ฉบับที่ 148 พ่อแม่รังแกฉัน

ชื่อเรื่องในฉบับนี้ผู้เขียนตั้งตามชื่อเรื่องสั้นที่แต่งโดยพระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งกล่าวถึงเด็กชายคนหนึ่งมีพ่อแม่เป็นเศรษฐีและรักเขามาก ทำอะไรพ่อแม่ก็ชม แม้เรียนหนังสือพ่อแม่ก็หาครูที่ตามใจลูกมาสอนจนสุดท้ายลูกก็ไม่มีความรู้ มรดกที่พ่อแม่ให้ไว้ก็ถูกใช้เรียบจนกลายเป็นยาจก แต่เพราะบุญยังพอมีจึงมีคนช่วยสั่งสอนวิชาให้หากินได้ สุดท้ายก็สำนึกว่าที่ผ่านมานั้น พ่อแม่รังแกตนด้วยความรัก (ซึ่งปัจจุบันพ่อแม่แบบนี้มีมากจริง ๆ) อย่างไรก็ดีถ้าค้นคำว่า พ่อแม่รังแกฉัน ใน google จะไปตรงกับบทความที่ท่าน ว.วชิรเมธี เขียนไว้ เมื่อ 29 มกราคม 2552 ณ.สถาบันวุมุตตยาลัย โดยเป็นบทความแนะนำการเลี้ยงดูลูกในเชิงว่า อย่าทำอะไรที่จะทำให้ลูกเลว 14 ข้อ ซึ่งมีข้อที่ 12 กล่าวว่า “พ่อแม่บางคนทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนให้ลูกรู้จักสมบัติของผู้ดี ผลก็คือ เขากลายเป็นคนหยาบกระด้างทั้งทางกาย ทางใจ ใจคอโหดหินทมิฬชาติ ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดสัมมาคารวะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักประมาณตน ครองตน ครองคน ครองงานไม่เป็น ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบประเพณี กฎหมาย จรรยาจารีตของสังคม ไม่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของเพื่อนมนุษย์” จากข้อแนะนำของท่าน ว. นี้ผู้เขียนขออภิปรายต่อว่า อะไรที่เป็นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อเด็กมีแล้วทำให้เด็กมีพฤติกรรมไม่ดี โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของฝรั่ง สมัยยังเล็กผู้ใหญ่มักสอนผู้เขียนว่า อย่าเอาขนมหวานให้หมากินเพราะมันจะดุ ซึ่งผู้เขียนก็พยายามหาคำอธิบายว่าเพราะอะไร คำอธิบายหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ หมามันคงติดใจขนม หลังจากนั้นมันก็คงพยายามขอเรากิน พอไม่ได้กินมันอาจเกิดอารมณ์แบบว่า ของขึ้น เลยแสดงออกซึ่งอาการที่เราเรียกว่า ดุ ออกมา   มาถึงวันนี้หลังจากใช้เวลาหาคำตอบในเรื่องนี้มาตลอดชีวิต ผู้เขียนก็ได้อ่านบทความกึ่งวิชาการที่ชื่อว่า “Could sweets every day as kids make adults aggressive” ในเว็บ www.foodnavigator.com ซึ่งให้ข้อมูลว่า มีการศึกษาโดย Dr. Simon C. Moore และคณะ (Cardiff University, สหราชอาณาจักร) ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในชื่อเรื่องว่า Confectionery consumption in childhood and adult violence ในวารสาร British Journal of Psychiatry เดือนตุลาคม ปี 2009 สรุปว่า การกินขนมหวานทุกวันตั้งแต่สมัยที่เป็นเด็กนั้นส่งผลให้เมื่อโตแล้วกลายเป็นคนมุทะลุดุดัน (aggressive) ผลงาน Dr. Moore และคณะเริ่มการศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (เข้าใจว่าคงนานราว 30 ปี) โดยใช้อาสาสมัคร 17,415 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 5, 10, 16, 26, 30, 34 และ 42 ปี แล้วพบว่า ร้อยละ 69 ของอาสาสมัครที่เข้าร่วมอยู่ในการศึกษาแล้วก่อเหตุรุนแรงในชุมชนเมื่ออายุ 34 ปีนั้น ตอนอายุ 10 ปี เริ่มกินขนมหวาน (confectionary) ติดต่อมาทุกวัน เมื่อเทียบกับคนในยุคเดียวกันวัยเดียวกันที่เป็นคนสุภาพเรียบร้อย (ซึ่งคงไม่ค่อยได้กินขนม) จากการศึกษานี้ได้บ่งชี้ว่า การกินขนมทำให้เด็กนิสัยเสีย เพราะผู้ใหญ่มักเอาขนมเป็นปัจจัยในการควบคุมพฤติกรรมเกเรของเด็ก คล้ายเป็นการซื้อความเกเรของเด็กโดยไม่สอนเด็กว่า ความเกเรนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้าย เด็กจึงคงพฤติกรรมดังกล่าวไว้เพราะหวังกินขนมอีก ดังนั้นเมื่อโตขึ้นนิสัยเกเรเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการจึงติดตัวเมื่อเป็นผู้ใหญ่ อีกปัจจัยหนึ่งที่ Dr. Moore และคณะสนใจคือ สารเจือปนในอาหารในขนมอาจเป็นสาเหตุของความเกเรของเด็ก โดยผู้วิจัยได้อ้างถึงงานวิจัยชื่อ Food additives and hyperactive behaviour in 3-year-old and 8/9-year-old children in the community: a randomised, double-blinded, placebo-controlled trial ซึ่งทำวิจัยโดย Dr. D. McCann และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อปี ค.