ฉบับที่ 262 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก (ครั้งที่ 2)

        ปัจจุบันการกดสั่งอาหารออนไลน์ ทำได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือกมากมาย ตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ประชาชนหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่กันมากขึ้น   และทั้งด้วยการจัดโปรโมชัน คูปอง การสะสมแต้มต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอร์รีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง          อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่กำลังสร้างปัญหาสำคัญคือ ขยะพลาสติกจำนวนมาก ที่สำคัญคือขยะจากฟู้ดเดลิเวอรีเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้             ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 242  นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชันสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชัน ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ให้กับลูกค้าหรือไม่         ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันฟู้ดดิลิเวอรีมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอีกหลายราย และเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีใจของนักอนุรักษ์ได้มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง ฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และ สสส. จึงทำการสำรวจบริการสั่งอาหารออนไลน์อีกครั้ง  โดยครั้งนี้สำรวจ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัดดังเดิมและเพิ่มเติมรายใหม่รวมจำนวนทั้งหมด 41 ราย   สำรวจผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีรายใหม่ จำนวน 9 ราย คือ  Shopee Food TH , 1376 Delivery,  AirAsia Food ,True Food, Foodhunt , Texas Chicken Thailand, Aolaimai ,Frabbit ,Fast Delivery Ubon ระยะเวลาสำรวจ เดือนธันวาคม 2565สรุปผลการสำรวจ        - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบแอปพลิเคชัน  ที่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก”  มีจำนวน 5 ราย คือ  Burger King, Food Panda, Grab Food , Line Man , AirAsia Food  (หรือ Gojek เดิม)      - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชัน แต่ไม่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 22   ราย  คือ  Shopee Food TH , Foodhunt ,Truefood , 1112 Delivery ,  7- Eleven ,  KFC  Thailand ,  Mc Donald’s  , Robinhood , S&P Delivery,The Pizza company, Aolaimai, Ant Delivery, Foodman Delivery Service , Fastfood  Delivery ,Weserve ,Win Food Delivery ,Big Food Delivery,Captain Food Delivery,   Finvery,FooDee Delivery ,Coffee  World  Station , Starbucks  Thailand       - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ ไลน์ และ call center   และไม่มีตัวเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ชัดเจน  มีจำนวน  8  ราย  คือ 1376 Delivery ,Domino’s  Pizza ,Fast Delivery Ubon ,Frabbit  ,Texas Chicken Thailand , Fuji Japanese Restaurant ,MK  delivery,Neo  Suki        และ แอปพลิเคชันยอดนิยมที่สำรวจแล้วพบว่า ไม่ใช่บริการ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีจำนวน  6   แอป คือ  CP Fresh Mart , Happy Fresh, Lalamove ,Skootar ,Wongnai ,ครัวคุณต๋อย    ข้อสังเกต      -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน และสั่งซื้อผ่าน เว็บไซต์ ไลน์ และ call center  ที่ไม่มีตัวเลือกกดไม่รับพลาสติกแต่จะมีช่อง ‘คำขอพิเศษ’  ‘โน้ตไปยังร้านอาหาร’ ‘หมายเหตุ’  ‘ใส่รายละเอียดเพิ่มเติม (ถ้ามี)’ ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ช่องทางนี้ ปฏิเสธไม่รับพลาสติก  รวมไปถึงสื่อสารถึงร้านอาหารได้โดยตรงว่า ไม่ต้องการรับพลาสติกที่ไม่จำเป็น           -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้กดสั่งซื้อมากมาย ทั้ง มีการจัดส่งฟรี การสะสมแต้ม การลดราคาเมื่อซื้อจำนวนมากหรือ ลดราคาในวันพิเศษต่างๆ เหล่านี้เพื่อกระตุ้นยอดขายแต่ยังไม่พบว่า มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคลดปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เช่น  การสะสมแต้มจากการไม่รับช้อน ซ่อม พลาสติก ,  คูปองส่วนลดสำหรับลูกค้าที่เลือกไม่รับช้อนส้อมเป็นประจำ เป็นต้น        -   ร้านอาหารจำนวนมากมีแอปพลิเคชัน และช่องทางรับคำสั่งซื้อออนไลน์ในช่องทางอื่นๆ เช่น เว็บไซต์  ไลน์ Call center ของตนเองแต่ยังมักประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อผ่าน ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ เช่น Grab Food , Line Man เนื่องจากจะได้รับความนิยมได้มากกว่า        -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคกดไม่รับพลาสติกทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่    อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ หลายรายที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบตั้งค่าลดการใช้พลาสติดดังกล่าว