ฉบับที่ 246 คิดอย่างไร ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก

        ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมท่านหนึ่งประกาศชัดว่า ในปี 2566 ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก !!! และไม่ใช่ติดอันดับโลกธรรมดา แต่เป็นอันดับสามของโลกเสียด้วย         สอดคล้องกับที่ไอเอ็มดี (International Institute for Management Development: IMD) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สถาบัน IMD World Competitiveness Center ที่เป็นหน่วยงานในระดับนานาชาติ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระบบรางทั่วโลกว่า ภายในปี 2566 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้   กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นมหานครระบบรางที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 3 ของโลกระยะทาง 560 กิโลเมตร ทำให้ยิ่งตอกย้ำถึงภาพความสะดวกสบายของกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองของรถไฟฟ้าขึ้นมาทันที         แต่เดี๋ยวก่อน มองให้พ้นจากภาพสวยหรู เมื่อหันกลับมาดูความจริงที่ประเทศไทย คำถามก็ผุดขึ้นมากมาย แล้วตอนนี้รถไฟฟ้าที่เปิดใช้บริการทุกสายมีระยะทางกี่กิโลเมตรแล้ว         ข้อมูล ณ ธันวาคม 2563 ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นระยะทางยาวทั้งหมด 168 กิโลเมตร หรืออยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก         ขณะที่อันดับ 1 และ 2 ของโลกอยู่ที่ประเทศจีน คือ กรุงปักกิ่ง 690.5 กิโลเมตร และเมืองเซี่ยงไฮ้ 676  กิโลเมตร อันดับ 3 อยู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 540.9 กิโลเมตร และอันดับ  4 อยู่ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนอีกเช่นกันที่ 531.1 กิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลนี้ 168 กิโลเมตรของประเทศไทยยังห่างจากเป้าหมายอันดับ 3 ที่ 560 กิโลเมตรอยู่มากเลยทีเดียว  (ดังนั้นน่าจะต้องเก็บคำคุยโวไว้ก่อนเพราะการที่ประเทศไทยจะเป็น HUB หรือเป็นมหานครระบบรางอย่างที่คิดในอีกสามปีข้างหน้าดูท่าจะยากเย็น)          แต่การที่ประเทศไทยวางแผนให้กรุงเทพมหานครมุ่งสู่การเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยระบบรางนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกวันนี้ระบบรางโดยเฉพาะรถไฟฟ้ากลายเป็นพาหนะที่อำนวยความสะดวกขนคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก ส่งผลดีให้เกิดกับคุณภาพชีวิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และต่อไปในอนาคต (ไม่รู้อีกกี่ปี) เมื่อรถไฟฟ้าทุกสายสร้างเสร็จสิ้น กรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าหลากสีมากกว่า 10 สาย วิ่งให้บริการเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกทิศทางจากชานเมืองมุ่งเข้ากรุงเทพชั้นใน ทำให้หลายคนมีความหวังว่า เมื่อประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะประเภทรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการจราจรรถติด การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษจะลดน้อยลงตามไปด้วย         ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลจึงมุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่รวมงานทุกด้านเอาไว้  ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติจะมีแผนย่อยเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน โดยมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล อยู่ในด้านที่ 7 จากทั้งหมด 23 ด้าน ตามกรอบที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี           แล้วโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล เกี่ยวอะไรกับมหานครระบบรางที่บอกไป แน่นอนว่าการพัฒนาประเทศต้องบูรณาการหลายด้าน ซึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมาย         โดยในแผนแม่บท ประเด็นที่ 7 นี้ยังแบ่งออกเป็น 10 เป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยอีก เช่น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าทางราง การใช้พลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า การปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองหลักในภูมิภาค และการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         สำหรับประเด็นการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเป้าหมายย่อยที่กำหนดไว้ 4 ระยะในเวลา 20 ปี คือ 1) ปี 2561-2565 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30  2) ปี 2566-2570 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 3) ปี 2571-2575 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 4) ปี 2576-2580 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ขณะที่สัดส่วนในส่วนภูมิภาคอยู่ที่ ร้อยละ 5 10 และ 20 ตามลำดับ         แต่เมื่อกลับมาดูข้อมูลเปรียบเทียบการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะพบว่า โอกาสที่ตัวชี้วัดเป้าหมายนี้จะทำได้มีโอกาสค่อนข้างน้อย หรืออาจจะเรียกได้ว่าต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต สาเหตุสำคัญเพราะรัฐมีข้อมูลไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะดำรงอยู่และเป็นหัวใจหลักของการเดินทางสำหรับประชาชนได้ เพราะข้อมูลสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2560 – 2562 อยู่ที่ร้อยละ 20.62 , 17.90 และ 19.42 ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลนี้ก็นับว่ายังมีความห่างจากเป้าหมายร้อยละ 30 ในปี 2565 อยู่พอสมควร และสำหรับข้อมูลในเมืองภูมิภาค ปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ เห็นได้ชัดเจนว่าหลายปีที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย และยิ่งสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทแทบล่มสลาย ยิ่งทำให้การเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะทำได้ยากกว่าเดิมอีกด้วย         แล้วการเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองในภูมิภาค กับการเป็นมหานครระบบรางของประเทศไทยเกี่ยวพันกันอย่างไร ฉบับหน้าเรามาค้นคำตอบกันต่อนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >