้านเรามากที่สุดชนิดหนึ่ง) ในขนมที่เด็กกินนั้นอาจกระตุ้นอารมณ์ในการ”วีน”ต่อผู้อื่น ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยราชการเช่น กระทรวงที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและดูแลวัฒนาธรรมไทยออกมามองดูว่า เด็กของเรากินอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งยังเป็นไม้อ่อน (น่าจะพอ) ดัดได้ การกินขนมนั้นเป็นเหมือนรางวัลที่ผู้ใหญ่ให้แก่เด็ก ส่วนความใส่ใจในการเลือกซื้อขนมให้เด็กกินนั้นเป็นความเมตตากรุณาที่ผู้ใหญ่น่าจะมีต่อเด็ก สำหรับตัวผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์และความปลอดภัยของอาหาร นั้น มีโอกาสควบคุมการทำวิจัยเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับขนมไทย จึงคิดว่าน่าจะนำผลการศึกษาบางเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง จากข้อมูลเดิมที่เคยทำวิจัยมาก่อนว่า กล้วยนั้นมีประโยชน์ในด้านการต้านสารก่อมะเร็ง (โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า) จึงมีนักศึกษาคนหนึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการใช้แป้งข้าวกล้องงอก เพื่อทำเป็นขนมกล้วยเพราะคิดว่า จะได้ขนมกล้วยที่ดีมาก ๆ กลับปรากฏว่าแป้งจากข้าวกล้องงอกไม่ช่วยให้ขนมกล้วยนั้นมีฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็งดีขึ้น แต่สรุปได้ว่า ขนมกล้วยนั้นสามารถต้านสารก่อมะเร็งได้ด้วยตัวกล้วยเอง งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับขนมไทยหลายชนิดซึ่งบริโภคกันมาแต่โบราณ ซึ่งผลการศึกษาเป็นไปอย่างที่คิดกันแต่แรกก็คือ ขนมไทยซึ่งมักทำลายสุขภาพเพราะประกอบด้วยแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก มีคุณประโยชน์ในการต้านสารพิษนั้นค่อนข้างน้อยมาก อย่างไรก็ดีเราสามารถทำให้ขนมไทยกลายเป็นขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ไม่ยากนัก โดยการเติมสารสกัดจากสมุนไพรไทยบางชนิด (เช่น น้ำสกัดจากฝาง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ทำน้ำยาอุทัย น้ำสกัดจากพืช ผัก ผลไม้ เช่น ใบเตย หัวผักกาดแดง สีจากข้าวเหนียวดำ น้ำดอกอัญชัน เป็นต้น) ลงไปในขนมไทยที่ไม่มีสี เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมน้ำดอกไม้ หรือแม้แต่ขนมที่มีสีอยู่แล้วเช่น เปียกปูน ขนมชั้น บัวลอย ลูกชุบ วุ้นต่าง ๆ ฯลฯ นั้นถ้าพยายามใช้สีธรรมชาติ เราจะได้ขนมไทยที่มีทั้งความหอมอร่อยพร้อมไปกับประโยชน์ในการต้านสารพิษมากมายหลายชนิด (ที่เกิดขึ้นในการปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนสูง) ในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มใส่ใจให้เด็กได้กินขนมที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการและวัฒนธรรมบ้าง โอกาสที่เราจะได้เห็นคนที่มีความประพฤติดีเดินตามถนนมากกว่าคนประพฤติก้าวร้าวเดินในสภา คงไม่ถึงกับสิ้นหวังดังที่ผู้เขียนกำลังเป็นในปัจจุบันนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point