การที่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่เห็นความสำคัญมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เพราะผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ รายหนึ่งเป็นหน้าร้านของร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมาก เช่น  Foodhunt ที่ให้บริการจัดส่งอาหารให้แก่ Mister Donut , Auntie anne’s , โอโตยะ, ไทยเทอเรส ฯลฯ  และ  1112 Delivery  ที่ให้บริการจัดส่งอาหาร  The Pizza , Bonchon และอีกนับสิบร้านชื่อดัง       -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รีในต่างจังหวัดรายหนึ่งสะท้อนว่า “เคยให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถกดไม่รับพลาสติกได้ เมื่อได้ปรับเป็นการรับคำสั่งซื้อผ่านช่องทางไลน์เพื่อลดต้นทุน ผู้บริโภคมักไม่ระบุวัสดุการจัดส่ง  จึงมองว่าระบบการกดไม่รับพลาสติกในแอปพลิเคชันมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ลดขยะและตระหนักในปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รีได้”  ข้อแนะนำ     -   ผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ (ถ้ามี) เพื่อเป็นการช่วยในเรื่องการลดปัญหาขยะ    -   ปัญหาสำคัญของขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี คือเป็นขยะพลาสติกที่ปะปนกับเศษอาหารทำให้ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้บริโภคจึงควรคัดแยกขยะก่อนทิ้งและรวบรวมนำไปให้ในจุดที่บริการรับขยะพลาสติกเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์  หรืออย่างน้อยควรชำระให้ปนเปื้อนน้อยที่สุดก่อนทิ้ง       -   ปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้าน หากไม่ให้ถุงพลาสติกก็อาจพัฒนาถุงพลาสติกเพื่อให้ผู้บริโภคไปใช้ซ้ำได้นานมากขึ้นที่สุด เมื่อได้รับวัสดุ /ถุงพลาสติกจึงควรนำกลับมาใช้ซ้ำหรือหาทางใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด    -   เลือกใช้บริการ ร้านอาหาร / ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี ที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะอาหารเดลิเวอร์รีหรือปรับเปลี่ยนมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม    การใช้บริการจัดส่งสั่งอาหารออนไลน์ อาจได้เป็นวิถีใหม่ของคนไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรได้ตระหนักร่วมกันถึงปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล  การลดขยะหรือการทำให้ขยะกลับมาใช้ได้จริง จึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็กดแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้คนลงได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากด้วย โดยในปี 2562 มีขยะพลาสติกจากธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีมากถึง 140 ล้านชิ้น           นับเป็นเรื่องดีที่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำบันทึกความร่วมมือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ซึ่งแม้เป็นเพียงความร่วมมือเชิงสมัครใจและยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักและหาวิธีช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางมากขึ้น         ในฐานะผู้บริโภค หลายคนก็คงอยากรู้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชั่น ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ให้กับลูกค้าหรือไม่  ผลการสำรวจแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี)         จาก 13 แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามี 4 แอปฯ ที่มีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ได้แก่ Burger King, Food Panda, Grab Food และ Line Man  ข้อสังเกต        - มี 9 แอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ (เลือกจากที่แนะนำโดย Play Store) ที่ไม่ได้ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’หรือไม่        - จากการสุ่มตัวอย่างแอปพลิเคชั่นยอดนิยม พบว่ามี 14 แอปฯ ที่ไม่ได้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์โดยตรง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ กลุ่มส่งสินค้า และกลุ่มแอปฯ สะสมแต้ม + โปรโมชั่น (ร้านอาหาร,ร้านกาแฟ และศูนย์รวมร้านอาหาร)  ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        แม้ตอนนี้จะมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ เพราะปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งก็เป็นปลายทางแล้ว         ดังนั้น เราน่าจะมาช่วยกันตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางในการสั่งอาหารทางออนไลน์ โดยผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ(ถ้ามี) เลือกสั่งจากร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกร้านที่ใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโตซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อสร้างกระแสผู้บริโภครักษ์โลกให้ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายอยู่ในแอปฯ ต่างๆ นั้นรับรู้และแข่งกันสร้างสรรค์วิธีลดขยะพลาสติกมาเป็นกลยุทธ์การตลาดดึงดูดลูกค้าต่อไป    ข้อมูลอ้างอิงวารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2564

อ่านเพิ่มเติม >