ฉบับที่ 167 ภพรัก : วิญญาณเร่ร่อนในสังคมที่แปลกแยก

ในสมัยเมื่อนักปรัชญาสังคมชาวเยอรมันที่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น เขาเคยอธิบายไว้ว่า เมื่อระบบทุนนิยมได้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดแล้ว สังคมของมนุษย์เราก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะที่มนุษย์ต้องอยู่กับ “ความแปลกแยก” ทั้งแปลกแยกกับโลกรอบตัว แปลกแยกกับคนอื่น และแปลกแยกกับตนเอง “ความแปลกแยก” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “alienation” นั้น มาจากรากศัพท์คำว่า “a-” ที่แปลว่า “ไม่มี” กับ “-lien” ที่หมายถึงความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง สภาวะที่มนุษย์ถูกตัดขาดสายสัมพันธ์หรือแรงเกาะเกี่ยวระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ออกไป และในท้ายที่สุด มนุษย์เราก็จะตัดขาดได้แม้กระทั่งกับตัวตนของตัวเอง สภาพการณ์ดังกล่าวก็คงไม่ต่างไปจากตัวละครวิญญาณเร่ร่อนกลับคืนร่างไม่ได้ของ “น้ำริน” ที่เมื่อยังมีสติสมบูรณ์อยู่นั้น เธอได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่แปลกแยกและสายสัมพันธ์รอบด้านได้ถูกลิดรอนออกไป ตั้งแต่ฉากแรกในการเปิดตัวของน้ำรินนั้น เธอกำลังเลือกชุดแต่งงานอยู่ โดยมี “ธารา” ผู้เป็นมารดา ให้คำปรึกษาผ่านทางวิดีโอลิงค์ ก่อนที่มารดา  จะต้องรีบขอตัวไปเข้าประชุมงานด่วน ดังนั้น แม้จะอยู่ในช่วงเวลาพิเศษของชีวิตบุตรสาว แต่ดูเหมือนภาพของน้ำรินก็สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ห่างเหินและแปลกแยกแม้กับหน่วยเล็กที่สุดของชีวิตอย่างสถาบันครอบครัว และกับคู่หมั้นหมายอย่าง “ภพธร” หรือกับเพื่อนรักอย่าง “นับดาว” เบื้องหลังของคนทั้งสองที่แอบคบหากันและทรยศหักหลังน้ำริน ก็ไม่ต่างจากการชี้ให้เห็นว่า แม้แต่กับคนใกล้ชิดหรือไว้ใจที่สุดในทุกวันนี้ ความรักและมิตรภาพก็อาจจะถูกสะบั้นออกไปได้ภายใต้สังคมที่กำลังแปลกแยกระหว่างกัน ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้โดยชื่อตัวละครทั้งหลาย จะบ่งนัยถึงความสัมพันธ์ที่น่าจะพันผูกกันไว้อย่างแนบแน่น ระหว่างผืนน้ำ (อย่างชื่อของน้ำรินและธารา) ผืนดิน (แบบชื่อของภพธร) และผืนฟ้า (เหมือนกับชื่อของนับดาว) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นั่นก็คงเป็นเพียงแค่ “ชื่อ” ที่หาได้ผูกพันหรือมีความสำคัญทางใจเช่นไรไม่   เพราะฉะนั้น เมื่อความไว้ใจ มิตรภาพ และความรัก เริ่มเป็นสิ่งที่แร้นแค้นและถูกลิดกิ่งลิดใบออกไปจากจิตใจของคน น้ำรินจึงไม่ต่างจากตัวละครที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในภาวะแปลกแยกและไร้ซึ่งสายสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัว ภาพที่ฉายความแปลกแยกให้เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือฉากที่น้ำรินขับรถสปอร์ตซิ่งบนท้องถนนแข่งกับ “ชลชาติ” เพียงเพราะเธอหมั่นไส้ว่า เขาเป็นใครก็ไม่รู้จัก แต่กล้ามาท้าทายเธอที่กำลังขับรถคันงามอยู่ และเพราะถนนก็สถานที่ที่มนุษย์มักแปลกแยกกับเพื่อนร่วมโลกที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน สภาวะดังกล่าวเช่นนี้ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุ อันเป็นจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ในท้องเรื่องนั่นเอง จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้วิญญาณของน้ำรินต้องหลุดออกจากร่าง กลายเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่เพียงแต่แปลกแยกกับโลกรอบตัว แต่ยังเป็นวิญญาณที่เกิดอาการ “ความจำเสื่อม” แปลกแยกกับร่างกายของตนเองไปเสียอีก ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า