ศ. 2007 โดย ผู้วิจัยได้ทำการหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการบริโภคสารเจือปนในอาหารต่อความเกเรของเด็ก แล้วสรุปผลการศึกษาว่า สีสังเคราะห์และ/หรือสารกันบูดคือ โซเดียมเบ็นโซเอท (เป็นสารกันบูดที่นิยมใช้ในบ้านเรามากที่สุดชนิดหนึ่ง) ในขนมที่เด็กกินนั้นอาจกระตุ้นอารมณ์ในการ”วีน”ต่อผู้อื่น ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยราชการเช่น กระทรวงที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและดูแลวัฒนาธรรมไทยออกมามองดูว่า เด็กของเรากินอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งยังเป็นไม้อ่อน (น่าจะพอ) ดัดได้ การกินขนมนั้นเป็นเหมือนรางวัลที่ผู้ใหญ่ให้แก่เด็ก ส่วนความใส่ใจในการเลือกซื้อขนมให้เด็กกินนั้นเป็นความเมตตากรุณาที่ผู้ใหญ่น่าจะมีต่อเด็ก สำหรับตัวผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์และความปลอดภัยของอาหาร นั้น มีโอกาสควบคุมการทำวิจัยเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับขนมไทย จึงคิดว่าน่าจะนำผลการศึกษาบางเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง จากข้อมูลเดิมที่เคยทำวิจัยมาก่อนว่า กล้วยนั้นมีประโยชน์ในด้านการต้านสารก่อมะเร็ง (โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า) จึงมีนักศึกษาคนหนึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการใช้แป้งข้าวกล้องงอก เพื่อทำเป็นขนมกล้วยเพราะคิดว่า จะได้ขนมกล้วยที่ดีมาก ๆ กลับปรากฏว่าแป้งจากข้าวกล้องงอกไม่ช่วยให้ขนมกล้วยนั้นมีฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็งดีขึ้น แต่สรุปได้ว่า ขนมกล้วยนั้นสามารถต้านสารก่อมะเร็งได้ด้วยตัวกล้วยเอง งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับขนมไทยหลายชนิดซึ่งบริโภคกันมาแต่โบราณ ซึ่งผลการศึกษาเป็นไปอย่างที่คิดกันแต่แรกก็คือ ขนมไทยซึ่งมักทำลายสุขภาพเพราะประกอบด้วยแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก มีคุณประโยชน์ในการต้านสารพิษนั้นค่อนข้างน้อยมาก อย่างไรก็ดีเราสามารถทำให้ขนมไทยกลายเป็นขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ไม่ยากนัก โดยการเติมสารสกัดจากสมุนไพรไทยบางชนิด (เช่น น้ำสกัดจากฝาง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ทำน้ำยาอุทัย น้ำสกัดจากพืช ผัก ผลไม้ เช่น ใบเตย หัวผักกาดแดง สีจากข้าวเหนียวดำ น้ำดอกอัญชัน เป็นต้น) ลงไปในขนมไทยที่ไม่มีสี เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมน้ำดอกไม้ หรือแม้แต่ขนมที่มีสีอยู่แล้วเช่น เปียกปูน ขนมชั้น บัวลอย ลูกชุบ วุ้นต่าง ๆ ฯลฯ นั้นถ้าพยายามใช้สีธรรมชาติ เราจะได้ขนมไทยที่มีทั้งความหอมอร่อยพร้อมไปกับประโยชน์ในการต้านสารพิษมากมายหลายชนิด (ที่เกิดขึ้นในการปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนสูง) ในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มใส่ใจให้เด็กได้กินขนมที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการและวัฒนธรรมบ้าง โอกาสที่เราจะได้เห็นคนที่มีความประพฤติดีเดินตามถนนมากกว่าคนประพฤติก้าวร้าวเดินในสภา คงไม่ถึงกับสิ้นหวังดังที่ผู้เขียนกำลังเป็นในปัจจุบันนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point