ความจำเสื่อมเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้นเผชิญหน้ากับสภาวะทางจิตแบบสุดขีด เช่น กลัวสุดขีด ตกใจสุดขีด หรือเสียใจสุดขีด จิตก็จะทำการปกป้องตนเองให้ delete ไฟล์ความทรงจำดังกล่าวออกไปจากสาระบบ แต่ในทางสังคมศาสตร์แล้ว เราอาจพิจารณาอาการความจำเสื่อมได้ว่า เป็นสภาพที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสังคม แต่เราเองไม่อาจปรับตัวยอมรับกับความผันแปรดังกล่าวได้ จนนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมที่ไม่อาจทนยอมอยู่ในสภาพเยี่ยงนั้นต่อไป หลังจากที่น้ำรินกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนและความจำเสื่อม เพราะไม่อาจปรับตัวเข้ากับภาวะแปลกแยกกับสังคมรอบตัวได้เช่นนี้ เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “หมวดเหยี่ยว” พระเอกหนุ่มของเรื่อง และอีกด้านก็เป็นตัวละครที่กลับมีความทรงจำฝังแน่นอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตที่เคยเห็นบิดามารดาประสบอุบัติเหตุต่อหน้า เมื่อวิญญาณที่ความทรงจำสูญหายไปกับมนุษย์ที่ความทรงจำฝังตรึงแน่นได้ข้ามภพมาพบพานกัน แม้จะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็คงเป็นเช่นที่หมวดเหยี่ยวได้กล่าวกับน้ำรินขณะที่โดยสารรถไฟไปด้วยกันว่า “คุณดูนะ รางรถไฟเป็นเส้นขนานไปเรื่อยๆ แต่มันมีจุดที่รางรถไฟมาบรรจบกัน...มันก็เลยมีรางสองคู่มาตัดกันเหมือนทางแยกของถนนไง ชีวิตคนสองคนก็เป็นเส้นขนานเหมือนรางรถไฟ มันไม่มีโอกาสเจอกันจนกว่าจะถึงจุดที่เรียกว่าพรหมลิขิต...” ด้วยพรหมลิขิตที่ทำให้น้ำรินได้มาพานพบกับหมวดเหยี่ยว และด้วยความช่วยเหลือจาก “ปริก” วิญญาณผีเร่ร่อนอีกตน ซึ่งในอดีตชาติคือสาวใช้ผู้ภักดีและเคยสาบานว่าจะดูแลน้ำรินตลอดไป สายสัมพันธ์หลายๆ เส้นที่ขาดหายไปจากชีวิตของน้ำริน ก็ค่อยๆ ได้รับการซ่อมแซมกอบกู้กลับคืนมา เริ่มจากวิญญาณของน้ำรินที่ได้เรียนรู้ถึงความผูกพันระหว่างเธอกับธาราผู้เป็นมารดาที่ไม่เคยเลือนหายไปจริงๆ ได้ค้นพบมิตรภาพเส้นใหม่ที่ผูกโยงเธอไว้กับผียายปริกตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือแม้แต่ได้เข้าใจในกรรมและภพชาติที่ร้อยรัดเป็นพรหมลิขิตกับคู่แท้อย่างหมวดเหยี่ยว รวมไปถึงการย้อนกลับไปเริ่มต้นเรียนรู้และทบทวนให้เข้าใจตนเองเสียใหม่ คล้ายๆ กับฉากที่วิญญาณน้ำรินค่อยๆ เพียรพยายามฝึกจับตุ๊กตาหมีสีฟ้าที่หมวดเหยี่ยวซื้อมาฝาก และเรียนรู้ที่จะเข้าใจประโยคที่ปริกพูดอยู่เป็นเนืองๆ ว่า “ในชีวิตของเรา ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลของตัวเองทั้งสิ้น” การย้อนกลับไปเข้าใจตนเองและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตที่อยู่แวดล้อมรอบตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ปลดปล่อยให้น้ำรินและตัวละครรายรอบได้เข้าใจชีวิตภายใต้สภาวะแปลกแยกเท่านั้น ผลานิสงส์ยังเอื้อให้ดวงวิญญาณของเธอกลับคืนสู่ร่างได้ในท้ายที่สุด ปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่ต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนอยู่ในวังวนแห่งความแปลกแยกนั้น แท้จริงอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวเท่านั้น แต่ยังอาจเนื่องมาแต่การที่เรา “มองไม่เห็น” คุณค่าของสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต่างหาก หาก “นวล” หญิงชราตาบอดผู้เป็นยายของหมวดเหยี่ยว สามารถสัมผัสรับรู้และ “มองเห็น” ได้ถึงวิญญาณของน้ำรินที่กำลังเร่ร่อนไปมา ความหวังและคำถามของผู้คนในสังคมแห่งความแปลกแยกก็คือ แล้วตัวละครอย่างน้ำรินที่ตาไม่ได้บอดเลยนั้น เธอก็น่าจะ “มองเห็น” คุณค่าของตนเองและเพื่อนมนุษย์รอบตัวได้ไม่แตกต่างกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point